- เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๓
- พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๓
- มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๓
- กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๓
- สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๓
- กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๓
- ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๓
- พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๓
- ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๓
- มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔
- กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๔
- มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔
- เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๔
- พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๔
- มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๔
- กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๔
- สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๔
- ภาคผนวก
- ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๘
- ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๐ น
- ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๐ ดร
- ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ น
- ๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ น
- ๒๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๒ น
- ๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๒ น
- ๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๒ น
- ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๒ น
- ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ น
- ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๗ น
- ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๗ ปสศ
- ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๘ น
- ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ ยส
- ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ ว
- ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๘ ว
- ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๙
- ๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๘ ยส
- ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๓ ว
- ผู้พูดกับผู้ฟัง
- คำแบบ
- เรื่องจำนวน
๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ น
หัวหิน
วันที่ ๙ ตุลาคม ๒๔๗๕
กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ฯ ทราบฝ่าพระบาท
ได้รับลายพระหัตถ์โปรดประทานการสังเกตพระทัย ในเรื่องถวายดอกไม้ธูปเทียน และเรื่องรดน้ำ กรวดน้ำ ได้ลองคิดสาวไปทางต้นเค้าลองดูอีกทางหนึ่ง เห็นปรากฎในใจเป็นดังนี้ ขอประทานจดถวายให้ทราบฝ่าพระบาท
การถวายดอกไม้ธูปเทียน
