- เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๓
- พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๓
- มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๓
- กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๓
- สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๓
- กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๓
- ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๓
- พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๓
- ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๓
- มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔
- กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๔
- มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔
- เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๔
- พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๔
- มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๔
- กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๔
- สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๔
- ภาคผนวก
- ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๘
- ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๐ น
- ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๐ ดร
- ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ น
- ๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ น
- ๒๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๒ น
- ๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๒ น
- ๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๒ น
- ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๒ น
- ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ น
- ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๗ น
- ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๗ ปสศ
- ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๘ น
- ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ ยส
- ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ ว
- ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๘ ว
- ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๙
- ๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๘ ยส
- ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๓ ว
- ผู้พูดกับผู้ฟัง
- คำแบบ
- เรื่องจำนวน
๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ ยส
กรมศิลปากร
วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๔
ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท
ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๑๓ และวันที่ ๑๔ เดือนนี้รวม ๒ ฉบับ ทรงพระเมตตาประทานข้อความรู้ต่าง ๆ ข้าพระพุทธเจ้ารู้สึกในพระกรุณาคุณเป็นล้นเกล้า ฯ
เรื่องคำว่าหนังสือ ข้าพระพุทธเจ้าเคยสอบค้นในภาษาไทยพวกต่างๆ แต่ได้ผลไปไม่ตลอด ในไทยย้อย ไทยนุง ไทยโท้ ใช้ว่า สือ คำเดียว ส่วนไทยขาวใช้ว่า สือ และ ลายสือ (ลาย แปลได้ว่าตัวหนังสือหรือขีดเขียน) ในไทยพวกอื่นที่กล่าวมาข้างต้น ไม่มีคำว่า ลาย ซึ่งแปลว่า ตัวหนังสือ หรือขีดเขียน นายสุด ศรีสมวงศ์ ชี้แจงว่า ทางอีศานเรียกว่า หนังสือ แต่ทางหลวงพระบางเรียกว่า ลายสือ ชาวเวียงจันทน์เรียกว่า ศิลาเลข หมายความว่าตัวหนังสือศิลาจารึก ส่วนตัวหนังสือในแผ่นกระดาษเรียกว่า หนังสือ ซึ่งคงเปนคำใหม่ ในภาษาไทยใหญ่ ไทยอาหม และไทยคำที่ ค้นไม่พบคำว่า สือ ในความว่าหนังสือ แต่ใช้คำว่า หลิก อ่านหนังสือก็ว่า อ่านหลิก สอนหนังสือก็ว่า สอนหลิก สมุดหนังสือว่า ผืนหลิก ในไทยใหญ่มีคำ ลาย อีกคำหนึ่ง แปลไว้ว่า หนังสือ หรือ สมุดหนังสือ ไม่ได้ให้คำแปลว่า ขีดเขียน และแยกไว้คนละคำกับ ลาย ที่หมายความถึงลวดลายหรือด่างพร้อย เป็นอันว่าไทยตะวันออกใช้ว่า สือ ตรงกับของจีน ส่วนไทยตะวันตกไม่ใช้ สือ แต่ใช้คำว่า หลิก ซึ่งอาจเป็นคำเดียวกับ เลข ของเวียงจันทน์ ส่วน ลาย มีใช้ทั้งไทยตะวันออกและตะวันตก และพ้องกับที่ปรากฏใช้อยู่ในศิลาจารึก ส่วนคำว่าหนังสือ ไม่ปรากฏว่าไทยเหล่านั้นมีใช้ จะว่าหนังที่เป็นตัวหนังสือ ก็ไม่ปรากฏว่าไทยเคยใช้แผ่นหนังเขียนหนังสือ ถ้าจะมีได้ก็ต้องเป็นไปในรุ่นหลัง เมื่อได้คบค้ากับฝรั่งและแขกอาหรับเพราะพวกเหล่านั้นแต่โบราณ เคยใช้หนังแกะเขียนหนังสือ (parchment) แต่ก็หาหลักฐานอะไรไม่ได้ ว่าพวกเหล่านั้นได้เอาหนังสือเขียนบนแผ่นหนังมาให้ไทยหรือสอนให้ไทย สอบทางมะลายู คำ หนังสือ ก็ใช้คำอาหรับ ไม่มีเค้าเงื่อนว่าเกี่ยวข้องกับ หนัง คำว่า สื่อ ซึ่งแปลว่า ติดต่อถึงกัน ข้าพระพุทธเจ้าค้นหาในภาษาไทยทุกพวกก็ไม่พบ คำว่า แม่สื่อ สื่อสาร ทางภาคอิศาน นายสุดชี้แจงว่าไม่มีใช้ จึงน่าสงสัยว่า สื่อ จะไม่ใช่เปนคำไทยโดยปกติ ในภาษาจีนมีคำว่า ซื่อ แปลว่า ธุระ การงาน แต่คำนี้เมื่อประกอบเข้ากับคำ ทอง หรือ ท้อง (แปลว่า ถึง ทั่ว ตลอด ถึงกัน ติดต่อ) เป็น ทองซื่อ ก็แปลว่า ติดต่อด้วยตลอด ใช้เรียกล่ามในห้างร้านค้าขาย คำนี้เองที่คงมาเป็นชื่อของ ขุนท่องซื่อ ล่ามจีน ขุนท่องวารี ก็คงหมายความว่า ติดต่อทางน้ำ ทางเรือ ข้าพระพุทธเจ้าสงสัยว่า ซื่อ ที่แปลว่าการงาน อาจย้ายความหมายมาเป็น สื่อ ในภาษาไทย เพราะคำท่องซื่อเป็นแนวเทียบ แต่ไม่มีหลักฐานยืนยันพอ
