๑๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ยส

กรมศิลปากร

วันที่ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๔

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๓ ที่ทรงพระเมตตาประทานมานั้น ข้าพระพุทธเจ้าได้รับไว้แล้ว รู้สึกในพระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ

ที่ตรัสว่า กรรมการ กับ กรมการ จะเป็นคำเดียวกัน ถ้าไม่ทรงแนะขึ้นข้าพระพุทธเจ้าก็ไม่เฉลียวใจ มาได้คิดว่าควรจะเป็นคำเดียวกันต่อเมื่อได้อ่านลายพระหัตถ์ ดูความหมายในคำทั้งสองก็ไม่ผิดอะไรกันนัก กรรมการ เป็นคำมีอยู่ในภาษาสันสกฤต ส่วน กรมการ แปลตามคำไม่ได้ความ น่าจะเพี้ยนไปจาก กรรมการ แต่ครั้นแล้ว กรมการ มามีความหมายฉะเพาะกรรมการของจังหวัดหัวเมือง จึงต้องคิดหาคำใช้แทน กัมมิตี้ ในภาษาฝรั่ง กรรมการคำเดิมก็กลับมา

ที่ตรัสว่า ไม่ว่าอะไร ย่อมเป็นอายุทั้งนั้น เป็นที่จับใจข้าพระพุทธเจ้าอย่างยิ่ง นักปราชญ์ชาวตะวันตกจับเค้าความเป็นไปของชาวอริยกะสมัยพระเวทได้ว่า แต่งตัวอย่างไร และมีความเป็นไปอย่างไร ก็ด้วยพระเวทพรรณนาถึงทวยเทพว่า แต่งตัวอย่างนั้น มีความเป็นไปอย่างนั้น ที่แท้ผู้แต่งพระเวทก็เอาลักษณะของพวกตนที่เห็นอยู่ไปให้เทวดานั่นเอง แต่การสังเกตเค้าว่าเก่าใหม่นี้เกี่ยวด้วยความละเอียดถี่ถ้วนจึงจะเห็น เป็นเรื่องฝึกกันยากมากอยู่

เรื่องตั้งชื่อ ตรัสว่าเดิมก็เป็นคำโดด แล้วมาเป็นคำกล้ำ และในที่สุดก็มาเป็นคำผสมยาวอย่างทุกวันนี้ ข้าพระพุทธเจ้าเห็นพ้องในกระแสพระดำริในชื่อทางพายัพ มีชื่อคำผสมอยู่สามสี่ชื่อ ซึ่งผู้รู้ภาษาภาคนั้นอธิบายให้ข้าพระพุทธเจ้า จึงได้เห็นความหมายของชื่อ เช่นผู้หญิงชื่อ บัวเหลียว บัวผัด เขาอธิบายว่าดอกบัวมักไม่ตั้งดอกตรง ต้องเหลียวหรือผัน จึงจะดูงาม ชื่อชายมี อินแปง อินตุ้ม อินลุ้ม อินแปง ก็คือ อินทรแปลง หรือสร้าง อินตุ้ม ก็อินทรโอบอุ้มไว้ อินลุ้ม ก็อินทรล้อมไว้ ยังมี ล่า อีกคำหนึ่งที่ชอบชื่อกัน มีนายหมูล่า เป็นต้น คนที่ชื่อล่า ทางกรุงเทพ ฯ ก็มีชื่อ แต่เขียนเป็น หล้า จึงมองไม่เห็นเหตุที่ตั้งชื่อนี้ ล่า ในที่นี้หมายความว่า มาทีหลัง เป็นชื่อเรียกลูกคนเล็ก คนพี่ชื่อมั่ง ข้าพระพุทธเจ้าคิดด้วยเกล้า ฯ ว่า มั่ง เห็นจะหดเสียงมาจาก ม่าง เพราะเมื่อปรับ ม่าง กับ มาก (แม่กกกับแม่กง) ความก็ลงกัน เรื่องการตั้งชื่ออย่างที่ได้ประกาศไปนี้ มึกรรมการลางท่านเห็นว่า ความสำคัญในเวลานี้อยู่ที่ชื่อนามสกุล ส่วนชื่อตัวมีความสำคัญน้อยไป จึงเห็นควร ให้มีชื่อตั้งให้น้อยชื่อ เพราะชื่อของฝรั่งเขามีน้อย จึงสะดวกดี เช่น เมรี ก็เป็นชื่อใช้ได้ตั้งแต่เป็นชื่อของควีนลงมาจนถึงเป็นชื่อผู้หญิงสาวใช้ก็ได้ ถ้าใช้ตามนี้ จะทำให้สะดวกและจำง่ายว่า เป็นชื่อหญิงหรือชาย คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า ถ้าจะทำอย่างนี้ เปนการฝืนความรู้สึกและฝืนความนิยมมากอยู่ ทั้งจะเป็นทำลายชื่อเก่าๆ ให้ศูนย์ไปด้วย กรรมการส่วนมากไม่เห็นดวย ความเห็นนี้จึงได้ตกไป ส่วนการเลือกชื่อ ถ้าจะเลือกแต่ชื่อที่เป็นคำยาว ๆ ตรงกับความนิยมก็จริงอยู่ แต่ชื่อของเก่าซึ่งเป็นภาษาไทยแท้จะหมดไป จึงได้ตกลงเลือกไว้ทั้งสองชะนิด

