๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๔๘๓

พระยาอนุมานราชธน

หนังสือลงวันที่ ๒๒ และวันที่ ๒๖ กรกฎาคม บอกอะไรต่าง ๆ ไปให้ทราบนั้น ได้รับแล้ว ขอบใจเปนอันมาก

เรื่องจำเลขจำไม่ได้นั้นไม่ใช่แต่ชั้นเรา คนโบราณก็จำไม่ได้เหมือนกัน จนมีเกณฑ์ลบพุทธศักราชเปนจุลศักราชเรียกกันว่า กหํปายา อธิบายว่าเปลี่ยนเลขเปนตัวหนังสือให้เปนคำเพื่อจำได้ แต่ฉันก็ไม่เข้าใจ ถ้ามีใครอธิบายให้เข้าใจต่อไปอีกก็จะขอบใจมาก

เหนช้างเท่าหมู คำนี้ฉันก็รู้ แต่เพ่งเลงไปทางว่าหมายถึงไกลเท่านั้น หาได้เพ่งเลงว่าช้างกับหมูเปนสัตว์มีรูปร่างอย่างเดียวกัน ควรเปรียบกันนั้นไม่

ที่ท่านบอกให้ทราบ ว่าจีนเรียกควายว่างัวน้ำนั้นดีมาก เปนหลักให้รู้ได้ว่าทำไมปีฉลูลางพวกงัวจึงกลายเปนควายไป ที่ท่านบอกว่าไทยลางถิ่นเรียกควายว่า คายวาย ทำให้คิดถึงลูกหญิงปลื้มจิตร แกฝึกเด็กที่บ้านให้เรียกควายว่า ค่าวาย เพราะเด็กคนนั้นเรียกว่า ฟาย ให้เรียก ควาย ก็เรียกไม่ได้ จึ่งสอนให้เรียก ค่าวาย ไปก่อน เมื่อพูดเร็วเข้าก็กลายเปน ควาย ไปเอง คำ ค่าวาย นั้น คล้ายกับคำ คายวาย ขอให้ท่านสังเกตว่าเสียงที่ถูกเอกเปนเสียงเบา เสียงที่ถูกโท (ข้างสูง) เปนเสียงหนัก เปนแอกเซนต์เท่านั้น

ท่านบอกคำใช้เรียกชื่อปีทางพายัพอีศานซึ่งเปนสองพยางค์ให้เข้าใจนั้น ขอบใจเปนอันมาก ทางพายัพอีศาน จะมีเอกศกโทศกก็ควรอยู่ แต่ทางจีนมีด้วยนั้นทำให้นึกสงสัยมาก มีคนหลายคนที่เข้าใจว่าเอกศกโทศกเปนสิ่งสำหรับนับปี แต่ฉันเห็นเป็นเลขท้ายจุลศักราชเอามานับผสมเข้ากับชื่อปี เพื่อให้รู้ว่าปีไรจุลศักราชเท่าไร ถ้าใช้พุทธศักราชหรือมหาศักราชก็ไม่มีตัวเลขที่ต้องกับเอกศกโทศกเลย ถ้าไม่เกี่ยวกับจุลศักราชทำไมต้องมีจำนวนถึงสัมฤทธิศก จะมีเพียงสัปตศกแล้วตั้งเอกศกใหม่ไม่ได้หรือ จะดีขึ้นที่ยาวออกไปถึง ๘๔ ปี จึ่งซ้ำ แทน ๖๐ ปี อีกประการหนึ่งชื่อปีก็ไม่ต้องยืนว่าปีใดเปนเลขคู่เลขคี่ด้วย ปีชวดเปนปีต้น ควรจะนับเอกศก ซึ่งเปนเลขคี่แต่กลับเปนเลขคู่ ซึ่งมาทีหลังเลขคี่ไป ส่อตัวเองอยู่ว่าชื่อปีมีมาก่อนแล้ว ตกพ้องด้วยเลขท้ายจุลศักราชเท่าไรก็เปนไปอย่างนั้น แม้ศิลาจารึกเก่าก็ไม่เห็นมีเอกศกโทศก จึงกลัวจะเปนคิดขึ้นใหม่ในพวกและในชั้นที่ใช้จุลศักราชกัน จีนเขาไม่ได้จุลศักราชแต่ทำไมมีเอกศก โทศก สงสัยว่าจะเปนของใหม่ คิดขึ้นใช้ตามพวกที่ใช้จุลศักราช

เรื่องแต่งงาน ฉันรู้น้อยเต็มที เพราะเปนเจ้า เจ้าแต่ก่อนมีเมียตามชอบใจไม่แต่งงานเลย มามีแต่งงานเจ้าขึ้นในรัชชกาลที่ ๕ ดูเหมือนจะเปนกรมหลวงราชบุรีกับหญิงอรพัทธ์เปนประเดิม (แต่ท่านไม่ควรเอาชื่อใส่ลงไปในหนังสือที่ท่านแต่ง เปนแต่บอกชื่อให้ท่านทราบเท่านั้น เพื่อว่าถ้าต้องการละเอียดจะได้ค้นหาปี) แล้วจึงทำการแต่งงานเจ้าต่อมา คำ เศกสมรส นั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าทรงบัญญัติขึ้น ใช้สำหรับแต่งงานเจ้า คนสามัญก็ใช้ตาม แต่เขาตัดคำ เศก ออกเสีย ด้วยเขาเห็นต่ำสูง ดูเหมือนเขาใช้ว่าแต่งงานสมรส ซึ่งแนบเนียนดี เพราะเรียกแต่ว่า แต่งงาน นั้นไม่ได้ความ ฉันคิดว่าเปนคำบอดเพราะถูกเรียกตัด เดิมคงเรียกว่า แต่งงานบ่าวสาว เพราะคำเรียกผู้ชายว่า เจ้าบ่าว เรียกผู้หญิงว่า เจ้าสาว ใช้อยู่แต่ในการแต่งงานเท่านั้น ฉันได้ไปพบเขาแต่งงานกันเข้าโดยบังเอิญที่เมืองสุพรรณ เขามีสวดมนต์ด้วย เมื่อสวดจบแล้ว เห็นเจ้าบ่าวเจ้าสาวนั่งที่นอกชาลพร้อมด้วยเพื่อนบ่าวสาว ผู้เปนพิธีสวามียกบาตรน้ำมนต์ใบหนึ่งไปรดให้ แล้วญาติผู้ใหญ่ก็ยกบาตรน้ำมนต์ใบที่สองที่สามตามไปรดให้ เข้าใจว่าประเพณีนั้นเอง พาให้เชิญแขกไปรดน้ำในการแต่งงานทุกวันนี้ การสรวมมงคลแฝด ควรจะล่ามสายสิญจน์ไปหาพระตั้งแต่เวลาสวดมนต์ อย่างฟังสวดโกนจุก แต่ที่แต่งงานกันเดี๋ยวนี้สรวมมงคลแฝดเปล่าๆ ออกจะไม่มีมูล คำ อาวาหมงคล ค้นพจนานุกรมทางบาลีและสังสกฤตไม่พบ พบแต่ วิวาห ทางสังสกฤตบอกธาตุ วิวห๎ ไว้ว่าแย่ง ทำให้นึกถึงเรื่องแต่งงานซึ่งท่านแต่ง ระบุว่าการแต่งงานมีกี่อย่าง หนังสือพิมพ์เขาเอาไปลงพิมพ์ อ่านชอบใจเต็มที ท่านแต่งเรื่องแต่งงานไม่ควรทิ้งคำซึ่งเตยกล่าวมาแล้วนั้น

ขอบใจท่านที่ช่วยค้นคำ โล้ ให้ เปนอันเข้าใจดีแล้ว ยิ่งกว่าเข้าใจไปเสียอีก ทำให้รู้ด้วยว่าข้างจีนก็มีรถผูกโล่ข้าง ๆ แล้วซ้ำทำให้เข้าใจต่อไปอีกว่าเครื่องบังอาวุธที่เรียก โล่ นั่นเปนภาษาจีน คือ โล้ ที่เขียนเปน โล่ห์ นั้นเอาภาษามคธมาใส่เหลว โล่ ทำด้วยโลหะทางเราไม่มี เราทำด้วยหนังต่างหาก ที่คำว่า โล้ เข้าใจผิดเปนโย้โยกไปนั้นเห็นว่าผิดเพราะพูดผิดที่ ร้องว่า จิงโจ้มาโย้สำเภา นั้นเอง

