๒๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ ยส

กรมศิลปากร

วันที่ ๒๘ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๘๓

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ ลงวันที่ ๑๓ เดือนนี้ มีพระเมตตาประทานข้อทรงสันนิษฐานเรื่องคำแปลลางคำ พระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ หาที่สุดมิได้

ทร อ่านเป็นเสียง คิดด้วยเกล้า ฯ ว่าจะเกิดจากอ่านเสียง ทร กล้ำไม่ได้ถนัด จึงได้เพี้ยนเป็นเสียง ไป เพราะ เป็นเสียงปิดเกิดแต่ฟัน ส่วน เป็นเสียงรัวคือเปิดปิดสลับกันเกิดแต่ฟัน ส่วน เป็นเสียงเสียดแซกออกมาตามช่องระหว่างฟันกับปลายลิ้นซึ่งปิดไม่แน่น เมื่อออกเสียง ปิดและออกเสียง เปิดปิดพร้อมกันเข้า เสียง ยังไม่ทันให้ลิ้นปิดฟันได้สนิท ก็ต้องเลื่อนมาเปิดลิ้นออกเสียง จึงทำให้เสียงคาบเส้น เกิดเป็นเสียงเสียดแซกคือเสียง ขึ้น ข้าพระพุทธเจ้ากราบทูลตามแนวในตำราที่อาจเป็นได้เท่านั้น ลางชาติ เช่นมลายู ออกเสียงกล้ำไม่ถนัด ก็ต้องหาเสียงอื่นที่เป็นเสียงสระเข้าแซก เช่น ขลับ เป็น กิหลับ หรือ กะหลับ ในภาษาบาลีก็เช่นเดียวกัน เช่น เกลศ ในสํสกฤตก็เป็น กิเลส ในบาลี ในภาษาไทย กรม ถ้าเอาสระอิ เช้าแซกก็เป็น กิรม เพี้ยนมาเป็นเกรียม ใน คำว่า กรมเกรียม หลักที่เติมเสียงสระอย่างนี้ ในสํสกฤตเรียกว่า สวรภักดิ์ คืออาศัยพึ่งเสียง ในบาลีไม่มีหลักนี้ เพราะไม่มีเสียงกล้ำ คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า ที่ ทร มาเป็น เพราะผู้พูดไปถนัดออกเสียงกล้ำก็เติม อิ เข้าโดยไม่รู้ตัวเป็น ทิร ทรง ก็เป็น ทิรง เสียง อิ ลากให้เกิดเป็นเสียง ซ ขึ้น โดยนัยแห่งเสียงปิดเปิดเกิดเป็นเสียงเสียดแซกขึ้น คำอังกฤษ trolley รถราง เพี้ยนเป็น สาลี่ ก็จะเป็นลักษณะนี้

เรื่องคำเขมรที่ไทยเอาใช้ แต่ออกเสียงเพี้ยนไป เขมรเข้าใจว่าเป็นคำไทยจำเอาไปใช้ จับใจข้าพระพุทธเจ้ามาก เพราะข้าพระพุทธเจ้าเคยสงสัยเช่นนี้มาแล้ว . หากไม่มีความรู้ในภาษาเขมร จึงไม่มีหนทางจะค้นคว้า มีผู้บอกข้าพระพุทธเจ้าว่า ระแทะ มาจาก รถ ไทยได้มาจากเขมร เกิดเป็นความหมายไปอีกอย่างหนึ่ง คำซ้ำกับรถ แต่ความหมายเพี้ยนไปเป็นรถชะนิดหนึ่ง เรื่องคำยืมกันไปยืมกันมา ในภาษาอังกฤษมีอยู่คำหนึ่ง คือ launch ฝรั่งว่าเดิมเป็นคำในภาษามลายูแปลว่า เรือเรว หรืออย่างไรข่าพระพุทธเจ้านึกไม่ออก โปรดุเกสได้คำนี้ไป แล้วสเปญยืมเอาไปใช้ทางโปรดุเกส อังกฤษได้ไปจากสเปญอีกต่อหนึ่ง แล้วไทยเอามาจากอังกฤษอีกที ในคำว่า สตีมลอน ข้าพระพุทธเจ้าเคยถามนายดีกัมโปส กงสุลเยเนอราลโปรดุเกส ซึ่งเขากำลังค้นหาคำโปรดุเกสที่มีอยู่ในคำไทย ว่ารู้จักคำ จะปิ้ง ในภาษาไทยไหม เขาตอบว่ารู้จัก ข้าพระพุทธเจ้าบอกเขาว่าได้เห็นในภาษาฝรั่งอธิบายว่า คำนี้มาจาก chapinha ในภาษาโปรดุเกส เขาก็ขอมรับทันทีว่าใช่แน่ เพราะ จะปิญ ในภาษาโปรดุเกส หมายความถึงแผ่นโลหที่ปิดช่องอย่างรูกุญแจเป็นต้น ข้าพระพุทธเจ้าพบคำว่า จะปิ้ง มีอยู่ในภาษามลายู จึงคิดด้วยเกล้า ฯ ว่า มลายูคงได้มาจากโปรดุเกส แล้วไทยได้มาทางมลายูอีกต่อหนึ่ง เช่นเดียวกับ กะโถน ในมลายูเรียกว่า กะโตระ แต่คำนี้ในภาษาโปรดุเกสว่าภาชน์คล้ายถาดสำหรับใส่ของ ในภาษาฮินดูสตานีก็ยังใช้คำ กะโตระ ในความนี้ คงจะเป็นเพราะมลายูเห็นเหมาะเอามาใช้บ้วนน้ำหมาก เลยติดเข้ามาในภาษาไทย ในหนังสือวชิรญาณอธิบายว่า กะโถน เพี้ยนมาจาก กะถ่ม ซึ่งคงเป็นเรื่องลากเข้าความ ถ่ม ไทยใช้เป็นกิริยา แต่ภาษาจีน ถ่ำ ใช้เป็นนาม หมายความสิ่งที่ถ่มออกมา

