๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ น

บ้านปลายเนีน คลองเตย

วันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๔๗๐

กราบทูล กรมพระดำรงราชานุภาพ ทราบฝ่าพระบาท

ได้รับลายพระหัดถ แสดงพระดำริหเรื่องพระที่นั่งอัฐทิศแล้ว ตามที่ทรงพระดำริหว่าพระที่นั่งอัฐทิศสำหรับอภิเษกพระเจ้าแผ่นดินเปนราชาธิราชนั้น ชอบทีดีหนักหนา จะคิดถึงรับน้ำเบญจมหานทีเข้าด้วยก็ได้ไม่ขัด คือเสด็จขึ้นบุษบกพระกระยาสนาน สรงสหัสธารา เบิกพราหมณในกรุงถวายน้ำเบญจมหานที แล้วทรงเครื่องเสด็จประทับพระที่นั่งอัฐทิศ เบิกพราหมณประเทศราชทั้ง ๘ ทิศเข้าถวายน้ำ แล้วจึ่งเสด็จขึ้นพระที่นั่งภัทรบิฐ

พระที่นั่งภัทรบิฐนั้น เปน Throne ไม่มีสงสัยเลย ในการรับเครื่องราชกกุธภัณฑ์สรรพราชูปโภคนั้น ฉเพาะพระเจ้าแผ่นดินซึ่งเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติใหม่ ถ้าอภิเษกพระเจ้าแผ่นดินขึ้นเปนบรมราชาธิราชแล้ว ไม่จำเปนต้องรับเครื่องราชกกุธภัณฑ์สรรพราชูปโภค เพราะทรงครองอยู่แล้ว จะลองตั้งโปรกรามถวาย

๑ อภิเษกพระเจ้าแผ่นดินเสวยราชสมบัติใหม่ เสด็จขึ้นบุษบกพระกระยาสนาน สรงสหัสธาราแล้ว พราหมณในกรุงถวายน้ำเบญจมหานที เสด็จขึ้นทรงเครื่องแล้ว เสด็จออกประทับพระที่นั่งภัทรบิฐ พราหมณถวายโศลกถวายพระพร ทรงรับเครื่องราชกกุธภัณฑ์สรรพราชูปโภคแล้ว เบิกเสนาบดีมนตรีมุขเข้าเฝ้า ทูลถวายราชสมบัติ

๒ อภิเษกพระเจ้าแผ่นดินเปนบรมราชาธิราช เสดจขึ้นบุษบกพระกระยาสนาน สรงสหัสธาราแล้ว พราหมณในกรุงถวายเบญจมหานที เสดจขึ้นทรงเครื่องแล้วประทับพระที่นั่งอัฐทิศ เบิกพราหมณประเทศราชซึ่งมาแต่ทิศทั้งแปดถวายน้ำ แล้วเสด็จออกประทับพระที่นั่งภัทรบิฐ พราหมณถวายโศลก ถวายพระพร เบิกเจ้าประเทศราชเฝ้า

ตามทางที่คิดเช่นนี้ จะถูกฤๅผิดก็ได้ ไม่มีหลัก แต่ไม่ได้คิดออกไปนอกทางพิธีที่เราเคยทำกันมา

ประเพณีในอินเดียยุคหนึ่ง ให้ของที่หยิบยกให้ไม่ได้ ใช้หลั่งน้ำให้เปนสำคัญ ดุจที่ตรัสยกตัวอย่างถวายที่วิสุงคามสีมา แลยังมีอื่นอีก เช่นพระเวสสันดรประทานพระยาปัจจัยนาคแก่พราหมณก็หลั่งน้ำ ประทานพระชาลีกัณหาแลพระมัทรีก็หลั่งน้ำ พราหมณประเทศราชถวายน้ำ ๘ ทิศ จะหมายความว่าถวายแผ่นดินประเทศราชทั้ง ๘ ทิศก็ได้

