๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๘

ท่าพระ กรุงเทพฯ

วันที่ ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๘

กราบทูล พระเจ้าบรมวงษเธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ ทราบฝ่าพระบาท

ปัญหาวัดอรุณซึ่งรับสั่งปฤกษา ได้พิจารณาแล้ว ขอประทานพยากรณ์ถวายตามความเห็น จะผิดถูกประการใดก็แล้วแต่การ

ปัญหาข้อหนึ่ง ซึ่งว่าพระวิหารจะได้ประดับกระเบื้องผนังเวลาไรนั้น ได้ไปตรวจดูที่พระวิหาร เห็นกระเบื้องนั้นเปนลายดอกไม้จีน ผูกเปนก้านแย่งขบวรไทย อันเปนแฟแช่นที่กำลังเฟื่องฟุ้งในรัชกาลที่ ๓ ได้ชุดกันกับลายรดน้ำบานประตูด้วย แล้วได้ไปตรวจซ้ำที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เห็นกระเบื้องเคลือบลายสีที่ทำเปนแผ่น มีประดับอยู่หลายชนิดหลายแห่ง คือ -

๑ ที่เชิงผนังในพระอุโบสถ กับเชิงฐานนอกพระอุโบสถ แลท้องกำแพงแก้วรอบพระอุโบสถ เปนกระเบื้องอย่างเดียวกัน อย่างนี้เข้าใจว่าจีนทำใช้เองในเมืองจีน คงได้เข้ามาในรัชกาลที่ ๓ โดยทางที่ได้ไปมาค้าขายกับเมืองจีน

๒ ที่เชิงเสาน่าพระอุโบสถ เปนกระเบื้องเนื้ออย่างกังไสเหมือนกัน แต่ลายผิดกันไป เปนดอกไม้จีนแกมใบเทศผูกขบวรไทย เห็นได้ว่าให้อย่างสั่งไปในรัชกาลที่ ๓ เพราะโปรดตัวอย่างที่ได้มาแต่เมืองจีน

๓ ที่บัวแลเสากำแพงแก้วล้อมพระอุโบสถ เปนกระเบื้องแผ่นลายอย่างไทย แต่เนื้อเปนปังเคย คงมีเหตุขัดข้องที่จะสั่งเนื้อกังไสได้ยาก จึงสั่งเพียงกวางตุ้ง คงเปนรัชกาลที่ ๓ เหมือนกัน เพราะกำแพงนั้นซ่อมแปลงแก้ไขในรัชกาลที่ ๓ เห็นได้ที่ผสมกับกระเบื้องลายจีน ซึ่งมาในรัชกาลนั้นด้วย

๔ ที่พระพุทธปราง เปนกระเบื้องแผ่นเนื้ออย่างปังเคยเหมือนกัน แต่หุ่นดินอัดพิมพ์ยกดอกนูนขึ้นมาอย่างสลัก ส่วนลายนั้นเปนสองอย่าง ที่ท้องผนังเปนลายทรงเข้าบิณฑ์ดอกไม้จีน แฟแช่นรัชกาลที่ ๓ เหมือนกับลายเขียนในพระอุโบสถวัดโมลีโลก แต่ลายจอมลายเสาหารลายฐานแลลายยอดนั้น เปนลายแบบอย่างไทยแท้ เห็นได้ว่าเปนคิดคนละคราวสั่งคนละคราว พระพุทธปรางสร้างในรัชกาลที่ ๔ กระเบื้องที่สั่งคราวนั้นคงเปนพวกลายแบบไทย ซึ่งมีอยู่ตั้งแต่ฐานตลอดยอด เว้นแต่กระเบื้องท้องผนังผลัดเปนลายดอกไม้จีนไป น่าที่กระเบื้องท้องผนังจะเปนกระเบื้องสั่งในรัชกาลที่ ๓ สำหรับประดับที่แห่งใดแห่งหนึ่ง แต่ไม่ได้ประดับเพราะเหตุใดเหตุหนึ่ง ตกค้างอยู่เปล่าจึงเอามาใช้เสีย สั่งแต่ขอบมาผสมเข้าจึงผิดเปนคนละลาย

