๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ ยส

กรมศิลปากร

วันที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๓

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๒๐ เดือนก่อน พระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ หาที่สุดมิได้

ข้าพระพุทธเจ้าทราบซึ่งในพระดำรัสเรื่องไวยากรณ์เป็นอย่างยิ่ง คิดด้วยเกล้า ฯ ว่าไวยากรณ์ไทยอยู่ที่อธิบายให้รู้จักหน้าที่ของคำที่จะใช้ ว่าคำใดควรจะอยู่ที่ใดเท่านั้น แต่มายากที่ต้องคิดหาตัวอย่างชี้ให้เห็นและจัดเข้าหมวดหมู่ของคำที่ใช้ เรื่องแบ่งคำเป็นนามกริยาวิเศษณ์ต้องลืมหมด เพราะการแบ่งคำเป็น นาม กริยา ในตำรานิรุกติศาสตร์ว่า เป็นเรื่องไวยากรณ์ของภาษานมีวิภัติปัจจัย ส่วนภาษาจีนเป็นการแบ่ง เรื่องผู้ทำ คำประกอบผู้ทำ กริยา คำประกอบกริยา ผู้ถูก คำประกอบผู้ถูก เท่านั้น

ข้าพระพุทธเจ้าค้นหาเรื่องกำเนิดนาฬิกาที่เคยอ่าน แต่ค้นยังไม่พบ ที่ตรัสเรื่องทุ่มโมงว่ามาจากเสียงตีกลองตีฆ้อง ข้าพระพุทธเจ้าเห็นพ้องกับข้อทรงสันนิษฐานของสมเด็จกรมพระยาเทววงศ์วโรปการ ข้าพระพุทธเจ้าเคยจดชื่อกลองและชื่อดนตรีของชาติต่าง ๆ มาพิจารณา รู้สึกด้วยเกล้า ฯ ว่า น่าจะตั้งชื่อเอาตามเสียงแทบทั้งนั้น ในภาษามอญมีชื่อกลองว่า พอม เปิงมาง และ เตี๊ยะเป้น ในอินเดียมี โฑล ทมุร ฑุณฑุ ปฏห ปักษ์ใต้มี ทับ (หมายความว่าตะโพน) โทน (หมายความว่ากลองแขก) จะเป็นคำเดียวกับ โฑล ของอินเดีย เงาะเรียกกลองว่า ปะตุง ไทยใหญ่เรียกกลองยาวว่า ป่องเซ พิณว่า ตึ่ง เรียกจะเข้ว่า ติ่งเห้ ติ้ง น่าเป็นเสียงดีด ในหนังสือเก่าใช้คำว่า ดึงพิณ แทนคำว่าดีด ติ่ง ตึง ดึง ทึ้ง น่าจะเป็นคำเดียวกัน ในไตรภูมิพระร่วงมีคำว่า เป่ากลอง อยู่หลายแห่ง คิดด้วยเกล้า ฯ ว่าจะเป็นคำเดียวกับ เป๊าะ ในไทยใหญ่ แปลว่าตี และอาจเนื่องมาถึงคำว่า โปย ด้วย

ข้าพระพุทธเจ้าเขียนวิจารณ์เรื่อง แต่งงาน และเรื่อง เลี้ยงลูก จบแล้ว ขอประทานถวายมาพร้อมกับหนังสือฉะบับนี้

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