๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๓ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๓ มิถุนายน ๒๔๘๓

พระยาอนุมานราชธน

หนังสือของท่าน ลงวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ได้รับแล้ว

ความเห็นของท่าน ในข้ออ่าน ทร เปน ซ พิจารณาเห็นว่าถูกแล้ว และได้นึกต่อไปว่าตัวควบนั้นเราพูดยาก คำที่เปนตัวควบโดยมากเราก็ได้แยกออกแล้ว ข้อนี้ทำให้ใจกลับ เหนว่ามีบัญญัติเอาวิสัญชนีเปนสระ อะ นั้นควร และที่บัญญัติว่าคำไทยต้องลงวิสัญชนีก็ควร แต่ควรจะบัญญัติไปถึงคำต่างประเทศให้ลงวิสัญชนีเสียด้วย มีตัวอย่างเช่นชื่อตำบลที่เขารบกันในประเทศนอเวเขียน Kj ฉันก็ให้วิตกด้วยแต่ก่อนเรามักเขียนตัว j เปนตัว ย เดี๋ยวนี้เขียนเปนตัว จ จะทำอย่างไรกัน เอาควบกับตัว ก ได้หรือ แต่เขาทำได้ดี เอาสระประกอบเข้าเปน กะจะ และ กาจะ เหมือนทางมลายู เรียกมิสเตอคลิฟฟัด (หรือฟอด) ว่า ต่วนก้าลี่ฝัด ดูก็สนิทดี เช่นเดียวกับหมอปลัดเล ของเรา

คนที่พูด ร เปน ล ล เปน ร ควรจะทำให้เข้าใจผิดไปมาก แต่ไม่เข้าใจผิดไปได้ กลับรู้สึกเสียอีกว่าผู้นั้นพูดผิด นั่นเปนเพราะความนำไปเท่านั้นเอง หม่อมเจ้าพรประสิทธิ (ในกรมอุดม) เธอเปนคนพิการพูดเค้นเอาพยัญชนออกมาได้ แต่ อ ตัวเดียว แท้จริงก็ล้วนแล้วไปแต่สระทั้งนั้น ก็ยังคุยเข้าใจกันได้ จึงเห็นว่าที่เราคิดเขียนหนังสือให้ถูกถี่ถ้วนนั้นป่วยการ มีแต่จะทำให้ผิดไปเท่านั้น เช่น ชะละบุรี ธะนะบุรี ของท่าน นั่นเปนตัวอย่างที่ดีที่สุด

ขอบใจท่านเปนอันมาก ที่บอกที่มาแห่งคำหลายคำให้ทราบ ลางคำก็ไม่ทราบเลย ลางคำก็ทราบแต่แคบ ๆ เช่น จะปิ้ง ทราบว่าทางมลายูมี นึกว่าเรายืมคำมลายูมาใช้ ที่แท้ไกลไปกว่านั้น กลายเปนคำโปตุเกศไปอีกต่อหนึ่ง คำ กะโถน มีในคำฉันท์อนิรุทธว่า กลิ้งทองกรรโถงทอง ลังลองอาศนไอสวรรย์ นึกว่าเปนคำเขมร แต่กลายเปนคำมาแต่มะลายูเสียด้วยซ้ำ คำเขมรกับมะลายูมีพ้องกันอยู่มากต่อมาก คำว่า เหลียน หมายความว่ามังกร ก็เพิ่งเคยทราบ ดีเต็มที กับคำว่า หมูน ก็เพิ่งทราบว่าเปนคำมาแต่จีนอย่างถูกแท้ทีเดียว ที่ท่านใช้คำว่า เกิดหนูนพูนสุข นั้นไม่ใช่ผิด เปนคำผูกของท่านเท่านั้น

