๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ ยส

กรมศิลปากร

วันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๔๘๓

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๒๕ เมษายน ไว้แล้ว พระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ หาที่สุดมิได้

ข้าพระพุทธเจ้าเห็นพ้องในกระแสพระดำริเรื่องคำ ปลาบปลื้ม ว่าควรใช้ในความหมายที่แรงกว่าดีใจโดยปกติ คำไทยจำพวกปลาบปลื้มนี้แปลก เป็นคำพวกคล้ายคำคู่หรือคำซ้อน มีเสียงพยัญชนะเดียวกัน แต่มีเสียงสระและความหมายไม่เหมือนกันทีเดียว เช่น ปลดเปลื้อง ปลุกปล้ำ ปราดเปรื่อง ขบเคี้ยว ติดตาม ร่องรอย เป็นต้น ข้อแปลกอีกอย่างหนึ่งก็ที่เอาคำซึ่งมีเสียงท้ายเป็นอนุนาสิก หรือเสียงสระไว้เป็นตัวหลัง แต่ก็มียกเว้นบ้าง เช่น ซึมทราบ ( กับ ทร สับสนกันมาก ลางท่านว่า ถ้าเป็นเรื่องน้ำให้เขียน ซึมซาบ ถ้าเป็นเรื่องรู้หรือเข้าใจให้เขียนว่า ซีมทราบ ถ้าถือเอาคำ เช่น พรัดพราก ปลาบปลื้ม เป็นแนวเทียบ ก็น่าจะเป็น ทรึมทราบ หรือ ซึมซาบ มากกว่าจะเป็น ซึมทราบ ให้ผิดอักษรกัน) เรื่องคำตัวหลังเป็นเสียงลงท้ายด้วยอนุนาสิกหรือเสียงสระในคำคู่และคำซ้อนก็เป็นเช่นเดียวกัน เช่น รวบรวม บึกบึน ทรัพย์สิน เงินทอง ไร่นา แต่ที่กลับกันได้ก็มี เช่น สินทรัพย์ คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า ของเดิมต้องการเสียงก้องไว้ตัวหลัง เพื่อสดวกในการออกเสียงและฟังเพราะ ด้วยมีกังวานเสียง แต่ที่กลับกันส่วนมากคงจะมาจากกลอนเพื่อสัมผัสเสียง

ข้าพระพุทธเจ้าวานพระยาอุปกิต ฯ เปิดพจนานุกรมเขมร ซึ่งราชบรรณาลัยกรุงพนมเปญจัดทำขึ้น ได้ความว่า เจริญ ในภาษาเขมรเป็นคุณศัพท์ ส่วน จำเริญ เป็นกิริยา แปลว่า ทำให้มาก ทำให้เกินขึ้นไป (ตัวสกดเป็น ) จับ (ชับ) เป็นกิริยา แปลว่า ไม่คลาดจากกัน มั่นคง จับแน่น ต้องโทษอยู่ในคุก กชับ เป็นคุณศัพท์ แปลว่า มั่นคง จับกันแน่น ใช้เปนกิริยาวิเศษณ์ก็มี กำชับ เป็นกิริยา แปลว่า พูดให้แน่น ให้มั่นคง เช่น กินหมากกำชับปาก ส่วน สราญ พจนานุกรมเขมรยังชำระไปไม่ถึง อัน ในภาษาไทยก็แปลก มักเข้าประกอบกับพวกวิเศษณ์ เช่น อันดี อันโต อันเลว ภาษาไทยใหญ่ อั๋น แปลว่า ซึ่งเป็นคำใช้ประกอบคำอื่น เช่น อั๋นกัด (หนาว) อั๋นเถ่า (คนเถ้า) อั๋นแม่ญ (แม่นแท้) อั๋นแลง (แสงสว่าง) อั๋นห่ม (ฝางำภาชนะ) อั๋นหอม (จำนวนที่หอมหรือออมรวมไว้) อั๋นต้อง อั๋นถาม (คำถาม) ในภาษาจีนแคะก็เป็นอย่างเดียวกับในภาษาพูด ต้องมี อัน ประกอบอยู่ด้วยเสมอไป

แม่ฮ่องสอน ตามตำนานของเมืองนี้ ว่าเมื่อ ๑๕๐ ปีเศษที่ล่วงมานี้ เมืองแม่ฮ่องสอนยังเป็นป่าอยู่ เจ้าเชียงใหม่มาตั้งกองจับช้างเถื่อน เพื่อใช้ในการป่าไม้ ได้นำช้างที่จับได้มาฝึกหัดที่ห้วยแห่งหนึ่ง ห้วยนั้นจึงได้ชื่อว่า แม่ฮ่องสอน ส่วน ฮ่อง ในภาษาไทยใหญ่ แปลได้ว่า ลำธารขนาดใหญ่ แม่น้ำ แม่น้ำเล็ก ซอกที่เป็นทางน้ำ ช่องอยู่ระหว่างเสาทั้งสองของเรือน นายสุดว่าทางอีศาน ฮ่อง หรือ ร่อง ใช้ปะปนกันกับคำว่า ห้วย คลอง ก็เรียกว่า ฮ่อง เหมือนกัน ปักษ์ใต้เรียกแม่น้ำขนาดเล็กว่าคลอง ส่วนในกรุงเทพ ฯ มีแต่คลองขุด ทำให้เข้าใจแคบไปว่า คลอง คือทางน้ำที่ขุด ในภาษามอญมีคำว่า คลอง แปลว่าทาง พอเทียบกับคำว่า คลองเลื่อย คลองธรรม ที่แปลว่า ทาง ส่วน ห้วง ข้าพระพุทธเจ้าค้นหาในภาษาไทยถิ่นต่าง ๆ ไม่มี นายสุดว่า ทางอีศานมีแต่คำว่า วัง แปลว่า น่านน้ำตอนหนึ่ง ๆ ดูเป็นความเดียวกับ ห้วง ในไทยใหญ่มีคำ วัง แปลว่า เหวลึกมีผาชัน ดูความใกล้กับ วัง ในภาษาไทยกรุงเทพ ฯ ซึ่งน่าหมายความว่า น่านน้ำลึกและนิ่ง คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า คำเหล่านี้จะเป็นพวกเดียวกัน ห้วง วัง ว่าง ว้าง หว่าง เวิ้ง เวิ่น (อีศานว่า ที่น้ำวน) วนเวียน

