๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ยส

กรมศิลปากร

วันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๔

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ ลงวันที่ ๑๗ ไว้แล้ว พระเดชพระคุณล้นเกล้าฯ หาที่สุดมิได้

โหง ในภาษาเขมร มหาฉ่ำชี้แจงว่า ตรงกับคำว่า เทอญ หรือ แล ตรงกันกับที่ทรงพระดำริไว้

ข้าพระพุทธเจ้ารับใส่เกล้า ฯ ข้อที่ตรัสว่า คำแปลนั้นเชื่อได้แต่ที่ควรเชื่อ ฯลฯ นี้ไว้ทั้งหมด เพราะเป็นหลักในการวินิจฉัยและสันนิษฐานเรื่องต่างๆไม่ให้ด่วนเชื่อได้ดีที่สุด เช่นมีคำโบราณปรากฏอยู่ในหนังสือเก่าอยู่แห่งเดียว ก็ด่วนสันนิษฐานแปลว่าอย่างนั้นว่าอย่างนี้ เพราะถือเอาความในนั้นว่าบ่งชัดอยู่แล้ว จะแปลเป็นอื่นไม่ได้ ก็ลงคำแปลไว้ว่าดั่งนั้น ครั้นมาภายหลัง พบบระโยคที่ใช้คำเดียวกันนี้ในหนังสืออีกเล่มหนึ่ง มีข้อความเป็นอีกอย่างหนึ่ง ถ้าได้แก้คำแปลเดิมก็ดีอยู่ ถ้าไม่ไห้แก้หรือยังไม่พบคำที่ใช้ในที่อื่น คำแปลเดิมที่ผิดๆ ก็จะติดอยู่ แล้วคนภายหลังนำเอาคำนั้นไปใช้ในคำแปลที่ผิด ในที่สุดความหมายของคำนั้นก็เคลื่อนคลาดกลายไปไกล ข้าพระพุทธเจ้าคิดด้วยเกล้าว่า น่าจะมีอย่างที่กราบทูลนี้มาแล้วแต่ก่อนหลายคำ เพียงแต่การทำปทานุกรมก็เคยมีตัวอย่างมาแล้ว เกิดจากเรื่องเชื่อเร็วไป ในการศึกษามีแบ่งเป็น dogmatic และ critical ชะนิดดอกแมดติก เรียนด้วยอาศัยความเชื่อตะพึดตะพือ ครูว่าอย่างไรก็ถือว่าอย่างนั้น ไม่ใช้ความคิดไตร่ตรองหาเหตุผลให้เกิดความรู้กว้างขวางออกไป เป็นพวกเชื่อครูหรือชะนิดเถรส่องบาตร ในเรื่องนิยาย อย่างนี้เป็นกันมากในรุ่นเก่า ชะนิดคริดติกัลเป็นตรงกันข้ามกับดอกแมตติก เป็นกันมากในรุ่นใหม่ แต่ถ้ามีมากจนเกินไปก็เดือดร้อนตนและคนอื่นได้เหมือนกัน ดอกแมดติกดีแก่เด็กที่ยังมีความรู้น้อย ส่วนคริดติกัลดีแก่ผู้ใหญ่ แต่ทั้งสองอย่างนี้ ถ้าหนักไปมาก คิดด้วยเกล้าฯ ว่าไม่ดีทั้งนั้น

เรื่องรอหัน ถ้าคำมีสระด้วย ก็ไม่มีเป็นรอหัน ข้าพระพุทธเจ้าสอบถามพระสารประเสริฐ ชี้แจงว่า ถือกันมาเป็นหลักอย่างนั้น คิดด้วยเกล้า ฯ ว่าที่ใช้รอหัน เห็นจะเกิดจากจดเสียงแขกไม่ลง จึงได้เติมเสียงรัวเข้าไปอีกเสียงหนึ่งและเสียงรัวนี้ลางทีก็ฟังเป็นเสียงมีไม้หันอากาศ เพราะอำนาจเสียงตัวสกดเข้าช่วย ก็เลยอ่านออกเสียงเป็นเสียงมีไม้หันอากาศ เสียงรัวก็หายไป คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า เสียงอย่าง dark, bark ในภาษาอังกฤษ เดิมคงอานออกเสียง ร นิดๆ ภายหลังเสียง ร หลุดหายไปหมด คงเหลือซากให้เห็นอยู่แต่ที่เขียนคำเท่านั้น ที่คำมีสระไม่ใช้รอหัน จะเป็นเพราะใช้รอหันด้วยเป็นบุราณ จะอ่านไม่ได้

คำว่า ราชวัด ข้าพระพุทธเจ้าเคยเห็นเขียนกันเป็น ราชวัตร ก็มี ในปทานุกรมเขียน ราชวัฏ แล้วบอกแก้เป็น ราชวัติ์ ก็คงเนื่องมาจากไม่แน่ใจว่าแปลว่าอะไร ภายหลังน่าจะเห็นคำ วัติ แปลว่า รั้ว จึงได้เขียนเป็น ราชวัติ แปลว่า รั้วของพระราชา ข้าพระพุทธเจ้าสงสัย ไห้สอบถามพระสารประเสริฐว่า ราชวัติ นั้น มีอยู่ในคำเดิมของสํสกฤตหรือบาลีไหม ก็ตอบว่าไม่มี และเรื่องราชวัตินี้ พระองค์เจ้าวรรณ ฯ ก็ได้ประทานสำเนาลายพระหัตถ์ที่ทรงโต้ตอบมาให้กรรมการปทานุกรมเหมือนกัน และพระองค์วรรณ ฯ ทรงขอให้กรรมการช่วยค้นที่ใช้คำว่า ราชวัติ ในวรรณคดีไทย ซึ่งในเวลานี้ได้มอบให้พระวรเวทย์ ฯ ค้นหา ข้าพระพุทธเจ้าสงสัยคำ ราชวัติ ว่าอาจจะผ่านมาทางมลายูบ้างกระมัง หรือว่าจะเป็นศัพท์ชะนิดลากเข้าความอย่างคำว่า ราชาวดี เมื่อค้นดูก็ไม่ได้ความนัก คงมีคำที่พอหยิบเอาขึ้นมาพิจารณาได้คำหนึ่งคือ watas ในภาษาชวาแปลว่า เขตต์ ในภาษามลายูเพี้ยนเป็นเสียง บ แปลว่า คันนา หรือ กองดินที่ยกขึ้นกั้นน้ำในนา และใช้เป็นทางเดิน ข้าพระพุทธเจ้าหวนนึกไปถึงคำว่า วัด (วาอาราม) ในภาษาไทยเคยเห็นลางคนเขียนลากเข้าความเป็น วัตร ก็มี และคำว่า วัด (วาอาราม) นอกจากใช้กันในประเทศไทยและประเทศเขมร (ซึ่งคงเอาจากไทยไป) ไทยที่อื่นก็ไม่รู้จักคำนี้ ในพจนานุกรมไทยใหญ่-อังกฤษ ก็มีคำ วัต ว่าเป็นคำของลาวและไทยสยามในพายัพ คำว่า วัด (กิริยา) ใช้ว่า วา เช่น วาคลอง แปลว่าวัดทาง (คลอง มีในภาษามอญแปลว่า ทาง) กระทำให้ข้าพระพุทธเจ้าคิดเห็นว่า วัดวา ก็คงเป็นคำเดียวกัน เป็นเรื่องพูดคำซ้อนชะนิดผ่อนเสียงคำหลังให้ลงท้ายเสียงด้วยเสียงสระ คือแม่กอกาและเกย เพราะออกได้สะดวกกว่าเสียงอื่น เมื่อ วัดวา เป็นคำเดียวกัน วัด ที่เป็นนามก็อาจมาจากวัดในคำที่เป็นกิริยาได้ เพราะสร้างวัดก็ต้องมีวัดเขตต์แดนให้เป็นขอบเขตต์ ส่วน วา ก็กลายมาเป็นระยะที่วัดไป ในภาษาไทยใหญ่มีคำว่า แวด หรือใช้เป็นคำคู่ว่า แวดวาด แปลว่า กั้น ล้อม เช่นกั้นนา กั้นห้อง ตรงกับที่ใช้กันว่า แวดล้อม แวดวาด และ วัด ก็มาใกล้กันอีกทั้งเสียงและความ จะมีอะไรเกี่ยวข้องกับคำว่า วัด ในคำว่า ราชวัด ได้บ้างก็ไม่ทราบเกล้า ฯ ตลอดจนคำว่า watas ในชวา ถ้าว่าเกี่ยวข้องกัน ราชวัด ก็จะต้องเป็น ราชวัด หาใช่ ราชวัติ ไม่ มีข้อแปลกอยู่อย่างหนึ่ง ข้าพระพุทธเจ้าค้นหาคำไทยถิ่นอื่นในคำว่า วัด (กิริยา) ก็ไม่พบคำนี้ มีก็เป็นคำว่า แต้กต้อก ทุกแห่ง ซึ่งจะปรับเทียบกับคำในภาษาไทยไม่ได้เลย ทำให้ข้าพระพุทธเจ้านึกไปว่า วัด อาจเป็นคำมาจากบาลีหรือสํสกฤต แต่กลายรูปมาเป็นไทยเสียแล้ว หรือถ้า วัด จะเป็นคำไทย และ วัด ไม่ใช่แปลว่า วัด (กิริยา) อย่างที่เป็นอยู่ในเวลานี้ วัด ก็จะเป็นคำพวกเดียวกับ แวด ข้าพระพุทธเจ้านึกไปถึง แม่กด แม่กนอีก แวด ก็เป็น แวน ครั้นเปิดดูในพจนานุกรมไทยใหญ่-อังกฤษ ก็พบคำว่า เวน หรือคำคู่ว่า เวนวาน แปลว่า ม้วน ล้อม โอบให้รอบ ใช้ว่า เวนฮอบ (รอบ) ก็มี เวนมน = ล้อมรอบในลักษณะที่กลมรอบก็มี นึกถึงคำว่า แหวน ก็มีลักษณะล้อมรอบสิ่งที่ใส่ แต่ไทยใหญ่เขียนเป็น แหวญ หมายความว่ากำไลหรือสร้อยก็ได้ เช่น แหวญตีน แหวญมือ แล้วในที่ใกล้กันนี้ มี แหวญ อยู่อีกคำหนึ่ง แปลว่า กระโดด คำนี้เองจะมาเป็น แว่น ในคำว่า ขุนแผนผู้แว่นไว คือคล่องแคล่ว ในมหาชาติคำหลวง ก็มีคำว่า แว่นบนกิ่ง ความไปทางกระโดดบนกิ่ง ในพายัพมีคำว่า วิด แปลว่ากระโดด ก็เทียบได้ด้วย วิด - วิ่น – แว่น คำว่า หว่านล้อม ถ้าเทียบ วาด กับ วาบ เสียงก็ใกล้กับ หว่าน

บุหงารำไป รำไป แปลว่าดอกลำเจียก บุหงารำไป แปลว่า กลีบดอกลำเจียกที่หั่นเป็นฝอยม้วนเอาเข้าไว้ในมวยผมหรือห่อผ้าไว้ ใบไม้มีกลิ่นหอมตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ หรือดอกไม้ที่ระคนปนกัน หรือดอกไม้หอมต่างๆ รวมกัน แล้วอบหรือพรมด้วยกลิ่นหอมอย่างอื่นเข้าช่วยด้วย ใช้โปรยหรือสาดทั่ว ๆ ไปในงานเทศกาศพิธี

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้าฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