คำแบบ

ในภาษา ไม่ว่าภาษาใด มีอะไรลางอย่างที่มีลักษณะเป็นแบบตายตัว จะเปลี่ยนแปลงอย่างไรไม่ได้ เป็นต้นประโยคว่า “How do you do ?” มีลักษณะผิดกันมากกับประโยคเช่น “I gave the boy a lump of sugar” ในประโยคแรก มีคำที่กำหนดลงไปตายตัวทุกคำ จะเปลี่ยนแปลงจะเน้นเสียง หรือจะหยุดเสียงไว้ระยะอ่าน หรืออะไรไม่ได้หมด เป็นอย่างเดียวกับคำว่า “Good morning” “Thank you” และคำอื่น ๆ ในลักษณะนี้ ประโยคและคำที่กล่าวนี้เป็นคำแบบ ประโยคแบบ คือวางคำลงไปเป็นแบบตายตัว จริงอยู่ เราอาจแยกกระจายคำในนั้นได้ ว่ามีอยู่กี่คำ แต่ละคำมีความหมายอย่างไร แต่ผู้พูดผู้ยินจะรู้สึกว่า คำทั้งหมดนั่นเป็นเหมือนหน่วยเดียว ซึ่งอาจมีความหมายแตกต่างกับความหมายแต่ละคำของคำ ซึ่งเป็นส่วนประกอบแห่งคำแบบหรือประโยคแบบนั้น เป็นต้น “beg your pardon” มักจะมีความหมายว่า “โปรดพูดซ้ำอีกครั้ง เพราะฟังไม่ได้ถนัด” “how do you do?” เป็นคำซึ่งไม่ใช่เป็นคำถามที่ต้องการคำตอบเสียแล้ว ฯลฯ

เราจะเห็นได้ง่ายว่า I gave the boy a lump of sugar มีลักษณะผิดกับที่กล่าวมาข้างต้น เพราะจะเน้นเสียงที่คำไหน หรือเปลี่ยนคำในคำใดก็ได้ เติมคำอื่นเข้าไปอีกก็ได้ ประโยคอย่างนี้ เมื่อเรียนรู้และจำได้แล้ว เราก็อาจเปลี่ยนแปลงข้อความอย่างไรก็ได้ เป็น free expression ผิดกับประโยคแบบซึ่งเป็น formular expression ประโยคชะนิด free expression ผู้พูดจะต้องนึกประกอบคำขึ้นใหม่เสมอ คือหาคำเอามาเรียงให้เหมาะกับลักษณะเหตุการณ์ที่คนต้องการจะพูด ประโยคที่ประกอบขึ้นนั้น อาจผิดแผกหรือไม่ผิดแผกไปจากประโยคที่ตนเคยได้ยินหรือเคยกล่าวมาแต่ก่อนบ้างก็ได้ แต่ไม่เป็นสำคัญในเรื่องที่เราพิจารณาอยู่นี้ สิ่งที่สำคัญก็คือประโยคที่ประกอบขึ้น จะต้องเป็นไปตามรูปภาษาลางประการ คำในประโยคจะผิดแปลกอย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบรูปประโยคจะได้เคยเรียนไวยากรณ์หรือไม่ก็ตาม เช่น ประโยคว่า

นายดำให้เงินแก่นายแดง

ลุงฉันขอหนังสือจากนายขาว

(ถ้าเป็นประโยคอังกฤษ จะต้องเป็น “Nai Dam gives Nai Deng the money” “My uncle asks Nai Khao for the book” ถ้าแปลเป็นไทยตามตัว จะเป็น นายดำให้นายแดงซึ่งเงิน ลุงฉันขอนายขาวซึ่งหนังสือ รูปประโยคไทยกับอังกฤษไม่เหมือนกัน)

