- เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๓
- พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๓
- มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๓
- กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๓
- สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๓
- กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๓
- ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๓
- พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๓
- ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๓
- มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔
- กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๔
- มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔
- เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๔
- พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๔
- มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๔
- กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๔
- สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๔
- ภาคผนวก
- ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๘
- ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๐ น
- ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๐ ดร
- ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ น
- ๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ น
- ๒๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๒ น
- ๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๒ น
- ๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๒ น
- ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๒ น
- ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ น
- ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๗ น
- ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๗ ปสศ
- ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๘ น
- ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ ยส
- ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ ว
- ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๘ ว
- ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๙
- ๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๘ ยส
- ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๓ ว
- ผู้พูดกับผู้ฟัง
- คำแบบ
- เรื่องจำนวน
๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ ยส
กรมศิลปากร
วันที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๓
ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท
ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๘ โปรดให้ข้าพระพุทธเจ้าจดจ่าหน้า เรื่องสมเด็จพระบรมศพ ว่าที่ตีพิมพ์ไว้ให้ชื่อเรื่องว่าอย่างไร พระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ หาที่สุดมิได้
๑. ข้าพระพุทธเจ้าได้ตรวจดูแล้ว ในใบจ่าหน้าให้ชื่อว่า “เรื่องสมเด็จพระบรมศพ คือจดหมายเหตุงานพระเมรุครั้งกรุงเก่ากับพระราชวิจารณ์ของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง พิมพ์แจกในงานศพพระยาทวาราวดีภิบาล (แจ่ม โรจนวิภาค) จางวางกรุงเก่า โรงพิมพ์โสภณพิพัฒนากร พ.ศ. ๒๔๕๙” ในตัวเรื่องว่า เป็นงานเมรุพระศพกรมหลวงโยธาเทพย์ ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ
๒. นกจีโจ้ นักวิทยาศาสตร์ผู้หนึ่งบอกแก่ข้าพระพุทธเจ้าว่า เป็นนกขมิ้น ซึ่งเป็นนกขนาดเขื่องกว่านกกระจอก ตัวลายท้องเหลือง คนละตระกูลกับนกขมิ้นเหลืองอ่อน มีผู้บอกข้าพระพุทธเจ้าว่า จิงโจ้ เป็นชื่อเครื่องเรือนด้วยอีกอย่างหนึ่ง แต่ข้าพระพุทธเจ้าสอบถามไม่ได้ความ เป็นแต่บอกว่าเคยได้ยินชื่อเท่านั้น
๓. ข้าพระพุทธเจ้าเขียนเรื่องแต่งงาน ถึงตอนเปิดเตียบ นึกถึงรูปร่างเตียบ ไม่ออก เพราะได้เคยเห็นหนเดียวนานมาแล้ว จึงวานช่างเขียนให้เขียนรูปให้ดู พร้อมทั้งรูปโต๊ะ โตก และ ตั่งด้วย เขาเขียนเตียบเป็นภาชนะอย่างเจียดที่มีอยู่ในพิพิธภัณฑ์ ตั่ง ก็เขียนเป็นรูปพานมีเท้าสอบอย่างเท้าคู่ ส่วนโต๊ะ กับโตกก็เขียนเป็นรูปอย่างเดียวกัน ผิดกันที่ โตก พื้นลึก ส่วน โต๊ะ พื้นไม่ลึก ข้าพระพุทธเจ้าสงสัยจึงไปขอดูที่พระยาเทวา ฯ คงปรากฏว่า เตียบ ก็อย่างตะลุ่มนั่นเอง แต่มีฝาเป็นอย่างฝาชีและปากกว้างกว่าตะลุ่ม ส่วน ตั่ง ก็เป็นม้านั่งเตี้ย ๆ ข้าพระพุทธเจ้าคิดด้วยเกล้า ฯ ว่า เครื่องภาชนะที่มีชื่อต่าง ๆ เหล่านี้ จะเป็นของที่เปลี่ยนแปลงยักย้ายรูปร่างให้เป็นต่าง ๆ คนจึงเรียกชื่อสับสน เตียบจะเป็นของใส่อาหารกินจึ่งต้องมีฝาครอบ ส่วนตะลุ่มสำหรับใส่ของแห้ง จึงไม่ต้องมีฝาครอบ ผู้รู้ภาษาเขมรว่า ตะลุ่มนั้นเขมรเรียกว่า เตียบ มลายูมีคำว่า ตาลำ แปลว่า ภาชนะที่เป็นกระบะหรือถาดสำหรับใส่ของ สำรับทองเหลือง มีฝาเตี้ย ๆ ไม่มีเชิง ทางจันทบุรีก็เรียกว่า เตียบ ส่วน โต๊ะ และ โตก จะเป็นคำเดียวกัน เพราะ โตก ถ้าออกเสียงกร่อนไปก็เป็น โต๊ะ จะเพี้ยนเสียงเพื่อให้มีความหมายต่างกัน คือถ้าเป็น โต๊ะ ใช้สำหรับวางของ ถ้าเป็น โตก สำหรับใช้เป็นสำรับของกิน ส่วน ตั่ง มีอยู่ในภาษาไทยทุกถิ่น แปลว่าม้านั่งรูปเตี้ยๆ ส่วนภาชนะที่มีเท้าคู่ ข้าพระพุทธเจ้าเห็นในราชพิพิธภัณฑ์เรียกว่า พาน ในภาษากวางตุ้งมีคำว่า ผ่าน แปลว่าภาชนะใส่ของกิน แต้จิ๋วออกเสียงเพี้ยนเป็น ปั๊ว ชามใส่ก๊วยเตี๋ยวก็เรียกว่า ปั๊ว เคยมีคำพูดรวมว่า