๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ ยส

กรมศิลปากร

วันที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๓

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๕ เดือนนี้ ตรัสด้วยเรื่องชื่อปี ๑๒ นักษัตรและอื่นๆ ข้าพระพุทธเจ้าได้รับไว้แล้ว พระเดชพระคุณล้นเกล้าฯ หาที่สุดมิได้

ข้าพระพุทธเจ้าได้ถวายบันทึกเรื่อง ๑๒ นักษัตร ไปกับจดหมายของข้าพระพุทธเจ้า ลงวันที่ ๒๗ เดือนก่อน คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า จะพลัดหายไป จึงไม่ได้ทรงรับ ข้าพระพุทธเจ้าจึงขอประทานถวายบันทึกนั้นมากับจดหมายนี้อีกฉะบับ ๑ ชื่อปีทางอุบล นายสุดชี้แจงว่า ใช้อย่างเดียวกับทางพายัพ ข้าพระพุทธเจ้าจึงได้รวมไว้ในรายชื่อปี เป็นของพายัพและอีศาน ส่วนรายชื่อของเขมรข้าพระพุทธเจ้าได้จดตามที่มหาฉ่ำให้มา เรื่องจดเสียงของคำในภาษาอื่นเป็นตัวอักษรไทย อาจเพี้ยนไปได้ง่าย ชื่อปีทางมอญ ข้าพระพุทธเจ้าจดจากหนังสือวรรณคดีสมาคม ตามที่ใต้ฝ่าพระบาทได้ประทานแก่หนังสือนั้น เมื่อเทียบกับที่ประทานมายังข้าพระพุทธเจ้าก็มีเพี้ยนกันหลายชื่อ เช่น กะต่าย ในวรรณคดีสมาคมเป็น เปี๊ยะตาย แต่ที่ประทานมาเป็น คะต้าย เปี๊ยะตาย เสียงใกล้ไปทางไทยใหญ่ซึ่งเรียก กะต่าย ว่า ป๊างตาย ดังได้กราบทูลไว้ในบันทึกนั้นแล้ว เรื่อง ๑๒ นักษัตร เป็นที่น่าฉงนที่สุด ชื่อปีที่ใช้เรียกค่า ชวด ฉลู ก็พ้องกันแต่ลางชื่อ มีอยู่ในชาตินี้บ้าง ชาติโน้นบ้าง หาที่พ้องกันหมดไม่ได้ เป็นแต่รู้ได้แน่ว่าจะมีที่มาแห่งเดียวกัน และเป็นของที่ต่างถ่ายได้มาในรุ่นหลัง เพราะเขมรกับมอญ เป็นภาษาในตระกูลเดียวกัน ควรที่จะพ้องชื่อกันหมด แต่ไม่เช่นนั้น มอญดูเป็นว่าเรียกตามชื่อสัตว์โดยตรง เพราะมีคำ แส้ะ ซึ่งแปลว่า ม้า แต่ชื่ออื่นสอบไม่ออก นอกจาก คะต้าย และ นัก ดังได้ประทานมา ส่วน สุมดัด ปีมะเสง เคยประทานพระอธิบายไว้ในวรรณคดีสมาคม แปลว่า งูน้ำ (ดัก ตรงกับ ตึก ในภาษาเขมร) ส่วนชื่อปีของเขมร ดูเป็นเรียกอย่างไม่ใช่ชื่อสัตว์และตรงกับไทย มีลาดเลาว่าไม่ใช่เป็นคำในภาษาทั้งสองมาแต่เดิม ฝ่ายใดจะได้มาก่อน และฝ่ายใดเป็นผู้ยืมไปอีกต่อหนึ่ง ก็หาอะไรเป็นหลักฐานไม่ได้ คำเหล่านั้นลางคำก็ไปพ้องกับชื่อสัตว์ในภาษาอื่นซึ่งใช้เป็นคำพูดโดยปกติ เช่น ชวด เถาะ ตรงกับจีน วอก ตรงกับพายัพ จอ ตรงกับญวน ส่วน มะโรง ตรงกับ หล่ง หลุ่ง และ ร่อง ในจีนและญวน แปลกแต่มี มะ เติมอยู่ข้างหน้า เป็นจำพวกภาษาใช้คำติดต่อ ภาษาญี่ปุ่นเป็นกิ่งของภาษาตาด ไม่มีเสียง ล ถ้าออกเสียง ล ก็ต้องใช้ ร คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า มะโรง ไกลไปทางภาษาตาด แต่ก็แปลกที่ญวนก็เป็น ร ไม่มี มะ อยู่ข้างหน้าคำ คำว่า มเมีย มแม ก็จะเป็นใช้เรียกชื่อสัตว์ตามเสียงที่สัตว์นั้นร้อง ฝรั่งว่า การเรียกชื่อปี ๑๒ นักษัตรจะมีมูลมาจากตุรกีเก่า ข้าพระพุทธเจ้าลองค้นดูในพจนานุกรมภาษาตุรกี ก็ไม่ได้เค้าแม้แต่น้อย จึงทำให้ข้าพระพุทธเจ้าฉงนสนเท่ห์ มีอะไรลับลี้อยู่จึงค้นไม่ได้แจ่มแจ้ง