ที่ทรงเห็นว่า คำแปล แม่ฮ่องสอน จะเป็นลากเข้าความอย่าง สามเสน เป็น สามแสน ข้ำพระพุทธเจ้าเห็นพ้องในกระแสพระดำริ ข้าพระพุทธเจ้าค้นดูในภาษาไทยใหญ่ ในคำว่า สอน ก็ไม่มีคำแปลอย่างอื่น แต่ไปพบคำว่า สั่ง เข้าอีกคำหนึ่ง ในภาษาไทยใหญ่ว่าเป็นคำเดียวกับ สอน ความเข้ากันได้กับคำ สั่งสอน ในภาษาไทย แต่เมื่อแยกแปลก็มีความหมายผิดกันบ้าง ในคำว่า สั่ง และ สอน

ที่ทรงพระเมตตาประทานเรื่อง ง้าว ก็คือดาบด้ามยาว หอก ก็คือพระขรรค์ด้ามยาว ข้าพระพุทธเจ้าก็เพิ่งทราบเกล้า ฯ แต่ก่อนก็ไม่ได้เฉลียวคิด ข้าพระพุทธเจ้าไปสังเกตดูพระแสงหอกกับพระแสงทวนที่เขาจัดตั้งไว้ในราชพิพิธภัณฑ์ ซึ่งจะเปิดในเรว ๆ นี้ เห็นผิดกัน ทวน ไม่มีกะบังคอแต่นี้ภู่แทน ส่วน หอก มีแต่กะบังคอ และด้ามก็เป็นบ้อง ๆ ซึ่งบอกชัดว่าเดิมเป็นด้ามไม้ไผ่ ยัง โตมร อีกคำหนึ่ง ข้าพระพุทธเจ้าเข้าใจว่าเป็นหอกซัดรูปใบโพธิ์ ครั้นเข้าไปดูใกล้ๆ จึงเห็นปลายเป็นตรีขนาดเล็ก หากเอาฝักสวมไว้จึงทำให้เห็นเป็นรูปใบโพธิ์ กับข้าพระพุทธเจ้าได้เห็นพระมาลาเบี่ยง ซึ่งเขาสอดพระมาลาทรงประพาสไว้ข้างใน จึงทำให้ข้าพระพุทธเจ้าเข้าใจว่าที่เบี่ยงเพราะไม่กระชับพระเศียร เมื่อถูกข้าศึกฟันก็เคลื่อนที่เพล่ได้

ข้าพระพุทธเจ้าก็เพิ่งได้ทราบเกล้า ฯ ว่าพราหมณ์พฤฒิบาศบริกรรมในพิธีว่า โอมะกะขะคะฆ่ะง่ะ เมื่อเรวๆนี้ข้าพระพุทธเจ้าได้พบพระราชครู จะมีสร้อยว่าวามเทพหรืออย่างไรข้าพระพุทธเจ้าจำไม่ได้ ได้ถามถึงเรื่องนี้ ก็ได้รับตอบว่าบริกรรมในพิธีมี โอมะ กะขะฯ เหมือนกัน แต่เหตุที่ใช้แกไม่ทราบ

