- เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๓
- พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๓
- มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๓
- กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๓
- สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๓
- กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๓
- ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๓
- พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๓
- ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๓
- มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔
- กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๔
- มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔
- เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๔
- พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๔
- มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๔
- กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๔
- สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๔
- ภาคผนวก
- ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๘
- ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๐ น
- ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๐ ดร
- ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ น
- ๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ น
- ๒๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๒ น
- ๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๒ น
- ๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๒ น
- ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๒ น
- ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ น
- ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๗ น
- ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๗ ปสศ
- ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๘ น
- ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ ยส
- ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ ว
- ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๘ ว
- ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๙
- ๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๘ ยส
- ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๓ ว
- ผู้พูดกับผู้ฟัง
- คำแบบ
- เรื่องจำนวน
๑๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๓ ยส
กรมศิลปากร
วันที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๓
ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท
ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๔ พระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ หาที่สุดมิได้
ข้าพระพุทธเจ้าขอน้อมเกล้า ฯ รับพระพรปีใหม่ ที่ทรงพระเมตตาประทานแก่ข้าพระพุทธเจ้าด้วยปีติปลาบปลื้มเป็นล้นเกล้า ฯ
ข้าพระพุทธเจ้าเพิ่งกลับจากไปเที่ยวภาคพายัพ ได้ไปทุกจังหวัด ยกเว้นจังหวัดแม่ฮ่องสอน แม้ได้ไปเพียงน้อยวัน ลางแห่งก็เพียงแต่ผ่านไป แต่ก็ได้ประโยชน์แก่ข้าพระพุทธเจ้ามาก เพราะเป็นครั้งแรกที่เคยไป และได้เค้าต่างๆ สำหรับเป็นความรู้ ซึ่งข้าพระพุทธเจ้าใฝ่ฝันอยู่มาก
ข้าพระพุทธเจ้าขอบพระเดชพระคุณเป็นล้นเกล้า ฯ ที่ตรัสประทานความหมายคำว่า เจริญ และ สำราญ ในภาษาเขมร ข้าพระพุทธเจ้าได้รับความสว่างในเรื่องคำว่า เบา ซึ่งได้เคยค้นหาคำแปลคำนี้มานาน อนึ่งมีป้ายใช้ว่า สรียสำราญ อยู่ที่หอพระสมุดป้ายหนึ่ง มีผู้ทักว่าแปลก บัดนี้เป็นอันได้ทราบเกล้า ฯ ว่าเป็นภาษาเขมร และได้ทราบเกล้า ฯ ต่อไปว่า คำนี้กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ทรงนำมาใช้
