- เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๓
- พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๓
- มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๓
- กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๓
- สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๓
- กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๓
- ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๓
- พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๓
- ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๓
- มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔
- กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๔
- มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔
- เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๔
- พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๔
- มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๔
- กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๔
- สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๔
- ภาคผนวก
- ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๘
- ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๐ น
- ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๐ ดร
- ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ น
- ๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ น
- ๒๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๒ น
- ๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๒ น
- ๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๒ น
- ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๒ น
- ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ น
- ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๗ น
- ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๗ ปสศ
- ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๘ น
- ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ ยส
- ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ ว
- ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๘ ว
- ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๙
- ๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๘ ยส
- ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๓ ว
- ผู้พูดกับผู้ฟัง
- คำแบบ
- เรื่องจำนวน
๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ยส
กรมศิลปากร
วันที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๔
ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท
ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ ลงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ตรัสถามคำลางคำ พระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ หาที่สุดมิได้
อับปาง อับเฉา สองคำนี้ เห็นจะไม่ใช่คำไทย เพราะเมื่อแยกแปลแต่ละคำ ก็ไม่ได้ความหมายไปในทางว่า เรือแตก เรือจม หรือเรื่องของหนักใช้ถ่วงเรือ อับปาง และ อับเถา จะเกี่ยวกับเรื่องเรือเดินทะเล โดยฉะเพาะเรือสำเภา เพราะฉะนั้น ควรจะเป็นคำมาจากภาษามลายู หรือภาษาจีน เมื่อได้ค้นดูในภาษามลายู ก็ยังไม่พบความหมายว่า อับปาง และ อับเฉา ในภาษามลายูใช้เป็นอีกอย่างหนึ่งไม่มีเค้าใกล้เคียงเข้ามา ข้าพระพุทธเจ้าค้นดูในภาษาจีน พบแต่คำว่า โฉย ในภาษากวางตุ้ง แปลว่า บรรทุก ใกล้เข้ามาในคำว่า อับเฉา แต่คำจีนที่ออกเสียงว่า อับ อิบ หยับ หยิบ ให้มีความหมายไปในทางที่ต้องการก็ไม่พบ ข้าพระพุทธเจ้าจึงสอบถามคนจีนคนหนึ่ง เขาโทรศัพท์บอกว่า อับเฉา เป็นสำนวนในภาษากวางตุ้ง ใช้ว่า อับโสย ส่วน อับปาง ยังไม่ทราบ ข้าพระพุทธเจ้าขอให้เขาจดตัวจีนมาให้ดู เขารับปากแล้วต่อมาจนบัดนี้ ซึ่งล่วงมาได้ ๒ วันแล้ว ก็ยังไม่ส่งมา ข้าพระพุทธเจ้าสงสัยว่าเขาอาจบอกพลาดผิดก็ได้ จึงยังไม่ตอบมา
เรื่องคำว่า โหงพราย มีอยู่ในภาษาไทยใหญ่ พายัพ และอีศาน ในไทยใหญ่ใช้ว่า หูง แปลว่า to die a violent death – used in composition with ตาย อธิบายไว้เท่านี้ ข้าพระพุทธเจ้าได้สอบถามคนชาวพายัพ และนายสุด ศรีสมวงศ์ ก็ชี้แจงแต่ว่า ตายโหง เป็นตายร้าย ไม่ใช่เจ็บป่วยตาย โหง จะแปลว่าอะไรในคำโดยฉะเพาะไม่มี และใช้ตามลำพังคำเดียว ไม่มีคำ ตาย ประกอบด้วยก็ว่าไม่มี ในภาษาไทยตามชนบทมีคำว่า โหง อยู่คำหนึ่ง เช่น โหงปลา แต่คำนี้แปลว่า ช้อนขึ้น ยกขึ้น ซึ่งในไทยใหญ่ก็มีเขียนว่า โหง ผิดกับ ตายโหง ซึ่งเขาเขียนว่า หูง เพราะฉะนั้น จึงเป็นคนละคำ พราย ในไทยใหญ่ พายัพและอีศาน เขียนว่า พาย ไทยใหญ่อธิบายแต่ว่าเป็นตัวผีชะนิดหนึ่งเท่านั้น ทางพายัพและอีศาน ก็มีความหมายเป็นว่าผีชะนิดหนึ่งเพียงเท่านั้น คำว่า โหงพรายทางอีศานใช้ว่า ผีพราย ก็ว่าเป็นผีชะนิดหนึ่งเท่านั้นเหมือนกัน ทางพายัพ ถ้าตายในระหว่างอยู่ไฟเรียกว่า ตายพาย ถ้าตายในระหว่างยังไม่คลอด เรียกว่า ตายกลม (พระยาอุปกิต ฯ ว่า กลม เป็นภาษาเขมร แปลว่าทั้งหมด ตายกลมก็ตายหมดทั้งแม่และลูก คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า ไข่ตายโคม จะเป็นคำเดียวกับ ตายกลม) ข้าพระพุทธเจ้าค้นดูในพจนานุกรมไทยขาวในคำว่า ตาย มีให้ไวพจน์ของคำว่า ตาย ไว้ว่า phai, hai, thai คำตนใกล้กับ พาย คำที่สองใกล้กับ ฮาย หรือ ร้าย คำที่สามใกล้ไปว่า ตาย คำว่า จริง ในไทยขาว เขียนเปนสองรูป คือ จิง คำหนึ่ง ริง คำหนึ่ง ถ้าถือแนวนี้ พราย ก็แยกเป็น พาย คำหนึ่ง ราย หรือ ร้าย คำหนึ่ง พราย น่าจะหมายความว่า ตายร้าย ตายไม่ดี ล้มหายตายจาก หาย ในที่นี้เห็นจะคำเดียวกับ ฮาย ร้าย แต่ยังตกอยู่ในเดา ส่วน พลาย ในคำว่า พลายแก้ว พลายงาม คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า จะเป็นคนละคำกับ พราย เพราะในภาษามอญมีคำว่า ปลาย แปลว่าชายหนุ่มชายโสด ถ้าเทียบกับคำไทยของเก่าก็ตรงกับคำว่า บ่าว
