๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ยส

กรมศิลปากร

วันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๒ มีนาคม พระเดชพระคุณล้นเกล้าฯ หาที่สุดมิได้

เรือแซ คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า ในเรื่องเสียงอาจมีทางที่มาของคำได้เป็น ๒ ทาง คือ มาจาก กระแซ ทางหนึ่ง และมาจากคำว่า เซ ซึ่งเปนภาษาข่า แปลว่าแม่น้ำ เช่น ปากเซ เซลำเพา เป็นต้น อีกทางหนึ่ง ข้าพระพุทธเจ้ายังไม่เคยเห็นรูปร่าง เรือแซ ตลอดจนเรือของชาติกระแซและของข่า ซึ่งพอจะนำเอามาเปรียบเทียบพิจารณาได้

ย่าโม่ ในภาษาเปอร์เซียมีคำว่า Ya’ mal แปลว่าอูฐ แปลความที่สองว่าอดทน เชื่อง เหมาะแก่ทำงานหนัก ในภาษาฮินดูสตานี (ใช้เป็นภาษากลางในอินเดีย เป็นภาษาสํสกฤตปนเปอร์เซียและอาหรับ) มีคำว่า Jaml หรือ Jamal แปลว่าอูฐ และว่ามาจากภาษาเฮบรู (ภาษาเฮบรูและอาหรับอยู่ในตระกูลเดียวกัน เรียกว่าตระกูลภาษาเซมมิติก) นอกจากคำว่า อูฐ ในภาษาเปอร์เซียมีคำว่า แปลว่า ม้าต่าง ม้างาน ข้าพระพุทธเจ้ายังไม่ทราบเกล้าฯ ว่า ย่าโม่ หมายความว่าอะไร ถ้าสังเกตดูความในหนังสือจดหมายเหตุหลวงอุดมสมบัติ ตอนที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ ตรัสว่า ย่าโม่อะไรไม่รู้ อ้ายย่าโม่อะไรที่ไหนมิรู้ น่าเกลียดน่าชังนักหนาทีเดียว ก็ดูเป็นว่า ย่าโม่เป็นตัวอะไรไม่รู้ น่าเกลียดมาก อาจปรับเข้ากับอูฐได้ เพราะไทยไม่รู้จัก และรูปร่างอูฐก็ไม่น่ารักอะไร แต่เสียง Ya’ mal ซึ่งแปลว่า อูฐ ในภาษาเปอร์เซียไกลกว่าเสียง Yābū ซึ่งแปลว่าม้าต่าง แต่คำหลังความไม่ได้ สู้ความว่า อูฐ ไม่ได้ ข้าพระพุทธเจ้าได้ยินคำ ย่าโม่ ในความว่าฝุ่นจีนที่ใช้เอาไม้พันสำลีเช็ดทาไรผมเพื่อให้เห็นชัด ลางทีจะเป็นคำล้อกันก็ได้ นอกจาก ย่าโม่ แปลว่าฝุ่นจีน ยังมี มุหน่าย ว่าเอาน้ำมันตานีปนปูนแดงและเขม่าสำหรับแต่งผมให้ตั้งเรียงเส้น และมี ม่าเหมียว ว่าเปนมูลของยางตัวม่าเหมียว สำหรับทาให้ผมตั้ง ข้าพระพุทธเจ้าเคยค้นหาที่มาของคำ มุหน่าย ตานี และ ม่าเหมียว หลายครั้งยังไม่พบ คงจะเพี้ยนเสียงไปไกล จึงหาในมะลายูและในฮินดูสตานีไม่ได้ตัวม่าเหมียว ข้าพระพุทธเจ้าเคยเห็นเขาใส่ขวดโหลไว้ เป็นแมลงตัวดำๆ

ข้าพระพุทธเจ้ารู้สึกในพระกรุณาเป็นล้นพ้น ที่ตรัสเล่าเรื่องต้นเหตุของคำว่า วิก ให้ทราบเกล้า ฯ พระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ หาที่สุดมิได้

