๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ ยส

กรมศิลปากร

วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๔

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ ลงวันที่ ๒๙ มกราคม พระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ หาที่สุดมิได้

ข้าพระพุทธเจ้าอ่านหนังสือภาษาอังกฤษออกเป็นขั้น ๆ แต่ขั้นเข้าใจยากที่สุดคือ หนังสือที่ว่าด้วยข้ออรรถธรรมและตำราที่ยัดข้อความไว้ และใช้ศัพท์ฉะเพาะวิชา เป็นอย่างเดียวกับอ่านคัมภีร์ศาสนาซึ่งต้องมีอรรถกถาฎีกาแก้เพื่อให้เข้าใจ ซึ่งลางทีก็เป็นแก้เข้าใจต่าง ๆ กันก็มี ในหนังสืออังกฤษ ถ้าเรื่องใดข้าพระพุทธเจ้าอ่านยังไม่เข้าใจก็ละไว้ แล้วหาเรื่องที่พาดพิงเกี่ยวเนื่องถึงเรื่องที่ยังอ่านไม่ออก เลือกแต่ที่กล่าวข้อความง่าย ๆ มาอ่านเสียก่อน อ่านไปทีละเล็กละน้อย ในที่สุดก็อ่านเรื่องที่อ่านไม่ออกมาแต่ก่อนได้บ้าง ข้าพระพุทธเจ้าเคยอ่านตำราเศรษฐศาสตร์ ชั้นแรกอ่านไม่สู้เข้าใจ จึงเลือกหาหนังสือเศรษฐศาสตร์ที่เป็นภาษาง่าย ๆ สำหรับสอนเด็ก แล้วค่อยเขยิบอ่านสูงขึ้นไป ก็พออ่านเข้าใจในตำราได้ มีข้อที่ข้าพระพุทธเจ้าปลาดใจอยู่อย่างหนึ่ง เมื่อจับอ่านตำรานิรุกติศาสตร์ ในครั้งแรกไม่เข้าใจเลย ต้องอ่านเล่มที่เป็นชั้นต้นชะนิดที่แต่งให้อ่านกันธรรมดา ไม่ใช่ชะนิดตำรา จนเข้าใจแล้วกลับมาอ่านตัวตำราใหม่ ก็อ่านเข้าใจบ้างดีกว่าเดิม แต่ที่ยังอ่านไม่เข้าใจยังเหลืออีกมาก แม้ข้าพระพุทธเจ้าจะได้เพียรอ่านซ้ำหลายครั้งหลายหน ก็อ่านไม่ออก ข้าพระพุทธเจ้าก็พักไว้ ครั้นล่วงมาตั้ง ๕-๖ เดือน รื้ออ่านใหม่ ก็บังเกิดความแปลกใจที่คราวนี้อ่านเข้าใจดี ครั้นเขยิบอ่านตอนต่อไป ก็อ่านไม่เข้าใจอีก ต้องทอดทิ้งไว้นาน แล้วกลับมาอ่านอีก ก็เข้าใจดี เป็นดังนี้เรื่อยมาตั้ง ๖-๗ ปี จึงอ่านเข้าใจลุล่วงไปได้ แต่ที่ยังไม่เข้าใจมีอยู่อีกมาก ตอนใดอ่านออกแล้ว รู้สึกด้วยเกล้า ฯ ว่าได้ความรู้ซาบซึ้งดีกว่าอ่านหนังสือที่แต่งเปนอย่างไม่ใช่ตำรา ข้าพระพุทธเจ้ามาคิดด้วยเกล้า ฯ ว่า ที่อ่านออกเกิดความสว่างขึ้นโดยไม่รู้ตัว คงเนื่องมาแต่เหตุที่ได้สะสมความรู้รอบตัวเป็นเครื่องช่วย ซึ่งค่อยเป็นค่อยไปทีละน้อย ไม่รู้สึกตัว ครั้นอ่านเข้าใจแล้ว ก็ยังเป็นความรู้ปน ๆ กันอยู่ในใจ ต่อเมื่อแปลและเขียนขึ้นดู ก็ต้องใช้ความพินิจไตร่ตรองและค้นคว้าจากที่อื่นมาเพิ่มเติม พอเขียนจบก็ได้ความรู้เข้าลำดับติดต่อกัน ไม่เป็นลุ่ม ๆ ดอน ๆ เหมือนเมื่อยังไม่ได้เขียนได้แปล

