๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๔๘๓

พระยาอนุมานราชธน

หนังสือลงวันที่ ๑๓ ได้รับแล้ว

ขอบใจเปนอันมาก ที่คัดคำอธิบายเรื่อง กหังปายา ส่งไปให้เข้าใจ ฉันคิดเอาปรับกันเข้าไม่ได้ ด้วยวรรคหนังสือมีเพียง ๖ ไม่ถึง ๑๐ นั้นประการหนึ่ง กับเปนจำนวนถอยหลังอีกประการหนึ่ง เมื่อได้ทราบคำอธิบายว่า นับเอาตัวอักขรเปนลำดับเลข และจำนวนเปนถอยหลัง ก็เข้าใจทางได้ดีแล้ว ส่วนคำ กหังปายา จะเปนภาษาอะไรนั้นช่างเถิด

เรื่องเน้นเสียงของท่าน ดี ฉันไม่เคยคิดไปถึง

กรมหมื่นวรวัฒน์เคยพูดถึงคำ โอ เอ ว่ามีความหมายในนั้น โอ แสดงว่าประหลาดใจ เอ เอ๊ะ เปนสงสัย อ้าว เปนผิด เออ เปนถูก ฯลฯ ฉันฟังก็เห็นจริงและเห็นขัน แต่ไม่ได้คิดต่อไป

คำ อัยการ ซึ่งท่านคิดเห็นว่าเปน อาญาการ นั้นจับใจฉันยิ่งนัก เคยเห็น กฎหมายเก่า เขาเขียน อายการ เฉียดเข้าไปทีเดียว เคยเห็นในกฎมณเฑียรบาล พูดถึง อัยการสระแก้วห้ามตีโทนทับกรับฉิ่ง นั่นก็คืออาญามิใช่อื่น ที่เขียน อัยการ ก็นับว่าผิดอยู่แล้ว ซ้ำเติมเข้าเปนสอง ย อธิบายว่ามาแต่ อริย เห็นเปนเหลวทั้งนั้น ไม่เชื่อว่าจะเปนเช่นนั้น

ขอบอกความเห็นในเรื่องเห็นหนังสือ ฉันไม่เชื่อคำในหนังสือที่เห็นนั้นเลย นอกจากจะได้พิจารณาเสียก่อน เพราะคนแต่งหนังสือก็แต่งไปตามความรู้ความเห็นของตน ถ้าเปนการใกล้เวลาแต่งก็พูดไปตามที่ตนรู้ อาจรู้ผิดก็ได้ รู้ถูกก็ได้ ถ้ายิ่งไกลก็แต่งไปตามเขาว่า มีช่องจะไม่ถูกได้มาก ที่คิดเติมขึ้นใหม่ ผู้แต่งก็ไม่รู้ว่าเติม อีกประการหนึ่งผู้แต่งก็มีใจลำเอียงเข้าแก่ตัวหรือแก่เพื่อนเปนต้น เช่นสิงโตที่ดีแต่ไม่รู้ว่าใครคิด ต่างก็ลากเอาไปสู่คนในประเทศของตัวให้เปนผู้คิดได้ เถียงกันให้กลุ้มไปจนเราหัวปั่นรู้อะไรแน่ไม่ได้ เหมือนหนึ่งสัตว์หมายปี จีนคนหนึ่งก็ลากเอาไปไห้เกิดครั้งแผ่นดินไคเภก อีกคนหนึ่งว่าในแผ่นดินฮั่น อีกคนหนึ่งว่าในแผ่นดินถัง ความจริงจะเปนอย่างไรเราก็รู้ไม่ได้ แต่ทางวิจารณนั้นเห็นได้ว่าสัตว์หมายปีนั้นเก่ามาก แม้แต่ชื่อจะเปนภาษาอะไรก็ไม่ทราบ ที่เปนชื่อพ้องกับตัวสัตว์ก็สงสัยว่าจะลากเอาชื่อปีไปเปนชื่อสัตว์ ที่มีคำอ้างว่าเอาอย่างมาจากบาบิโลนนั้นเข้าที แต่ก็ยังไม่ทราบว่าบาบิโลนเขามีอย่างไร

พระนารายณ์ ถืออะไรที่บอกมาก่อนนี้ นักปราชญ์ฝรั่งเขาว่าพระนารายณ์เปนของคิดขึ้นใหม่ เช่นเทวดารนคัมภีร์ปุราณะ ไม่ใช่ชั้นคัมภีร์เวทนั่นเปนทางฟังได้โดยทางวิจารณว่าเปนของคิดใหม่ ต่างคนต่างคิด จะให้ถืออะไรไปตามใจคิด ความคิดของคนย่อมต่างกันเสมอ

เดือนทางอินเดียให้ชื่อตามดาวฤกษ์ ทางเราให้ชื่อเปนนำเบออย่างจีน ทางฝรั่งปนเปกันเลอะเทอะ เดิมทีเห็นจะนับเปนนำเบอแบ่ง ๑๐ วันทั้ง ๗ เราให้ชื่อตามเทวดาสัตตเคราะห์ ที่เปนมาทางโหร เพราะโหรนับถือเทวดาเหล่านั้น เมื่อเทียบกับทางฝรั่งตรงองค์เทวดากัน ๔ วัน คือ อาทิตย์ จันทร์ อังคารกับ เสาร์ อีก ๓ วันนั้นผิดกันไป วันพุธเปนเทวดารักษาพวกเยรมัน วันพฤหัสบดีเปนพระอินทร์ วันศุกรเปนชายาเทวดาชื่อโอดิน ฝันว่าพระโอดินนั้นเคยรู้ ตามค้นหาก็ไม่พบ แต่เชื่อแน่ว่าทางฝรั่งมาทางกรีก กรีกกับโหรเราก็นับถือเทวดาร่วง ๆ เหมือนกัน เราจะได้มาแต่ไหนนั้นไม่ทราบแน่ กรีกกับอินเดียก็เก่าด้วยกัน ศาลนพเคราะห์ทางอินเดียก็มี ทางอินเดียไม่มีวัน ๗ แต่รู้ได้ว่าอยากมีหรือเคยมี จึ่งมีคำ สัตตาหะ ทางจีนไม่มี วันทั้ง ๗ นั้นก็น่ารู้อยู่เหมือนกันว่าต้นเดิมมาแต่ไหน

ชื่อพระเจ้าแผ่นดินพะม่า ซึ่งท่านยกมากล่าว จะว่าเปน เสนกราชา หรือ สังฆราชา ก็เปนเรื่องเล่นแปลชื่อเหมือนกัน ความจริงเราไม่รู้ว่าพระนามท่านเปนอย่างไรแน่ แต่ถ้าตัดสินเปนกลางถึงท่านจะทรงผนวช จะทรงพระนามว่า เสนกราชา ก็ไม่ขัดข้อง คำ สังฆราช ไม่จำต้องพึ่งพระนามท่าน คำ ศักราช ท่านคิดว่าเปน ศักราชสํวัตสร นั้นเข้าที แต่ก็ไม่มีพยานอันจะพึงตัดสินว่าผิดถูกได้เช่นเดียวกัน

เรื่องแต่งงาน ซึ่งจับใจในคำเก่าของท่านอยู่นั้น อยู่ที่การกั้นประตู ท่านบ่งไว้เปนแสดงว่าแย่ง ถูกและต้องกับชื่อ วิวาห จึงแนะให้เอาลงไว้ด้วย ท่านคิดว่าเข้าคำในกฎหมายได้ด้วยก็ยิ่งดีขึ้นอีก

หนังสือทางไทยใหญ่ เขาเดินทางตัด เปนทางตัดช่องน้อยจำเพาะตัว เพื่อเขียนแต่ภาษาของเขา ทางเราเดินทางเติม เมื่อเขียนภาษาร้อยแปดให้ได้แต่ก็คงเปนโครงหนังสือมคธสังสกฤตอยู่ด้วยกัน ทางไหนจะดีกว่ากันก็ตัดสินยาก ที่ไทยใหญ่เอาตัว ส ไปใส่ไว้ในวรรค จ อีกตัวหนึ่งนั้น พอจะอธิบายได้ด้วยภาษาเรามักพูดสับสน เอาตัว จ ฉ ช เปน ส อยู่เสมอ เช่น สลาก ฉลาก เปนต้น เอาตัว ส ไปใส่ไว้ในวรรค จ อีกก็เพื่อให้รู้ว่า ส ใช้แทนอักษรในวรรค จ ได้

ที่เปลี่ยน ก เปน จ ฉันอยากฟังอธิบายทางนักปราชญ์ ส่วนทางตัวอย่างที่มีไขว้เขวกันนั้นทราบอยู่แล้ว ความไขว้เขวมีอยู่ถมไป ไม่แต่ ก เปน จ

อักษรกล้ำ กร เห็นว่าไม่เกี่ยวแก่ จร หรือ ตร ที่จริงเราพูดอักษรกล้ำได้ยาก เช่น ตรวจ ตรา เราก็ว่า กรวด กรา อินทรา เราก็ว่า อินกรา เพิ่งจะหัดพูดกันให้ตรงได้ไม่ช้ามานี้เอง แม้กระนั้นก็ยังไม่ทั่ว เช่น สระ สรง เราก็ว่า สะ สง คิดว่าเปนด้วยครูยังไม่กระดิกหู ไม่ได้สอนกัน ไปนึกชอบทางพวกหัวเมืองใกล้เขตต์เขมร แม้แต่ผู้หญิงตัวเลว ๆ เขาก็พูดตัวควบฟังได้ถูกต้องดี

ละคอนใน กับ ละคอนนอก แต่ก่อนจะอย่างไรไม่ทราบ แต่เดี๋ยวนี้ละคอนในก็ไม่ได้ร้องลงสรงรถม้าเหมือนกับละคอนนอก คงมีแจ้งอยู่แต่ในหนังสือเท่านั้น เข้าใจว่าเขาตัดเสียด้วยเห็นเสียเวลาไม่ถูกใจคนดู คนดูย่อมต้องการเรื่อง ไม่ต้องการดูรำ ไม่ใช่ตัดแต่ลงสรงม้ารถเท่านั้น แม้รำเพลงรำเชิดเขาก็ตัดเสียเหมือนกัน เอาแต่เรื่องเปนที่ตั้ง

คิดถึงพูดเผลาะแผละดูก็ดี ไม่ต้องคำนึงถึง แม่ กก แม่ กด ที่จะฟังเข้าใจผิดนั้นเปนไปไม่ได้ เช่นภาษาของเราพูดว่า กะ อย่าง นายกะบ่าว เจ้ากะข้า เขียนหนังสือต้องแบ่งเปน กับ แก่ แต่ ต่อ ยากขึ้นอีกเปล่า ๆ

ฆ คือ ม หยักหัว ฑ ก็คือ ท หยักหัว แต่ ฆ ไม่เกี่ยวอะไรกับ ม ส่วน ฑ นั้นเกี่ยวกับ ท เชื่ยว่าวิธีหยักหัวเอาอย่างไปจาก ๒ ตัว นี้ อนึ่งที่ขีดหางตัว ฝ คิดเหตุไม่เห็น นอกจากจะเปลี่ยนให้เปนอักษรสูงคู่กับตัว ฟ

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