๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ ยส

กรมศิลปากร

วันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๓

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๑๔ และวันที่ ๑๖ ไว้แล้ว ที่ทรงพระเมตตาตรัสอธิบายเรื่องต่าง ๆ ให้ข้าพระพุทธเจ้า เป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ หาที่สุดมิได้

เรื่องหมายปีด้วยรูปสัตว์ เป็นดีนัก เพราะจดจำง่าย และทรงชักตัวอย่างเรื่องเขียนรูปสัตว์ที่รถไฟแทนตัวเลขนั้น ข้าพระพุทธเจ้าเห็นพ้องในพระกระแสที่ตรัสนี้ การใช้ตัวเลขเห็นจะเกิดทีหลังเมื่อรู้จักใช้จดขึ้นได้แล้ว ครั้นนำเอามาใช้จำด้วยจึงจำได้ยาก เพราะคุ้นต่อการจำอย่างเก่ามาแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าเคยพยายามจำศักราช แต่ไม่สู้ได้ผล เพราะนานเวลาเช้าก็ลืม ต้องหาวิธีกำหนดเอาเหตุการณ์สำคัญเข้ามาช่วยจึงจำได้

ช้างกับหมู ดูแต่ไกล ๆ คงเห็นเหมือนกัน จึงได้มีคำพูดว่า เห็นช้างเท่าหมู เพราะมีลักษณะอะไรลางอย่างเหมือนกัน จีนเขียนช้างเป็นอย่างหมูก็คงเห็นว่ามีรูปร่างคล้ายคลึงกันมาก แต่ไปเพ่งเล็งถึงรูปร่างหมูมากไป ช้างจึงมีรูปหนักไปทางหมู ที่พายัพปรับปีกุนว่าเปนช้าง นอกจากมีรูปคล้ายหมู ยังคำว่า กุน ก็ชวนให้คิดไปถึงคำว่า กุญชร ที่เขียน กุน เป็น กุญ ก็มี จะเป็นด้วยเหตุนี้ประการหนึ่ง

คำว่า กระบือ ในภาษาตระกูลชวามลายู ข้าพระพุทธเจ้าพบเรียกอย่างนี้ทุกแห่ง ลางทีจะเป็นคำในตระกูลภาษานี้ ส่วนภาษาในตระกูลมอญ-เขมรก็มีเรียก กระบือ แต่เขมรและพวกข่าลางถิ่นเท่านั้น มอญ ขมุ ละว้า และ ข่าอื่นๆ ไม่เรียกว่า กระบือ แต่เรียกเป็นอื่นเป็นคำต่างๆ กัน จีนเรียก กระบือ ว่า งัวน้ำ แสดงว่าคำเดิมของจีนไม่มี ในภาษาไทยทุกถิ่นเปน ควาย เป็นแต่เพี้ยนเสียงเป็น คาย วาย ไปในลางถิ่นเท่านั้น

ที่ชื่อปีทางพายัพและอีศานมีเป็นสองพยางค์ เป็นชื่อปีประจำหางเลขศกเสียคำหนึ่ง อีกคำหนึ่งเป็นชื่อปีประจำนักษัตร เช่น ลวงไจ๊ คือ ชวดอัฐศก เต่าเป๊า คือฉลูนพศก และกาบยี คือ ขาลเอกศก ข้าพระพุทธเจ้าลืมถวายชื่อปีประจำหางเลขศกของภาคพายัพและอีศาน ซึ่งเขาให้ไว้สำหรับประจำเอกศก โทศกและอื่น ๆ โดยลำดับ คือ กาบ ดับ ระวาย เมิง เบิก กัด กด ลวง เต่า หรือ เต้า กา หรือ กาบ การนับหางเลขอย่างนี้ของจีนก็มี และใช้ควบพยางค์เหมือนกัน

ที่ทรงพระเมตตาแนะทางสำหรับวินิจฉัยเรื่องเก่า ทรงยกข้อความในลิลิตเตลงพ่ายขึ้นมาให้ข้าพระพุทธเจ้าได้เห็น พระเดชพระคุณล้นเกล้าฯ กระทำให้ข้าพระพุทธเจ้าได้สติมีประโยชน์แก่การค้นคว้าและวินิจฉัยเรื่องชาติไทย ซึ่งข้าพระพุทธเจ้ากำลังรวบรวมอยู่ ข้าพระพุทธเจ้าได้เขียนเรื่อง ประเพณีการเลี้ยงทารก ต่อจากเรื่องเกิดขึ้นไว้อีกตอนหนึ่ง จะได้ถวายไปเมื่อจัดตีพิมพ์ดีดขึ้นแล้ว ส่วนเรื่อง แต่งงานของชาวบ้าน ข้าพระพุทธเจ้าก็ได้เขียนมาได้ครึ่งหนึ่งของเรื่องแล้ว เมื่อได้สอบสอนและพิจารณาพิธีแต่งงาน จึงได้เห็นเรื่องที่เคยตรัสว่าพิธีแต่งงานนั้นมีพิธีขึ้นเรือนใหม่ปนอยู่ด้วย คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า การซัดน้ำตักบาตร ขันหมากมาบ้านเจ้าสาว เปิดเตียบไหว้ผี นี้เปนเรื่องของแต่งงาน รดน้ำตอนเย็น ปูที่นอน ส่งตัวเจ้าสาว นี้เป็นเรื่องของ มีเรือน ส่วนกี่ทำกันในกรุงเทพฯ แขกเหรื่อไปรดน้ำเจ้าบ่าวเจ้าสาวยังบ้านอื่น ซึ่งไม่ใช่เป็นบ้านของตน เห็นจะเลือนมาจากพิธีรดน้ำขึ้นบ้านใหม่ จึงได้เปลี่ยนเรียกว่าเศกสมรส ซึ่งเป็นคำคิดขึ้นใหม่เพื่อให้ผิดกับคำว่า แต่งงาน พิธีแต่งงานของอินเดียเรียกว่า วิวาห อย่างเดียว ส่วน อาวาห เป็นส่วนหนึ่งของ วิวาห คือตอนส่งตัวเจ้าสาวมาบ้านชายเท่านั้น เพราะธรรมเนียมแขก เรื่องชายไปอยู่บ้านหญิงไม่มี ประเพณีของไทยแต่ก่อนดูเหมือนจะตรงกันข้าม เป็นเรื่องชายไปอยู่บ้านหญิงทั้งนั้น เพราะมีปลูกเรือนหอที่บ้านหญิงเสมอ

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