รูปประโยคเช่นที่กล่าวมานี้ เกิดขึ้นในความคิดของผู้พูดได้อย่างไร เด็กเล็ก ๆ ไม่มีใครสอนข้อบังคับของไวยากรณ์ให้ทราบว่า คำที่เป็นตัวประธานของประโยคต้องมาก่อน แล้วถึงกิริยา และตัวกรรม ถ้ามีสองตัวกรรม ตัวกรรมที่เป็นโดยตรงของกิริยา (เช่นให้เงิน) ต้องมาก่อน ตัวกรรมที่ไม่ใช่โดยตรง (เช่น แก่นายแดง) ต้องมาทีหลัง และมีคำต่อเชื่อม (ตรงกันข้ามกับของอังกฤษ) คำประกอบประธานและตัวกรรมมาตามตัวนั้น ๆ ฯลฯ ดังนี้ เป็นอันว่าเด็กไม่ได้เรียนไวยากรณ์แม้แต่น้อย แต่ได้ยินได้ฟังและเข้าใจความในประโยคคำพูดจากคนอื่นมามากมายจนนับไม่ถ้วน ก็เก็บเอาความในประโยคที่เข้าใจนั้นเป็นแนวเทียบ สำหรับประกอบรูปประโยคของตนเอง แม้จะพูดไม่ออกบอกไม่ได้ว่า คำที่ตนเอามาประกอบเรียงกันเข้าเป็นรูปประโยคนั้น ว่านั่นเป็นตัวประธาน นั่นเป็นกิริยา ฯลฯ และเมื่อเราได้ยินเด็กนั้นใช้ประโยคความได้ถูกต้องตามรูปที่มีกำหนดไว้ ตัวเด็กเองหรือผู้ที่ได้ยินเด็กพูด จะไม่สามารถบอกได้ว่า ประโยคที่เด็กพูดขึ้นนั้น สร้างขึ้นใหม่ด้วยคนเองหรือว่าเป็นรูปประโยคอย่างเดียวกับที่ได้ยินมา ข้อที่เป็นสิ่งสำคัญของเด็กอยู่ที่ว่า เมื่อพูดออกมา ก็มีผู้ฟังเข้าใจ และจะเป็นที่เข้าใจได้ต่อไป เมื่อเด็กนั้นสร้างรูปประโยคให้เป็นไปตามความคุ้นของภาษาของชุมนุมชนซึ่งเผอิญตนมาอยู่ด้วย เช่นเผอิญเด็กนั้นเป็นเด็กฝรั่งเศส ก็จะพูดตามรูปประโยคของภาษาฝรั่งเศส ฯลฯ เป็นต้น

ถ้าคำว่า free expression ได้วางกำหนดความหมายลงไปว่าเป็น “ข้อความที่สร้างขึ้นในทันทีทันใด ตามรูปประโยคซึ่งเกิดมีขึ้นอยู่ในใจของผู้พูดโดยไม่รู้สึกตัว อันเป็นผลมาจากที่ได้ยินประโยคคำพูดมามากประโยค ซึ่งมีลักษณะลางประการร่วมกัน” ไซร้ ความแตกต่างกันในระหว่างประโยคอย่างนี้กับประโยคแบบ (formula) จึงเป็นสิ่งที่จะค้นพบไม่ได้เสมอไป เว้นแต่จะได้พิจารณากันอย่างถี่ถ้วนด้วยวิธีแยกแยะ (analysis) ถ้าพูดถึงผู้ฟังหรือผู้ได้ยินประโยคสองอย่างนี้ ก็มีฐานะเท่ากัน เพราะประโยคแบบ ผู้พูดอาจใช้เป็นแนวเทียบสร้างรูปประโยคต่าง ๆ ขึ้นได้เหมือนกัน ยกตัวอย่าง :-

Long live the King ประโยคนี้เป็น formula หรือ free expression เราจะสร้างประโยคอื่นตามรูปแบบนี้ไม่ได้ เช่น Late die the King หรือ Soon come the train รูปประโยคอย่างนี้ เดี๋ยวนี้เลิกไม่ได้ใช้เป็นประโยคที่มีความหมายว่า ขอให้ คือแสดงความมุ่งหมาย แต่อีกอย่างหนึ่ง เราอาจพูดได้ว่า Long live the Queen หรือ Long live the President หรือ Long live Mr. Johnson หรือพูดอีกอย่างหนึ่ง รูปประโยคที่เอากิริยาวิเศษณ์ไว้ต้น แล้วกิริยาและตัวประธานไว้หลังที่สุด เป็นลักษณะของประโยคแสดงความมุ่งหมายหรือปรารถนา ซึ่งในบัดนี้เลิกใช้แล้ว ยังคงเหลืออยู่ในภาษาก็ในประโยคที่ว่า Long live the King ถ้าจะแยกประโยคนี้ออกเป็นสองตอนคือ Long live ซึ่งเป็นคำยังใช้อยู่ แต่รูปประโยคเลิกใช้หรือศูนย์เสียแล้ว บวกด้วยตัวประธานซึ่งเปลี่ยนได้ไม่ตายตัวเหมือน Long live ซึ่งเป็นประโยคแบบ เพราะฉะนั้น ประโยคอย่างรูปข้างต้นนี้ มีลักษณะที่ใช้ในเวลาปัจจุบันอยู่ในเขตต์จำกัดมากกว่าที่ใช้กันอยู่ในสมัยก่อน