โต๊ะโตกโพงพาน ข้าพระพุทธเจ้าค้นหาโพง ก็ไม่พบ มีแต่ในอีศานเรียกกระปุกเหล้าว่า โพง เครื่องดองเหล้าเรียกว่า แพ่ง และในหนังสือเรื่อง พระราชพิธี ๑๒ เดือน มีคำว่า พาน พะโอง ไม่ทราบเกล้าฯ ว่าเป็นพานชะนิดไร ขอประทานทราบเกล้า ฯ ด้วย ในภาษาไทยถิ่นต่าง ๆ เรียกถ้วยว่า จอก เรียกชามว่า ถ้วย และเรียกจานว่า ชาม เคลื่อนที่กันหมด ส่วน จาน ไม่พบ ในมลายูมีคำว่า สลัป หรือ เตลับ แปลว่า ภาชนะทำด้วยโลหะ ขนาดเล็กสำหรับใส่หมากพลูติดตัวไป ส่วน ผะอบ และโถ ข้าพระพุทธเจ้าเห็นในราชพิพิธภัณฑ์มีรูปเหมือนกัน ผิดแต่โถปากแคบ ผะอบปากกก้าง แต่ทางอีศานเรียกโถว่าผะอบ
๔. เรื่องจัดขันหมาก มีหมาก ๘ ผล พลู ๔ เรียง พ้องกันหลายตำรา ที่เป็นจำนวนอื่นก็มีบ้าง พลูนั้นตามที่ซื้อขายกันเรียง ๘ ใบ เป็นเรื่อง ๑ สอบถามว่าทำไมเรียง ๑ จึงไม่ใช้ ๑๐ ใบ ก็ไม่มีใครทราบ แต่จำนวน ๘ นี้แปลก เงินชั่งหนึ่งก็ใช้ ๘๐ บาท ตำลึงหนึ่งก็ ๔ บาท คือครึ่งหนึ่งของ ๘ เฟื้องหนึ่งก็ ๘ อัฐ ตลอดจนจำนวน ๑๐๘ ก็ต้องมี ๘ ห้อยท้าย
๕. อาวุธของพระนารายน์ ถือ สังข์ จักร คทา ตรี ตรีเป็นของพระอิศวรไม่ควรเป็นของพระนารายน์ ในอินเดียเปน สังข์ จักร คทา และ ดอกบัว เจ้าพระยาภาศกรวงศ์เคยอธิบายให้ข้าพระพุทธเจ้าว่า ดอกบัวหมายถึงแผ่นดิน นายกี อยู่โพธิ์ เจ้าหน้าที่ในหอพระสมุด ค้นได้ข้อความในหนังสือเก่า คือ
ลิลิตโองการแช่งน้ำ | สี่มือถือสังขจักรคธาธรณี |
สมุทโฆษคำฉันท์ | ผู้ทรงจักรคทาธริ-ษตรี |
คำพากย์รามเกียรติ์ | สี่มือถือทาย สังข์จักรคทาธารตรี |
คำว่า ธรณี แผลงเป็น ธริษตรี แล้ว เป็น ธารตรี ในที่สุดจะเพี้ยนมาเป็น ตรี ในคำว่า อันนารายน์นั้นสี่หัตถา ทรงตรีคทาจักรสังข์
๖. อนึ่ง นายกี อยู่โพธิ์ ได้ค้นหาที่มาของคำว่า ยานี สุรางคนางค์ และ ฉะบัง มาให้ข้าพระพุทธเจ้า เห็นด้วยเกล้า ฯ ว่าค้นได้หมดจดดี ข้าพระพุทธเจ้าจึงขอประทานถวายมาด้วย ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานทราบเกล้า ฯ ว่า ยานี เป็นชื่อกาพย์ กับ ยานี ที่เป็นชื่อเพลง จะมีเค้ามาด้วยกันทางเดียวหรือไม่ ยังชื่อเพลง แขกวรเชษฐ ภายหลังเปลี่ยนเป็น แขกบรเทศ ข้าพระพุทธเจ้าพบในรายการพระราชพิธีลงสรงปิจออัฐศก ซึ่งสมเด็จพระราชปิตุลาทรงนิพนธ์ไว้ เป็นหนังสือขนาดใหญ่ยังไม่เตยตีพิมพ์ แห่งหนึ่งกล่าวว่า อาษาใหม่กรมท่าถือเสโล่หวายแต่งตัวอย่างแขกวรเชษฐ ดั่งนี้ วรเชษฐ จะต้องเป็นแขกพวกหนึ่งที่รู้จักกันดีในสมัยนั้น จึงไม่ได้อธิบายลักษณะเครื่องแต่งตัวไว้ ขอพระบารมีเป็นที่พึ่งเพื่อทราบเกล้า ฯ ด้วย
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ
ข้าพระพุทธเจ้า
ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์
----------------------------
กาพย์สุรางคนางค์
กาพย์ที่ชื่อว่า สุรางคนางค์ นั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเรียกใน พระนลคำหลวง ว่า สุรางคณา ปทานุกรมกระทรวงธรรมการเรียกว่า สุรางคนางค์ และให้อธิบายเป็นเชิงแปลศัพท์ว่า สุรางคนา ส.น. นางสวรรค์ สุรางคนางค์ น. องค์นางฟ้า เป็นชื่อกาพย์ชะนิดหนึ่งมี ๒๘ คำ คือมี ๗ วรรค วรรคละ ๔ คำ
แต่พบในหนังสือจินดามณี ของพระโหราธิบดีครั้งกรุงเก่า เรียกว่า สุรางคณา กาพย์ชะนิดบี้มีบทละ ๗ วรรคๆละ ๔ คำ รวมเป็น ๒๘ จึงเรียกตามจำนวนอีกอย่างหนึ่งว่า กาพย์ ๒๘ ทำไมจึงเรียกว่า สุรางคณา เข้าใจว่าเรียกตามวรรคต้นของตัวอย่างภาษามคธที่ให้ไว้ เพราะในจินดามณี นั้นมีตัวอย่างเป็นภาษามคธว่า
สุราคณา สุโสภณา รปิรโก๑ สมานสิ ภิวนฺทโน สเรนโก รตฺตนฺทิวา
แต่กาพย์ตัวอย่างภาษาบาลีนี้ บัดนี้ยังค้นคว้าไม่พบว่า แต่งขึ้นใหม่ในหนังสือจินดามณี หรืออ้างมาจากหนังสือใด ทั้งแปลก็ไม่ได้ความ แต่บอกไว้ว่าชื่อวิสาลวิกฉันท์ ใน กาพย์สารวิสาลินี มิได้กำหนดครุลหุ กำหนดแต่กลอน นับกันโดยนิยมดังนี้
สรวมชีพขอถวาย ฯ ล ฯ
แล้วชักตัวอย่างใน กาพย์สารวิสาลินี มาลงไว้ว่า
สุสารโท มหิทฺธิโก ฯ ล ฯ
ตอนสุดท้ายบอกว่า ๒๘ สุราคณา ปทุมฉันท์กลอน ๔ ฉันท์ชื่อ ปทุมฉันท์ ก็ดี ชื่อ วิสาลวิกฉันท์ ก็ดี หาได้มีอยู่ใน คัมภีร์วุตโตทัย ไม่ เวลานี้ยังทราบไม่ได้ว่าจะคัดลอกชื่อกันมาผิดเพี้ยน ซึ่งที่ถูกจะเป็นอย่างไรและอยูในตำราใด อันเป็นเรื่องที่นักศึกษาจะต้องค้นคว้ากันต่อไปอีก
กาพย์ยานี
กาพย์ที่ชื่อว่า ยานี นั้น ใน ปทานุกรมกระทรวงธรรมการ อธิบายว่า ชื่อกาพย์ชะนิดหนึ่งมี ๑๑ พยางค์ จัดเป็น ๒ วรรค ๆ ต้น ๕ พยางค์ วรรคหลัง ๖ พยางค์ ในตำราฉันท์ลักษณ ของกระทรวงธรรมการกล่าวว่า กาพย์ ๑๑ เทียมอินทรวิเชียรฉันท์ เรียกว่า กาพย์ยานี ทำไมจึงเรียกว่า กาพย์ยานี ทั้งนี้ก็คือ เรียกตามคำที่เป็นตัวอย่างในพยางค์ต้นๆ ของกาพย์ชะนิดนี้ เพราะกาพย์ชะนิดนี้ก็ดำเนินสัมผัสกลอนอย่างเดียวกับอินทรวิเชียรฉันท์ ต่างกันแต่ว่า กาพย์ชะนิดนี้ไม่นิขมครุลหุตามแบบฉันท์ คำบาลีที่ใช้เป็นตัวอย่างของอินทรวิเชียรฉันท์ ปรากฏในหนังสือจินดามณี ของพระโหราธิบดี ใช้ในกรณียเมตตสูตร ซึ่งขึ้นต้นว่า
ยานีธ ภูตานิ สมาคตานิ
ภุมฺมานิ วายานิว อนฺตสิกฺเข
เพราะฉะนั้น คำที่เราเรียกกาพย์ชะนิดนี้ว่า ยานี ก็คือหยิบเอาคำ ๒ พยางค์ต้นในตัวอย่างนั้นมาเรียกนั่นเอง เช่นเดียวกับเราเรียกบทสวดมนต์บางบทแต่เพียงพยางค์ต้นๆ เช่น พาหุํ แทนที่จะเรียกว่า ถวายพรพระ หรืออย่างที่เรียกกันเต็มชื่อว่า อัฏฐชยมังคลคาถา หรือถ้าไปเรียกว่า อัฏฐชยมังคลคาถา เข้าบางทีจะไม่มีคนรู้จักเลย แม้ผู้ที่ได้รับการศึกษาในทางวัด แต่ถ้าเรียกว่า พาหุํ ย่อมมีผู้รู้จักดีเป็นส่วนมาก กาพย์ยานีนี้เหมือน พรหมดีติ ในกาพย์ สารวิสาละนี และกาพย์ชื่อ ตรังคนที หรือ วชิราวดี ในกาพย์คันถะ
