๒๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ ยส

กรมศิลปากร

วันที่ ๒๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๓

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๒๓ โปรดให้ข้าพระพุทธเจ้าค้นคำว่า โล้ และ จิงโจ้ นั้น พระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ หาที่สุดมิได้

ข้าพระพุทธเจ้าค้นหาคำ โล้ ในภาษาไทยถิ่นต่าง ๆ ไม่พบคำ โล้ ซึ่งมีความหมายว่า โย้ไปย้ายมา คงพบแต่ โล้ ในภาษาจีนแปลว่า โล่ขนาดใหญ่ รถศึกมีหอคอยระวังเหตุ พายหรือแจวขนาดสั้น (a scull) กิริยาที่ใช้แจวชะนิดนั้นสองเล่มสองข้างเรือ คัดทางโน้นที ทางนี้ที ใช้ประกอบกับคำอื่นเป็นที่วางแจวข้างเรือ ถือท้ายเรือ เพราะฉะนั้นคำ โล้ ในภาษาไทยกับ โล้ ในภาษาจีนจะเป็นคำเดียวกัน คำว่า โย้ โย้เย้ กับ โล้ โลเล จะเป็นคำพวกเดียวกัน เพราะมืความหมายใกล้เคียงกัน ย กับ ล ก็เปลี่ยนกันได้ คำว่า จิงโจ้มาโล้สำเภา ลางคนพูดผิดเป็น โย้สำเภา ก็มี