ข้าพระพุทธเจ้ารู้สึกผิด ได้สำนึกเป็นล้นเกล้า ฯ ในข้อที่ทรงทักท้วงมาด้วยเรื่องวิธีทำศพ ผู้ตีพิมพ์จะขอให้มีตราหอเป็นเกียรติยศ ข้าพระพุทธเจ้าก็อนุโลมให้, หาได้เฉลียวนึกว่าจะเป็นที่ระคายเคืองในใต้ฝ่าพระบาทไม่ ขอรับพระบารมีปกเกล้า ฯ เป็นที่พึ่ง พระอาญาไม่พ้นเกล้า ฯ การจะควรสถานไรแล้วแต่จะทรงพระกรุณา ข้าพระพุทธเจ้าขอรับข้อที่ทรงทักนี้ใส่เกล้าฯ ไว้ตลอดไป

ข้าพระพุทธเจ้าหยิบลิลิตเตลงพ่าย เห็นใช้คำว่า เสมาธิปัติ และ เนาวพ่าห์ ผิดกับที่ใช้กันอยู่ในเวลานี้ว่า เสมาธิปัติย และ เกาวพ่าห์ ข้าพระพุทธเจ้าจึงให้ค้นดูลิลิตเตลงพ่ายฉะบับสมุดไทย พบเป็น เสมาพิบัติ ทุกฉะบับ ส่วน เกาวพ่าห์ เป็น เกาวพ่าย ก็มีในลางฉะบับ ทำให้ข้าพระพุทธเจ้าเฉลียวใจว่า พิบัติ จะเป็นถูกต้องกระมัง เพราะมีคำว่า พ่าย เข้าคู่อยู่ด้วย ลางทีจะหมายความว่า นำไปสู่เขตต์แดนข้าศึกให้ถึงความพิบัติ ส่วน เกาวพ่าย จะเป็นนำไปทำให้ฝ่ายข้าศึกพ่าย แต่ไปติดตรงคำว่า เกาว แปลไม่ออก ส่วนฉัตรไชยอยู่กลาง จึงผิดกับ เสมาธิปัติ และ เกาวพ่าห์ ซึ่งอยู่ซ้ายขวา แต่ที่กราบทูลมานี้ เป็นการเดาอย่างเดียว ข้าพระพุทธเจ้ายังค้นหาอะไรเป็นหลักฐานมาประกอบไม่ได้

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์

----------------------------

บันทึกเรื่อง ๑๒ นักษัตร

เรื่องเรียกชื่อปีเป็น ๑๒ นักษัตร มีอยู่ในประเทศต่าง ๆ ในแหลมอินโดจีน คือ ไทย เขมร มอญ ญวน จาม (ยกเว้นพะม่า ไม่มีชื่อปี) ธิเบต ญี่ปุ่น จีน ในหนังสือ Encyclopaedia of Religion and Ethics ในคำว่า Calendar ว่ามีอยู่ในอียิปต์อยู่บ้าง คือเรียกเป็นชื่อสัตว์บ้างลางส่วน และมีอยู่ในจารึกภาษาโบราณของตุรกี สันนิษฐานว่าลางทีจะมีกำเนิดมาจากตุรกีซึ่งเป็นตาดสาขาหนึ่ง จีนคงได้มาจากตาด กล่าวไว้เพียงเท่านี้ และอ้างให้ไปดูเรื่องการวินิจฉัยสันนิษฐานเรื่อง ๑๒ นักษัตรของ Chauvannes ในหนังสือ T’ound Pao Serie II, Tome II, No. I (ได้ค้นหาหนังสือเรื่องนี้ แต่ไม่พบเรื่องที่อ้างไว้) พระเจนจีนอักษรกล่าวไว้ในหนังสือสมาคมวรรณคดี ปีที่ ๑ ฉะบับที่ ๒ เรื่องการวินิจฉัย ๑๒ นักษัตรว่ามีในสมัยราชวงศ์ตั้งฮั่น (พ.ศ. ๕๖๘-๗๖๓) ว่า นักปราชญ์จีนชื่อ เฮ่งซง แต่งหนังสือ ชื่อ ลุ่นหวง เรื่องหนึ่ง ในหนังสือนั้นตอนหนึ่งว่าด้วย ๑๒ นักษัตร คือเหยียดเอาชื่อปีทั้ง ๑๒ ปี ว่าเป็นชาติสัตว์ ๑๒ ชาติ ดั่งนี้ ไม่ได้กล่าวว่านักปราชญ์นั้นเป็นผู้คิดขึ้นหรือได้มาจากไหน แต่ในหนังสือ Mayer’s The Chinese Reader’s Manual Numeral Categories No. 302 ว่า ปรากฏเรื่องกำหนดชื่อปีเป็นชื่อสัตว์เป็นครั้งแรกเมื่อสมัยราชวงศ์ถัง กล่าวว่ามีราชทูตเมืองกิคะเข้ามาในปีกระต่ายหรือม้า มีความเพียงเท่านี้