กาพย์ฉะบัง
ส่วนกาพย์ฉะบังนั้น มีจำนวนคำ ๑๖ เท่ากับวาณินีฉันท์ ในคัมภีร์วุตโตทัย และมีลักษณะสัมผัสกลอนเหมือนกับวาณินีฉันท์ ในตำราฉันท์วรรณพฤติ ของสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส ต่างแต่การแบ่งวรรค คือในวาณินีฉันท์แบ่งวรรคต้น ๓ คำ วรรคกลาง ๔ คำ และวรรคหลัง ๕ คำ ส่วนในกาพย์ฉะบัง แบ่งวรรคต้น ๖ คำ วรรคกลาง ๔ คำ และวรรคหลัง ๖ คำ รวม ๑๒ เหมือนกัน
เหตุใดกาพย์ (๑๖) นี้จึงได้นามว่า กาพย์ฉะบัง โบราณเขียนเป็นฉะบำ ก็มี ยังหาเหตุผลไม่ได้ถนัด แต่คำว่า ฉะบัง นั้น เมื่อแยกพยางค์ออกไปฉะเพาะ มีคำบาลีว่า ฉะ แปลว่า หก อยู่ข้างต้น และบังเอิญจำนวนคำของกาพย์ชะนิดนี้ก็แยกเป็นวรรคต้นและวรรคสุดท้ายวรรคละ ๖ คำ แต่ก็มีวรรคกลาง ๔ คำแซกเข้ามา ได้ลองสืบหาคำว่า บัง หรือคำที่มีเสียงใกล้กับ บัง (บงง) เช่น บม บัน บง หรือเขียนเป็น บํ ก็ไม่มีคำในภาษาใดเท่าที่หาได้ อันจะแปลว่า ๔ หรือ ๑๐ มีผู้ให้ความเห็นว่า บัง ก็แปลว่า บัง-ปิด-กัน นั่นเอง คือ หมายความว่ากาพย์ชะนิดนี้มี ๑๖ คำ วรรคหน้า ๖ วรรค หลัง ๖ ถูกกั้นด้วยวรรคกลาง ๔ อีกอย่างหนึ่ง ให้ความเห็นว่า บัง คือ บั้ง ได้แก่ ท่อน หรือ ตอน หมายความว่ากาพย์ชะนิดนี้แบ่งเป็นท่อนหรือตอน ละ ๖ คำ ก็คือวรรคนั่นเอง แต่ความเห็นทั้งสองอย่างนี้ก็ขัดแย้งอยู่บ้าง เพราะความเห็นที่ว่า บัง คือ กั้น ก็แย้งกับโบราณที่บางทีก็เขียนว่า ฉบำ และความเห็นที่ว่า บัง คือ บั้ง ก็ขัดกับที่มีวรรคกลางเป็น ๔ คำ
ผู้รู้ภาษาเขมรให้ความเห็นว่า มีคำที่ใกล้กับเสียง ฉะบัง อยู่คำหนึ่ง คือ จบัง เป็นกิริยา แปลว่าแข่งขัน เอาชัยชำนะด้วยศาสตราวุธ ฝึกทรมานก็ได้ เช่น จบังจิตต์-ทรมานใจ สั่งสอนใจ ถ้าเป็นนามยืดเสียงเป็น จำบัง แปลว่าสงคราม การรบศึก และให้ความเห็นว่า บางทีกาพย์ชะนิดนี้แต่เดิมกวีจะใช้แต่งบทกลอนว่าด้วยการรบก็ได้ แต่กาพย์ฉะบังที่เราพบเห็นอยู่ในเวลานี้ก็หาได้มีกล่าวแต่การรบกันเท่านั้นไม่ ย่อมกล่าวความอื่นทั่วๆ ไป แต่ประหลาดที่ในคำพากย์รามเกียรติ์เก่า ๆ หรือคำฉันท์กล่อมช้างของเก่า มักดำเนินความด้วยกาพย์ฉะบัง และในคำพากย์รามเกียรติ์นั้น ถ้าถึงตอนโศก เช่น พระรามรำพรรณในเมื่อพระลักษณ์ต้องหอกโมกขศักดิ์ หรือต้องศรพรหมาสตร์ เป็นต้น ก็แต่งเป็นกาพย์ยานี และถ้าจะสนับสมุนความข้อนี้ก็มีในตำราพิชัยสงครามคำกลอน อีกพอเป็นเลาๆ กล่าวไว้ว่า
อันทหารดุจใจนักเลง | พอใจทำเพลง |
ดีดสีตีเป่าขับรำ | |
ทวยหารแกล้วกล้าจงจำ | เรียนเป็นลำนำ |
สิบหกจงตามตำรา |
แต่กลอนใน ตำราพิชัยสงคราม ที่ว่านี้ ก็หาได้มีแต่ฉะเพาะลำนำ ๑๖ (กาพย์ฉะบัง) เท่านั้นไม่ คือมีทั้งยานีและสุรางคนางค์ เป็นอันว่าเรายังไม่ไห้หลักฐานที่แน่นอนในเหตุผลของชื่อกาพย์ชะนิดนี้
-
๑. เป็น รปิรโก สมฺมนสิ สุเรกโณ รตฺตินฺทิวํ ก็มี ↩