จิงโจ้ นอกจากหมายความว่าตัวแกงกะรู แมลงมุมชะนิดหนึ่งอยู่หลังน้ำ ทหารผู้หญิงในรัชชกาลที่ ๔ ยังเรียกเครื่องห้อยเปลให้เด็กดูเล่นว่า จิงโจ้ แต่ลูกที่ห้อยอยู่ ๔ มุมเรียกว่า กระจับ คำที่ขึ้นต้นด้วย จิ้ง เช่น จิ้งเหลน จิ้งจก จึ้งจอก จิ้งหัน (ตัวนางนอง) ก็เป็นชื่อสัตว์ทั้งนั้น กิ้งก่า ลางคนก็เรียกว่า จิ้งก่า แต่ชื่อเหล่านี้ นายสุดว่าทางอีศานไม่ใช้ จิ้งเหลน เรียกค่า ขี้โกะ (อีศานเรียก จะกวดว่า แลน ใกล้คำว่า เหลน รูปร่างก็คล้ายกัน) กิ้งก่าเรียกว่า กะปอน จิ้งจอก เรียกว่า หมาจอก ส่วน จิงโจ้ นั้น อีศานไม่มีใช้ สอบพจนานุกรมไทยถิ่นอื่นก็ไม่พบ คงมีแต่คำว่า จิ้ง ในไทยใหญ่ แปลว่า หมุนโอน เอนอย่างลูกข่าง ในภาษาไทยย้อยมีคำว่า จี้ แปลว่า โคลง ต่อมามีผู้นำหนังสือพระราชนิพนธ์เรื่องอิเหนา ในรัชชกาลที่ ๑ หน้า ๔๘ มาให้ข้าพระพุทธเจ้าดู เป็นตอนชมนก ในนั้นบาทหนึ่งมีความว่า กะลุมพูจับกะลำภ้อ จิงโจ้จับจิงจ้อแล้วส่งเสียง เป็นได้ความเขยิบขึ้นไปอีกชั้นหนึ่งว่าจิงโจ้นั้นเป็นชื่อนก ตามธรรมดาคำที่เป็นชื่อนก ข้าพระพุทธเจ้าเคยสังเกตมา โดยมากตั้งชื่อตามเสียงที่ร้อง ดีร้ายนกจิงโจ้คงตั้งชื่อตามเสียงของนกนั้น และเวลาร้องคงส่ายหัวและย้ายตัว และนกตัวเดียวอาจเรียกกันเป็นหลายชื่อแล้วแต่ท้องถิ่นไหน เพราะเคยมีชื่อนกหลายชื่อ ซึ่งข้าพระพุทธเจ้าจดชื่อจากหนังสือไปถามผู้รู้ว่าเป็นนกอะไรในภาษาทางวิทยาศาสตร์ ก็ได้รับตอบว่าเป็นชื่อนกอย่างเดียวกัน แต่เรียกกันเป็นสองอย่างโดยสำคัญผิดว่าเป็นนกต่างชะนิดกัน ข้าพระพุทธเจ้าได้สอบถามถึงเรื่องนกจิงโจ้ ก็ไม่มีใครรู้จัก มาเมื่อเย็นวานนี้ ข้าพระพุทธเจ้าไปสอบถามนายสุดอีกว่า นกที่ร้องคล้ายเสียงว่า จิงโจ้ มีบ้างไหม นายสุดบอกว่ามี เรียกในอีศานว่า นกจีโจ้ เป็นนกขนาดเล็ก โตกว่านกกระจอกเล็กน้อย หน้าอกเหลือง ชอบอยู่ตามละเมาะไม้ พบตัวเดียวโดด ไม่ไปเป็นฝูง ร้องจี (ลากเสียงยาว) โจ้ะ ฟังแล้ววังเวงใจ เวลาร้องยกหัวและโยกย้ายตัว มีคนชาวอีศานนั่งอยู่ที่นั้นอีกคนก็รับรองต้องกัน นายสุดว่า นกชะนิดนี้ไม่เคยเห็นในกรุงเทพ ฯ ชาวนครสวรรค์คนหนึ่งบอกข้าพระพุทธเจ้าว่า เคยเห็นนกอย่างที่อธิบายนี้ แต่นึกชื่อที่เรียกกันแถบนครสวรรค์ไม่ออก ข้าพระพุทธเจ้าสืบได้ความมาอย่างนี้ จิ้งโจ้ เดิมเป็นชื่อนกคือ นกจิโจ้ โดยที่นกอย่างนี้มีอาการโยกไปย้ายมาไม่อยู่นิ่ง ไปเข้ากับคำว่า จิ้ง และ จิ้ ในภาษาไทยใหญ่และไทยย้อย แปลว่า โคลง จึงเอาลักษณะนั้นมาตั้งชื่อให้ตัวแกงกะรู แมลงมุมจิงโจ้ ก็จะเอาลักษณะที่โก้งเก้งยงโย่ยงหยกมาตั้งให้ ส่วนจิงโจ้แขวนเปลตั้งชื่อตามรูปที่เหมือนแมลงมุมจิงโจ้ ทหารผู้หญิงที่เรียกว่า จิงโจ้ จะเป็นเพราะมีกิริยาท่าทางเก้งก้างไม่มั่นคงเหมือนทหารผู้ชาย จึงได้ตั้งชื่อให้เป็นใส่ไคล้ คำเด็กเล่นว่า จิงโจ้มาโล้สำเภา และรู้จักดำน้ำได้ เห็นจะหมายถึงเจ๊กโล้เรือ มีกิริยาโยกไปย้ายมาหรือโคลงไปโคลงมา สุนัขเห็นแปลกจึงไล่กัด จึงต้องดำน้ำหนี คำว่า จีโจ้ กับ จิงโจ้ อาจเป็นคำเพี้ยนได้ง่าย มีแนวให้เห็นในภาษาไทยขาว เรียกจิ้งหรีดว่า ตัวจิ้ลิด จึงคก เรียกว่า จิ้จอน ยังมีตัว จิ้น้ำ หรือตัว วอบน้ำ ว่าเป็นแมลงชะนิดหนึ่ง เป็นชื่อลาตินว่า Hemipteres ข้าพระพุทธเจ้าแปลไม่ออก มีรูปคำชวนให้นึกถึงตัวแมลงมุมจิงโจ้ ที่ตรัสเรื่องคนเขียนนกจิงโจ้ที่วัดพระเชตุพนเป็นคนมีเท้าเป็นนก เมื่อเทียบกับนกจีโจ้ ก็ไปกันได้กับนกทัณฑิมาถือไม้เท้า กับนกทัณฑิมาตัวจริงของอินเดียที่เคยตรัสเล่าให้ข้าพระพุทธเจ้าฟัง

ตามที่กราบทูลมานี้ จะผิดถูกสถานไร ขอรับพระบารมีปกเกล้า ฯ เป็นที่พึ่ง

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