ได้นึกถามตัวเองว่า ดอกไม้ธูปเทียนนั้นคืออะไร ก็ได้ตอบว่าคือเครื่องบูชา ผู้ให้เป็นผู้บูชา ผู้รับเป็นผู้รับบูชา ผู้ให้ต้องเป็นผู้น้อย ผู้รับต้องเป็นผู้ใหญ่ ใหญ่ด้วยทรงคุณความดี หรือใหญ่ด้วยยศด้วยอายุอะไรก็ตามที แต่จะบูชาทุกวันไปนั้นฝั้นเฝือ จึ่งตกเป็นบูชาแต่ในกาลพิเศษ เมื่อผู้น้อยเข้าหาผู้ใหญ่ด้วยกิจจำเพาะตัว เป็นกิจจำเพาะตัวผู้น้อยก็มี เช่น จะโกนจุก เป็นต้น เป็นกิจจำเพาะตัวผู้ใหญ่ก็มี เช่นเฉลิมพระราชมนเทียร เป็นต้น การเปลี่ยนฐานะเป็นกิจจำเพาะตัวชะนิดหนึ่ง ซึ่งผู้น้อยต้องเข้าหาผู้ใหญ่ ถ้าเป็นกิจของผู้น้อยก็เพื่อบอกกล่าว ถ้าเป็นกิจของผู้ใหญ่ก็เพื่อแสดงความยินดี มีดอกไม้ธูปเทียนเข้าไปด้วยเป็นเครื่องแสดงความเคารพ
การรดน้ำกรวดน้ำ
ในพิธีที่มีการใช้น้ำ นึกแยกออกได้เป็น ๒ แผนก คืออาบน้ำแผนกหนึ่ง กับกรวดน้ำอีกแผนกหนึ่ง
อาบน้ำ
๑ อาบน้ำในพิธีประจำชีพมี ๔ กาละ เพื่อชำระมนทิล
(๑) อาบเมื่อปลงผมไฟ เพื่อล้างผมโกนที่ติดตัว
(๒) อาบเมื่อโกนจุก เพื่อล้างผมที่ติดตัวเหมือนกัน
(๓) อาบเมื่อแต่งงานสมรส เพื่อทำตัวให้สอาดเตรียมเข้าหอ
(๔) อาบเมื่อตาย เพื่อทำศพให้สอาดเตรียมขึ้นไปไหว้พระจุฬามณีเจดีย์
ในกาลที่กล่าวมานี้ บรรดาญาติมิตรที่มาประชุม ต่างช่วยกันรดน้ำอาบให้ด้วยความเอื้อเฟื้อ เว้นแต่อาบน้ำโกนผมไฟเท่านั้นที่ญาติมิตรมิได้ช่วยรด เพราะเด็กยังอ่อน อาบน้ำมากไม่ได้
๒ อาบน้ำประจำปี เกิดขึ้นแต่การช่วยกันอาบน้ำ ดังกล่าวมาแล้วนั้นเอง เลยลามไปถึงกาลปกติ ในเวลาเข้าฤดูร้อน คือสงกรานต์ ลูกหลานช่วยกันอาบน้ำให้พ่อแม่ปู่ย่าตายาย และสับปรุษสีกาช่วยกันตักน้ำถวายสมภารเจ้าวัดสรง ที่สุดเลยสาดกันเองเป็นการเล่นสนุก กลายเป็นพิธีประจำปีขึ้นอย่างหนึ่ง
๓ อาบน้ำในพิธีจร เพื่อทำตัวให้สอาดเมื่อจะเข้าพิธี ฝ่ายตัวพราหมณ์มีตำราที่พึงปฏิบัติในการชำระกาย เรียกว่าอัตมสูตร ส่วนพระมหากษัตริย์เรียกว่าอภิเษก เช่น การราชาภิเษก สงครามาภิเษก เป็นต้น
๔ อาบน้ำเพื่อล้างจัญไรโรคภัยให้เปลื้อง อย่างนี้ต้องการน้ำมนต์ หาผู้รู้ศักดิสิทธิให้ทำน้ำมนต์อาบ การอาบน้ำมนต์เป็นเครื่องบำรุงใจให้ชุ่มขึ้นด้วยอีกโสดหนึ่ง เพราะฉะนั้นน้ำมนต์จึงเลยใช้ไปในการอาบน้ำเกือบทุกอย่าง ถ้าเป็นโอกาสอันจะพึงทำได้ ก็แถมให้ผู้มีศักดิสิทธิรดให้ด้วย
ต่อมาภายหลัง การอาบน้ำเห็นเป็นประโยคพยายามอันยากเกินไป จึงทำย่นย่อลงเพียงให้ผู้ศักดิสิทธิหรือญาติมิตรหยอดหรือพรมน้ำลงเหนือหัว หรือที่ตัวที่มือ แล้วแต่ควรแก่เหตุ สมมตว่าได้รดน้ำอาบให้แล้ว
กรวดน้ำ
๑ กรวดน้ำแสดงการให้ แต่มีทางแปลไปเป็น ๒ ทาง ในนิทานพระเจ้าปัสเสนทิทำบุญให้แก่เปรตนั้น แปลเอาน้ำเป็นวัตถุที่ให้เกิดประโยชน์แก่เปรตได้กินได้อาบ ส่วนในนิทานพระเวสสันดรยกบุตรทารให้แก่พราหมณ์นั้น แปลเอาน้ำเป็นสายล่ามจากวัดถุที่ให้ไปถึงมือพราหมณ์ ดุจสายไฟฟ้า หรือว่าใช้น้ำเหมือนกับสายสิญจน์
๒ กรวดน้ำอธิษฐาน ดูเหมือนมีในพระราชพงศาวดาร อันจะหาฉะบับสอบที่หัวหินนี้ไม่ได้ มีว่าหลั่งน้ำลงเหนือแผ่นดิน ประกาศเป็นฉินทพากย์ว่าแต่นี้ไปจะเป็นสตรูกัน เป็นอาการแสดงปฏิญญา ไปเฉียดกันเข้ากับถือน้ำ กินน้ำเป็นการแสดงปฏิญญาเหมือนกัน
สันนิษฐานว่าการใช้น้ำในการให้ก็ดี ในการสาบานปฏิญญาก็ดี เพื่อแสดงให้เห็นปรากฎครบองค์ ๓ คือแสดงอาการด้วยกาย เพื่อประกอบวาจาว่ากล่าวจริงทำจริงตามความตั้งใจเท่านั้น
ข้อความที่เรียบเรียงขึ้นนี้ ตามความรู้ระลึกได้ในวงประเพณีไทยเท่านั้น ส่วนทางประเพณีต่างประเทศนั้นพ้นความรู้ที่จะนำมากล่าว แม้เพียงในประเพณีไทยก็สงสัยว่าจะยังบกพร่อง ด้วยไม่รู้บ้าง ด้วยนึกไม่ออกบ้าง ถ้าทรงพระดำริเห็นยังบกพร่อง ตรัสทักท้วงด้วยแล้ว ก็จะได้ความสมบูรณเป็นประโยชน์ยิ่งขึ้นไปอีก
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด