- เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๓
- พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๓
- มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๓
- กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๓
- สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๓
- กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๓
- ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๓
- พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๓
- ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๓
- มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔
- กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๔
- มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔
- เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๔
- พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๔
- มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๔
- กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๔
- สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๔
- ภาคผนวก
- ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๘
- ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๐ น
- ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๐ ดร
- ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ น
- ๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ น
- ๒๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๒ น
- ๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๒ น
- ๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๒ น
- ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๒ น
- ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ น
- ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๗ น
- ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๗ ปสศ
- ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๘ น
- ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ ยส
- ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ ว
- ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๘ ว
- ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๙
- ๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๘ ยส
- ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๓ ว
- ผู้พูดกับผู้ฟัง
- คำแบบ
- เรื่องจำนวน
๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๓ ยส
กรมศิลปากร
วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๓
ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท
ข้าพระพุทธเจ้าค้นเรื่องราวของเกาะภูเก็ต พบคำว่า จิงโจ้ ในนิราศฉลางซึ่งนายมีแต่งอยู่แห่งหนึ่งว่า กะตั้วเห็นกะเต็นห้อยกะต้อยโหน จิงโจ้โจนจับกะถินแล้วบินหาย กะสาจับสนเคียงอยู่เรียงราย เค้าแมวหมายมองโพรงเค้าโมงเมียง ข้อความเหล่านี้ คงได้ความรับรองอีกแห่งหนึ่งว่า จิงโจ้ เป็นชื่อนก
ข้าพระพุทธเจ้าได้ค้นสอบคำเดิมของไทยในคำที่เกี่ยวกับร่างกาย มีชื่อส่วนของร่างกายลางแห่งเรียกไม่ตรงกัน เช่น ตาตุ่ม ทางพายัพและไทยใหญ่เป็น ต๋าติ๋น แต่อีศานใช้ว่า ตาฆ้อง คำว่า มดลูก ไทยใหญ่เรียกว่า เฮือนลูกอ่อน พายัพว่า ฮ้วน ไม่ทราบเกล้า ฯ แปลว่าอะไร อีศานเป็น ฮังลูก หม่อลูก หม่อ เห็นจะเป็นคำเดียวกับบ่อที่เกิด ปักษ์ใต้เรียกว่า กุน ไม่ทราบเกล้า ฯ ว่าอะไร ข้าพระพุทธเจ้าค้นหาคำแปลในคำว่า มด พบในไทยใหญ่อยู่คำหนึ่ง แปลว่า ห่อหุ้ม มดลูก เห็นจะหมายความว่าของห่อหุ้มลูก มด กับ หมด มืด มิด น่าจะเป็นคำในพวกเดียวกัน สีข้าง อาหมเป็น ดูกข้าง พายัพใช้ว่า สีข้าง ลางทีก็เพี้ยนเป็น ขี้ข้าง อย่างเดียวกับ ซี่โครง เพี้ยนเป็น ขี้โครง ก็เคยมี สี ในคำว่า สีข้าง ถ้าไม่หมายถึงท่อนตัวที่ท้องแขนกระทบสีอยู่เสมอ ก็ควรจะเพี้ยนมาจาก ซี่ คือ ซี่ข้าง คู่กับ ซี่โครง คำว่า รักแร้ ก็แปลก แปลไม่ออกทั้งสองคำ แต่ก็มีพ้องกันหลายถิ่นและเลือกใช้คำเดียวก็มี เช่น ไทยใหญ่ รักแร้ เรียกว่า กิ่งแฮ้ พายัพเป็น เก๊าแฮ้ (เก๊า = ต้นเค้า) อีศาน ขี้แฮ้ คำที่ กะแล้ (กะ คงกร่อนมาจาก เก๊า) ไทยขาวเป็น ลักแล้ นักแน้ ปักษ์ใต้เป็น รักตี้ จีนกวางตุ้ง เป็น หัก (เสียงใกล้กับ รัก) ถ้าเทียบคำ รักแร้ กับ ดักแด้ วากแว้ รักแร้ ก็อาจเป็นคำเดียวกัน ในไทยกลาง พูดเพีย้นเป็น นักแร้ ก็มี จั๊กกะแร้ ก็มี คำว่า จั๊กจี้ ก็น่าจะเกี่ยวข้องกับรักแร้ด้วย หน้าผาก คำนี้เหมือนกันหมดทุกถิ่น ผาก ในภาษาไทยใหญ่ หมายความถึงส่วนสิ่งใด ๆ ที่แบ่งตามยาวเป็นครึ่งเป็นเสี้ยว ไม้ไผ่ที่ผ่าออกเป็นสองส่วนใช้มุงเป็นหลังคา ก็เรียกว่า ผากไม้กบ จะตรงกับคำว่า ฟากไม้ ที่ประกบกัน แต่ ฟาก ต้องทุบให้แบนเสียก่อน ชิ้นหม้อแตกก็เรียกว่า ผากหม้อ ผาก ในอีศานหมายความว่า ส่วน ชิ้น ที่ออกมาจากของใหญ่ พ้องกับ ภาค ในบาลีอย่างปลาด ผาก ในไทยใหญ่มี ผีก เป็นคำคู่ ใช้พูดว่า ผากผีก ก็มาตรงกับคำว่า กะผีก และคำว่า ฝากฝ่าย ฟากฟ้า (ไทยใหญ่เสียง ฟ เป็น พ และ ว) ถ้าแปลง ฝาก เป็นเสียงนาสิกในวรรคเดียวกันก็เป็น ฝาง หรือ ฝั่ง ในพายัพและอาหมมีคำ ผาก แปลว่า เกลี้ยง เสมอกัน แบน เช่น หน้าผากผา