เรื่องเสียงอ่านภาษาไทยที่ประทานมา ดีเป็นที่สุด เป็นแนวสำหรับสอบสวนเรื่องเสียงกลายได้กว้างออกไป
ที่มาของคำว่า โตปี (หมวก) ในหนังสือฮอบสันยอบสันว่า น่าจะมาจากคำของโปรดุเกสว่า โตปี แปลว่า ยอด ตรงกับ โตเปต์ ในภาษาฝรั่งเศส หรือ ทอป ในภาษาอังกฤษ แต่ในที่เดียวกันนั้น ก็ว่าในภาษาฮินอี มีคำว่า โฏป แปลว่า หมวก อาจออกจากคำนี้ก็ได้ ส่วน โตปี ซึ่งแปลว่า สถูป เขาให้ไว้อีกแห่งหนึ่ง ไม่กล่าวอ้างถึงคำว่า หมวก แต่ถ้าจะดูลักษณะของพระสถูปกับหมวกโตปี ก็ใกล้กันมาก แต่ในหนังสือเล่มนั้นไม่นำเอามารวมไว้ เป็นที่มาอีกคำหนึ่ง
ข้าพระพุทธเจ้าถอดเสียงคำว่า อินโดจีน ตามเสียงที่เขาอ่านกัน เพราะไปคิดขัดด้วยคำว่า ฮินดู และ ฮินดี ข้าพระพุทธเจ้าเคยเขียนว่า ฮินทู และ ฮินที แต่ภายหลังต้องเลิกใช้ เพราะห่างจากเสียงที่เขาใช้กัน
เรื่องลูกประคำ และ เกณฑ์ ๑๐๘ ข้าพระพุทธเจ้าจะได้ถวายเรื่องภายหลัง เพราะมีเรื่องมากและกระจัดกระจายอยู่ในหนังสือฝรั่งหลายเล่ม ส่วนเกณฑ์พระพุทธคุณ ธรรมคุณ และสังฆคุณ รวมด้วยกัน ๑๐๘ นั้น ข้าพระพุทธเจ้าได้เอาหนังสืออิติปิโสของเก่ามาตรวจดู คงปรากฏว่า คำตั้งแต่ อิติปิโส จนถึง พุทฺโธ ภควาติ เป็นท่อนหนึ่ง เป็นพุทธคุณ ๕๖ ตั้งแต่ สฺวากฺขาโต จนถึง เวทิตพฺโพวิฺญูหีติ ท่อนหนึ่ง เป็นธรรมคุณ ๓๘ ฉะเพาะ สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสํโฆ เป็นสังฆคุณ ๑๔
ข้าพระพุทธเจ้าได้รับจดหมายจากพระพาหิรรัชฏ ฯ น้องพระยาอรรคนิธินิยม (สมุย) ตอบมาว่า บิดามารดาไม่เคยไปเกาะสมุย และบุตรก็เกิดในกรุงเทพฯ ทั้งนั้น พระพาหิรรัชฏ ฯ ว่าบิดาเคยเรียนหนังสือที่โรงเรียนสำเหร่ จึงสงสัยว่าที่ตั้งชื่อบุตรคนโตว่า สมุย คงจะเลียนคำฝรั่งคำใดที่คล้ายคลึงกับคำว่า สมุย มาตั้งชื่อ ข้าพระพุทธเจ้าคิดด้วยเกล้า ฯ ว่า ถ้าเอามาจากคำฝรั่ง คำที่ใกล้กับเสียงว่า สมุย ก็น่าจะเป็นคำว่า สมูเอล ซึ่งเป็นชื่อโปรเฝตองค์หนึ่งในคัมภีร์ไบเบล
ข้าพระพุทธเจ้าได้สนทนากับชาวเขินคนหนึ่ง ที่แม่สายเขตต์แดนเชียงตุง ได้ถามถึงคำว่า เดิน ในภาษาเขินใช้ว่าอะไร เขาตอบว่า เดียว เป็นอันตรงกับในภาษาจีน ถีว (กวางตุ้ง) หรือ เทียว (แต้จิ๋ว) และเทียวหรือเที่ยวในภาษาไทย จีนแต้จิ๋วมีประโยคว่า เทียวไล้เทียวขื่อ แปลว่า ไปๆ มาๆ ข้อแปลกของคำนี้ ก็ที่ในภาษาจีน นอกจากแปลว่า เดิน หรือ ไป ยังแปลว่ากระโดดด้วย ในภาษาไทยใหญ่พวกที่อยู่ใกล้จีนมีคำว่า ก่า แปลว่าไป ใกล้กับคำว่า คลา ในอาหมมีคำว่า กา (ไม่ทราบเกล้าฯ ถึงระดับเสียง) แปลว่าไป ว่าเต้น ตรงกับคำว่า เต้นก๋า เต้น ในไทยใหญ่เขียนเป็น ติน แต่อ่านว่า เต้น เมื่อเทียบ ก๋า กับ ขา เต้น กับ ติน ดูก็เป็นพวกเดียวกัน ในไทยใหญ่ยังมีคำว่า แว่ญ แปลว่า กระโดด ตรงกับคำว่า ขุนแผมผู้แว่นไว ซึ่งแปลกันว่าว่องไว คงจะเพี้ยนความหมายมาแล้ว เพราะใน มหาชาติคำหลวง ก็มีคำว่า แว่นบนกิ่ง อยู่
ข้าพระพุทธเจ้าเดินทางผ่านอำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ เห็นคำ ร้องกวาง ไม่เป็นภาษา ซักถามชาวเมืองว่า ทำไมไม่ กวางร้อง ก็ไม่ได้ความ เมื่อกลับมาได้สอบถามนายสุดว่า นี้คำอะไรที่เสียงใกล้กับ ร้องกวาง บ้าง ก็ได้ความว่ามีคำ ฮองกวาง แปลว่า ทางที่กวางเคยเดิน ฮอง ก็เห็นจะตรงกับร่อง (รอย) ถ้าเขียน ร่อง คำเดียว เป็น ร่องกวาง ไม่ได้ความ จึงน่าจะกลายมาเป็นร้องกวางอีกต่อหนึ่ง
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ
ข้าพระพุทธเจ้า
ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์