ตามที่เราเคยทำพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นเสวยราชสมบัติ มีเจ้าพนักงารเชิญเครื่องราชกกุธภัณฑสรรพราชูปโภค ตามเสด็จไปขึ้นพระที่นั่งภัทรบิฐนั้น ทีจะผิด ถ้าสำหรับราชาภิเษกเปนบรมราชาธิราชจึงควรเพราะเปนของพระองค์อยู่แล้ว ถ้าเสวยราชสมบัติใหม่ ควรจะเชิญคอยเตรียมรบเสด็จอยู่ข้างพระที่นั่งภัทรบิฐ

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรส

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

----------------------------

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

คำว่า “เต้าเบญจครรภ” ข้าพระพุทธเจ้าเคยนึกเดา ๆ มานานแล้ว ว่าเขียนอย่างไรจะถูก มาได้เห็นบันทึกของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศคราวนี้ จึงเอาไปสอบถามศาสตรี เขาอธิบายว่า คำว่า “เบญจครรภ” น่าจะเขียนวิปลาศมาจาก “เบญจคัพย์” ซึ่งแปลว่าของแห่งโค ๕ อย่าง (ในภาษาบาลีเรียกว่า “โครส” คือรสที่ออกจากโค) ได้ขอให้ค้นตำราดู เขาเอาตำราชื่อว่า “ปูราณกรฺมทรฺปณ” (ตำราแสดงด้วยกิจการเก่า ๆ) มาให้สอบ ได้ความดังโศลกต่อไปนี้

“โคมูตฺรํ โคมยํ กฺษีรํ ทธิ สรุบิะ กุโศทกํ มูตรโค คูถโค นมสด นมเปรี้ยว เนย น้ำแช่หญ้าคา
เอภิสฺตุ ปฺจภิรยุกฺตํ ปฺจควฺยมิติ สฺมฺฤตํ รสที่ประกอบด้วย ๕ อย่างนี้ เข้าใจกันดีว่า ปฺจควฺย (เบญจคัพย์)”

แลมีคำอธิบายต่อไปว่า

“ตตฺร ตามฺรปาตฺเร กำสฺยปาตฺเร วา ปลาศปตฺรปูเฏ วา ของเหล่านี้จะใส่ภาชนะอะไรก็ได้ในสามอย่างนี้ คือ ภาชนะทองแดง ภาชนะสัมฤทธิ์ กระทงใบทองกวาว
ตามฺรายา โคมูตฺรํ อษฺมาษปฺรมาณํ มูตรใช้มูตรแม่โคแดง ประมาณ ๘ มาษ (มาษ ๑ เท่าเมล็ดสวาด ๕ เมล็ด)
ศฺเวตายา โคะ ศกฺฤตโษฑศมาษํ คูถใช้ของแม่โคขาว ประมาณ ๑๖ มาษ
ปิตายาะ โคะ กฺษีรํ ทฺวาทศมาษํ นมสดใช้ของแม่โคเหลือง ประมาณ ๑๒ มาษ
กฺฤษณโคฆฺฤตํ อษฺมาษํ กุโศทกํ จตุรฺมาษํ เนยใช้ของแม่โคดำ ประมาณ ๘ มาษ น้ำหญ้าคาประมาณ ๔ มาษ”

ของเหล่านี้เมื่อผู้ทำพิธีจะทำพิธีใด ๆ ต้องเตรียมมาไว้ในมณฑลพิธีใส่ไว้อย่างละภาชนะ แล้วเอารวมกวนปนกันเข้ารับประทาน ในตำราว่าเพื่อทำตัวให้บริสุทธิ์เสียก่อน แล้วจึงเริมทำพิธีรดน้ำเปนต้นต่อไป

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า <พระพินิจวรรณการ>

(หมายเหตุ ในคำอธิบายขาด นมเปรี้ยว ไปอย่างหนึ่ง ไม่ได้บอกว่ามีแลใช้ของโคสีใด)

ภาชนะที่รวมใส่กวนนั้นน่าจะเรียกเต้าเบญจคัพย์.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