วิชนี ข้าพระพุทธเจ้าสอบถามนักบาลี ก็แปลว่าพัด เปิดดูในพจนานุกรมสํสกฤต-อังกฤษ ของมอรเนียร์วิลเลียมส์ แปลว่า พัด เป่าลม ในภาษาไทย คำว่า พัด ใช้ว่า วี ทุกถิ่น ส่วนคำว่า พัด ไม่พบ นายสุดชี้แจงว่าพัดในภาคอีศานใช้แก่ลมพัดเท่านั้น ส่วนคำว่า ปัด ในไทยมีทุกถิ่น ในภาษาไทยใหญ่ วี นอกจากหมายความว่า พัด หมายความว่าปัดไปมาก็ได้ เช่น วีหาง ปา(ปลา)วีหาง คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า กิริยาของ วี พัด ปัด เป่า เป็นลักษณะคล้ายคลึงกัน ความมุ่งหมายในกิริยาของคำเหล่านี้ก็ใกล้กัน จึงทำให้ความหมายสับสนใช้ปะปนกันไป ข้าพระพุทธเจ้าได้พบในหนังสืออังกฤษเล่มหนึ่งว่า พวกมุนีเชนมีหางนกยูงกำหนึ่งสำหรับปัดที่นั่ง ในหนังสือตอนที่ข้าพระพุทธเจ้าอ่านเป็นเกี่ยวกับเรื่อองพิธีถอนผมถอนเคราของมุนีเชน ซึ่งมีอ้างถึงอยู่ในคัมภีร์พระไตรปิฎก แต่จะมีพิธีทำกันอย่างไรบ้าง ไม่มีกล่าวไว้ ข้าพระพุทธเจ้าจึงแปลตอนนี้ไว้และขอประทานถวายคำแปลมาพร้อมกับหนังสือนี้ฉะบับหนึ่ง

ที่ทรงพระเมตตาตรัสอธิบายถึง พระตะพาบ พระเต้าปทุมนิมิตร ข้าพระพุทธเจ้าเข้าใจซาบซึ้งตลอดแล้ว เป็นพระเดชพระคุณแก่ข้าพระพุทธเจ้าล้นเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้าได้ค้นหาคำแปลของ พระสุพรรณราช ทางมะลายู และฮินดูสตานียังไม่พบ คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า สุพรรณ ในที่นี้ น่าจะเพี้ยนมาจากคำใดคำหนึ่ง เพราะพระสุพรรณศรีก็เป็นกะโถนเหมือนกัน ถ้า ศรี แปลว่าพลู สุพรรณ ก็ควรเป็นภาชนะอะไรที่เกี่ยวกับเรื่องหมากพลู ข้าพระพุทธเจ้าได้ค้นดูคำว่า กะโถน คำว่า ที่บ้วน ในภาษามะลายู และในฮินดูสตานี ก็ไม่ตรงเสียงกับคำว่า สุพรรณ มีคำใกล้กับ สุพรรณ อยู่คำหนึ่งในภาษามะลายูคือ ปันสุปาริ ปัน แปลว่าพลู มาจากคำ ปรรณ สุปาริ แปลว่าหมาก ส่วน ราด ในมะลายูมีคำว่า รัต แปลว่าแดง ซึ่งคงมาจาก รัตต ในบาลี ความไม่ได้กัน การค้นหาที่มาของคำเมื่อต้องการค้นคร่ำเคร่งก็มักไม่พบ ครั้นต่อไปลางทีไม่ได้เจตนาจะค้น ก็ไปพบเข้าเองก็มี ในเรื่องพระสุพรรณราช คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า ค้นต่อไปนาน ๆ ก็คงพบ ข้าพระพุทธเจ้าอ่านหนังสือต่าง ๆ ถ้าไม่มีเรื่องติดขัดอยู่ก่อนก็มักอ่านผ่านไปเสีย

