๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๔ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๔๘๔

พระยาอนุมานราชธน

จะถามคำลางคำ

อับปาง ใช้ในที่ว่าเรือแตกเรือเสีย เปนภาษาอะไร ที่ใช้อย่างอื่นนึกไม่ออก

อับเฉา ใช้ในชื่อกรวดซายประจุก้นท้องเรือ ดุจว่า อับเฉากันโคลงประจุเรียบ ถ้าแยกออกเข้าใจไปได้เปนสองอย่าง อับ (เห็นจะเปนคำเดียวกับอบ) แปลว่านิ่ง ว่าไม่เดิน ไม่เปลี่ยน เฉา ว่าเหี่ยว ทำไมเอาผสมกันเปน อับเฉา จึ่งแปลว่ากรวดซายใต่ในท้องเรือ ภาษาอะไร

พราย เหนจะเปนผี มีคำว่า พรายน้ำ และ ผีน้ำซ้ำไต่ใบเสา กับคำว่า โหงพราย โหง เหนจะหมายถึงผีตายโหง พราย เปนผีอะไรไม่ทราบ โหง ในคำเขมรดูเปนได้กับ แล (คือที่เราพูดกันว่า แหล่) แม้ปรับดั่งนั้น ตายโหง ก็ว่าตายแล ไม่ขัดข้อง แต่ถ้าเอา ร เปน ล คือ พราย เปน พลาย แล้วทีเปนดีขึ้น ย่อมใช้ในชื่อ ทั้งที่เปนปุงลึงค์ด้วย เช่น ช้างพลาย ก็เปน ช้างตัวผู้ แล้วก็ใช้ในชื่อ พลายแก้ว พลายงาม จะเปนว่า ชายแก้ว ชายงาม หรือมิใช่ ภาษาอะไร

หลง ซึ่งเราใช้แปลค่ามคธที่ว่า โมห ฉันขยับจะไม่เหนด้วย คิดว่าแปลผิด เพราะท่านปรับให้ตกนรก การหลงทางเปนต้น จะปรับให้ตกนรกดูกะไรอยู่ ด้วยไม่ใช่ความผิดของผู้หลง ฉันบอกสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ท่านว่าเขมรเขาแปล โมห ว่าวังเวง ถ้าว่าถึงความเข้าใจทางภาษาไทยก็เปนว่าเพลินเสียง ท่านถามว่า วังเวง เปนภาษาเขมรหรือ ฉันก็จำนนบอกท่านไม่ถูก จะเปนคำเขมรเราจำมา หรือว่าจะเปนคำของเราเขมรจำเอาไปก็ไม่ทราบ แต่ท่านตัดสินว่า กรรมอันใด ถ้ารู้อยู่แล้วว่าเปนของชั่วแต่ขืนทำ เช่นรู้อยู่แล้วว่ากินเหล้าไม่ดี แต่ขืนกิน นั่นแหละจะได้แก่ โมห ฉันเห็นด้วยเต็มตัว จะปรับให้ตกนรกก็ควร

การแปลภาษาหนึ่งเปนอีกภาษาหนึ่งนั้นยากนัก ชวนจะผิดเสียร่ำไป สังเกตผู้ที่รู้มากแล้วไม่ค่อยหาญจะแปลเลย คือถ้าแปลตรงคำก็เข้าใจไม่ได้ ถ้าแปลตามที่ตัวเข้าใจอาจผิดไปไหนๆก็ได้ เพราะเข้าใจผิด จึ่งยากนัก

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