ข้าพระพุทธเจ้าตรวจค้นคำว่า หลง ในพจนานุกรมไทยใหญ่-อังกฤษมีคำว่า หลง หรือ หลงหลัง แปลไว้ว่าลืมหรือเข้าใจผิด ในไทยขาวและไทยย้อยแปลว่าลืม ทำผิด แล้วให้ไวพจน์ไว้ ๕ คำ คือ lung, lam, sa, so, pit, peo คำที่หนึ่งที่สองจะเป็น หลง และ ลืม คำที่ห้าตรงกับ ผิด นอกนั้นปรับเข้ากับคำในภาษาไทยที่นี่ไม่ได้ ถ้าดูตามคำแปลนี้ หลง หมายความว่าผิดก็ได้ ในภาษาไทยคำว่า หลง มีพูดเปนคำคู่อยู่สามคู่ คือ หลงลืม หลงใหล ลุ่มหลง ความหมายในลุ่มหลง ดูจะแรงกว่า หลงลืม ส่วน หลงใหล เป็นเรื่องไปในทางหลงลืมอย่างเลอะเทอะ ยังมีคำที่มีความหมายใกล้เคียงกับ หลง อยู่อีก ๒ คู่ คือ เคลิบเคลิ้ม คลั่งไคล้ ถ้าตัดเสียง ค ออกเสีย ก็จะเป็น เลิบเลิ้ม ลั่งไล้ เลิ้ม ใกล้กับคำว่า ลืม (ไทยใหญ่ใช้ว่า เลิม) ลั่งไล้ เสียงใกล้ไปทางหลงไหล และในคำว่า บ้าหลัง คือ บ้าคลั่ง พายัพ และอีศาน มีคำใช้แต่ หลงลืม ส่วน หลงใหล และ ลุ่มหลง ไม่ใช้ ผู้ไทยมีคำว่า ใหลเหลอ ซึ่งทางพายัพก็มีคำว่า เหลอ แปลว่าหลง คำของเราก็มีคำว่า ใหลเล่อ น่าจะเป็นคำเดียวกับ ใหลเหลอ (เสียงไม้ม้วนในพวกผู้ไทยเป็นเสียง เออ ทุกตัว) คนที่หลงใหลหลงลืม พูดกันว่า เหลอเสียแล้ว ไหลเสียแล้ว ก็เคยมี เหลอ เล่อ เลินเล่อ เผอเรอ และ เลอะ ดูก็จะเป็นคำพวกเดียวกัน คำว่า เพลิดเพลิน ตัดเสียง พ ออก ก็เหลือเสียงว่า เลิดเลิน เมื่อ เพลิน ก็ลืมตัวมีอาการ เลินเล่อ เผลอไผล (ตัด ผ ออกก็เป็นใหลหลง) คำว่า วังเวง มหาฉ่ำว่าเป็นคำเขมร โดยสังเกตว่าเป็นคำมีเสียงมากพยางค์ และแยกแปลไม่ได้ วังเวง ในภาษาเขมรหมายความว่า หลง ว่าลืม คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า วังเวง ในความหมายข้างไทยเป็นความหมายเคลื่อนที่แล้ว เป็นเรื่องได้ยินเสียงลางชะนิด ซึ่งทำให้เพลิตเพลินเคลิบเคลิ้มลืมตัวหรือเผลอตัว เมื่อย่อลงไปก็ตรงกับ หลง ในภาษาไทย
เมื่อประมวลคำที่มีเสียงและความหมายไปในพวกใหลหลง ก็มี หลงลืม ลุ่มหลง หลงใหล ใหลเหลอ ใหลเล่อ เลินเล่อ เลอะ เผลอไผล (เหลอใหล) เผอเรอ เพลิดเพลิน (เลิดเลิน) เคลิบเคลิ้ม (เลิบเลิ้ม = ลืม) คลุ้ม (ลุ่มหลง) คลั่งไคล้ หลงใหล บ้าหลัง
ข้าพระพุทธเจ้า ค้นดูคำแปลของคำว่า โมห ตามชิลเดอร์และมอร์เนียวิลเลียมส์ แปลไว้ว่า ignorance = ความไม่รู้ delusion = หลง error = ผิด folly = โง่เขลา infatuation = คลั่งไคล้หรือใหลหลง lost of consciousness = ขาด8วามรู้สึก bewilderment = งงงวย