การเรียกชื่อปีของจีนเป็น ๒ อย่าง (๑) เรียกตามเครื่องหมายปี และ (๒) เรียกตามรูปสัตว์

เรียกตามเครื่องหมายปี (รายชื่อ หมาย ก) จีน พายัพ อีศาน อาหม ญวน ใช้อยู่ ชื่อประจำปี ชวด เถาะ มะเส็ง มะเมีย วอก และ ระกา ตรงกัน แต่เสียงเพี้ยนไปบ้าง ปีฉลูของจีนและญวนตรงกัน แต่ของพายัพไม่ตรงกับจีน ปีขาล มะโรง มะแม และกุน ใกล้กันมาก แต่ของจีนและญวนตรงกัน ส่วนปีจอ ของจีนและญวนตรงกัน แต่ของพายัพห่างออกไป ของอาหมก็เป็นอีกเสียงหนึ่ง แต่เมื่อรวมกันส่วนใหญ่ ก็เห็นได้มีที่มาจากที่เดียวกัน

ญี่ปุ่น (คัดจากหนังสือสมาคมวรรณคดี) เสียงเป็นอย่างหนึ่ง ไม่ตรงกับของไทยและจีน ลัวะ (คัดจากหนังสือสมาคมวรรณคดี) จะเป็นชื่อตามเครื่องหมายหรือเป็นชื่อตามรูปสัตว์ ไม่ชัด เพราะไม่มีคำแปลไว้ ลางทีจะเป็นเรียกตามรูปสัตว์ เพราะมีคำว่า กะต่าย พร้องกับของไทย (กะต่าย ไทยใหญ่เรียก ป๊างตาย เหมือนไหหลำ ซึ่งเรียก ปางไต่ ไทยนุงเป็น โถ่ เหมือนจีน ไทยนอกนั้นไม่มีคำ กะต่าย ไว้ ในพจนานุกรม) และ แอ ในปีระกา เสียงไกล้คำ เอียร์ ในภาษาข่า แปลว่า ไก่

เรียกตามรูปสัตว์ (รายชื่อ หมาย ข) จีน ญวน พายัพ และอีศาน ใช้เรียกเป็นสามัญในคำพูด เขมรจดตามมหาฉ่ำ แต่ชื่อตามรูปสัตว์ ไม่ได้ใช้เรียกประจำปี จดมาเปรียบเทียบเท่านั้น มอญและธิเบต จดตามหนังสือสมาคมวรรณคดี จามจดตามหนังสือ E.R.E.

ไทยและเขมร อาจเป็นชื่อเรียกตามเครื่องหมายปี จึงแปลคำเหล่านั้นไม่ออก ตรงกันแต่ไทยกับเขมรเท่านั้น ชาตินอกนั้น เรียกชื่อตามรูปสัตว์ ตรงกันตามชื่อเครื่องหมายปีของไทย แต่ลางปี เช่น ปีชวด เสียงจีนโบราณอ่านว่า เลือด แปลว่า หนู เถาะ กับ โถ่ มะโรง กับ หล่ง ในญวน ปีเถาะ มะโรง จอ ตรงกับไทย ญวนและจาม เรียกชื่อสัตวปีฉลู เป็นกระบือ ส่วนคำนอกนั้นโดยมากเป็นคำสองพยางค์ รูปเป็นภาษาใช้คำติดต่ออย่างในภาษาตระกูลตาด ลิง ในพายัพใช้ว่า วอก เป็นปกติในคำพูด จามเรียกตามรูปสัตว์ตรงกับมลายู หากเพี้ยนเสียงกันเท่านั้น พายัพ กุน เป็นช้าง แต่เป็นหมูก็มี ซึ่งคงเอาอย่างไปจากทางใต้

