๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๓ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๔ เมษายน ๒๔๘๓

พระยาอนุมานราชธน

หนังสือของท่าน ลงวันที่ ๒๙ มีนาคม ปีก่อน ได้รับแล้ว

ข้อแรกขอแสดงความขอบใจที่ท่านจงใจให้พรปีใหม่ ขอรับพรด้วยความยินดี รู้สึกว่าท่านมีน้ำใจอันตั้งอยู่ด้วยอารี จึ่งมีความสมรรคจิตต์อธิษฐาน ท่านจงใจให้พรอย่างไร ขอให้ท่านได้รับสิ่งที่ดีเช่นนั้นด้วยเหมือนกัน

ที่นี้จะบอกคำซึ่งฉันเข้าใจว่าเปนเช่นนั้น เจริญ เปนคำเขมร เขาใช้ประกอบกับคำอื่นอันสังเกตได้ว่าหมายความว่ามาก เช่น เจริญอายุ เจริญยศ เจริญศักดิ์ เปนอุทาหรณ์, กับคำ สำราญ ก็เปนคำเขมร สังเกตเปนหมายความว่า ทำให้เบา เช่นด้วย่างพูดถึงเว็จของผู้หญิง เรียกว่า สรีย์สำราญ (มีตัว ย แซกอยู่ด้วยอำนาจสระอี) หมายความว่า ทำให้ผู้หญิงเบา แม้ออกลูกก็ใช้คำ สำราญ นั้นเหมือนกัน สำราญใจ ที่เราใช้กันก็แปลความได้ว่า ทำให้เบาใจ

ในการเขียนไม้ตรีของท่าน ผิดอยู่นิดเดียวที่ท่านไม่ได้บอกให้ฉันเข้าใจเสียว่า ท่านเขียนด้วยประสงค์อย่างไรเท่านั้น เมื่อได้บอกให้เข้าใจแล้วก็เปนพ้นผิด เมื่อท่านบอกให้ทราบความประสงค็ก็ทำให้นึกถึงกรมพระสมมต เคยทรงพระปรารภเสียงข้างจีนมีอีกเสียงหนึ่ง ซึ่งอยู่ในระหว่างไม้ตรีกับไม้จัตวา นั่นก็มาลงกันกับที่ท่านว่านี้ เรื่องหนังสือไทยเรานี้ชอบกล บุคคลลางพวกก็อยากเติมอะไรเข้าไป อย่างน้อยก็เอาเท่าที่เห็นยังขาด อย่างมากก็จะให้อ่านให้ต้องตามใจ เช่นท่านให้ตัวอย่าง ท่านเขียน โนต แล้วถูกเติมไม้โท ที่เติมเข้าก็ผิดหลัก ที่ว่าแม่กดลงวรรณยุตไม่ได้นั้นด้วย แต่ก็เติมเข้ากระนั้นแหละ เพราะจะลากให้อ่านเปนเสียงสูงไปสมใจ แต่ท่านผู้เปนเจ้าของผู้เขียนกลับไม่เห็นด้วย ฉันเองก็มีความเห็นเช่นเดียวกับท่านเหมือนกัน จะให้ตัวอย่างที่สอนกันให้อ่านว่า วอ วา วิ วี วิ ตัวนั้นสอนให้อ่านกันเปนเสียงสูง แต่เราอ่านกันเปนเสียงต่ำ เช่น วิลัย วิเศษ เปนต้น นั่นจะมิต้องลงไม้เอกที่ วิ ด้วยหรือ เสียงสูงนั้นนึกหาที่ใช้ไม่ได้เลย ที่จริงอักษรตายนั้นอ่านออกเสียงไม่เที่ยง เช่นอักษร กุ ถ้าเขียนคำว่า กุศล ก็อ่านเปนเสียงกลาง ถ้าเขียน กล้วย กุ ก็อ่านเปนเสียงถูกเอก แม้เขียน กุหลาบ กุแหละ ก็อ่านเปนเสียงถูกโท ตัวอย่าง กาญจนบุรี ชลบุรี ของท่านนั้นดีนัก ใครอยากจะอ่าน กาญจะนะบุรี หรือ ชะละบุรี ก็อ่านได้ หรือใครอยากอ่าน กานบุรี ชนบุรี ก็อ่านได้ คำว่า เงิน นั่นก็ต้องที่มีไม้ไต่คู้ แต่ก็ไม่เห็นใครลงไม้ไต่คู้ แต่ก็ไม่เห็นมีใครอ่านเสียงยาว เพราะคำเสียงยาวไม่มีภาษา ก็อ่านตู่เปนเสียงสั้นทั่วกันไป ไม่มีใครอ่านเสียงยาว ฉันเปนพวกข้างไม่ต้องการเติมให้อ่านตู่ตัวกันไปตามที เรื่องหนังสือแม้จะพูดไปก็มากความนัก จึงจะหยุดเสียที่เพียงเท่านี้