เมื่อปรับคำแปลของคำว่า โมห ก็ตรงกับ หลง วังเวง ผิด ความลงกันได้หมด คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า โมห เป็นเครื่องเศร้าหมองใจ เป็นต้นเหตุให้พาไปตกนรกได้ เพราะความผิดที่จะเป็นบาปจะเกิดขึ้นได้ก็มาจากการหลงใหลลุ่มหลงหรือโง่เขลา เป็นอันลงรอยกับที่ตรัสว่า รู้แล้วว่าชั่ว แต่ขืนทำ ก็ควรตกนรก ที่ขืนทำไปก็เป็นเพราะความเขลาเบาปัญญาหรือหลงผิดเป็นเหตุ ทั้งนี้การจะผิดถูกสถานไร ขอพระบารมีปกเกล้า ฯ เป็นที่พึ่ง แล้วแต่จะทรงกรุณา
ในตำรานิรุกติศาสตร์ เปรียบความหมายของคำเหมือนเป่าที่มีใจกลางเป็นจุดดำว่า เป็นความหมายเดิมของคำ แต่ธรรมดาเบ้าย่อมมีขอบเขตต์แผ่ออกไปโดยรอบ จะเลยเขตต์ไปไม่ได้ ความหมายเดิมก็ย่อมจะมีความหมายข้างเคียงแผ่เป็นรัศมีออกไปเช่นเดียวกัน ตามธรรมดาผู้ใช้คำ ไม่จำเป็นจะต้องใช้อย่างความหมายเดิม คือกลางใจดำเสมอไป อาจใช้ความหมายที่เป็นข้างเคียงได้ ถ้าว่าใช้แต่ในความหมายข้างเคียง และคนฟังก็เข้าใจความหมายไปในทางนั้นซ้ำบ่อยๆ ความหมายข้างเคียงก็เกิดเป็นความหมายตัวตั้งของคำ ส่วนความหมายเดิมคือกลางใจดำ ก็ศูนย์ไป เป็นเรื่องความหมายย้ายที่ เช่น บ่าว เดิมหมายความว่า ชายโสด ชายหนุ่ม เป็นความหมายตัวตั้งหรือกลางใจดำ คนหนุ่มย่อมมีกำลังมีแรง คำว่าคนมีกำลังมีแรงก็เป็นความหมายข้างเคียงของบ่าว ประเพณีมีเรือนชายมักไปอยู่บ้านหญิงก่อนแต่งงาน เป็นชะนิดที่อีศานเรียกว่าเขยสู่ หรือพวกฝากบำเรอ ใน กฎหมายเก่า ก็ต้องไปทำงานหนักให้กับผู้ใหญ่ฝ่ายผู้หญิง คำว่า บ่าว ซึ่งแปลว่าชายหนุ่ม ก็ย้ายความหมายเป็นข้าทาสรับใช้แรง เมื่อบ่าวย้ายความหมายเดิมมาเป็นพวกข้าทาสแล้ว ความหมายเดิมของคำว่า บ่าว ก็อ่อนกำลังโดยลำดับ ในที่สุดก็ถูกศัตรูเข้ามาแย่งที่ สมมติว่าศัตรูในที่นี้ได้แก่คำว่า หนุ่ม คำว่า บ่าว ก็ต้องทิ้งตำแหน่งเดิม คือตำแหน่งคนหนุ่ม ย้ายไปมีความอื่นซึ่งจะดีขึ้นหรือทรามลงก็แล้วแต่เหตุการณ์ (ในภาษาจีนเรียกผู้ชายว่าหนำ มีตัวนาอยู่ข้างบนเป็นรูปเหลี่ยมมีคัน และตัวกำลังอยู่ข้างล่าง 男 หมายความว่าผู้ชาย ก็คือผู้มีแรงทำนา) หนำ ตรงกับหนุ่มในภาษาไทย ส่วนคำว่า ผู้หญิง ในภาษาจีนอ่านว่า นึ้ง เขียนเปนรูปคนนั่ง 女 หมายความว่าไม่ต้องทำงานหนัก ถ้ามีหลังคาครอบผู้หญิงไว้ 安อ่านว่า อัน ในแต้จิ๋วหรือ อ๊อน ในกวางตุ้ง แปลว่าสันติสุข เพราะนั่งอยู่ในเรือน ใต้ร่มเงาไม่ต้องทำอะไรก็เป็นสุข อัน หรือ อ๊อน จะตรงกับคำไทยว่า เย็น คืออยู่เย็นเป็นสุข เพราะเสียง ย กับ อ สับสนกันเสมอ ถ้าเขียนผู้หญิงอยู่ซ้าย เขียนเด็กไว้ขวา 好 อ่านว่า ฮ้อ แปลว่าดี
ตามที่กราบทูลมาทั้งหมดนี้ แม้มีผิดพลาดอย่างไร ขอรับพระบารมีปกเกล้า ฯ เป็นที่พึ่ง แล้วแต่จะทรงพระพระเมตตา
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ
ข้าพระพุทธเจ้า
ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์