เป็นความผิดของข้าพระพุทธเจ้าที่เขียนชื่อวัดมังกรกมลาวาส เป็นมังกรกมลาศ์น เหตุด้วยนึกไปถึง พระพรหม ซึ่งที่แท้แปลเทียบคำ เน้ย ในภาษาฮกเกี้ยนเป็น เหลียน ผู้หญิงทีชื่อ เน้ย และชื่อ เหลียน แก้เป็น เหรียญ ก็เป็นคำเดียวกัน แปลว่า ดอกบัว

เกิดหนุนพูนสุข ก็เป็นความผิดของข้าพระพุทธเจ้า เพราะ หมุน ที่ทรงสันนิษฐานว่า มูน เป็นถูกแน่ เพราะในภาษาจีน หมูน ในเสียงกวางตุ้งก็แปลว่า มาก ล้น

ข้อที่ตรัสว่าการคิดค้นหาความจริงที่ถูกต้องนั้น เป็นทางดำเนินเข้าไปหามิจฉาทิฏฐิ เปนภาษิตถูกที่สุดจับใจข้าพระพุทธเจ้าอย่างยิ่ง ข้าพระพุทธเจ้าแต่งเรื่องที่จะต้องเป็นแสดงความเห็น ก็ต้องคอยระวังเรื่องที่จะถูกหาเป็นมิจฉาทิฏฐินี้อยู่เสมอ ลางทีก็ต้องพูดเกลื่อนเรื่องไปในตัว

เรื่องพระโกศ ข้าพระพุทธเจ้าก็เพิ่งทราบเกล้าฯ คำแปลที่ตรัสประทานมา ในพจนานุกรมแปลคำ โกศ ว่าฝักและอื่นๆ ไว้หลายนัย แต่นัยที่แปลว่า ฝัก มีกล่าวไว้ในมหาบุรุษลักษณะที่ ๑๐ ว่า โกโสหิตวตฺถุคุโยฺห ชรอยคำแปลว่าฝักจะเด่นกว่าคำแปลอื่น ๆ โบราณาจารย์ท่านเกรงว่าจะเข้าใจผิดไป จึงได้ยักใช้ โกศ สกด ฐ แต่ที่มาแก้เป็น ศ เพื่อให้ตรงกับความหมายอื่นที่มีอยู่ในนั้น จะเป็นด้วยไม่ได้คิดเฉลียวใจเหมือนโบราณ ที่ท่านรอบคอบดีอยู่แล้ว ข้าพระพุทธเจ้าอ่านพบใน พงศาวดารโยนก ของ พระยาประชาฯ ว่า เมื่อพระยาเมงรายสิ้นพระชนม์ก็เข้าโกศ ครั้นล่วงมาถึงนางจิรประภามหาเทวี สมัยสมเด็จพระไชยราชาเมื่อสิ้นพระชนม์ เข้าโลงประกอบบนบุษบก เป็นรูปนกหัศดีลิงค์ ว่าคราวนี้เปนต้นประเพณีทำนกหัสดีลิงค์ต่อมา น่าเสียดายที่กษัตริย์องค์อื่นไม่มีกล่าวถึงการพระศพ จึงทราบเกล้าฯไม่ได้ว่าที่มีอยู่สองแห่งนี้จะเป็นของเดิม หรือว่าผู้แต่งคาดคเนเอาเอง

ข้าพระพุทธเจ้าดีใจเป็นล้นเกล้า ฯ ที่จะทรงพระเมตตาประทานเรื่องการสมโภชน์และเจ้านายประสูติ ข้าพระพุทธเจ้าเคยค้นหาความรู้ในเรื่องนี้ไม่ได้ตลอด เพราะไม่มีใครเคยเห็น