ในคราวที่ข้าพระพุทธเจ้าค้นหาคำว่า สือ และ สื่อ พบคำจีนคำหนึ่ง กวางตุ้งอ่านว่า สัด แต้จิ๋วว่า ซิด แปลว่า ชื่อตรง จริง เนื้อแท้ ผสมกับคำว่า ซื่อ ซึ่งแปลว่า ธุระการงาน เป็น สัดสี่ ในเสียงกวางตุ้ง (แต้จิ๋วเป็น ซิดซื่อ) แปลว่า ความจริงโดยแท้ ผสมกลับกันเป็น สี่สัด แปลว่า ความจริงของเรื่อง ผสมกับคำ โหล ซึ่งแปลว่า แก่ (แต้จิ๋วเป็น เหลา) เป็น โหลสัด หรือ เหลาชิด แปลว่า คนสุจริต ผสมกับ กา (แต้จิ๋ว เป็น เก) แปลว่า ค่า ราคาขาย เป็น สัตกา แปลว่า ราคาตายตัวไม่มีผ่าน เป็นอันว่า สัด ในภาษาจีนพ้องเสียงและความกับคำว่า สัตย ในสํสกฤตอย่างปลาด
ข้าพระพุทธเจ้าพบคำว่า ศาลเทพารักษ์, ในภาษาพะม่าเขียนค่า natsin นัต แปลว่า เทพารักษ์ ผี เพราะฉะนั้น สิน คงจะแปลค่า ศาล ถ้าว่าโดยเสียง สิน-สาน ก็เป็นแนวเดียวกับ ซิด-สัด ข้างต้นนี้
กระแซ เคยทราบเกล้า ฯ แต่ว่า เป็นประชาชนอยู่ในเมืองมณีปุระ แคว้นอัสสัม มาได้ทราบเกล้า ฯ จากหนังสืออังกฤษเล่ม ๑ ว่า พวกกระแซคือลูกหลานของพวกแขกฮินดู ซึ่งถูกพะม่ากวาดเอามาเป็นชะเลย
คำ พ่าย ข้าพระพุทธเจ้าค้นพบในพจนานุกรมไทยใหญ่ เขียนและอ่านว่า ป้าย แปลว่า เคลื่อนไปเร็วว่าปกติ วิ่ง หนี คิดด้วยเกล้า ฯ ว่าคำแปลนี้ดีกว่าแปลว่า แตก เพราะ ป้าย กับ ไป ป่าย ยังมีเค้าให้เห็นว่าเป็นพวกเดียวกัน
ที่ประทานคำมีความหมายเคลื่อนที่ ในคำว่า หลวง และ ทิชาจารย์ มีประโยชน์แก่ข้าพระพุทธเจ้ามาก เรื่องความหมายเคลื่อนที่ ถ้าไม่ทราบพงศาวดารของคำ ก็เป็นความลำบากมาก คำปากตลาดเรียกโรงมหรสพเล่นประจำว่า วิก มีผู้เล่าให้ข้าพระพุทธเจ้าฟังว่า เกิดจากเจ้าพระยามหินทร ฯ จะเล่นละครเก็บเงินเอาอย่างละครปาซีที่เข้ามาเล่นเก็บเงินในสมัยนั้น แต่จะเล่นสัปดาห์ละวัน คำว่า สัปดาห์ ยังไม่มีใช้ เรียกกันแต่ว่า วิก เขียนป้ายไว้หน้าโรงละคร ซึ่งมีชื่อว่า ปรินสเทียเตอร์ (ปรินส์ ในที่นี้จะหมายความว่ากรมหมื่นพิชัย ฯ หรือพระองค์ใดไม่ทราบเกล้า ฯ) ว่า วิกนี้จะเล่นเรื่องนั้นเรื่องนี้ คนอ่านไม่เข้าใจคำว่า วิก แปลว่าอะไร ก็อาศัยตีความไปว่า วิก เห็นจะหมายถึงโรงละครเล่นเก็บเงิน เลยคิดเป็นคำแปลมาจนบัดนี้ อย่างเดียวกับบ๊อกส์ละคร ข้าพระพุทธเจ้าเคยเห็นโรงละครลิงเอาไม้กระบอกมาตั้งเป็นราวให้นั่งดูแถวหน้า ก็เรียกว่า นั่งบ๊อกส์ ซึ่งในที่นี้แปลว่า นั่งข้างหน้า หาใช่นั่งในคอกไม่
