- เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๓
- พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๓
- มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๓
- กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๓
- สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๓
- กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๓
- ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๓
- พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๓
- ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๓
- มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔
- กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๔
- มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔
- เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๔
- พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๔
- มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๔
- กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๔
- สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๔
- ภาคผนวก
- ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๘
- ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๐ น
- ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๐ ดร
- ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ น
- ๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ น
- ๒๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๒ น
- ๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๒ น
- ๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๒ น
- ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๒ น
- ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ น
- ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๗ น
- ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๗ ปสศ
- ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๘ น
- ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ ยส
- ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ ว
- ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๘ ว
- ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๙
- ๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๘ ยส
- ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๓ ว
- ผู้พูดกับผู้ฟัง
- คำแบบ
- เรื่องจำนวน
๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ น
ตำหนักปลายเนิน คลองเตย
วันที่ ๒ มีนาคม ๒๔๘๔
พระยาอนุมานราชธน
หนังสือลงวันที่ ๒๒ ได้รับแล้ว ขอบใจมากที่ช่วยค้นอะไรต่ออะไรบอกให้ทราบ ได้นึกถึงการที่เราเล่นกันอยู่นี้ว่าจะเรียกอะไรดี เหนไม่มีอะไรเหมาะกว่าที่เจ้านายตรัสเรียกว่า พุ่ง เพราะฉะนั้นจะตอบหนังสือพุ่งของท่านต่อไปนี้
โมทนาในการค้นสอบของท่าน ที่ว่าคำ สือ ไม่เกี่ยวกับ สื่อ ทำให้หลุดจากข้อสงสัยไปได้ คำ แม่สื่อ หรือ สื่อสาร ที่ก็จะมาแต่คำ ท่องสื่อ นั้นเอง ดีมากที่ได้ทราบว่าทั้ง ท่อง ทั้ง สื่อ เปนคำจีน แต่ก่อนนึกว่าเปนคำไทย ลายสือนั้นเคยได้ยินและก็เข้าใจด้วย แต่ หนังสือ นั้นไม่เข้าใจ ท่านว่าเราไม่ได้เขียนหนังสือใส่แผ่นหนัง มีแต่ทางฝรั่งนั้นนึกได้ เหนจริงด้วยแล้ว ก่อนที่จะรู้ก็เพราะต้องจัดการก่อฤกษ์อะไรต่าง ๆ เปนอย่างฝรั่ง จะเขียนประกาศบนกระดาษฝังก็กลัวจะยุ ฝรั่งเขาจึงแนะนำว่าให้เขียนบนหนังลา เขาว่าทนนักและสั่งให้ส่งเข้ามาก็ได้ แต่ก็ไม่ได้ทำตามเขาบอก อีกอย่างหนึ่งเหนลายฝรั่งซึ่งเขียนเปนหนังสือ แล้วหนังสือมักอยู่บนอ้ายอะไรขาดกะร่องกะแร่งม้วน ๆ ฝรั่งเขาบอกว่านั่นคือแผ่นหนัง เหล่านั้นเปนแรกรู้ว่าฝรั่งเขาเขียนหนังสือกันบนแผ่นหนัง ทางเราไม่เคยได้ยินได้ทราบเลยอย่างท่านว่า ทราบแต่เขียนขีดบนศิลาและใบไม้ ก็คำว่า หนังสือ นั้นจะมาทางไหน ฝรั่งหรือคำจีนเข้ามาสู่ภาษาเรานั้นไม่ประหลาด เพราะบ้านอยู่ใกล้กัน และก็ว่าเรามาแต่จีนด้วย
คำ กะแซ ฉันไม่เคยรู้ทีเดียวว่าเปนพวกไร รู้แต่ว่าเปนชื่อพวกคน ท่านบอกให้เข้าใจขอบใจเป็นอย่างยิ่ง เรือแซ ก็เหนจะเปน เรือกะแซ นั่นเอง
คำ ป้าย ป่าย ไป เราก็มีใช้อยู่ทั้งนั้น แต่มีความหมายไปคนละอย่างกับ พ่าย
ฉันรู้มาใหม่ ว่าคำ ย่าโม่ นั้นเปนอูฐ ว่าเปนภาษาเปอเซีย ขอพึ่งท่านจะช่วยค้นอะไรก็แล้วแต่จะสดวก พยให้ทราบได้ว่าจริงหรือไม่
เรื่องละคอนเจ้าพระยามหินทร์ ท่านคาดพลาดไปมาก เพราะท่านไม่รู้ทันคำว่า วิก ไม่ใช่หมายว่า ๗ วัน หมายว่าเดือน เดือนหงายเปนทางสดวกแก่คนที่จะไปดูละคอน ก็ตกอยู่ในราว ๗ วัน หรือยิ่งหย่อนไปกว่าก็มี ในการเก็บเอาเงินคนดูก็ไม่ใช่เอาอย่างละคอนแขกฟาซี ละคอนแขกพวกนั้นมาทีหลังเจ้าพระยามหินทร์เล่นเก็บเงินเปนไหน ๆ จนมีโรงวิกเอาอย่างไปตั้งเต็มเมืองแล้ว แขกพวกนี้จึ่งมาเช่าโรงเข้าสรวม โรงวิกของเจ้าพระยามหินทร์เกิดแต่ท่านมีละคอนอยู่ ท่านก็จะเล่นดูของท่าน เพื่อการจัดแก้ไขในเรื่องที่เล่นอยู่หรือเรื่องที่จะเล่นต่อไปภายหน้า หากคนพลอยอยากดูละคอนของท่าน ท่านจะตัดสินให้เปนธรรมว่าจะให้ใครเข้าดูและไม่ให้เข้าดูก็มีอย่างใดที่สู้เก็บเงินเสียไม่ได้ การเก็บเงินคนดูนั้นท่านเอาอย่างฝรั่งมา ด้วยตัวท่านได้เคยเหนมาเมื่อได้ไปยุโรปในคณะทูตพิเศษของไทย ชื่อละคอน ปรินศ์เทียเตอ นั้นจะตั้งขึ้นเมื่อไรไม่ทราบแน่ แต่เปนกาลนานมาแล้ว สงสัยว่ากรมหมื่นพิชัยจะยังไม่ได้เสด็จมาสู่โลกนี้ เข้าใจว่าคำ ปรินศ์ จะหมายถึงพระองค์เจ้าจุธารัตน์ หากเปนคำฝรั่งอย่างบกพร่อง แต่ก็ไม่มีใครเรียก เรียกกันว่า ละคอนพระยามหิน หรือ ละคอนเจ้าคุณมหิน ทั้งนั้น