ข้าพระพุทธเจ้าทราบเกล้า ฯ ว่า ดวงตราประจำตำแหน่งเสนาบดี กระทรวงโยธาธิการ เป็นตราพระรามทรงรถ จะหมายความว่า พระรามทรงรถไปตามทาง เพราะกระทรวงโยธา ฯ เกี่ยวกับงานตัดถนนด้วย หรือประการไร ขอประทานทราบเกล้า ฯ ด้วย
ข้าพระพุทธเจ้าพบคำในสมุดภาษาเขมรที่แต่งเป็นภาษาไทย ได้เก็บเอาคำเหล่านี้ขึ้นมาพิจารณา รู้สึกด้วยเกล้า ฯ ว่า คำเขมรส่วนมากที่ไทยได้มาเป็นคำใช้อยู่ในกลอน และใช้เป็นคำสูง หรือเป็นคำใช้ในที่สุภาพเป็นส่วนมาก ถ้าเป็นคำสามัญที่ภาษาไทยมีคำเดิมใช้อยู่แล้ว ก็เอามาใช้เป็นหมายความฉะเพาะไป เช่น สอ เชิง หลัง กำเดา ตามตำรานิรุกติศาสตร์ว่า คำในภาษาจะมีคำเป็นไวพจน์ไม่ได้ เพราะไม่จำเป็นและจะทำให้ยุ่งในภาษา ถ้าหากได้คำมาใหม่ มีความหมายอย่างเดียวกัน ภาษาก็ต้องหาทางใช้ให้มีความหมายผิดแปลกกันออกไปบ้าง จะให้มีความหมายเหมือนกันทีเดียวไม่ได้ คำเขมรลางคำเปนภาษาไทยอย่างสนิท เมื่อสอบกับภาษาไทยถิ่นอื่นจะไม่มี เช่น ชิด เด็ด เลิก โอบ โกง เดิม ตรง จาก เป็นต้น คำเหล่านี้ เมื่อตกมาถึงไทยกลางมักเอาคำเดิมของไทยไปต่อกันเป็นคำซ้อน เป็น ใกล้ชิด เด็ดขาด ยกเลิก โอบอุ้ม คดโกง ต้นเดิม ซื่อตรง ลุกจาก ส่วนมากเอาคำไทยไว้หน้า ที่นำคำมาซ้อนกัน คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า เมื่อได้คำเขมรมาใหม่ ๆ จะยังไม่ทราบคำแปลกัน จึงต้องเอาคำไทยกำกับไว้ด้วยเพื่อเป็นแปลไปในตัว แต่ที่เรียงคำไทยไว้หลังคำเขมรก็มีเช่น เด็ดขาด แดกยัด โลดเต้น ทรวงอก จะด้วยเหตุผลอย่างไรไม่ทราบเกล้า ฯ ลางคำในคำไทยกับเขมร มีความหมายห่างออกไป เช่น โกน-ถาแถก เตะ-ถีบ โคก-เนิน ตัก(บาตร์)-วางลง คำว่า หรือ ไทยถิ่นต่าง ๆ ไม่มีใช้ คำใกล้ที่สุดก็คือ ฮื้อ เช่น ไปฮื้อ ทางพายัพใช้ กา ในความว่า หรือ เช่น ไปกาบ่อไป แต่ตามปกติใช้เพียงว่า ไปบ่อไป เท่านั้น
ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานถวายบันทึก เรื่องกาพย์ ของพระสารประเสริฐฉะบับ ๑ และของนายกี อยู่โพธิ์ ฉะบับ ๑ กับหนังสือ เรื่องของชาติ ไทย เล่ม ๑ มาพร้อมกับหนังสือฉะบับนี้
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ
ข้าพระพุทธเจ้า
ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์
----------------------------
(สำเนา)
เรียน เจ้าคุณฯ