ลักษณะคำและประโยคซึ่งเป็นแบบตายตัว (formula และซึ่งเป็น free expression) ย่อมมีอยู่ทั่วไปในส่วนต่าง ๆ ของไวยากรณ์ ในรูปของภาษา (Morphology หรือ Accidence คือรูปภาษาที่มีวิภัตปัจจัย) ก็มีลักษณะเป็นเช่นเดียวกัน ยกตัวอย่าง eye พหูพจน์เป็น eyen คำที่มีลักษณะอย่างนี้ คือเติม en เลิกใช้มาแต่คฤสตศตวรรษที่ ๑๖ บัดนี้ไม่มีใช้แล้ว แต่ยังเหลือตกค้างมาเป็นรูปคำพหูพจน์ของคำลางคำ เช่น oxen จึงต้องถือว่าคำนี้เป็นคำแบบซึ่งยังใช้อยู่ในภาษา ส่วนคำ shoen, fone, eyen, kine ในปัจจุบันเป็น shoes, foes, eyes, cows กล่าวคือรูปคำแสดงลักษณะพหูพจน์ ได้แก้ใหม่โดยการเติม ให้เข้ารูปกับคำอื่น ซึ่งกำลังใช้อยู่เช่น kings, lines, stones, etc. รูปคำอย่างหลังนี้ ใช้กันทั่วไป จนคำที่เกิดใหม่ เมื่อจะแปลงรูปให้เป็นพหูพจน์ ก็ต้องให้เข้าแนวเทียบเดียวกัน เช่น bicycles, photos, aeroplanes, etc. เมื่อมีผู้กล่าวคำว่า eyes แทนคำว่า eyen เป็นครั้งแรก ก็แสดงว่าได้อาศัยคำอื่นมีอยู่มากมายซึ่งเติมเป็นพหูพจน์ เป็นแนวเทียบประกอบรูปพหูพจน์ของ eye เป็น eyes ขึ้น บัดนี้ต่างว่าเมื่อเด็กกล่าวคำว่า eyes เป็นครั้งแรก ก็ยากที่จะวินิจฉัยได้ว่า เด็กได้กล่าวคำเป็นรูปพหูพจน์ขึ้นเพราะได้ยินมาแล้วหรือว่าเติมขึ้นด้วยตนเอง โดยอาศัยรูปของคำอื่น ๆ ที่มีเช่นนั้นเป็นแนวเทียบ อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่ใช่เป็นเพราะผลที่บุคคลประกอบผสมคำขึ้นได้ตามใจ โดยอาศัยหยิบยกเอาคำมาจากที่มีอยู่แล้ว และส่วนมากไปตรงเข้ากับรูปที่ใช้สืบกันมา ดังนี้ ภาษาก็จะเป็นสิ่งยากแก่ที่จะนำเอามาใช้ ถ้าผู้พูดถูกบังคับให้รับภาระต้องกำหนดจดจำอะไรต่ออะไรอย่างหยุมหยิม

คำเติมท้าย (ปัจจัย) สำหรับประกอบรูปคำ มีอยู่สองอย่าง อย่างหนึ่งเกิดผล อีกอย่างหนึ่งไม่เกิดผล (productive suffixes and unproductive suffixes) คำเติมท้ายที่เกิดผล คือ -ness เพราะสามารถประกอบคำอื่น ๆ ได้เช่น weariness, closeness, ส่วนคำเติมท้าย คือ -lock ในคำว่า wedlock เป็นชะนิดไม่เกิดผล -tj ในคำ width, breadth, health ก็เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น รูปคำคุณศัพท์ +ness จึงเป็นชะนิดคำที่ยังมีชีวิตอยู่ ส่วน wedlock และคำที่มี -th ประกอบท้ายคำ เป็นชะนิดคำแบบ ซึ่งรูปคำหมดชีวิตแล้ว คำที่มี -th, ประกอบท้ายคำ เดิมทีเดียว เมื่อสมัยนมนานไกล คงจะเป็น ithu หรืออะไรในทำนองนี้ สำหรับใช้ประกอบท้ายคำที่เป็นคุณศัพท์ จำเนียรกาลมา เสียงกร่อนไป คงเหลือแต่เสียง ส่วนเสียงสระในคำหน้าก็เปลี่ยนไปด้วย เป็นเหตุให้คำเติมท้ายหมดอำนาจที่จะเป็นคำเติมท้ายที่เกิดผล (เพราะเสียงของตนกร่อนและกลายไป และเสียงคำที่ตนเข้าประกอบก็กลายไปด้วย จึงนำเอาไปประกอบกับคำอื่นไม่ได้) คำเช่น long-length; wide-width; deep-depth; whole-health etc. คำเหล่านี้ (เดิมเป็น เช่น long-lougithu-length) ย่อมถือเป็นแบบสืบต่อกันมาหลายชั่วคน จนรู้สึกว่าคำเหล่านี้แต่ละคำเป็นคำหน่วยหรือคำแบบ (Units or formulas) ครั้นเมื่อต้องการจะประกอบคุณนามขึ้นใหม่จากคำที่เป็นคุณศัพท์ก็ไปเอาคำ -ness มาประกอบใช้ เพราะสะดวกกว่า ไม่ทำให้รูปคำที่ประกอบเปลี่ยนรูปไปเหมือน -th

