๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๓ ยส

กรมศิลปากร

วันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๓

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๑๐ รวม ๒ ฉะบับ โปรดให้ข้าพระพุทธเจ้าพิจารณาเรื่องคำ มวญ ว่าควรจะสกดอย่างไรนั้น พระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ หาที่สุดมิได้

ข้าพระพุทธเจ้าได้รับใส่เกล้า ฯ พิจารณาแล้ว เห็นพ้องในกระแสพระดำริที่ตรัส เพราะตามหลักนิรุกติศาสตร์ให้ไว้ว่า ตัวหนังสือนั้นเป็นแต่เครื่องหมายแทนคำพูดสำหรับบอกให้ทราบความมุ่งหมายที่มีอยู่ภายในของผู้เขียนให้ปรากฏออกมาภายนอก ถ้าเครื่องหมายนั้น ทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิดไปจากที่มุ่งหมายได้ ก็ไม่เกิดผลเป็นภาษาที่เข้าใจกันได้ เพราะทั้งสองฝ่ายให้และรับความไม่ตรงกัน เพราะฉะนั้นที่ทรงเห็นว่าเขียนตามที่เขาเขียนกันมา จะไม่ได้ทำให้เข้าใจผิดไปได้นั้น จึงมาตรงกับหลักข้างบนนี้

คำมีเสียงว่า มวน ในความหมายว่า พวกทั้งหมด ข้าพระพุทธเจ้าค้นหาในภาษาไทยถิ่นต่าง ๆ ยังไม่พบ ส่วน มูน ก็พบแต่ในภาษาถิ่นพายัพ เขียนเป็น มูล หมายความว่า เกาะ แผ่นดินที่ตื้นเขินขึ้น ลักษณะในความหมายใกล้กับคำว่า พูน หรือ มูน ในภาษาไทย โพน ในภาษาอีศานแปลว่าจอมปลวก ก็คงเป็นคำในพวกเดียวกัน

ประเมิน คิดด้วยเกล้า ฯ ว่าจะเลือนมาจาก ประมาณ ดั่งตรัส คำนี้เดิมน่าจะเป็นคำคู่เพื่อผ่อนเสียงซึ่ง เช่น ประเมินประมาณ จะมีความหมายเดียวกัน ข้าพระพุทธเจ้าเคยเห็นคำที่ใช้ว่า ประเมิน เป็นครั้งแรกเมื่อรับราชการอยู่ในกรมศุลกากร เกิดจากประมาณราคาเพื่อเรียกเก็บภาษี (assess) จะใช้ว่าประมาณ (estimate) ก็ไม่ตรงกับความหมาย เพราะการประเมินภาษี ก็คือจำนวนที่เจ้าพนักงานตีราคา ที่เห็นว่าถูกต้อง แต่ราคาที่ตีนั้นอาจไม่ถูกต้องกับราคาที่แท้จริงก็ได้ คิดด้วยเกล้า ฯ ว่าจะเป็นด้วยเหตุนี้ จึงได้นำเอาคำคู่ของประมาณ คือ ประเมิน มาใช้ในความหมาย เพื่อให้ผิดกับ ประมาณ ซึ่งเป็นแต่คะเนอย่างคร่าว ๆ ที่ ประเมิน ไม่ได้สกดด้วย ทีจะเห็นว่าไม่ใช่คำ ประมาณ จึงได้สกด น เป็นอย่างคำไทยธรรมดา ตามที่กราบทูลมานี้ การจะสมควรสถานไร แล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ประมูล ถ้าถือว่า มูล มีความหมายว่าทำให้มากขึ้นยิ่งขึ้น ประมูล ก็น่าจะหมายความว่า ทำให้มากขึ้นยิ่งขึ้น แล้วความหมายขยายตัวเปนแข่งขัน เดี๋ยวนี้มีคำว่า ประกวด เข้ามาแทนที่ คงจะเห็นว่าการเรียกประมูลราคาจ้างทำ ย่อมมุ่งแต่ที่มีราคาต่ำ จึงได้แก้ ประมูล เป็น ประกวด ไป

ประมวญ ทรงเห็นว่า หมายความว่า รวบรวม ความก็ได้กันกับ มวญ คือรวบรวมทั้งหมด

ข้าพระพุทธเจ้าได้ถามพระยาอุปกิต ฯ ถึงเรื่องตัวสกด มวญ และ มวล ที่มีอยู่ในปทานุกรม ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานคัดข้อความที่พระยาอุปกิต ฯ มีมายังข้าพระพุทธเจ้า ดั่งนี้

คำ มวญ ประมวญ ผมเห็นว่ามาจาก มูล เขมร ซึ่งแปลรวมกัน กลม (วจนานุกรมเขมรหน้า ๗๕๔) คำ กลม ของเราแปลว่า ทั่ว ทั่วบริเวณ ก็ได้ เช่น ทั้งกลม แก่กลม ว่า ทั้งหมด (ศิลาจารึก)

แต่เรานำมาใช้แปลง อู เป็น ว อย่าง บริบูรณ์ เป็น บริบวรณ คำนูณ เป็น คำนวณ ฯลฯ และใช้ ญ สกดแทนตัว ล ของเขมรตามนิยมโบราณซึ่งมีเช่นนี้ทุกชุมนุม ตัวอย่างเขมร-สฺคัล (รู้) สํคัล (สิ่งที่รู้ เครื่องหมาย) ซึ่งเราใช้ว่าสำคัญ ชล (ต่อสู้กัน) ประชล (ให้ต่อสู้กัน) เราใช้ว่า จญ (ยวนพ่าย) ประจญ กราล (ปูลาด) กำราล (เครื่องลาด) โบราณใช้ กราญ กำราญ (บัดนี้ใช้อย่างเขมร) ที่ปทานุกรมแก้เป็น ล สกด คงจะเป็นด้วยตั้งใจให้ถูกต้องตามภาษาเดิม แต่ก็ไม่ทั่วไป (สำคัญ ประจญ ฯลฯ) ถ้าเราจะคิดไปทางแง่รักษาประวัติของเราและกตัญญูต่อบรรพบุรุษของเราก็สมควรเหมือนกัน ทั้งนี้แล้วแต่กรรมการปทานุกรมจะเห็นควร

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