๒๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๙ มกราคม ๒๔๘๔

พระยาอนุมานราชธน

หนังสือของท่าน ลงวันที่ ๒๒ มกราคม ๒ ฉะบับ ได้รับแล้ว

ท่านจะแปลคำแต่งในหลักไวยากรณ์ของอาจารย์ชาวเดนมากส่งไปให้เปนคราว ๆ นั้นดีอย่างยิ่ง ขอบใจมาก ฉันก็เพิ่งเข้าใจ ว่านักเรียนซึ่งเข้าเรียนในโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษเช่นท่าน ก็อ่านภาษาอังกฤษเข้าใจทั่วไปได้ยาก เหตุที่ทำให้คิดว่าอ่านเข้าใจได้หมดก็เพราะเทียบเอาตัวเองซึ่งไม่ได้เข้าโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษ ประสาว่าอยากรู้ก็ดูเอาเอง ลางเรื่องก็อ่านเข้าใจ ลางเรื่องก็ไม่เข้าใจ ที่เปนดังนั้นก็โทษเอาว่าเพราะไม่ได้เข้าโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษ

ได้เหนหนังสือเขาเอามาให้ตรวจเพื่อให้แก้ เขาเขียนถึงภิกษุว่าชื่อวินัยธร กับธรรมกถึก รู้สึกว่าไม่ใช่ชื่อ แต่แล้วก็เฉลียวใจได้คิด ว่าหรือไวยากรณ์เขาจะจัดว่าเปนชื่อกระมัง ผู้เขียนเปนนักเรียน เลยงดไม่ได้จดทัก คงเปนแน่เช่นนั้น แต่ ต้นๆ ลำๆ ยังสงเคราะห์เข้าเปนชื่อ

ท่านให้ความเหนในเรื่องเรียกเกวียนว่าเล่ม อาศรัยด้วยไม้ท่อนอันเปนหลักของเกวียน ซึ่งเขาเรียกว่า ทูบ ฉันเหนด้วยเต็มตัว สมุดไทย ก็เรียกว่า เล่ม แต่ครั้นถึง คัมภีร์ใบลาน ซึ่งควรจะเรียกเล่มเหมือนกันแต่เรียกว่า ผูก ไปยึดเอาเชือกร้อยหูเข้า ชื่อทั้งนั้นเห็นจะนึกเอาตามสมัย ใครเรียกนำเปนอะไรก็เรียกตามกันไป เหมือนหนึ่งสมุดฝรั่งก็ไม่ยาวเปนท่อน แต่เรียกกันว่าเล่ม เปนอันเรียกตามสมุดไทย ลางทีก็เรียกกันว่า ปึ๊ง ดูทีเปนภาษาจีน แปลว่ากะไรก็ไม่ทราบ ทองแท่ง เรียกว่า ทองลิ่ม ก็มีลักษณเปนท่อนยาว คำ ลิ่ม กับ เล่ม เหนว่าเปนอันเดียวกัน

คำที่เราเรียกว่าเกวียน ย่อมมีชื่อเรียกกันต่าง ๆ แม้เราเองลางทีก็เรียกไปเปนอย่างอื่น แต่คำที่เรียกว่าเกวียนก็เปนแต่ใช้เขียนหนังสือ เมื่อพูดกันก็เรียกว่า เกียน คงเปนที่เราพูดตัวควบได้ยาก เขียนหนังสือกับพูดมีผิดกันอยู่มาก

คำอธิบายถึงโยชน์กับคาวุต ฉันก็ค้นพบเช่นท่านบอก ดีใจที่ได้ทราบคำ คาวุต ว่าตรงกับ คาพยุต ที่เราใช้กันอยู่ว่าเปน ๑/๔ แห่งโยชน์ แล้วค้นพบคำ โกส หรือ โกฺรส ก็เปนอันเดียวกับ คาพยุต นั่นเอง แต่เรื่องยาวเท่าไรเท่าไรนั้นเหลว ก่อนนี้ก็ว่าเปนแต่ประมาณเท่านั้น โยชน์หนึ่งที่ว่า ๔๐๐ เส้นนั้นทีเปนไปไม่ได้ โคร้อง ๔ ต่อ ไกลไปไม่ถึง ๔๐๐ เส้น

ท่านบอกว่า แพ้ คือชนะ ทำเอาฉันตกใจมากด้วยไม่เคยทราบ ตรงกันข้ามกับที่เข้าใจทีเดียว เคยถึงมาแล้วแต่คำ อปราชัย เข้าใจว่าแพ้, แต่ครั้นคิดดูก็ตรงกันข้ามเปนไม่แพ้ ก็คือชนะนั้นเอง ที่ใช้คำแพ้ในที่นี้พูดตามทางที่เข้าใจมาแต่ก่อน อยากทราบว่าคำ พ่าย นั้นเปนภาษาอะไร เราใช้แต่เขียนหนังสือ ส่วนพูดกันนั้นไม่ได้ใช้ เข้าใจความเปนว่าแตกหนี

