๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ ว

กระทรวงการต่างประเทศ

๒๕ ธันวาคม ๒๔๗๘

เรียน เจ้าคุณ ทราบ

จดหมาย ลงวันที่ ๒๑ เดือนนี้ เรื่องคำ “ดีฉัน” นั้น ได้รับทราบแล้ว

ในชั้นต้นควรจะพิจารณาความหมายที่ใช้อยู่เสียก่อน ผมเห็นว่าตามที่ปทานุกรมอธิบายว่า เปนสรรพนามที่ผู้ใหญ่ใช้แก่ผู้น้อยนั้น เปนอันถูกต้องแล้ว เพราะว่า ปัลลกัวคซ์ ก็ได้อธิบายไว้เช่นนั้น (ปทานุกรมลงไว้ว่า ดีฉัน ปัลลกัวคซ์ ลงไว้ว่า เดฉัน).

ส่วนคำว่า ฉัน นั้น ปัลลกัวคซ์ อธิบายไว้ว่า เปนสรรพนามที่บุคคลเสมอกันใช้ต่อกัน หรือผู้น้อยใช้ต่อผู้ใหญ่ ทั้งนี้ ก็ตรงกับภาษาเขมรซึ่งใช้คำว่า ฉัน เขียน ฉาน อ่าน ฉัน เปนสรรพนามที่คฤหัสถ์ใช้ต่อบรรพชิต มีใช้ดังนี้คือ ฉาน หรือ ฉาน กรุณา ขญม กรุณา ก็ใช้ (ไทยโบราณออกเสียงว่า ฉาน และ ดีฉาน ก็มี และสมเด็จฯกรมพระนริศฯก็ยังออกเสียงเช่นนั้นอยู่).

ตามทางสันนิษฐานของผมนั้น ฉัน กับ ดีฉัน น่าจะเปนคำที่รับกัน และน่าจะมีความหมายว่า ผู้น้อย หรือผู้ปรนนิบัติ กับ ผู้ใหญ่ หรือผู้รับปรนนิบัติ ตามลำดับ แต่ต้นศัพท์จะเปนมาอย่างไร ยังไม่มีเวลาที่จะค้นคว้าให้ได้ความ ผมเห็นด้วยกับเจ้าคุณว่า คำนี้ คงไม่ใช่คำทางพวกภาษาไทย คงจะเปนคำทางภาษา มอญ-เขมร เพราะศัพท์พระ เช่น บวช ประเคน สบง ฯลฯ เปนคำทางภาษามอญ-เขมร (ฉัน ที่วา กิน นั้น เปนอีกคำหนึ่ง ซึ่งเขมรเขียน ฉัน หรือ ฉันท์) และคำว่า ฉาน ในประโยคที่ว่า ตัดหน้าฉาน ซึ่งหมายความถึง หน้าที่นั่ง นั้น คงจะไม่เปนคำเดียวกัน เพราะใช้ว่า ฉาน เสมอไป และคำว่า แตกฉาน ฉาดฉาน ฉายฉาน ก็คงจะเปนคนละคำกับคำว่า ฉัน เหมือนกัน.

ในภาษาเขมร บรรพชิต เวลาพูดกับคฤหัสถ์ ใช้สรรพนามว่า แอกดีย อ่านว่า แอกเดย์ ดีย เดย์ จะเป็นคำที่นำเอามาควบกับ ฉาน หรือไม่นั้น ยังไม่มีเวลาพิจารณา.

คำว่า หม่อมฉัน นั้น ตัดมาจาก กระหม่อมฉัน กระหม่อม ในภาษาเขมร หมายความถึง หญิงสาว โดยปรกติไทยใช้หมายความว่า กลางกบาลศีรษะ แต่กระหม่อม มีความหมาย ๒ นัยะด้วยกัน คำว่า หม่อมฉัน หรือกระหม่อมฉัน คงจะเปนคำที่ใช้กันข้างใน คือผู้หญิงใช้ก่อน แล้วผู้ชายจึงนำมาอนุโลมใช้อีกทอดหนึ่ง.

อีฉัน คงจะเลือนมาจาก ดีฉัน แต่เมื่อใช้เสียงว่า อี ก็เลยใช้เปนสรรพนามสำหรับหญิงผู้น้อย พูดกับผู้ใหญ่ ตามที่เจ้าคุณสันนิษฐานว่า อาจมาจากคำจีนว่า สัน ที่แปลว่า ตัว คน และมักเปนคำที่พระเจ้าแผ่นดินทรงใช้ในเมื่อจะเรียกพระองค์เองนั้น ผมยังเห็นว่าขัดกับนัยะดั่งกล่าวแล้วข้างต้น.

ถ้าค้นคว้าได้ความประการใดต่อไป จะได้เรียนมาเพื่อทราบภายหลัง.

ขอแสดงความนับถืออย่างสูง

<วรรณไวทยากร>

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