คำพูดในภาษา ในตำรานิรุกติศาสตร์ว่า ย่อมมีเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นธรรมดา เหมือนอย่างคนซึ่งเป็นเจ้าของผู้สร้างคำเหล่านั้น ลางคำเกิดมาไม่กี่วันก็ตายไป คือคิดขึ้นใช้ไม่ได้กี่วัน ไม่มีคนนิยมใช้ ก็ต้องเลิกใช้ ลางคำก็อยู่ไปได้นาน ลางคำก็ค่อยเลือนค่อยกลายแล้วหายไปก็มี เหตุที่เป็นไปได้ต่างๆ เหล่านี้ สุดแล้วแต่สิ่งแวดล้อมของคำ คำพูดนั้นเป็นเหมือนอาณัติสัญญา บอกความมุ่งหมายที่มีอยู่ในใจของผู้พูด ให้ปรากฏออกมาภายนอก เพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งเข้าใจ ถ้าผู้พูดผู้ฟังต่างเข้าใจกันดีสมดังความมุ่งหมายแล้ว อาณัติสัญญาที่ส่งออกมาก็คงอยู่ได้นาน ผู้พูดผู้ฟังไม่ได้คำนึงถึงอาณัติสัญญานั้นว่า ผิดหรือไม่ในแบบแผนหรือในตำราไวยากรณ์ ด้วยเหตุนี้ ถ้าคำใดที่มีผู้คิดใช้ขึ้นใหม่ เป็นที่นิยมและใช้กันแพร่หลาย เป็นที่เข้าใจในความหมายแห่งคำนั้นกันดี แม้คำนั้นนักปราชญ์ทางหนังสือจะเห็นว่าผิดรูปผิดเสียง ผิดความหมายอันแท้จริง ก็ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะไปฝ่าฝืนโดยหาอาณัติสัญญาอันอื่นมาใช้แทน ซึ่งจะไม่ตรงกับความรู้ความเข้าใจของคนทั่วไป อาณัติสัญญาที่ส่งออกไปต้องตรงกับความเข้าใจของผู้รับ จึงจะได้ประโยชน์ ข้าพระพุทธเจ้าคิดด้วยเกล้า ฯ ว่าที่เขากล่าวไว้ดังนี้ ก็มาตรงกับที่ทรงพระดำริเห็นว่า สำคัญอยู่ที่จะใช้คำใดๆ ก็ต้องใช้ไปตามกัน ไม่ว่าผิดหรือถูก ควรหรือไม่ควร เพราะผู้พูดผู้ฟังมุ่งเอาความเข้าใจกันเป็นใหญ่ และคำที่เข้าใจนี้อาจเข้าใจผิดเคลื่อนที่ไปก็มี แต่เป็นไปด้วยกันหมด ก็เลยเป็นไม่ผิดไป เช่นคำว่า สบถ ที่ตรัสประทานมาเป็นตัวอย่าง
ในตำรานิรุกติคาสตร์กล่าวต่อไปว่า ภาษานั้น ถ้าปล่อยไปตามความรู้ความเห็นของมหาชน ภาษาก็จะรุดหน้า มืความเปลี่ยนเปลงไปอย่างรวดเร็ว จนหลักเดิมกลายถึงเสียหายได้ แต่ถ้าจะให้ภาษาไว้กับพวกนักปราชญ์ ภาษาก็ก้าวหน้าได้ช้า คือมุ่งแต่จะรักษารูปเดิมของภาษาไว้ให้ถูกต้องถ่ายเดียว เมื่อภาษาไม่เดิน ภาษานั้นก็จะเสื่อมศูนย์ไป เป็นอย่างเดียวกับเด็กและผู้ใหญ่ เด็กก้าวเร็วผู้ใหญ่ก้าวช้า มีดีมีไม่ดีด้วยกัน แต่เมื่อเอามาผสมกัน คือมีทั้งดึงให้รุดหน้าและมีทั้งรั้งมาไม่ให้ข้ามก้าว ทำให้ภาษาไม่กลายไปเร็ว และไม่อยู่ล้าหลัง เป็นไปด้วยพอดี แต่อย่างไรก็ตาม ในที่สุดภาษาก็ต้องเดินหน้าเสมอไป และต้องกลายไปโดยลำดับ ซึ่งคนผู้เป็นเจ้าของผู้ใช้ในขณะนั้นจะไม่รู้สึกเลย