เรื่องไว้ทุกข์ คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า ต่อไปจะมีแต่เสื้อขาวติดปลอกแขนดำ ส่วนผู้หญิงจะมีแต่งนุ่งดำเสื้อดำ ทีแรกจะให้นุ่งดำเสื้อขาว แต่การแต่งตัวของผู้หญิง เปนปกตินุ่งดำกันมาก ถ้าถือว่าเปนแต่งตัวไว้ทุกข์ ก็จะกลายเป็นไว้ทุกข์กันตลอดไป ส่วนแต่งขาวล้วน และสีอื่นเป็นไม่มี ที่อนุโลมการแต่งทุกข์ง่ายๆ เช่นนี้ เพราะมีผู้บ่นเรื่องการไว้ทุกข์กันมากว่าสับปลับเต็มที ถืออะไรแน่ไม่ได้

ที่ทรงพระเมตตาตรัสอธิบายถึงการเขียนภาพซ้ายขวา ข้าพระพุทธเจ้าทราบซึ่งในพระอธิบายโดยตลอดแล้ว พระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ หาที่สุดมิได้

เมื่อข้าพระพุทธเจ้าถวายหนังสือลงวันที่ ๗ ไปแล้ว พอรุ่งขึ้นในวันที่ ๘ ผู้ที่เขารับปากไปสืบเรื่องคำว่า อับปาง และ อับเฉา มาหาข้าพระพุทธเจ้า และนำเอาตัวจีนมาให้ดู คือคำว่า อับปาง ในภาษาจีนเรียกว่า ฮอบป๊าง ฮอบ 合 เป็นเสียงชาวกวางตุ้ง ถ้าเป็นเสียงแต้จิ๋วก็เป็น ฮับ หรือ ฮะ ซึ่งเป็นคำที่มีดกดื่นอยู่ในชื่อคนและชื่อยี่ห้อ ฮะ แปลว่าปิดหรือหับ เข้ากัน รวมกัน ทั้งหมด ป๊าง 崩 แปลว่า แตก พัง ทำลาย ฮอบป๊าง ก็คือ แตกทำลายทั้งหมด เรืออับปาง ก็คือ เรือแตกจม สินค้าในเรือก็ศูนย์ คนในเรือก็ตาย เป็นเรื่องแตกหมด จมหมด ไม่มีอะไรเหลือ ส่วนคำว่า อับเฉา อับ ก็คือ ฮอบ เป็นคำเดียวกับ อับ ในคำว่า อับปาง เฉา ตรงกับ เฉ่า หรือ เส่า ในเสียงชาวกวางตุ้ง 湊 แปลว่า รวบรวม เมื่อเข้าคู่กับ ฮอบ ก็เป็นคำมีความหมายซ้ำกัน ซึ่งผู้ที่นำมาบอกว่า จะแยกแปลอย่างนั้นไม่ได้ เพราะภาษาจีนเมื่อเอาคำมาผสมกัน ก็มีความหมายเปนอีกอย่างหนึ่ง ไม่จำเป็นจะตรงกับความหมายในคำที่ผสมกันแต่ละคำ (ก็เห็นจะเป็นอย่างภาษาไทย อย่างคำว่า ตีตั๋ว หน้าที่ เป็นต้น) คำว่า ฮอบเฉ่า นี้ ใช้แต่ชาวกวางตุ้งเท่านั้น จีนชาวอื่นไม่ใช้

เมื่อข้าพระพุทธเจ้าค้นดูคำแปลของคำว่า เฉ่า หรือ เส่า ในพจนานุกรมกวางตุ้ง - อังกฤษ พบคำจีนอีกคำหนึ่งอ่านว่า เฉ่า หรือ เส่า เหมือนกัน แปลไว้ว่า เป็นทุกข์ใจ ใกล้กับคำว่า เสร้า มากที่สุด อาจเป็นคำเดียวกัน เจ่า เฉา เซา ก็เป็นคำพวกเดียวกัน เสร้า เขียนมี ร กล้ำ ถ้าแยก ส ออก ก็เหลือเร่า ความใกล้กับ เศร้า และมีแนวในคำว่า สร้าง - รัง สอง - รอง (ในพระลอ เขียน สอง เป็น สรอง) สร่าง - สาง - รุ่งราง

วันนี้พระอาจวิทยาคม (หมอแมคฟาแลน) นำพจนานุกรมไทย-อังกฤษที่แกทำมา ๑๘ ปี เพิ่งสำเร็จเป็นหนังสือพันหน้า มาให้ข้าพระพุทธเจ้าเล่ม ๑ ข้าพระพุทธเจ้าพลิกดูพบคำว่า อยู่ ในคำว่า กินอยู่ แปลเป็นภาษาอังกฤษไว้ว่า กินนอนอยู่ด้วย ส่วน อยู่กิน แปลว่า อยู่ด้วยกันอย่างผัวเมีย นับว่าพระอาจวิทยาคมเข้าใจภาษาไทยดี ข้าพระพุทธเจ้าเคยเห็นคำในภาษาจีนที่ผสมกันพอกลับคำกันความก็ต่างออกไปไกล เป็นอย่างคำว่า กินอยู่ และ อยู่กิน ในภาษาไทย เพราะฉะนั้น หลักของภาษาไทยอยู่ที่รู้จักเรื่องลำดับคำนี้เอง ซึ่งเป็นของเรียนรู้ได้ยาก นอกจากคุ้นเคยกันมาเท่านั้น

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