เรื่องที่ตรัสถึงคำกลับหน้าเป็นหลัง หลังเป็นหน้านั้น ข้าพระพุทธเจ้าเห็นแปลกมาก มักกลับกันได้โดยมากในคำที่เกี่ยวกับใจ และส่วนของร่างกาย เช่น งามหน้า หน้างาม ซ้ำคำที่กลับกันนั้น คำหนึ่งเติม อัน ก็ได้ เช่น ใจอันดี ใจอันเสีย หน้าอันงาม ข้าพระพุทธเจ้าจะต้องตั้งความเพียรเก็บเอาคำในภาษาทั้งหมดมาพิจารณา ลางที่จะได้เค้าเงื่อนอะไรบ้าง

กรรมการชำระปทานุกรมติดคำว่า ค่าที่เชิงเรือน ค้นกันนักก็ไม่ได้ความ ขอพระบารมีปกเกล้า ฯ เป็นที่พึ่งเพื่อทราบเกล้า ฯ ความหมายแห่งคำนี้ด้วย

ขณะนี้เจ้าหน้าราชพิพิธภัณฑ์กำลังจัดสิ่งของอยู่ที่ศาลาสหทัย ข้าพระพุทธเจ้าเห็นเขาวางเครื่องประดับหลังช้าง มีอยู่อย่างหนึ่งเขียนว่า กาญจนฉันท์ สำหรับตั้งพระไชยหลังช้าง ข้าพระพุทธเจ้าแปลคำ กาญจนขันธ์ ก็ไม่ได้ความ ข้าพระพุทธเจ้าเห็นเขาตั้งพระกลดเครื่องสูงไว้หลายองค์ วัตถุที่ทำและสีก็ไม่เหมือนกัน เจ้าหน้าที่อธิบายว่าใช้ในที่และโอกาศต่าง ๆ กัน ซึ่งทำให้ข้าพระพุทธเจ้านึกนอกทางไปว่า ควรจะรู้ไว้ด้วยหรือรู้แล้วประโยชน์อะไรได้ แต่เมื่อนึกกลับอีกทีว่า เมื่อยังไม่รู้กับเมื่อรู้แล้ว ผิดกันอย่างไร ก็เห็นประโยชน์ของการรู้ขึ้นทันที

พระแสงดาบเชลยที่เขาเชิญออกมาตั้ง เป็นดาบขนาดใหญ่ รูปผิดกับที่ข้าพระพุทธเจ้าได้เห็นในพิพิธภัณฑ์สถาน ซึ่งในนั้นเป็นดาบคล้ายง้าวจีน ถ้าชะนิดที่ปิดป้ายไว้ว่า ดาบเชลย ในพิพิธภัณฑสถานไม่ใช่ดาบเชลยที่แท้จริง ข้าพระพุทธเจ้าก็จะขอให้เขาเอาป้ายออกเสีย เพราะทำให้เข้าใจผิด หลงสืบสาวที่มาของดาบชะนิดนี้ผิดไปไกล

ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานถวายเรื่องลูกประคำมาพร้อมกับหนังสือนี้ฉะบับหนึ่ง เจ้าหน้าที่ในกรมคลังคนหนึ่งบอกแก่ข้าพระพุทธเจ้าว่า ลูกประคำของหลวงมีหลายชะนิด ทำด้วย ทองคำ แก้ว หิน และยางไม้กาเยน ส่วนจำนวนเม็ดลูกประคำก็มี ๑๐๕ ๑๐๗ ๑๐๘ และ ๑๑๕ พวงลูกประคำนี้ว่ามีสายทิ้งเป็นสายทองหรือสายไหม มีลูกประคำ ๓ เม็ด ขนาดเม็ดลดหลั่นกันดังรูปเจดีย์ ชะนิดใดใช้มีความหมายอย่างไร พระราชทานแก่ใครและในโอกาศอย่างไร เจ้าหน้าที่ไม่ทราบเป็นแต่ชี้แจงว่า พระราชทานเมื่อไปทัพ นอกนี้ยังมีพวงตะกรุดมีจำนวน ๓ และ ๕ ว่าตะกรุดจำนวน ๕ ใหญ่กว่าจำนวน ๓

อนึ่ง คำว่า ตะไล ในคำว่า ตะไลลามะ ซึ่งเป็นชื่อตำแหน่งของหัวหน้าสงฆ์ ลามะ ในธิเบต แปลว่า กว้างขวางเหมือนอย่างทะเล ในภาษาตาดมงคลออกเสียงเป็น ตะเล เสียงและความหมายบังเอิญมาพ้องเข้ากับคำว่าทะเลอย่างแปลกประหลาด

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