อันวิชาทำเพลง ก็เหมือนกับวิชาสิงอื่น จะจำได้ก็เท่าที่ต้องใช้ ถ้าไม่มีที่ต้องใช้ ถึงแม้ละเคยเรียนมาได้แล้วก็ลืม ลืมหมดหรือจำได้เพียงแต่เปนกะท่อนกะแท่นต่อกันไม่ติด หากใครจำได้ไว้หมดก็เปนเทวดา คือหมายความว่าดีกว่ามนุษย์ทั้งปวง แม้แต่เพียงรู้ว่าอะไร แต่ก่อนเขาทำกันอย่างไร เท่านั้นก็เปนประเสริฐเลิศอยู่แล้ว

เรื่องคำกลับหน้าเปนหลัง หลังเปนหน้า นั้น เล่นเอาฉันงงอยู่จนบัดนี้ เมื่อกลับคำแล้วเล่นเอาความผิดกันไปมากด้วย เช่น ใจดี ดีใจ ใจเสีย เสียใจ เปนต้น เห็นว่าสำคัญอยู่ที่ให้เข้าใจเปนใช้ได้

เรื่องบวชนาคเข้าซ้ายขวา นั้น เข้าใจคำอธิบายดีแล้ว ถือเอาขวาของอุปัชฌาย์ เปนที่ตั้ง

ที่เผาศพพระยาวิเชียรคิรีนั้น เข้าใจว่าใช้ตารางอย่างไม่มีเสาตามปกติ เว้นแต่ต่อหัวท้ายออกไปกันเก้อ ไม่ให้หีบเยิ่นเย้อเกินตารางไปเท่านั้น

ที่เรียกหมวกเจ้าว่า พระตุ้มปี่ นั้น แต่ก่อนเรียกกันเช่นนั้นจริง แต่ดูเหมือนจะใช้กันแต่จำเพาะเจ้านายที่เด็ก ๆ ส่วนเจ้านายที่โตแล้วเรียก พระมาลา ตลอดเปน พระมาลาเฮลเม็ต พระมาลากันแดด เพราะเหตุที่เรียกแบ่งตามวัยนั้นทำความยากให้ คำ พระตุ้มปี่ จึงหายไป เขาว่าคำ พระตุ้มปี่ มาจาก โตปี และ พระสถูป หรือ ถูปะ ก็ว่ามาแต่ โตปี จะถูกผิดอย่างไรก็ไม่ทราบ ที่จริงที่เรียก พระมาลา นั้นก็เชือน มาลา แปลว่าดอกไม้ต่างหาก คิดว่าคำนั้นมาแต่โพกผ้าสวมสุวรรณมาลา แล้วผ้าโพกทำสำเร็จให้สวมใส่ได้เหมือนหมวก มีสุวรรณมาลาอันจะพึงสวมด้วยติดอยู่ในตัวเสร็จ ที่แท้ควรจะใช้คำนั้น จำเพาะแต่พระมาลาเส้าสูงเส้าสเทินอันมีดอกไม้ทองติดอยู่ด้วยเท่านั้น ที่เอาคำนั้นมาใช้เรียกหมวกอย่างอื่นที่ไม่มีดอกไม้ทองติดนั้นหลง