มีผู้บอกข้าพระพุทธเจ้าว่า เวลาพระเจ้าแผ่นดินเสด็จโปรยทาน มีไม้ไผ่เหลาอย่างไม้เรียกหลายอัน ปลายบากไว้หน่อยสำหรับถูกเชือกห้อยลงมาเล็กน้อย ผูกไม้แหลม ๆ คล้ายไม้กลัด ใช้เสียบลูกมะนาวแล้วเหวี่ยงไป ไม้นี้เรียกว่า ไม้ทานตะวัน ดูเหตุผลของคำแปลกไม่เข้ากันกับที่ใช้เหวี่ยงลูกมะนาว ข้าพระพุทธเจ้าสอบถามข้าราชการในสำนักพระราชวังถึงไม้ทานตะวันนี้ ก็ไม่มีใครเคยเห็นเคยรู้จัก ต่อไปจึงได้ความว่าเป็นหน้าที่ของพระคลังข้างที่เก็บรักษาไว้ ต่อไปก็คงจะมีผู้รู้จักน้อยเข้า

ข้าพระพุทธเจ้าอ่านเรื่องชาติจามในหนังสือเล่มหนึ่ง (E.R.E. Vol. III p. 350) ว่าปี ๑๒ นักษัตรของจาม ยืมเอามาตากจีน ๆ ยืมเอามาจากตุรกี ในหนังสืออีกเล่ม ๑ ว่าด้วยชาติข่า (Baudesson’s Indo-China And Its Primitive People p. 281) แห่งหนึ่งว่า วิธีนับปี่เป็นจำนวน ๑๒ ชาติตุรกีเป็นผู้คิดแต่ว่าจีนเป็นตัวการที่นำเอาวิธีนับอย่างนี้มาแพร่หลาย ตลอดไปในดินแดนตะวันออกไกล อีกแห่งหนึ่งว่า ปฏิทินชาวชะวา สัปดาห์หนึ่งมี ๕ วัน เดือนหนึ่งมี ๖ สัปดาห์ (๖ × ๕ = ๓๐) ปีหนึ่ง ๑๐ เดือน มีชื่อเทวดาประจำเดือน เรื่องสัปดาห์หนึ่ง ๕ วัน ข้าพระพุทธเจ้าเคยอ่านพบว่าไทยในประเทศจีนลางแห่งก็เป็น ๕ วัน แค่ค้นหาหนังสือนั้นไม่เจอ

ในพงศาวดารพะม่าแห่งหนึ่ง กล่าวว่าเมื่อพระเจ้านรปติสีสุเสด็จเสวยราชย์ในกรุงพุกามเมื่อ พ.ศ. ๑๗๑๗ พระองค์โปรดให้จับอนันตสูริย บุตรของอาจารย์แห่งพระเชษฐาไปฆ่าเสีย อนันตสูริยขณะจะถูกประหาร แต่งโคลงไว้ ๕ บท มีความว่า เมื่อได้สุขแล้วก็ได้ทุกข์ เหมือนฟองน้ำผุดอยู่ชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น แล้วกล่าวข้อความอื่น ๆ เกี่ยวกับเรื่องกรรมและสังสารทุกข์ ในที่สุดว่าไม่มีความพยาบาทอาฆาตใคร แต่งแล้วให้เพ็ชฆาตนำไปถวายพระเจ้าแผ่นดิน แต่เพ็ชฆาตฆ่าอนันตสูริยเสียก่อน แล้วจึงนำโคลงไปถวายพระเจ้าแผ่นดิน ๆ ทอดพระเนตรแล้วโปรดยกโทษให้อนันตสูริย ครั้นทรงทราบว่าเพ็ชฆาตฆ่าอนันตสูริยเสียแล้ว ก็กริ้วเพ็ชฆาต ตรัสให้นำตัวไปฆ่าเสีย เรื่องนี้คล้ายเรื่องศรีปราชญ์ ถ้าเป็นเรื่องเดียวกัน ของพะม่าแก่เวลากว่า คิดด้วยเกล้า ฯ ว่าจะมาจากอินเดียอีกต่อหนึ่ง อนันตสูริยนี้ใจกว้างกว่าศรีปราชญ์ที่ไม่ผูกพยาบาท

ข้าพระพุทธเจ้า ขอประทานถวายคำแปลเกี่ยวด้วยเรื่องภาษามาในซองนี้ด้วย ๒ ตอน

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

  1. ๑. ดูภาคผนวก

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