ท่านให้คำกลอน จิงโจ้จับจิงจ้อแล้วส่งเสียง นั้นดีเต็มที ทำให้แปลออกว่าเพราะจิงโจ้เปนนก ช่างเขียนเขาจึงเขียนเปนรูปคนครึ่งนกครึ่ง เพราะในคำร้องจิงโจ้เปนที่ว่าเจ๊กอยู่ด้วย ถูกตามความเห็นของท่านนั้นแล้ว ฉันเคยพบคำเขมร ลางทีคำ จิ้ง ของเราเขาเปน กิ้ง สับกันไปก็มี นักปราชญ์ฝรั่งว่าอักษร ก กับ จ เปนตัวเดียวกันมี ดูก็เข้ากันไปได้ แต่ฉันก็ไม่แลเห็น จิงโจ้ที่ทำแขวนเปลเด็กนั้น ตั้งใจจะทำเปนจิงโจ้ชะนิดแมงมุมหลังน้ำ เขาทำด้วยไม้ไผ่จัก ส่วนกระจับนั้นทำด้วยเศษผ้าซึ่งมีอยู่ในเรือน ที่จริง จิงโจ้ก็จิงโจ้ กระจับก็กระจับ ที่ท่านเห็นห้อยกลางเปนจิงโจ้ ห้อยริมเปนกระจับนั้น เขาทำปนกันเสียแล้ว จิงโจ้จักด้วยไม้ไผ่จะต้องเปนของมาก่อน เพราะทำด้วยของป่า กระจับมาทีหลัง เพราะทำด้วยเศษผ้าแสดงว่าจำเริญขึ้นแล้ว ชื่ออะไรต่างๆ ต่างถิ่นไปก็เรียกไปคนละอย่างเปนธรรมดา หมอที่ใช้ตำรายาหลายอย่างก็ต้องพิจารณาให้รู้ว่าเปนตำราทางเหนือทางใต้หรือทางเรา เพราะชื่อพันธุ์ไม้เครื่องยาต่างกันไปมาก ชื่อนกซึ่งท่านว่าชื่อมันเปนไปตามเสียงร้องของมันโดยมากนั้นถูกแล้ว ฉันให้นึกประหลาดใจนายสุดเปนอย่างยิ่ง บอกอะไรได้หลายทาง เปนประโยชน์มาก ต้องเปนคนเอาใจใส่ในอะไรต่ออะไรอยู่มาก ถ้าเปนคนสามัญ จะบอกอะไรได้บ้างก็น้อย

เรื่องหนังสือ ถ้าจะไม่คิดแล้วก็อดไม่ได้ แต่เมื่อคิดเห็นก็ต้องบอกให้ท่านทราบด้วย พยัญชนของเราที่แก้จากโครงสังสกฤตมี ๙ ตัว (นับขอหยักคอหยักซึ่งเราตัตทิ้งเสียแล้วด้วย) วิธีแก้มีห้าอย่าง หยักหัวอย่างหนึ่ง หยักหลังอย่างหนึ่ง หยักตีนอย่างหนึ่ง ต่อหางอย่างหนึ่ง ขีดไส้อย่างหนึ่ง (ขีดไส้นี้หมายถึงตัว ฮ เพราะเห็นหนังสือเก่าเขาเขียนขมวดหางอ้อมลงมาใต้หัว จึ่งเข้าใจว่าเดิมทีเขาคิดจะขีดไส้ตัว อ) แม้จะแก้ตัวใดก็เคียงไว้กับตัวเดิม โดยตั้งใจจะให้ใช้แยกกับตัวเดิมไปเล็กน้อย เปนต้นว่า ต ไม่หยักหลังเขาให้อ่านเปนเสียง ดอ ต หยักหลังเขาให้อ่านเป็นเสียง ตอ แต่ทั้งสองตัวก็นับว่าเปนตัวเดียวกัน ที่ไม่ได้ออกเสียงใช้ปะปนกันอยู่ก็มี ตัวที่แก้ไม่ใช่แก้เพื่อให้เปนอักษรสูงกลางต่ำ อักษรสูงกลางต่ำเห็นว่าคิดจัดขึ้นทีหลังการแก้เติม ถ้าแก้เติมเพื่อให้เปนอักษรสูงต่ำ ทำไมไม่เอาไว้กับคู่สูงต่ำ จะคิดอย่างง่าย ๆ เรามี ส ถึงสามตัว ถ้าจะจัดเอาตัวหนึ่งเปนอักษรต่ำเสียไม่ดีหรือ ไม่ต้องเติมตัว ซ ขึ้นให้เป็นจำนวนมาก ทำให้ต้องจำเพิ่มขึ้นอีกเปล่าๆ พูดถึง ส สาม แม้เรามีตามแบบสังสกฤตก็สังเกตว่า เราไม่ได้ใช้ตามแบบสังสกฤต ย่อมใช้เปรอะปรึงไป แต่ดูเหมือนจะมีทางตั้งใจอยู่อย่างหนึ่ง จะเอา ศ เปนตัวสกด ษ เปน ตัวการันต์ ส เปนตัวใช้ในเนื้อคำทั่วไป

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