ข้าพระพุทธเจ้าสอบถามพระสารประเสริฐว่า วินัยธร และ ธรรมกถึก เป็นชื่อคนมีบ้างไหม พระสารประเสริฐตอบว่า มีภิกษุชื่อวินัยธรกับธรรมกถึกกล่าวไว้ในธรรมบท ภาค ๑ เรื่องโกสัมพีแห่งเดียว นอกจากนี้ยังไม่พบที่ไหนอีก

ข้าพระพุทธเจ้าเคยสอบถามชื่อส่วนต่าง ๆ ของเกวียนมาหลายครั้งแล้ว ก็เก็บความรู้ที่สอบถามได้ไว้ไม่นาน ก็ลืมอีก เป็นเพราะไม่ได้เห็นเกวียนอยู่เสมอ เมื่อข้าพระพุทธเจ้ากราบทูลเรื่องเกวียนไปครั้งก่อน มีความรู้ในคำ ทูบ เพียงว่า เป็นส่วนหนึ่งของเกวียนเท่านั้น แต่จะเป็นส่วนเกวียนตอนไหนไม่ทราบเกล้า ฯ ข้าพระพุทธเจ้ารู้สึกในพระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ ที่ทรงพระเมตตาตรัสบอกเรื่องทูบแก่ข้าพระพุทธเจ้า

คำว่า ปึ๊ง เป็นภาษาจีน ชาวแต้จิ๋วอ่านว่า ปุ๊น หรือ ปึ๊ง ได้ทั้งสองอย่าง กวางตุ้งอ่านเป็น ปู๋น และอ่านว่า เปิ๋น ก็ได้ แปลว่า ต้น เค้า มูล เดิม พื้น (ตัวหนังสือจีนเขียนเป็นต้นไม้งอกขึ้นบนพื้นเดิน 本 木 十 一) คำว่า ญี่ปุ่น ชาวแต้จิ๋วเรียกว่า ยิดปุ๊น แปลว่ามีต้นมาจากอาทิตย์ ปุ๊น หรือ ปึ๊ง เมื่อประกอบกับคำอื่น มีความหมายเป็นต่าง ๆ ที่ใกล้คำไทยเช่น ปุ๊นตี้ = คนพื้นเมือง (ตี้ แปลว่า แผ่นดินหรือที่) ปุ๊นก๊ก = ประเทศของตน เจ๊กปึ๊งจือ กวางตุ้งเป็น หยัดปู๋นซี = หนังสือเล่มหนึ่ง (เทียบ ปู๋น กับ บั้น จือ หรือ ซี แปลว่าหนังสือ เสียงกวางตุ้งอยู่ระหว่าง ซี กับ ซือ) ปุ๊นจี๊ กวางตุ้งเป็น ปู๋นฉีน = ต้นทุน (ฉีน แปลว่า เงินตรา ตรงกับ สิน (ทรัพย์) จี๊ ในเสียงแต้จิ๋ว ไทยเรียกเป็น จี๋ เช่น เจ้กจิ๋ น่อจี๋ = สลึงหนึ่ง สองสลึง) ข้าพระพุทธเจ้าคิดด้วยเกล้าฯ ว่า ปู๊น ถ้าจะเทียบกับคำว่า พื้น ก็ใกล้กันทั้งเสียงและความหมาย

คำว่า พ่าย ข้าพระพุทธเจ้าสอบถามนายสุด ว่าเป็นคำใช้โดยปกติในหนังสือและในคำพูดของภาคอีศาน หมายกกามว่า แตกทัพ แพ้ทัพ ข้าพระพุทธเจ้าค้นในภาษาไทยใหญ่ก็ไม่พบ ทางพายัพ แพ้ไม่ชะนะใช้ว่า ก๊าน ส่วน พ่าย ไม่มีใช้พูด มีปรากฏในภาษาหนังสือบ้างในคำว่า แตกพ่าย แต่ไม่ค่อยมีเสมอ