ตำรานิรุกติศาสตร์ ซึ่งกล่าวถึงคำพูดในภาษานั้นถูกดีเปนอย่างยิ่ง อุทาหรณซึ่งท่านกล่าวอ้างชื่อตำรานิรุกติศาสตร์ไปแต่ละอย่างก็แต่ล้วนดี ๆ ทั้งนั้น
คำ วีชนี ฉันเคยติดต่อกับผู้รู้ค้นมาพักหนึ่งแล้ว ว่าเปนพัดหรือแส้ ลางแห่งก็ปรากฏเปนพัด ลางแห่งก็ปรากฏเปนแส้ ลางแห่งก็ลงหว่างกลาง เช่นกำหางนกยูงก็มี ฉันเหนใกล้ไปข้างไม้กวาดไม่เปนพัดเปนแส้ ความเหนนั้น ก็มาต้องกับพระราชาธิบายในพระราชหัตถเลขาเรื่องตรากรมโยธาเทศบาล ดีเต็มที
พระตะพาบ พระเต้า พระเต้าปทุมนิมิตร ฉันเคยได้ยินมาทั้งนั้น พระตะพาบ ใช้เรียกหม้อน้ำเสวย เปนรูปหม้อน้ำอย่างใหม่ จำลักลายเปนกลีบบัวไม่ใช่เฟืองอย่างหม้อน้ำเก่า ทำไมจึ่งเรียกพระตะพาบ หมายความว่าอย่างไร ยังไม่ได้คิด ทั้งเขียนลงเปนหนังสืออย่างไรก็ไม่เคยเหน พระเต้า นั้นเรียกคนโททุกอย่าง ตลอดไปคนถึงหม้อด้วย ที่กรวดน้ำซึ่งทรงใช้ เรียก พระเต้า (ทัก) ษิโณทก พระเต้าปทุมนิมิตรเปนรูปดอกบัวซ้อนกัน ๓ ชั้น เรียวแหลมขึ้นไปสูงมาก นั่นเปนหม้อจำเพาะใส่แต่น้ำมนต์ สังเกตเหนดูเหมือนมี ๓ ใบ เปนทองเงินกับสัมฤต
คำ สะตาหมัน ที่ฉันได้จากชะวาเอามาบอก ก็ได้มาแต่คำคนบอก หาได้เหนหนังสือไม่ เขาจะเขียนอย่างไรไม่ทราบ ลางทีคำคนบอกจะร่อยมาเสียแล้วก็เปนได้
ท่านพูดถึงเครื่องราชูปโภค ทำให้ฉันได้คิด ที่เรียกพานพระขันหมากนั้นเปนพานสองชั้นรูปไม้สิบสองใส่หมาก ไม่มีขันอยู่ด้วยเลย พานพระศรี เปนพานรูปกลมใส่หมากเหมือนกัน ซ้ำกัน เข้าใจว่า พานพระขันหมากเปนของเก่ามีมาก่อน พานพระศรีมีมาทีหลัง ฉันได้นึกเหมือนกันว่าขันจะมาจากโอ นายสุดก็มารับรองความคิดนั้นขึ้น เปนอันว่าคิดถูก เชี่ยนหมาก ไม่ทราบว่าเปนภาษาอะไร มาทางไหน แต่สงสัยทางมะลายู ขันสลา คำ สลา ซึ่งหมายว่าหมากก็เข้าใจว่าเปนคำมะลายู ช่อดอกหมาก ฉันคิดว่าหมายถึง ลก อย่างข้างจีน พระมณฑป ก็คือขันน้ำ หากทำเปนรูปมียอดแหลมดุจมณฑป จึ่งเรียกพระมณฑป เข้าใจว่าเปนของมีมาก่อน พระเต้า คือคนโทน้ำเสวยเหมือนกัน มีอีกสิ่งหนึ่งคือกระโถนปากแตรของพระราชา เรียกว่า พระสุพรรณราช เขียนอย่างไรก็ไม่ทราบ จะเปนว่าเครื่องทองของพระราชาก็เปนได้ หรือ ราช จะเปน ราด คือราดน้ำเราดื้อๆนี่ก็ไม่ทราบ
เครื่องราชูปโภค (เรียกตามที่เคยเรียก) แบ่งเปน ๒ ภาค พานพระขันหมาก พระสุพรรณศรี พระมณฑป พระสุพรรณราช ๔ สิ่งนี้จัดเปนของแผ่นดิน จะเสด็จออกที่ไหนก็เชิญไปตั้งไว้ที่นั่น ส่วนพานพระศรีกับอื่นอีกจัดเปนของส่วนพระองค์ที่ทรงใช้เชิญตามเสด็จ ต่อประทับที่แล้วจึ่งตั้ง ของ ๔ สิ่งมีพานพระขันหมากเปนต้นนั้น มี ๒ สำรับ สำรับ ๑ เปนทองมีลงยาเปนลางแห่งนั่นมีมาแต่เดิม ทำขึ้นในรัชกาลที่ ๔ อีกสำรับ ๑ เปนลงยาทั้งตัว