เนื่องแต่ข้าพระพุทธเจ้าได้ไปเที่ยวภาคพายัพเมื่อเมษายนที่แล้วมา จึงลองค้นหาตำนานต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับภาคพายัพมาอ่าน แล้วเขียนขึ้นตามความที่ข้าพระพุทธเจ้าเข้าใจ เมื่อเขียนไปได้เล็กน้อย ก็เกิดความจำเป็นรู้สึกว่า ถ้าไม่กล่าวถึงเรื่องราวชาติไทยแต่ครั้งยังอยู่ในเมืองจีนเสียด้วย ก็จะเข้าใจเรื่องไม่ได้ชัด ครั้นข้าพระพุทธเจ้าลงมือค้นและเขียนดู ก็พบอะไรแปลก ๆ เช่นขุนบรมทำไมจึงได้ชื่อเป็นภาษาบาลี ชื่อไทยว่าอะไร และน่านเจ้าก็เป็นชื่อที่จีนเรียก ไปได้ความจากตำนานของอาหมและไทยใหญ่ซึ่งปรับเข้ากันได้ ว่าขุนบรมจะตรงกับคำว่า ขุนลุงหรือหลวง ซึ่งพระอินทรให้ลงมาครองเมืองแถบนั้น พระอินทรเขาเรียกว่า เส้าอิง หรือ เจ้าอินทร์ ก็คงเป็นกษัตริย์น่านเจ้าที่ให้พวกมาตั้งเมืองในแถวนี้ เมืองแถนหรือแถงก็ตรงกับเมืองเทียนเมืองหลวงน่านเจ้า ฝรั่งเขียนเมืองเทียนและเชียงแสนใช้ Tsen คำเดียวกันก็มี จึงน่าสงสัยคำว่า แสน ว่าจะเป็นคำเดียวกับ เทียน เพราะ ต กับ อี กล้ำกันก็เพี้ยนเสียงเป็นวรรค จ ได้ ส่วนคำว่า น่านเจ้า ไทยใหญ่เรียกว่า เมืองแสหลวง ฝรั่งว่า แส เป็นคำไทยในเมืองจีน แปลว่าเมืองหลวง ชื่อกษัตริย์น่านเจ้าที่จีนเรียกว่ามุงเซเจ้า ก็จะตรงกับเมืองแสเจ้า แจ้ ในไทยใหญ่แปลว่าเมือง ข้าพระพุทธเจ้าเคยกราบทูลถึงคำ ลาว ว่าในไทยน้อยและอิศานแปลว่าใหญ่ ภูเขาอ้ายลาว ก็คือภูเขาใหญ่ต้น ยังมีทิวเขาอีกชื่อหนึ่งจีนเรียกว่า เก๋าหล่ง หรือ เก๊าเหลง ในภาษาแต้จิ๋วว่ามังกร ๙ ตัว ภูเขานี้ลางตำราว่าเป็นทิวเดียวกับภูเขาอ้ายลาว ถ้า ลาว แปลว่าใหญ่ เก๊าหล่ง ก็ต้องเป็น เขาหลวง ความได้กันสนิท จีนเรียกแม่น้ำโขงตอนเชียงรุ้งว่า เก๊าหล่งเกียง ตลอดจนคำว่า เชียงรุ้ง ไทยใหญ่เรียกว่า เกงฮุ้ง และคำว่า ขุรงค์ ที่ในตำนานก็เป็นคำที่ใกล้กับ เก๊าหล่ง มาก เมืองที่อ้ายลาวอยู่ในยูนนานคือ เมืองเวงเซี้ยง (ยงเชียงในแต้จิ๋ว) แม่น้ำโขงตยนเหนือเมืองเวงเชี้ยง ก็เรียกว่า ลานฉองเกียง และใกล้กับเวงเชี้ยงก็มีภูเขาและเมืองชื่อ เปาะหน่าม ในแคว้นลาวมีเวียงจันทน์ ลานช้าง ฝรั่งว่าภูเขาที่กั้นแดนลาวและญวน จีนก็เรียกว่า เปาะหน่ำ ซึ่งพระยาประชา ฯ ว่าตรงกับ โพหนำ และเป็นคำเดียวกับ โพธิ (สารหลวง) อาณาจักรฟูนัน เสียงกวางตุ้งเป็น ฟุหน่าม ศาสตราจารย์เซเดส์ว่าน่าจะได้กับ พนม และในภาคอีศานก็มีเมืองนครพนม เสียงของคำเหล่านี้ก็ใกล้กันมากอีก ข้าพระพุทธเจ้ามารู้สึกด้วยเกล้าฯ ว่า เมื่อได้อ่านเรื่องอะไรแล้ว ถ้ายังไม่ได้เขียนขึ้นไว้ ความจำก็อยู่เท่าที่อ่านและลำดับเรื่องไม่ได้ ต่อเมื่อเขียนขึ้นเกิดความจำเป็นต้องค้นต้องนึก ครั้นเขียนเสร็จแล้ว ก็ทวนเรื่องนั้นได้หมดจดดีกว่าเมื่อยังไม่ได้เขียนขึ้นไว้ เห็นจะเป็นด้วยเหตุนี้ ผู้ที่จะรับปริญญาในมหาวิทยาลัย จึงต้องแต่งเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นการค้นคว้า เสนอต่อกรรมการพิจารณา เมื่อเห็นสมควรจึงจะรับบริญญาได้

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