คำว่า กาวฺย แปลว่าคำของกวี ในบาลีหรือสํสกฤต ใช้เรียกคำประพันธ์ทุกอย่าง ได้สอบสวามีแล้วได้ความดั่งนี้ แต่สวามีอ่าน กาวฺย ว่า กาพฺพ ตำราคำประพันธ์ในสํสกฤต ไม่มีเกณฑ์สัมผัส อย่างเดียวกับคำประพันธ์ในบาลี จะมีบ้าง ก็เป็นของที่กวีเล่นกันเอง ไม่มีในแบบแผน ไม่สู้นิยมกันนัก เพราะตามธรรมดาข้อบังคับครุลหุและมาตรา ก็ยากยิ่งอยู่แล้ว ซ้ำจะคิดสัมผัสเข้าอีก ความยากก็เป็นทวีคูณ
คำประพันธ์ในบาลี ที่มีสัมผัส เคยพบบ้าง เช่น
พุทฺธาทิรูเป | เจติเย วิหาโร |
ปาสาทนาโถ | มณิ ราชราชี |
มฺจาสเน | สคฺคุปนตฺตรํสี |
ตาลาทิเภรี | วิณสงฺขสทฺโท |
ตำราทำนายฝัน
เมเส สุโร ยสฺส ิตสฺส ลคฺโน
อุสุภฺภ เอโก อิหาตกา วา
เมถุนฺนเย สพฺพปสิทฺธิกามา
สุสุนฺทรวาจา กรกฏฺฏถูเต
ตำราทำนายลัคนา
ตำราทั้งสองนี้ ได้ยินท่านผู้ใหญ่ว่าเป็นภูมิรู้อย่างเถรฯ
ขอแสดงความนับถือ
(ลงนาม) สารประเสริฐ
๑๘ พ.ย. ๘๓
----------------------------
บันทึกเรื่องกาพย์และฉันท์
คำว่า กาพย์ นั้น มาจากคำว่า กาวฺย ในสันสกฤต ของเดิมน่าจะหมายความรวมทั้งฉันท์ด้วย เช่นวรรณคดีชะนิดหนึ่งของชะวา ชื่อว่า กะกวิน ตามลักษณะที่เขาอธิบายไว้ว่า ต้องมีกำหนดมาตราลงเสียงหนักเสียงเบา ซึ่งเป็นผลทำให้คำพูดที่เป็นภาษาพื้นเมืองยืดเสียงหรือหดเสียงเสียเป็นอันมาก จนเป็นการยากที่จะสระสางว่า เสียงที่แท้ของคำนั้น ในภาษาชะวาเดิมเป็นอย่างไร (แต่ไม่ได้พูดถึงสัมผัสของเสียง) เขาบอกว่า แบบแผนการแต่งกะกวินของชะวานั้น ได้มาจาก คัมภีร์กาวฺยาทารฺศ ของท่านทัณฑิน มหากวีคนหนึ่งของอินเดียในคฤศตวรรษที่ ๖ และคำว่า กะกวิน นั้น ถ้าจะแปลให้เข้าใจซาบซึ้ง ก็ตรงกับ กาวฺย ในสันสกฤตนั่นเอง
ส่วนกาพย์ในภาษาไทยนั้น เข้าใจว่าแต่เดิม (ในสมัยหนึ่ง) หมายรวมทั้งฉันท์ด้วยเหมือนกัน เช่น ในหนังสือยวนพ่าย มีคำกล่าวขอพระเกียรติสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถว่า ทรงพระปรีชาในการเกลากาพย์ ดังที่กล่าวไว้ในโคลงบทที่ ๔๘ บาทที่ ๓ ว่า รบยนรบิการย เกลากาพย ก็ดี แต่ตกมาในชั้นหลัง ดูเหมือนจะหมายความแคบเข้า หมายความถึงลักษณะคำประพันธ์เพียง ๓ ชะนิดเป็นกาพย์ คือ กาพย์ยานี ลำนำ ๑๑ (กาพย์ห่อโคลงก็ลักษณะเดียวกัน) กาพย์สุรางคนา ลำนำ ๒๘ (กาพย์ขับไม้ก็ลักษณะคล้ายกัน) และกาพย์ฉะบัง ลำนำ ๑๖ (ถ้ามีวิธีแต่งพิเศษเรียกว่า นาคปริพันธ์ ก็ได้) แต่ในคัมภีร์กาพย์สารวิลาสินีและกาพย์คันถะ ซึ่งแต่งเป็นภาษามคธ ดูมีลักษณะกาพย์มากประเภทออกไป ที่มีลักษณะเป็นร่ายและโคลงก็มี ใน ๒ คัมภีร์นี้รวมเรียกว่า กาพย ทั้งนั้น