๕ ที่หอพระคันธารราษฎ์ เปนกระเบื้องน่าราบเคลือบสีเดียว กระเบื้องชนิดนี้ทำในเมืองไทย มีที่อื่นอีกเช่นวัดพระเชตุพนเปนต้น เห็นจะทำขึ้นในรัชกาลที่ ๓ เปนผเดิม

ตามที่เห็นพยานปรากฎอยู่แล้วเช่นกล่าวมานี้ จึงเปนอันสิ้นที่สงไสย ว่ากระเบื้องซึ่งประดับพระวิหารวัดอรุณ ไม่ใช่ประดับในรัชกาลอื่นนอกไปจากรัชกาลที่ ๓ ด้วยเห็นได้ที่ตัววิหาร แลยุคที่ใช้กระเบื้อง กับทั้งแฟแช่นลายด้วย ข้อที่ทรงสงไสยว่าถ้าประดับในรัชกาลที่ ๓ แล้ว ทำไมจึงประดับพระวิหาร ไม่ประดับพระอุโบสถ ข้อนี้ขอทูลพยากรณ์ว่ากระเบื้องนั้นก็สั่งมาด้วยตั้งพระราชหฤไทยจะประดับพระอุโบสถ แต่ฝีมือทำไม่งามเหมือนที่เคยสั่งมาประดับกำแพงแก้วในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จึงโปรดเกล้าฯให้สั่งใหม่ กระเบื้องที่สั่งมาไม่ดีนั้น ให้ระไปประดับพระวิหาร กระเบื้องที่สั่งมาใหม่สำหรับพระอุโบสถนั้น คือที่ประดับท้องผนังพระพุทธปรางอยู่เดี๋ยวนี้ ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

ปัญหาข้อสอง ซึ่งว่าโรงพระแก้วนั้น คือวิหารเก่าวัดอรุณ ตามที่เฃ้าใจกันนั้นฤๅมิใช่ ในข้อนี้พิจารณาเห็นดังนี้

๑ วิหารเก่าวัดอรุณนั้น เปนฝีมือที่ทำครั้งกรุงเก่าพร้อมกับโบสถ์เก่า ไม่ใช่ฝีมือทำในแผ่นดินพระเจ้าตาก

๒ ในพระราชพงษาวดาร น่า ๖๓๕ มีว่า “ครั้นมาถึงตำบลบางธรณี จึงเสด็จพระราชดำเนิรขึ้นไปโดยทางชลมาค พร้อมด้วยขบวรพยุหแห่ลงมาตราบเท่าถึงพระนคร แล้วให้ปลูกโรงรับเสด็จพระพุทธปฏิมากรพระแก้วพระบาง อัญเชิญขึ้นประดิษฐานไว้ณโรงริมพระอุโบสถวัดแจ้ง ภายในพระราชวัง” คำว่า “ปลูก” จำเปนต้องเปนโรงที่ทำขึ้นใหม่ แลต้องเปนไม้ พระวิหารเปนของเก่าแลเปนของก่อ จะเฃ้าในคำ “ปลูก” ไม่ได้เปนอันขาด ถ้าตำแหน่งปลูกซึ่งระบุไว้ในที่นี้ถูก โรงนั้นจะต้องอยู่ข้างซ้ายโบสถ์เก่า

๓ ในพระราชวิจารณตอนต้นจดหมายเหตุ น่า ๑๒ ว่า “พยุหกระบวรเรือประทับท่าวัดแจ้ง เชิญพระแก้วขึ้นทรงพระยานุมาศ แห่มาณโรงพระแก้ว อยู่ที่ท้องสนาม” ทรงพระราชวิจารณประกอบร่างหมายเก่า น่า ๑๑๕ ว่า “พระแก้วมรกฎมาขึ้นตพานป้อมต้นโพธิ์ ปากคลองนครบาล คงจะอยู่เบื้องน่าพระอุโบสถเดี๋ยวนี้ สัศดีเกณฑ์ให้ตั้งราชวัตฉัตรเบญจรงค์ รายทางแลล้อมรอบโรงพระแก้ว ตั้งกระบวรแห่มีเครื่องสูงคู่แห่ ๔๐ แห่เข้าประตูรามสุนทรมาไว้ในโรง” ข้อความในพระราชวิจารณเช่นนี้ ไม่ใช่แต่ส่องให้เห็นว่าไม่ใช่พระวิหารเก่าวัดแจ้งเท่านั้น ยังส่องให้เห็นไกลไปจากวัดแจ้งเสียอีกด้วย ถ้าจะเดาให้ใกล้ ที่ตั้งโรงพระแก้วเห็นจะปลูกที่สนามในวังหลังวัดแจ้ง อย่างสมโภชช้างขึ้นโรงใน ในพระบรมมหาราชวังเรานี้

