๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๘ ว

กระทรวงการต่างประเทศ

๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๗๘

เรียน เจ้าคุณ ทราบ

เรื่องคำว่า “ฉัน” นั้น ผมได้กราบทูลหารือสมเด็จ ฯ เจ้าฟ้ากรมพระนริศไป ได้รับพระราชทานพระกระแส ดังสำเนาซึ่งส่งมาเพื่อเจ้าคุณทราบในที่นี้ด้วย.

ขอแสดงความนับถืออย่างสูง

<วรรณไวทยากร>

----------------------------

(สำเนา)

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๔๗๘

ทูล หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ

ได้รับหนังสือของเธอ ลงวันที่ ๔ เดือนนี้ ถามถึงคำ ฉัน ว่ามีความหมายอย่างใด เปนภาษาอะไร และควรใช้ในกรณีอย่างใด นั้น ยินดีที่จะตอบตามความเห็น แต่ถ้าเห็นผิดไปแล้วขออภัยโทษ

ทีแรกจะขอเล่าเรื่องที่ได้ไปพบทางแขวงปักษ์ใต้มาก่อน พวกชาวปักษ์ใต้นั้น หรือจะเรียกให้เข้าใจดีก็ว่าชาวละคร ชั้นที่เปนคนเสมอกัน เรียกกันแล้วผู้ถูกเรียกขานรับว่า ฉาน ทำให้สดุดใจมาก ด้วยเราไม่เคยใช้คำขานรับอย่างนั้น แต่เมื่อคิดเทียบเคียงดูทางชาวเรา เช่นแม่เรียกหาลูกว่า อีหนู ลูกขานรับว่า ขา ก็คือข้า เมื่อขานว่า ข้า ได้ ขานว่า ฉัน ก็ได้เหมือนกัน ไม่ผิดกัน เมื่อคิดเห็นเช่นนี้ก็ได้ความพอใจ

การหาความหมายในคำ ฉันชอบนึกหาตัวอย่างที่เคยประกอบใช้ เห็นเปนทางที่จะได้ความหมายแม่นกว่าทางอื่นหมด เพราะดั่งนั้น จึงนึกคำ ฉัน ว่า เราเคยประกอบใช้มาอย่างไรบ้าง ก็นึกได้ ๒ อย่าง คือ-๑ ฉัน (ลอย ๆ ) ๒ ดีฉัน ๓ อีฉัน ๔ หม่อมฉัน ๕ กระหม่อมฉัน และ ๖ เกล้ากระหม่อมฉัน

ฉัน ย่อมใช้ในแนวเดียวกันกับ กู ตู และ ข้า แต่ความจริง คำว่า ข้า หมายความว่าผู้รับใช้ ผิดกันกับคำว่า ตู ซึ่งเห็นว่าเปนคำเดียวกับตัว แต่จะเปนด้วยเหตุใดไม่ทราบ คำว่า ตู นั้น เดี๋ยวนี้เลิกไม่ใช้ คำว่า กู ยังใช้แต่ฉะเพาะทางผรุสวาท เพราะฉะนั้นคำ ข้า อันเปนคำที่อ่อนน้อมจึงยังคงใช้อยู่ด้วยดี แต่ความหมายเลื่อนไปเปนว่า ตัว อันคำว่า ฉัน นี้ ใช้กันอยู่ในขณะนี้ ก็จำเพาะคนที่เสมอกัน หรือผู้เปนใหญ่ใช้พูดกับผู้น้อย

ดีฉัน คิดเอาความไม่ได้ แต่ในเวลานี้ ใช้พูดเปนทางถ่อมตัวให้ต่ำกว่าจะพูดว่าฉันลอย ๆ

อีฉัน อาจเคลื่อนมาจากคำ ดีฉัน ก็เปนได้ แต่ถ้าจะหาความหมายแล้ว ยังมีท่าที่จะหาได้ดีกว่าคำ ดีฉัน เสียอีก เพราะคำว่า อี เดิมมีความหมายว่า ลูกผู้หญิงคนที่ ๒ แล้วภายหลังความหมายเลื่อนไปเปนว่าผู้หญิงเท่านั้น เพราะฉะนั้น ถ้าจะแปลคำ อีฉัน หมายว่าหญิงข้าของท่าน ก็พอจะไปได้ แล้วก็ใช้พูดแต่จำเพาะผู้หญิงเท่านั้นจริง ๆ ด้วย ใช้พูดด้วยผู้ใหญ่ซึ่งมีศักดิ์ไม่ถึงเจ้า ส่วนคำ ดีฉัน นั้น ใช้กันทั้งผู้หญิงผู้ชาย แม้จะทึกเอาว่า พวกผู้ชายเปลี่ยนพยัญชนเอาไปใช้เพื่อตัว ก็ไม่มีหลักฐานอะไรที่จะเห็นไปเช่นนั้นได้เลย

หม่อมฉัน จะแปลว่า ผู้เปนใหญ่ของข้าก็แปลได้ เพราะคำหม่อมมีใช้เปนคำนำชื่อของคหบดีผู้สูงศักดิ์มาก่อน ซึ่งเธอคงเคยพบละครตัวนางเอก เรียกพระเอกว่า หม่อมขา แต่อันนี้ก็แปลไปตามที่มีทางจะแปลไปได้เท่านั้น ที่แท้อาจเปนคำที่ร่อยหรอจากคำ กระหม่อมฉัน มาก็เปนได้ แต่ที่ใช้นั้นต่างกัน คำ หม่อมฉัน เปนคำเจ้าพูดด้วยเจ้าก็ใช้ได้

กระหม่อมฉัน หมายความว่า หัวข้า เปนคำที่ผูกใช้สำหรับข้าพูดกับเจ้าโดยแท้ (ขอโทษที่จะใช้คำตรงเพื่อให้เข้าใจดี ทางยกย่องเจ้า เราเดินทางเอาตีนขึ้นใส่หัวกระหน่ำไป แล้วก็เลื่อนไปอย่างน่าขันมาก เปนตีนแปลว่า เจ้า หัว แปลว่า ข้า)

เกล้ากระหม่อมฉัน หมายความว่า ขมวดผมเหนือหัวข้า เปนการใช้คำหนุนให้สูงขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง จากคำ กระหม่อมฉัน เปนคำใช้ที่ข้าพูดด้วยเจ้าเหมือนกัน

ทีนี้ถึงบทจะวินิจฉัยว่า คำ ฉัน เปนภาษาอะไร ความไม่รู้ในข้อนี้ก็เพราะเขมรก็มีใช้ ไทยก็มีใช้ ภาษาเขมรกับ ภาษาไทยมีคำใช้ตรงกันอยู่มาก เปนอันแน่ว่าต่างคนต่างจำกันไปใช้ เพราะบ้านเมืองอยู่ใกล้ติดต่อกัน ลางคำก็ตัดสินได้โดยง่าย ว่าเขมรจำไทยไปใช้ หรือไทยจำเขมรมาใช้ แต่ลางคำก็ตัดสินยาก ส่วนคำ ฉัน นี้ เธอได้ตรวจภาษาไทยในภาคอื่นแล้วไม่พบ ก็เปนอันชอบที่จะพึงสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเปนคำเขมร ไทยอยุธยาจำเอามาใช้ จึงไม่มีในภาษาไทยภาคอื่น

(ลงพระนาม) นริศ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