ก. เรียกชื่อตามเครื่องหมายประจำปี

  เขมร พายัพและอีศาน อาหม จีนหลวง แต้จิ๋ว ญี่ปุ่น ญวน ลัวะ
ชวด จู้ด ไจ๊ ไจ เจา จี๊ จื๊อ Ne (zumi) ตี้ เกือง
ฉลู เฉล็อว เบ๊า เปา จิ๊ว ทิ้ว Ushi สุ เมิบ
ขาล ขาล ยี่ งี หยิ่น,อิน เอง,อิ้น Tora เยิง อะระเวีย
เถาะ เถาะส์ เม้า เมา เม้า,เหม่า เหมา,เบ๊า U (sagi) แม่แอ้ว กะต่าย
มะโรง โรง สี สี อิน เสง,สิน Tatsu ทิ่ม สะเอิบยะหระ
มะเสง มะซัญ ไซ้ ไส จิ๋ จี๋ Me (hebi) ตี่ สะเอิบแต้ว
มะเมีย มะมี ซะง้า สิงา อวู้ โหงว Uma หง่อ บรอง
มะแม มะแม เม็ด มุด อวัย บี๊ Hitsuji มุย บี
วอก โว้ก สัน สัน ซิน เซง,ซิน Saru เทิง ฟอเครียด
ระกา ระกา เล้า เรา ยิ้ว,ยู อิ๊ว Tori เหย่าว์ แอ
จอ จอ เล็ด มิด ซุด,ซุ สุด Inu ตุ๊ด เสาะ
กุน โกร์ ไก๊ ไก อ้าย,อ๋าย ไห I (wi) เผ่ย เหล็ก

ข. เรียกชื่อตามรูปสัตว์

  เขมร มอญ พายัพ ญวน จาม จีนหลวง
ชวด ก็อนโดร์ ซะนามกะนี้ เปิ้ง พึ่ง กองจอก Tikuh  
ฉลู โก ซะเกลีย เปิ้งงัว กองโต็ว์ (ควาย) Kabav (ควาย) หนิ่ว
ขาล ขลา ซะกล๊ะ เปิ้งเสือ กองกอบ Rimaun ฝู
เถาะ ตนซาย ซะเบี๊ยะตาย เปิ้งกะต่าย กองถอ Tapaiy ถู่
มะโรง ปัวะส์ธม ซะนั้ด เปิ้งนาค กองร่อง Nögarai หล่ง
มะเสง ปัวะส์โต๊จ ซะซุ่มตั๊ด เปิ้งงู กองรั้ง Uta anaih เส่น
มะเมีย แซะส์ ซะแก๊ยะ เปิ้งม้า กองเหงื่อ Asaih ม้า
มะแม โปเป ซะเบี๊ยแป๊ะ เปิ้งแป๊ะ กองเย Pabaiby อย่าง
วอก สวา ซะกะน่อย เปิ้งวอก กองซี่ Kra ห่าว
ระกา เม็อน ซะจาน เปิ้งไก่ กอง Gnã Mönuk ไก๊
จอ ฉะแก ซะเกลอ เปิ้งหมา กองจ๊อ Asan เคี้ยง
กุน จรู๊ก ซะเกลิ๊ด เปิ้งจ๊าง กองแฮว Pabwei ไห่

 

  กวางตุ้ง ฮกเกี้ยน แต้จิ๋ว แคะ ธิเบต
ชวด จี๊ ชื๊อ ชื้อ ชู่ Chiwa
ฉลู เหง่า หงู หงู เหงว Lang
ขาล ฝู ฮ้อ โฮ้ว ฟู่ Jok
เถาะ ฮู ถ่อ โถ่ ทู่
มะโรง หลุ่ง เหล็ง เล้ง ลิอุ๋ง Druk
มะเสง เสีย จั๋ว จั๊ว สา Drü
มะเมีย หมา เบ๊ เบ๊ ม้า Ta
มะแม เอยียง อิ๊ว เอิ๊ย หยอง Lu
วอก ล้าว เก๋า เก๋ว เหว Tra
ระกา ไก๊ โก๊ย เกย เก๊ Cha
จอ เก๋า เก้า เก๊า เก้ว Khyi
กุน จี ตื๊อ ตือ จู๊ Pra

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