ผู้พูดกับผู้ฟัง

(เก็บข้อความแปลจากหนังสือ The Philosophy of Grammar by O. Jespersen)

เนื้อหาของภาษาคือ activity (การเคลื่อนไหวเพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง) ของมนุษย์ ภาษาคือ activity ของบุคคลฝ่ายหนึ่งที่จะทำให้ตนเป็นที่เข้าใจแก่อีกฝ่ายหนึ่ง กับ activity ของบุคคลอีกฝ่ายหนึ่งที่จะทำคนให้เข้าใจในสิ่งซึ่งมีอยู่ในใจของบุคคลคนแรก บุคคลทั้งสองนี้ คือผู้ทำให้เกิดมีภาษาและผู้รับรู้ในภาษา หรือเพื่อความสะดวก จะเรียกว่า ผู้พูดกับผู้ฟัง ทั้งสองคนนี้ย่อมมีสัมพันธ์ต่อกันเสมอ ถ้าเราต้องการจะเข้าใจลักษณะอันเป็นธรรมดาของภาษา และในส่วนภาษาซึ่งว่าด้วยไวยากรณ์ เราอย่าลืมถึงความสัมพันธ์ที่มีต่อกันระหว่างผู้พูดกับผู้ฟังเป็นอันขาด แต่ก่อนมักผ่านความสำคัญข้อนี้ ไปสำคัญเสียว่าคำพูดและรูปภาษาเป็นเหมือนวัตถุหรือสิ่งของ ซึ่งมีตัวตนของมันเกิดขึ้นเอง ที่สำคัญไปเช่นนี้ อาจมาจากการเพ่งเลงถึงตัวหนังสือ คือตัวเขียนตัวพิมพ์ว่า นั่นคือภาษา ซึ่งว่าโดยหลักแล้ว ก็ผิดทีเดียว ถ้าใช้พิจารณาเพียงเล็กน้อยก็จะเห็นได้ง่ายว่าไม่ใช่เช่นนั้น

ถ้าบุคคลสองคน คือผู้ทำให้เกิดภาษาและผู้รับรู้ในภาษาได้กล่าวไว้ในที่นี้ว่าเป็นผู้พูดและผู้ยิน ก็เพราะเหตุที่คำพูดและคำได้ยินจากพูดเป็นต้น เดิมของภาษาและหนังสือซึ่งใช้เขียน (หรือตีพิมพ์) และใช้อ่านเป็นแต่ภาษาขั้นที่สอง ข้อนี้เป็นความจริงมาตั้งแต่ไหนแต่ไร เป็นความจริงมาตั้งแต่สมัยลึกล้ำเมื่อมนุษย์ชาติยังไม่ได้คิดวิชาขีดเขียนขึ้น หรือคิดขึ้นใช้ก็เป็นแต่เล็กๆ น้อย แม้ชุมนุมชนในปัจจุบัน ซึ่งขาดหนังสือพิมพ์เสียไม่ได้ ส่วนมากก็ยังใช้พูดมากกว่าใช้เขียน อย่างไรก็ดี ถ้าเราไม่ระลึกไว้เสมอว่าข้อใหญ่ใจความของภาษา อยู่ที่ activity ของการพูดและการฟัง และถ้าลืมเสียชั่วขณะหนึ่งว่า การขีดเขียนเป็นแต่เครื่องแทนการพูด เราก็จะไม่สามารถเข้าใจได้ว่า ภาษาคืออะไร และภาษาคลี่คลายขยายตัวด้วยอย่างไร คำเขียนไว้เป็นซากจนกว่าจะมีใครชุบซากมันให้เป็นขึ้น โดยนำเอาไปด้วยทางความคิดให้ปรับเข้ากับคำพูดที่ตรงกัน

นักไวยากรณ์ต้องระวังตัวอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงไม่ให้ตกลงในเหวแห่งการเขียนสกดตัวหนังสือซึ่งอาจเป็นทางนำท่านไปให้ตกเหว ขอให้ตัวอย่างง่าย ๆ สัก ๒-๓ ตัวอย่าง คำที่เป็นนามพหูพจน์และคำที่เป็นกิริยาของบุรุษที่ ๓ เอกพจน์ เวลาเขียนลงท้ายด้วย s เหมือนกันหมด เช่น ends, locks, rises แท้ที่จริง ๓ คำนี้ ลงท้ายต่างเสียงกัน ถ้าถ่ายเสียงลงเป็นตัวอักษร phonetic transcription ก็เป็น endz, lɔks (ɔ=ออ) และ raiziz คำ paid และ said เขียนสระเหมือนกัน stayed เขียนเป็นอีกอย่างหนึ่ง ที่จริง paid และ stayed เสียงพูดอย่างเดียวกันและมีที่มาแนวเดียวกัน ส่วน said เวลาพูดเสียงสั้นกว่า มีที่มาคนละแนวกับ padi, there เป็นตัวเขียน ถือว่าคำเดียวเท่านั้น แต่เวลาพูดถือว่าเป็นสองคำทั้งเสียงและความหมาย เช่น there ( ðə : ð = th คล้ายเสียง z. ǝ = เสียงสระไม่เด่นชัด) were many people there ( ðe’ ǝ : ð = th : e’ = แอ เครื่องหมายเสียงยาว ๑ = เสียงสระไม่เด่นชัด) ขนาดเสียงสันยาว เน้นหนักเบาระดับเสียงสูงต่ำ เหล่านี้ เป็นส่วนสำคัญในไวยากรณ์ของภาษาพูด แต่ตัวหนังสือตามธรรมดาแสดงไม่ได้พอ ดั่งนี้มีเหตุผลอยู่มากประการที่ควรระลึกว่า ความจริงที่สำคัญก็คือไวยากรณ์นั้น ควรได้รับพิจารณาเป็นข้อแรกก็ด้วยเรื่องเสียง ตัวหนังสือควรเป็นข้อรอง

(เทียบคำพูดในภาษาไทย เช่น เซี้ย (เสีย) พูหญิง พูเขา พระพูมีพระภาค นังสือ กู้หลาบ ข้าว (เสียงอยู่ระหว่าง เข้า กับ ข้าว) ตวัน (เขียน ตะวัน) เฉพาะ (เขียน ฉะเพาะ) แหละ แล (เขียนเป็น และ) เช้า (เสียงอยู่ระหว่างเช้ากับช้าว)

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