๔ พระเจดีย์ในวิหารเก่าวัดอรุณนั้น เห็นเปนพระเจดีย์เก่า ไม่ใช่ทำใหม่ เพราะสังเกตเห็นได้สองอย่าง คือเหนือบัลลังก์ขึ้นไป มีบัวที่เรียกว่าฝาลมี ซึ่งเดิมหมายเปนใบฉัตร มีลูกมหวดรับ เหมือนพระเจดีย์ในกรุงเก่าเช่นวัดศพสวรรค์นั้นอย่างหนึ่ง ซึ่งผิดกับพระเจดีย์ชั้นหลังเลิกบัวฝาลมี พ้นบัลลังก์ขึ้นไปก็ถึงบัวกลุ่มทีเดียว กับฐานชั้นสองชั้นสามไม่มีน่ากระดานรองสิงห์อีกอย่างหนึ่ง นี่ก็เปนแบบเก่าเหมือนกัน พระเทพสุธีว่าพระเจดีย์องค์นี้หล่อด้วยดีบุก ได้ยินว่าเดิมอยู่วัดราชคฤห์ฤๅวัดอะไรไม่แน่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ตรัสสั่งให้เชิญมาไว้ ดูทีก็จะสมจิง เพราะมีรูปจตุโลกบาลอยู่สี่ทิศ เปนฝีมือในรัชกาลที่ ๔ เมื่อเช่นนั้นการที่วิหารนี้เคยว่างไม่มีอไรตั้งอยู่คราวหนึ่งก็เปนการแน่ ทำไมจึงว่าง เหตุนี้แลจูงไปให้เข้าใจกันว่าตั้งพระแก้วในนั้น ฤๅจะเปนได้ดังนี้ คือสมโภชแล้วเชิญย้ายจากโรงมาไว้ในวิหาร

๕ แต่ในพระราชพงษาวดาร น่า ๖๗๕ กล่าวว่า “ครั้นถึงวันจันทรเดือนสี่ขึ้นสิบสี่ค่ำ ทรงพระกรุณาให้อัญเชิญพระพุทธปฏิมากรแก้วมรกฏ จากโรงในวังเก่าฟากตวันตก ลงทรงเรือพระที่นั่งกิ่ง มีเรือแห่เปนขบวร ข้ามฟากมาเข้าพระราชวัง อัญเชิญขึ้นประดิษฐานในพระอุโบสถพระอารามใหม่” คงใช้คำว่า “โรง” อยู่กระนั้นเอง ส่องให้เห็นว่าพระแก้วคงอยู่โรงเดิม ไม่ได้ย้ายไปไหน

โดยหลักฐานทั้งปวงนี้ พอลงสันนิฐานได้ ว่าวิหารเก่าไม่ใช่โรงพระแก้ว แลไม่ได้ไว้พระแก้ว เพราะไม่พบปรากฎในที่แห่งใด ว่าได้ย้ายพระแก้วไปจากโรงเดิม แลก็ไม่น่าจะได้ย้ายจิงด้วย เพราะต่อแต่นั้นไป ก็ดูมีแต่เรื่องวุ่นวายไปด้วยอาการเสียพระสติแก่กล้า ไม่มีเวลาที่จะประกอบการอันเป็นสารประโยชน ถ้าหากว่าได้ย้ายแล้ว ควรจะมีที่ไว้ให้ดีกว่าขอยืมเอาวิหารเก่า เพราะว่าพระแก้วมิใช่ของเลว อีกประการหนึ่งทำลายพระเก่าให้วิหารเอาที่ตั้งพระแก้ว กลัวจะไม่มีใครทำ ถ้ามีใครทำก็คงถูกติเตียนก้องมาจนถึงทุกวันนี้ ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