คำที่เคลื่อนไปนั้นมีมากเต็มที เช่นให้พรก็มีขอพร การขอพรเปนของผู้น้อยขอสิ่งซึ่งควรจะเปนได้ การให้พรจึ่งเปนของผู้ใหญ่ คืออนุญาตเท่านั้นเอง แล้วการขอพรนั้นหายไป ให้พรกลายเปนให้โคมลอยในสิ่งที่จะเปนได้หรือไม่ได้ก็ตามที การให้พรซึ่งเปนไปได้ทั้งผู้ใหญ่และผู้น้อย คำสาบานปฏิญาณก็เหมือนกัน เดิมเปนสองคำ มีผู้ใหญ่สาบานคือแช่ง ว่าทำเช่นนั้นแล้วให้เปนเช่นนั้นหนา ผู้รับสาบานกล่าวปฏิญาณว่า เออ เท่านั้นพอแล้ว แต่เดี๋ยวนี้เปนพูดเอาเองทั้งสาบานและปฏิญาณ เรียกกันว่า สบถ หรือ สาบาน หรือติดกันทั้งสองคำ จะอย่างไรก็มีความหมายเคลื่อนไปทั้งนั้น คำเคลื่อนซึ่งท่านให้ตัวอย่างการติดเงินนั้นก็มีมาก เช่นพูดว่า ทีหลัง ฉันก็เคยสงสัยว่าพูดผิด จะเปนทีหน้าดอกกระมัง ทีหลัง เปนหมายความว่าล่วงมาแล้ว

เรื่องโปสตก๊าดรูปพระธาตุพนมนั้นดีมาก ในการส่งมาให้ท่านก็เข้าคำบุราณที่ว่า จุดไต้ตำตอ ไม่ได้ทราบเลยว่าทำไปจากกรมศิลปากร ท่านให้ไป ๔ แผ่น ๔ ภาษานั้นดีใจขอบใจมาก เปนอันเดาถูกว่าพวกเราแต่งในภาษาเราแล้วเขียนแปลงเปนภาษาอีศาน คำ ลบเลา ก็ได้นึกเหมือนกันว่า เลา จะเปน เลว ก็ได้ แต่ก็ไม่เข้าใจอยู่นั่นเอง ท่านพูดถึงผ่อนเสียง ให้ตัวอย่างคำ วัดวา ทำให้นึกไปถึงมีคนที่เหนคำนั้นเปนภาษามคธว่า วตฺวา ฉันกลืนไม่ลง คำ เรส เปน เฮษ นั้นไม่ใช่ความผิดของฉัน เพราะเขียนไว้เคลื่อนคลาศ แต่ถึงจะเขียนได้ไม่คลาศก็ไม่เข้าใจอยู่นั้นเอง ที่ฉันเขียนสกด ส มาก็เพราะในต้นฉะบับเขียนตีนยอขีด ไส้สอยอไม่มี จึงเดาเปนสอลอ ถ้าเปนสอบอควรจะเปนตีนบอขีดไส้ เขียนเช่นนั้นก็มีอยู่ที่คำอื่น

ญวนนั้นไม่ใช่เจ๊ก ที่ใช้หนังสือจีนทีก็จะถูกบังคับ หรือสมรรคใช้เองด้วยเหนว่าจีนเขาศรีวิลัย แต่ได้ทราบว่าเดี๋ยวนี้ฝรั่งเศสเขาห้ามไม่ให้ใช้หนังสือจีน แต่ให้ใช้ตัวโรมันมีเครื่องหมาย ได้สืบส่วนมาทราบความว่าญวนเขาเรียกการเขียนอย่างนั้นว่า ฟลึกหงี เปนการบังคับให้ทำอย่างเข้าแก่ตัว

คำ ยกเอ้ ยกพินทุ์ นั้นพูดกันอยู่มาก สำคัญว่าท่านจะเข้าใจจึงไม่ได้อธิบายคำนั้น ขอโทษ แต่ท่านก็คิดได้โดยไม่ต้องอธิบาย

เรื่องเสียงเพี้ยนนั้นไม่ต้องดูไกลไปถึงไหน เอาแต่ใกล้ ๆ เสียงก็ไม่เหมือนพวกเราแล้ว ฉันได้บอกแก่ท่านแล้วว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรศ ทรงเหนว่าการผันอักษร (อย่างเรา) เปนเสียงชาวบางกอกเท่านั้นเอง ขุนอุดมอักษร เปนเด็กอยู่ที่บ้าน แล้วเขาขึ้นไปรับราชการอยู่โคราช ได้ไปสังเกตเสียงชาวโคราชมา ว่าถ้าเราต่ำเขาก็สูง ถ้าเราสูงเขาก็ต่ำ ตรงกันข้ามเสมอ ฉันไปโคราชทีหลัง เมื่อได้ฟังเขาพูดแล้ว สังเกตตามก็เหนจริงอย่างนั้น

พูดถึงเสียงเพี้ยนก็เหนประหลาด แม้พวกเราเองพูดเพี้ยนไปก็มี เช่น ขยด เขยิด เขยิบ ขยับ นี่ก็เปนคำเดียวกัน หยด หยัด หยาด นี่ก็เปนคำเดียวกัน ยังมี หยอด อีก แต่นั่นเปนการทำให้ หยด หยัด หยาด

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