พูดถึงคัมภีร์ทั้ง ๒ นี้ คัมภีร์กาพยสารวิลาสินี มีลักษณะกาพย์ ๑๕ ชะนิด คัมภีร์กาพยคันถะ มีลักษณะกาพย์ ๕ ชะนิด แต่จะว่ารวมเป็น ๒๐ ชะนิดไม่ได้ ด้วยพิเคราะห์ดู กาพย์บางชะนิดในคัมภีร์ทั้งสองนี้ มีลักษณะตรงกัน แต่เรียกชื่อต่างกันเสีย แสดงว่าท่านผู้แต่งมิใช่คนเดียวกัน แต่คงจะได้ต้นตำรามาแหล่งเดียวกัน ในกาพย์คันถะ จับเค้าไม่ได้ว่าท่านผู้ใดแต่ง แต่กาพย์สารวิลาสินี นั้น พิจารณาตามถ้อยคำภาษาไทยที่มีผู้แปลและประพันธ์ให้ตัวอย่างไว้ตามลักษณะภาษามคธที่กล่าวในคัมภีร์นั้น แสดงว่าผู้แต่งภาษาไทยยังรู้จักชื่อผู้แต่งภาษามคธเดิม ดังกล่าวไว้ในตอนคำนมัสการว่า ข้าชี้สารพุทธิสำเนา ใดดีสรรเอา ที่กาพยาจารย์ ชี้ ในที่นี้ไม่ได้ความ เข้าใจว่าเขียนและพิมพ์กันมาผิด ที่ถูกน่าจะเป็น ชื่ คือ ชื่อสารพุทธิ ในสมุดไทยที่ซื้อมาจากกองมรดกของหม่อมเจ้าปิยฯ เขียนเป็นว่า ข้าชีสารพุทธิ แต่ผู้แปลและแต่งเป็นภาษาไทยนี้ พิจารณาตามภาษาและถ้อยที่ใช้ คะเนว่าเก่าก่อนรัชชกาลสมเด็จพระนารายน์มหาราช
ลักษณะกาพย์ที่กล่าวไว้ในคัมภีร์ทั้งสองนี้ มีลักษณะรับสัมผัสแล้วทั้งนั้น ทราบไม่ได้ว่าเอามาแต่อินเดียหรือลังกา หรือผู้รู้ภาษามคธแต่งขึ้นในเมืองไทย
แต่จะว่าแต่งขึ้นในเมืองไทย ก็ขัดอยู่ที่ในคำปรารภข้างต้นคัมภีร์กาพย์สารวิลาสินี กล่าวไว้ว่า
ปุรา วุตฺตานิ กาพฺยานิ | วิวิธานิ พหูนิ ปิ |
ชนานํ มนฺทปฺานํ | น สารเธนฺติจฺฉิตํ ยโต |
มตํ ปุพฺพาจริยานํ | นิสฺสาย กาพฺยการินํ |
กาพฺยสารํ อหํ ตสฺมา | วิจินิตฺวา สมาสโต |
แปลได้ว่า กาพย์ทั้งหลายมีอยู่มากมายหลายอย่าง ซึ่งท่านกล่าวไว้แต่ก่อนไม่สำเร็จประโยชน์แก่ชนผู้มีปัญญาทราม เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าคัดเลือกเอา (แต่) กาพย์ที่เป็นสาระโดยย่อ เมื่อปรากฏว่า ลักษณะกาพย์ที่กล่าวไว้ในคัมภีร์นี้มีถึง ๑๕ กาพย์ แต่ในคำปรารภว่า เลือกเอามาแต่ที่เป็นสาระโดยย่อแล้ว ก็หาหลักฐานไม่ได้ว่า วรรณคดีของไทยเราแต่โบราณมีกาพย์อะไรมากมายหลายอย่างไปกว่า ๑๕ ชะนิดนี้บ้าง จึงเป็นข้อสงสัยอยู่
ถ้าพิจารณารูปกาพย์เพียง ๓ ชะนิด กาพย์สุรางคนาก็ละม้ายไปทางฉันท์วิชชุมมาลา กาพย์ยานีก็ละม้ายไปทางฉันท์อินทรวิเชียร และเข้าใจว่าที่แท้ก็คืออินทรวิเชียรนั้นเอง เพราะคำว่า ยานี ก็ตัดชื่อเรียกมาจาก ยานีธ ภูตานิ สมาคตานิ รูปฉันท์อินทรวิเชียรนั่นเอง กาพย์ฉะบังก็คล้ายๆ กับรูปวาณินีฉันท์
ปัฐยาวัตต์ นั้น มีกล่าวไว้ในคัมภีร์วุตโตทัย ว่า
สเมสุ สินฺธุโต เชน ปยาวตฺตํ ปกิตฺติตํ แปลว่า ปัฐยาวัตต์ ท่านประกาศด้วยชคณะถัดแต่ ๔ อักษรมา ในบาทคู่ หมายความว่า ในบาทคู่ (บาทโท) นั้นพ้น ๔ คำมาแล้วต้องบรรจุคำเป็นรูป ชคณะ (เช่น-มุนินท)