คำเคลื่อนที่ในความหมาย ข้าพระพุทธเจ้าพึ่งทราบเกล้า ฯ ความหมายที่แท้จริงของคำว่า สาบาล และ สบถ พระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ หาที่สุดมิได้ โดยเหตุที่เป็นคำใช้กันเสมอ จึงไม่ได้เฉลียวคิดว่าความเป็นตรงข้าม ตามตำรานิรุกติศาสตร์ว่า ความหมายนั้น เป็นของไม่มีใครรู้ได้ถูกต้อง เพราะสิ่งต่างๆ ย่อมมีลักษณะแตกต่างกันทั้งนั้น ยกตัวอย่างเช่น มะม่วง ลักษณะของมะม่วง ว่าโดยรูปสีสันและรส แต่ละผลก็ไม่เหมือนกัน ว่าโดยทางสัมผัสก็เป็นต่างๆกัน เมื่อมนุษย์จะตั้งชื่อให้ว่านี้แหละคือ มะม่วง ก็ได้แต่เก็บเอาลักษณะทั่วๆ ไปที่เป็นสามัญของมะม่วงมารวมกัน แล้วก็ตั้งชื่อให้ว่ามะม่วง เป็นความหมายรวมถึงสามัญลักษณ์ของมะม่วง แต่ผู้ใช้มักนำเอาไปใช้แต่ฉะเพาะลักษณะหนึ่งลักษณะใดที่เห็นเด่นและที่ตนต้องการ ความหมายนั้นก็เกิดแคบเข้ากว้างออก หรือเคลื่อนที่ไป ความหมายของคำเปรียบได้กับกลางใจดำของเป้า ซึ่งมีบริเวณแผ่ออกไปโดยรอบ ความหมายกลางใจดำ เป็นความหมายรวม ห่างกลางใจดำออกมาเป็นความหมายข้างเคียง ซึ่งจะค่อยห่างออกไปโดยลำดับ สุดแล้วแต่ผู้ใช้จะนำเอาไปใช้ทางแง่ไร จะใช้เป็นความหมายดีหรือชั่วอยู่กันคนละมุมของบริเวณเป้า จะใกล้หรือห่างกลางใจดำก็ได้ ถ้าใช้ในความหมายได้ซ้ำบ่อยๆ ความหมายก็ไปเกาะอยู่ในที่ๆใช้ ในที่สุดความหมายกลางใจดำหรือความหมายข้างเคียงในตอนอื่น ก็เลือนและหายไป กลายเป็นความหมายย้ายที่ขึ้น ความหมายในคำใดที่มีอยู่ในพจนานุกรม ก็เป็นแต่ส่วนหนึ่งของความหมายในคำนั้นเท่านั้น ไม่ใช่เป็นความหมายทั้งหมด แท้จริงคำพูดแต่ละคำย่อมมีความหมายไปได้ต่าง ๆ แต่อยู่ในขอบเขตต์ของบริเวณเป้า จะรู้ได้ต่อเมื่อมีผู้ใช้ขึ้น เช่นคำ ว่า ผู้ใช้อาจนำไปใช้เป็น กิน เขียม โดนกัน เช่น ว่าเสียสามชาม ว่าเสียหลายหน้า รถสามล้อว่าเข้ากับรถราง และอะไร ๆ อีกก็ได้ เมื่อความหมายห่างกลางใจดำออกมา แม้ไม่เป็นตันติภาษา ถ้าคนในหมู่ยอมรับรู้ด้วยแล้ว ก็เกิดเป็นความหมายขยายตัวห่างออกไปอีก คำนั้นก็เกิดมีความหมายมากมาย ซึ่งเดิมก็มีแต่ความหมายรวมสามัญลักษณ์เท่านั้น ที่ความหมายจะห่างกลางใจดำออกไป เกิดจากแนวเทียบก็มี เกิดจากอุปมาก็มี เช่นเรือบิน เอาลักษณะอาการของนกบินเป็นแนวเทียบไปใช้กับสิ่งอื่นที่มีลักษณะอาการคล้ายคลึงกัน ของแหลมอาจแทงทะลุ เป็นรูปธรรม นำเอาไปใช้เป็นอุปมาในสิ่งที่เป็นนามธรรม เช่น ปัญญาแหลม คำพูดที่เป็นนามธรรมย่อมมาจากรูปธรรมก่อน โดยอาศัยอุปมาเป็นสะพานเชื่อมกัน โดยเหตุที่มนุษย์นำเอาคำที่เป็นรูปธรรมมาใช้ในความที่เป็นนามธรรมมานาน จนชินและชาๆไป จึงไม่รู้สึกกัน เช่น ปัญญาทึบ ใจดำ ตัดสินใจ (สิน กวางตุ้ง เป็น ฉีน แปลว่า ตัดด้วยตะไกร) สงสัย (สํ = ร่วม สย = นอนลง) doubt (อยู่ระหว่างสองแห่ง มาจากธาตุทวา-สอง) เป็นต้น เรื่องความหมายในภาษา ตามที่ข้าพระพุทธเจ้าเข้าใจ มีโดยย่ออย่างนี้