ที่ทรงพระกรุณาประทานข้อทรงสันนิษฐานเรื่องจักรและสังข์ แก่ข้าพระพุทธเจ้าโดยพิสดาร เป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ ข้าพระพุทธเจ้าได้ความรู้ในพระอธิบายเป็นล้นพ้น เรื่องรดน้ำด้วยสังข์ ตามที่ทรงสันนิษฐาน ทำให้ข้าพระพุทธเจ้าคิดเห็นด้วยเกล้า ฯ ว่า ไทยจะได้คติมาทางเขมร ๆ คงได้มาจากอินเดียตอนใต้ ข้าพระพุทธเจ้าได้เที่ยวค้นอ่านเรื่องสังข์ทางอินเดีย พบมีกล่าวแต่ใช้เปนเครื่องเป่าเท่านั้น ใช้เป็นรดน้ำไม่เคยพบ สอบถามสวามีสัตยนันทบุรีอีกครั้ง ก็ไม่ได้ความยิ่งไปกว่าที่ได้กราบทูลแล้ว จึงทำให้ข้าพระพุทธเจ้ามั่นใจว่า ถ้าจะมีเรื่องสังข์ทางอินเดีย จะต้องค้นหาทางอินเดียตอนใต้ เรื่องจักรจักเป็นฟันเลื่อย ทรงเห็นว่าน่าจะมาเป็นขึ้นในเมืองไทย เพราะคำ จักร กับ จัก มาพ้องกัน ข้าพระพุทธเจ้าเห็นพ้องในกระแสพระดำริ ข้าพระพุทธเจ้าพบจักรของอินเดียและของกรีกก็เป็นรูปฉาบทั้งนั้น รูปฟันเลื่อยไม่ปรากฏ ที่ทรงพระเมตตาประทานเรื่องทรงคิดผูกเล่นในเรื่องทำรูปเกี่ยวกับจักร ข้าพระพุทธเจ้าซาบซึ้งเป็นอย่างยิ่ง เพราะการคิดผูกเครื่องหมาย ข้อสำคัญอยู่ที่หาเรื่องให้เข้ากันได้สนิท ข้าพระพุทธเจ้าเคยได้รับความลำบากในเรื่องเหล่านี้มาแล้ว เมื่อประทานแนวทางที่ทรงคิดผูกเล่นมานี้ จึงเป็นประโยชน์แก่ข้าพระหุทธเจ้ามาก พระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ หาที่สุดมิได้
อธิบดีกรมโยธาเทศบาล ได้ประทับจำลองดวงตราประจำกรมศุขาภิบาลมาให้ข้าพระพุทธเจ้าดวง ๑ เป็นรูปเทวดารำแพนหางนกยูงทั้ง ๒ หัตถ์ เหาะอยู่ในลายกนกเปลว และมีบันทึกลายพระราชหัตถ์ ลงวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ร.ศ. ๑๑๗ ว่า ได้ตรวจดูดวงตราที่เหลือ เป็นตราชั้นสูง เกินกว่าตำแหน่งกรมศุขาภิบาลไป ให้พระยาเทเวศร์ ฯ คิดทำเอาใหม่ ถ้าเป็นดวงตรารูปเทวดารำหางนกยูงจะดี ดูเป็นปัดเสนียดจัญไรเปื้อนเปรอะ หรือนับว่าเป็นการมงคล เขาสำหรับเบิกโรง แต่ที่แท้ละครพะม่ามันเล่น รำหางนกยูงออกมาออกมาปัดแท่นที่พระเจ้าแผ่นดินออกมาประทับ เห็นเข้าเชิงดี ถ้าจะกลัวเลวไปก็ให้เหาะเสียก็ได้
ภิงคาร ที่ทรงพระเมตตาตรัสประทานมา ข้าพระพุทธเจ้าได้เห็น พระสุวรรณภิงคาร ในราชพิพิธภัณฑ์ ก็เป็นคนโฑดินขนาดเล็กแต่เลี่ยมทอง นอกจากนี้ยังมีพระมณฑป ว่าเป็นที่บรรจุน้ำเสวย แล้วยังมีพระตะพาบน้ำ รูปไม่เป็นตะพาบน้ำเลย แต่เป็นหม้อน้ำอย่างพระเต้า พระยาวงศากรณ์ ฯ บอกข้าพระพุทธเจ้าว่า พระตะพาบ พระเต้า และ พระปทุม เป็นอย่างเดียวกัน คิดด้วยเกล้า ฯ ว่าคงมีอะไรผิดกันอยู่บ้าง จึงได้เรียกชื่อต่างกัน ข้าพระพุทธเจ้าลองค้นหาคำว่า ตะพาบ ในภาษามะลายูจะมีบ้างหรือไม่ ก็ไม่พบ แต่ไถลไปพบคำว่า ศรีตาหมัน แปลว่า กลางสวน หรือกลางใจสวน คิดด้วยเกล้า ฯ ว่าคำนี้ จะเหมาะกว่า สะตาหมัน ซึ่งทรงได้มาจากชะวา แปลว่า สวนหนึ่ง เพราะถ้าความว่า เสด็จประพาสสะตาหมัน คือเสด็จมาในกลางสวน ความสนิทกว่า และ ศรีตาหมัน เมื่อใช้ ชวนให้เสียงร่อยหรอเป็น สะ ได้
ในเครื่องราชูปโภค มี พานพระขันหมาก และ พานพระศรี เป็นสองชื่อ และลักษณะของรูปก็ผิดกัน น่าจะเป็นของคนละรุ่น พานพระขันหมากน่าจะมาก่อนพานพระศรี ข้าพระพุทธเจ้าสอบถามนายสุดได้ความว่า ภาชนะรูปร่างกลม ๆ อย่างขัน ทางอีศานเรียกว่า โอ แต่เมื่อนำมาใช้ใส่หมากพลู จึงเรียกว่า ขันหมาก แสดงว่า ขัน เป็นคำได้มาแต่อื่น เวลานี้ภาชนะโอทางอีศานเรียกเป็นขันก็มี ส่วนเชี่ยนหมากก็มีเรียกเหมือนกัน ข้าพระพุทธเจ้าค้นหาคำ ขัน และ เชี่ยน ในภาษาไทยต่าง ๆ ก็ไม่พบ แต่พบเรื่องประเพณีแต่งงานของเขมรในภาษาอังกฤษ เรียกว่า ขันสลา หมายความถึงเงินสินสอด ขันสลา นี้ ชาวเขมรคนหนึ่งทำงานอยู่ที่หอสมุด บอกข้าพระพุทธเจ้าว่าเป็นคำได้ไปจากไทย นอกจาก ขันสลา ยังมีช่อดอกหมากกำกับไปด้วย แต่ในหนังสือไม่ได้อธิบายไว้ว่า ใช้เพื่อประโยชน์อะไร ในเรื่องดอกหมาก ที่ทราบเกล้า ฯ มา ก็มีใช้แต่เฉลิมพระราชมณเฑียร พระยาวงศากรณ์ ฯ ว่า มีความหมายว่า งอกงาม ข้าพระพุทธเจ้าค้นดูคำ ขันหมาก ในภาษามะลายู พบคำ จารมา ปสิรีฮัน และ สลัปปะ คำที่ ๒ ปสิรีฮัน ฟังเสียงคล้าย พระศรี อะไรอย่างนั้น ส่วน สลัปปะ ใกล้คำว่า ตลับ ในภาษาไทย เพราะฉะนั้น ขันหมากและพานพระขันหมากคงไม่มีตลับใส่ ทางอีศานก็ใช้หมากพลูรวม ๆ ลงไปในขัน ส่วนเชี่ยนหมากและพานพระศรีมีตลับ จะเป็นของได้มาทางมะลายูทีหลัง การกินหมาก แขกมะลายูและจีนเรียกกินพลู คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า ไทยกินหมากก่อนแล้วกินพลูตามไป จึงเรียกว่ากินหมาก ส่วนจีนและชาวฮินดู เอาใบพลูห่อหมากและเครื่องผสมรวมกันแล้วกิน จึงได้พูดว่า กินพลู (เจี๊ยะเหลาเฮี้ยะ มากินสิรี) ข้าพระพุทธเจ้าเห็นชาวฮินดูป้ายปูนที่ใบพลูด้านที่เป็นมัน จะเรียกว่า หน้าพลู หรือ หลังพลู ไม่ทราบเกล้า ฯ คำว่า หมาก ในภาษาไทยเดิม หมายความว่า ลูกไม้ที่กินได้ จะเป็นเพราะไทยชอบหมากพลูมาก จนทำให้คำว่า หมากหมดความหมายในคำเดิม ย้ายมาหมายถึงหมากพลูโดยฉะเพาะ
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ
ข้าพระพุทธเจ้า
ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์