แต่คัมภีร์วุตโตทัยก็เป็นคัมภีร์รวบรวมตำราฉันท์ที่เขียนขึ้นในลังกาเมื่อคฤศตวรรษที่ ๑๒ นี่เอง ผู้แต่งชื่อ โมคัลลานะ มีสมณศักดิ์เป็นพระสังฆรักขิตเถร บอกไว้ในคำปรารภข้างต้นว่า
ปิงฺคลาจริยาทีหิ | ฉนฺทํ ยมุทิตํ ปุรา |
สุทฺธมาคธิกานนฺตํ | น สาเธติ ยถิจฺฉิตํ |
แปลได้ว่า (คัมภีร์) ฉันท์ที่ปิงคลาจารย์เป็นต้น กล่าวไว้แต่ก่อนนั้น ไม่สำเร็จประโยชน์ตามปรารถนาแก่ผู้รู้ภาษามคธล้วน
ท่านเวปุลล ผู้แต่คัมภีร์ วจนัตถโชติกา ในเมืองพุกาม ในรัชชสมัยพระเจ้ากะยอชะวา ราว ค.ศ. ๑๒๑๒ (ใกล้ ๆ กับเวลาแต่งวุตโตทัย) และท่านธัมมนันท ผู้แต่งคัมภีร์กวิสาร ในเมืองหงสาวดี ในรัชชสมัยพระเจ้าหงสาวดี ธรรมราชาธิราช ราว ค.ศ. ๑๓๘๕-๑๔๒๑ ได้ขยายความต่อไปว่า คำว่า (ปิงคลาจริยาทีหิ) ปิงคลาจารย์เป็นต้น นั้นหมายถึง ชัยเทพ สุราม และกาลิทาส เป็นต้น ก็ท่าน ปิงคล ชัยเทพ สุราม และ กาลิทาส เป็นต้น เหล่านี้ ปรากฏในวรรณคดีอินเดียว่า เป็นผู้แต่งวรรณคดีภาษาสันสกฤตเป็นคำฉันท์ต่างๆ คนละหลายๆ เรื่อง และได้ประดิษฐ์ฉันท์ขึ้นคนละหลายๆ แบบเหมือนกัน โดยฉะเพาะปิงคละ นั้นกล่าวกันว่า เป็นผู้แต่งคัมภีร์ฉันทัสสูตร ซึ่งจัดเป็นเวทางค (ส่วนหนึ่งแห่งพระเวททั้ง ๖ ส่วน) ของพราหมณ์ และกล่าวว่า ปิงคละเป็นมุนี แสดงว่าเป็นโบราณกว่าเพื่อน
ด้วยเหตุนี้ น่าจะได้ความว่า ฉันท์แบบต่างๆ ในคัมภีร์ วุตโตทัย นั้นรวบรวมมาจากแบบต่างๆ ในภาษาสันสกฤต ซึ่งมีมาเก่าก่อนแต่งวุตโตทัย แต่คงไม่หมายความไปถึงว่า ภาษามคธก่อนแต่งวุตโตทัยนั้น ไม่ได้แต่งเป็นฉันท์ เพราะมีคาถาในภาษามคธเป็นอันมาก ในคัมภีร์พระไตรปิฎก ตอนที่นักปราชญ์สันนิษฐานกันว่าเป็นสำนวนรุ่นเก่านั้น ก็มีคาถาเป็นรูปฉันท์ต่างๆ เป็นอันมากและมีรูปฉันท์แปลกๆ เข้าใจว่ารูปที่ไม่มีคนรู้จักชื่อฉันท์ คงจะมี ตกมาถึงบัดนี้ เมื่อได้ลอกคัดและมีการพิมพ์การชำระหลายครั้งต่อมา น่าจะไม่มีใครได้สู้เอาใจใส่ในรูปลักษณะของฉันท์ต่างๆ เห็นจะทำให้รูปฉันท์มีมากขึ้นกว่าของเดิมแยะ
ส่วนฉันท์ในภาษาไทยนั้น แต่เดิมจะได้แบบมาจากคัมภีร์ใด ของใคร ไม่ทราบ ทราบแต่ว่า ในหนังสือจินดามณีของพระโหราธิบดี รัชชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น ได้คัดเอาแบบฉันท์ในคัมภีร์วุตโตทัย มาแปลไว้ในตอนบอกคณะฉันท์ ทั้งยังมีกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า
ซึ่งเผด็จตามนัย ในวุตโตไทย คณะสำแดง ยัตติยุตติ สัญญากรแถลงกำหนดอย่าแคลง นิพันธ์ฉันทา
ต่อมาสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรสและผู้อื่น ก็ได้แปลงรูปฉันท์ต่างๆ ในวุตโตทัย มาเป็นแบบฉันท์ต่อมาอีกทั้งหมด ๑๐๘ แบบ