เรื่องอาวุธ ในหนังสือพิชัยสงครามฮินดูเขาแบ่งเปน ๓ อย่าง เขาว่าอาวุธสั้นสำหรับพลเดินท้าว อาวุธยาวสำหรับพลช้างพลม้า อาวุธยิงซัดสำหรับพลรถ ตามแนวนั้นหากว่าอาวุธยาวยอบแยบ จะเอาอาวุธสั้นต่อด้ามใช้เปนอาวุธยาวก็จะเปนไรไป ไม่ใช่เพราะขี้ขลาด ง้าวและทวนนั้นมีกระบัง จะว่าเอาดาพคมเดียวสองคมต่อด้ามใช้ก็ว่าได้ แต่ทวนไม่มีกระบัง จัดว่าเปนอาวุธยากจริง ที่ผูกภู่ขนจามรีไม่ได้ทำที่ผูกไว้โดยจำเพาะ ทวนที่ไม่มีภู่ก็เคยเหน เข้าใจว่าภู่ขนจามรีนั้นเปนของจีน เราจำมาผูกบ้างก็เพื่อดูงามเท่านั้น ไม่มีประโยชน์อะไรในการรบกัน โตมร ก็หมายความว่าเปนอาวุธแหลมสำหรับใช้แทง จะมีรูปร่างเปนอย่างไรก็ได้ ที่เรามาถือกันว่า โตมร เปนรูปใบโพธิ์หรือสามแหลมนั้น มาเข้าใจกันในทุกวันนี้อันเปนการถือแคบไป

พระมาลาเบี่ยง ท่านจะคิดว่าเบี่ยงเพราะเหตุใดก็ตามใจ แต่ถ้าคิดว่าองค์ที่ท่านเหนเปนองค์ที่ทรงเบี่ยงแล้วเข้าใจผิด องค์เดิมสูญหายไปเสียแต่ไหน ๆ แล้ว องค์ที่ท่านเห็นนั้นเขาทำใหม่ ตั้งชื่อไว้เปนพระเกียรติยศ ลางทีองค์เดิมจะไม่เหมือนองค์ที่ท่านเห็นแม้แต่นิดเดียวเลย

ขอโทษเถิด ฉันเปนคนไม่เชื่อพงศาวดาร เช่นที่ว่าพระศพพระเจ้าเมงรายแต่งลงโกศ ได้นึกถามตัวเอง ว่าคนที่เขียนพงศาวดารนั้นเกิดทันได้เหนพระศพพระเจ้าเมงรายว่าแต่งอย่างไรหรือ คำตอบของตัวเองก็ตอบตัวเองว่าเปล่า แม้แต่เรื่องราวก็ได้ฟังแต่เขาเล่า แล้วเก็บเอามาแต่งให้เปนตุเปนตะขึ้นตามความคิดความรู้แห่งตน เหมือนหนึ่งที่ว่าไทยมาจากเมืองจีน นั่นก็เปนชั้นที่ ๒ ยังมีชั้นที่ ๑ กล่าวต่อขึ้นไป ว่ามาแต่ทะเลคัสเปียน ย้ายมาตั้งในเมืองจีน เปนใหญ่เหนือจีนด้วยซ้ำ ฉันก็ได้แต่ฟังไว้เท่านั้น ความจริงจะอย่างไรก็ตามที เรื่อง ขุนบรม ซึ่งท่านกล่าวถึงก็ข้องอยู่ในข่ายนี้

ฉันเขียนหนังสือไปถึงพระองค์เจ้าธานีเรื่องศพโกศ ได้พูดไปถึงพระจีนซึ่งเขาเอาศพตั้งไว้ เธอเอาสมุดซึ่งฝรั่งเขาแต่งมีรูปประกอบมาให้ดู ปรากฏว่าเปนศพแห้งถูกอย่างท่านคาด มีโอ่งที่เอาศพใส่แล้วใส่ยาให้ศพแห้งมาให้ดูด้วย ที่ปั้นทับศพแล้วปิดทองก็มี ทั้งเธอเอาสมุดเรื่องศักราชมาให้ดูด้วย เพราะฉันได้พูดแก่เธอ ว่า มหาศักราช แปลว่า พระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงพระนามว่าศะกะองค์ใหญ่ จุลศักราช แปลว่า พระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงพระนามว่าศะกะองค์น้อย ที่มาใช้ว่า พุทธศักราช และ คฤษตศักราช นั้นเหลว เธอจึงเอาสมุดมาให้ ดูว่าเหลวมาแต่อินเดียแล้ว เขาเข้าใจว่า ศัก หรือ ศักราช แปลว่าปี เหมือนที่เราเข้าใจกันก็เช่นนั้น ข้อนี้เราออกจะขึ้นหน้า พระที่ถวายเทศน์พูดว่าพุทธศาสนกาล ไม่ได้พูดว่า พุทธศักราช ที่เราเขียนหมายละว่า พ.ศ. ถ้าจะอ่านว่า พุทธศาสนกาล ก็ได้อยู่

เรื่องสมโภชน์และเจ้านายประสูติ ซึ่งฉันเขียนให้ท่านก็เขียนเท่าที่ได้เหนและจำได้ ไม่ตลอดไปดอก

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