๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๓ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๕ เมษายน ๒๔๘๓

พระยาอนุมานราชธน

หนังสือของท่านลงวันที่ ๑๙ เมษายน ได้รับแล้ว

ดิใจที่ได้ทราบความตามที่ท่านบอก ว่าได้ไปเที่ยวภาคพายัพ ดีใจเพราะการไปเที่ยวนั้นดี ได้รู้ได้เห็นอะไรแปลก ๆ เปนการช่วยตัวดีกว่าอุดอยู่เปนนางห้อง

คำ ปลาบปลื้ม ที่ท่านใช้เขาก็ใช้กันอยู่ดาษดื่น ไม่ใช่ว่าผิดอะไร แต่ฉันไม่ชอบใจในคำว่า ปลาบ ด้วยเห็นว่าคำนั้นควรจะใช้ในความหมายที่แรงกว่าดีใจโดยปรกติ แต่คำ ปลื้ม นั้นใช้ในความหมายว่าดีใจโดยปรกติควรอยู่ เช่น ปลื้มใจ เปนต้น

คำว่า เจริญ ในภาษาเขมรใช้ไปจนว่า ชาเจริญ ถอดความว่าเปนมาก ต้องกันกับสำนวนของเรา แต่เขามีคำว่า อัน แซกเข้าไปในหว่างกลาง คำ จำเริญ ในภาษาเขมรไม่เคยพบ พบแต่ในภาษาไทย จำเริญ หรือ เจริญ หมายความว่า วัฒน ทั้งสองคำ อนึ่งในภาษาเขมรมีคำ สราญ กับ สำราญ อยู่ทั้งสองอย่าง ฉันถอดว่า สราญ เปนเบา สำราญ เปนทำให้เบา แนวเดียวกับ กชับ และ กำชับ

อธิบายคำ โตปี ของท่าน ทำให้ฉันรู้กว้างออกไปว่ามีหลายภาษาด้วยกัน

พุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ ๑๐๘ ที่ท่านว่า ฉันคเนเห็นจะเปนที่เรียกว่า มหาพุทธคุณ ซึ่งฉันไม่เคยนับ แต่ให้นึกสงสัยไปว่าจะปรุงขึ้นให้ได้จำนวน ๑๐๘ ทีหลัง เพื่อให้ต้องตามจำนวนลูกประคำซึ่งมีอยู่ ๑๐๘ ของเดิม พระพุทธคุณก็มี ๙ เท่านั้น เรียกว่า นวอรหาทิคุณ (อ สํ วิ สุ โล ปุ ส พุ ภ) ท่านจะค้นหาเรื่องลูกประคำบอกให้ทราบนั้น พอใจเปนอย่างยิ่ง คิดว่าประโยชน์แห่งการใช้เดิมก็คิดขึ้นสำหรับนับคะแนนภาวนาเปนแน่นอน จะเปนกี่ลูกก็เท่ากับจำนวนที่ต้องการภาวนากี่หน ตามพวกที่ต้องการภาวนานั้น

พอใจมากที่ได้ทราบทางแปลชื่อเดิมของพระยาอรรคนิธิ ว่าไม่เกี่ยวไปทางเกาะสมุย แต่เกี่ยวไปทางชื่อคริสตังเหยียดเปนไทย ฉันเคยได้พบมาทางชาวกฎีจีนเขาเหยียด อันโตนี เรียกว่า ต๋น โดมิงโค เรียกว่า หมิ่น ตามทางอย่างเดียวกัน สมุย จะมาแต่ สมูเอล หรืออ่านอย่างเฉ ๆ ว่า แซมยวล หรือจะเปนอื่นมีอยู่อีกก็ได้ แต่เมื่อทราบทางว่าไปทางไหนก็พอใจมากที่จะไม่หลง

คำว่า เทียว เราก็ใช้ เช่นว่า เทียวไปเทียวมา และคำว่า เที่ยว ก็เข้าใจว่าเปนคำเดียวกันนั้นเอง ทั้งท่านบอกคำ คลา ก๋า และ แว่นไว ให้ทราบอีกด้วยนั้น พอใจเปนอย่างยิ่ง

จะแปลคำว่า ร่องรอย ไม่ใช่เปนคำซ้ำหมายความว่ารอยตีนแต่อย่างเดียว เปนสองคำหมายความว่าเปนร่องลึกลงไปด้วยน้ำฝนชะกัดเซาะ เพราะฟื้นที่ในป่าย่อมลุ่มๆ ดอนๆ กับทั้งมีรอยตีนอยู่ในร่องนั้นด้วย เพราะเปนทางเดินมาแต่เดิม จึงได้ชื่อว่าร่องรอย อันคำว่า ร้องกวาง เห็นเปนคำไทยใต้ดัดแปลง ไทยเหนือพูด เปน ควรจะเปน ฮ่องกวาง หรือ ฮ้องกวาง ถ้าหมายถึง ร่อง ก็ควรเปน ฮ่อง เพราะมีคำ แม่ฮ่องสอน เปนพยานอยู่ ชื่อตำบล แม่ฮ่องสอน เดิมคิดว่าควรจะเขียนแม่ฮ่องศร แต่เดี๋ยวเป็นก็สงสัยไปเสียแล้ว สอน อาจหมายถึงอะไรอื่นนอกจากลูกธนูก็ได้กระมัง คำ ห้วง ก็เห็นจะมาแต่ ฮ่อง นั่นเอง

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