จะขอโมทนาคำในหนังสือ ซึ่งแจกในงานพระศพพระองค์เจ้าพร้อม ที่เรียกว่า เรื่องแหลมอินโดจีนสมัยโบราณ นั้นถูกใจยิ่งนัก ด้วยไม่เรียกตามแฟแชนว่า แหลมทอง สงสัยอยู่นิดเดียวที่ว่าควรละเรียกว่า แหลมอินโดจีนหรืออย่างไร แต่ทีหลังก็มาคิดได้ว่าเรียก แหลมอินโดจีน นั้นดีแล้ว เปนไปตามที่เขาเรียกกันอยู่

มีข้อกังขาเกิดขึ้นอย่างหนึ่ง ด้วยเรื่องลูกประคำ มูลมาแต่ได้เห็นข่าวในหนังสือพิมพ์ บางกอกไตมส์ ว่า ดาไลลามาซึ่งอภิเษกใหม่ประทานของแก่เมืองจีน สิ่งหนึ่งเปนลูกประคำแก้วประพาฬ ๑๐๘ เมล็ด เป็นเหตุให้สดุดใจ ด้วยเคยสงสัยมาก่อนแล้วว่าจำนวน ๑๐๘ เมล็ดนั้นเปนจำนวนอะไร ถามผู้ใหญ่ก็ว่าไม่เห็นมีอะไรนอกจากกำลังอัฐเคราะห์ คือ

อาทิตย์
จันทร์ ๑๕
อังคาร
พุธ ๑๗
เสาร์ ๑๐
พฤหัสบดี ๑๙
ราหู ๑๒
ศุกร ๒๑
รวม ๑๐๘

แต่เกณฑ์กำลังอัฐเคราะห์นั้นก็เปนทางโหร หาใช่ทางพระพุทธศาสนาไม่ เพิ่งมาได้พบในเรื่องเกิดของท่าน มีเกณฑ์บอกได้เปนทางพระพุทธศาสนาว่า

พุทธคุณ ๕๖
ธรรมคุณ ๑๘
สังฆคุณ ๓๔
รวม ๑๐๘

แต่เกณฑ์นั้นมาแต่อะไร ท่านผู้บอกก็หาได้ชี้แจงไว้ไม่ อันธรรมดาจำนวนเกณฑ์อะไรนั้น ที่แท้ย่อมมีอะไรเปนมูล แต่ยากที่คนจะคำไว้ได้จึงจดไว้ เรียกว่า เกณฑ์ ทีหลังก็มีเกณฑ์อะไรต่าง ๆ เกิดผูกขึ้นด้วยความไม่เข้าใจตามไป อันลูกประคำนั้นเรามีอยู่ แต่ก็มักเปนไปทางเครื่องราง ส่วนทางพระศาสนานั้นมีแต่ทางพวกขรัวคร่ำเศกเป่า ส่วนทางศาสนาโดยตรงไม่ใช้ จึงสงสัยว่าลูกประคำนั้นจะมาทางมหายาน ประกอบกับการเศกเป่า ตามที่เคยได้สังเกตมา เห็นเทวรูปต่าง ๆ เขาทำถือลูกประคำมีอยู่บ่อย ๆ ทางมหายานกวาดเอาเทวดาทางไสยสาสตร์เข้าไปไว้มาก พวกลามาก็เห็นถือลูกประคำกันอยู่เปนปกติตลอดไปจนถึงพวกบาดหลวงและนางชีทางคริสตัง ก็เห็นใช้ประคำกันทั้งนั้น จึงขออาญัติไว้แก่ท่าน ถ้าท่านมีช่องได้พบกับพระญวนหรือพระจีนจงช่วยถามดูด้วย เพราะเขาถือศาสนาทางมหายาน แม้ได้ความเปนหลักฐานอย่างไร ก็ช่วยบอกให้ทราบด้วย ถ้าไม่ได้หลักฐานก็แล้วไป

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