ส่วนคำที่เป็นสมาส (compounds) ก็มีข้อที่ควรพิจารณาอย่างเดียวกัน ยกตัวอย่างคำเก่า ๓ คำ คือ hus (= house) hūs bon̄de (husband) husthing (hus tings) นี่ก็ประกอบเป็นสมาสขึ้นตามธรรมดาอย่างคำสมาสอื่นๆ เป็นชะนิด free expression ครั้นใช้กันมานานหลายชั่วคน ความรู้สึกในคำเป็นเหมือนคำเดียว แยกไม่ได้ เสียงของคำก็เพี้ยนไปตามแนวแห่งการกลายเสียง เสียงสระอู (ū) ก็หดสั้นเข้า เสียง s เมื่อมาหน้าเสียงโฆษะ ก็กลายเป็นเสียงโฆษะ (z) ขึ้น (b และ th ในคำ husband และ husthing เป็นโฆษะ จึงลากเสียง s ที่อยู่หน้าเป็นโฆษ (z) ไป) เสียง th (อ่านอย่างอังกฤษไม่ใช่อ่านอย่างเสียง ถ) เมื่อตามเสียง s ก็กลายเป็นเสียง t ไป เสียงทั้งหมดก็กลายเป็น husband, husting(s) ไป (เสียง s ในที่นี้เป็นเสียง z) คำว่า hus wif (house+wife) เสียง w และ f หายไป เสียงสระก็เลือนไป กลายเป็น hussy ในปัจจุบัน และความก็กลายเป็นแปลว่า หญิงร้าย

คำที่กล่าวนี้เชื่อมสมาสกันสนิท มาภายหลัง คำ hus เป็นเพราะมีเสียงอู ก็เพี้ยนเป็นเสียงสระควบหรือสระสังโยคขึ้น has-house รูปคำก็แผกเพี้ยนไป ตลอดจนความหมายในคำ ถ้าผู้ที่ไม่ได้ศึกษามาในเรื่องที่มาของคำ (Etymology) ก็คงไม่นึกฝันว่า คำ hus ในคำ husband, hustings หรือ hussy กับ house เป็นคำเดียวกัน ถ้าเพ่งเล็งถึงภาษาในปัจจุบัน คำ husband, hustings และ hussy ทั้งสามคำนี้ ไม่ใช่เป็นคำสมาส กลายเป็นคำแบบเท่ากับคำอื่น ๆ ที่มีสองพยางค์ ซึ่งบัดนี้ลืมที่มาของคำกันเสียแล้ว

(ตอนนี้พูดถึงเรื่องเน้นเสียง ตัดออก)

ได้พรรณนาถึงคำที่เป็นแบบและไม่เป็นแบบมานี้ แม้จะรู้สึกว่ามีลางคำลางประโยคที่ยากแก่วินิจฉัยว่า เป็นคำแบบหรือไม่ใช่คำแบบ แต่เป็นอันรู้สึกได้แน่ว่า คำแบบและคำไม่ใช่แบบ (formular and free combination) ย่อมแผ่ซ่านไปทั่วเขตต์แดนของภาษา คำแบบอาจเป็นคำทั้งประโยคหรือกลุ่มของคำกลุ่มหนึ่ง หรือแต่คำ ๆ เดียว หรือเป็นแต่ลางส่วนของคำเหล่านี้ไม่สำคัญ ข้อสำคัญอยู่ที่คำซึ่งกล่าวออกมานั้น เรารู้สึกว่าเป็นหน่วยหนึ่งของคำ จะกระจายหรือแยกออกไปอีกไม่ได้ เพราะเป็นหน่วยอยู่แล้ว จะแยกเอามาประกอบกับคำอื่นในลักษณะเป็น free expression ก็ไม่ได้ รูปของคำแบบ อาจเป็นรูปที่ศูนย์เสียแล้วหรือเป็นรูปที่ยังมีชีวิตอยู่ ส่วนรูปของคำที่เป็น free expression จะต้องเป็นรูปที่ยังมีชีวิตอยู่ เพราะฉะนั้น คำ free expression จึงมีรูปประกอบเป็นแนวสม่ำเสมอ (regular formation) แต่คำแบบมีทั้งรูปประกอบที่เป็นแนวสม่ำเสมอหรือที่เป็นลักลั่น (irregular formation) ก็ได้

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