เรื่องเขียนอย่างหนึ่ง พูดอย่างหนึ่ง เช่น เกวียน พูดว่า เกียน ตามตำรานิรุกติศาสตร์ว่า เสียงนั้นมีจำนวนนับไม่ถ้วน มีเสียงเพี้ยนและเสียงเหลื่อมล้ำซับซ้อนกัน แต่ภาษาหนึ่ง ๆ เลือกเอาแต่ลางเสียงมา คิดจัดเป็นเครื่องหมายใช้เท่านั้น เพราะฉะนั้นเครื่องหมายของเสียงคือตัวหนังสือ จึงไม่ใช่เสียงอันแท้จริงของคำพูด หากบังคับให้ออกเพียงอ่านเป็นเพียงสมมตเท่านั้น คำพูดเขียนเป็นตัวหนังสือ ทำให้เสียงของคำกลายได้ ถ้าคำพูดเป็นประโยค ไม่ใช่เป็นคำๆ ก็จะเป็นเสียงติดต่อคาบเกี่ยวกันไป จนกว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อหยุดเสียงพูด เสียงที่เปล่งออกมาจะหนักเบาเน้นเร็วช้า ฯลฯ ก็จะมีเสียงเด่นเป็นยอดของเสียงอยู่มากยอด เมื่อนับยอดของเสียงได้กี่ยดด ก็คือเปนเสียงกี่พยางค์นั้นเอง อย่างเดียวกับทิวเขา ย่อมกำหนดหมายที่ยอดสูง คิดด้วยเกล้า ฯ ว่าที่โบราณเขียน ภู สะใภ้ ด้วย ภ ในคำซึ่งเป็นคำไทยแท้ ๆ คงเนื่องด้วยต้องการจะถ่ายเสียงซึ่งไม่ใช่เสียง พู หรือ ไพ้ หากเสียงนั้นหายไปเสียแล้ว จึงอ่านได้เป็นเสียง พ ไป

หนังสือญวนเขียนด้วยอักษรโรมัน ล่ามญวนบอกข้าพระพุทธเจ้าว่าเรียกตัว ก๊กงื้อ คำนี้เป็นภาษาจีน แปลว่า ภาษาเมืองหลวง เช่นเสียงหนังสือจีนที่เป็นภาษากลาง ซึ่งเรียนกันในโรงเรียนเวลานี้ ก็เรียกว่า ก๊กงื้อ หนังสือเดิมของญวนใช้ตัวจีน ทางชะวา มะลายู ก็ใช้เขียนตัวโรมันเหมือนกัน ว่าชาววิลันดานำเอาไปสอนให้แขกใช้ เสียงญวนไม่มีเสียง ฟ เช่นคำว่า ฝรั่งเศส ก็เป็น พัด ในไหหลำก็เป็นเสียง พ แต้จิ๋วเป็น ฮ เช่น กวางตุ้ง ฝุง แต้จิ๋วเป็น ฮง ไหหลำเป็น พง กวางตุ้ง ฟัด แต้จิ๋ว ฮวด ไหหลำ พัด จีนไหหลำชื่อ พง และ พัด เมื่อเขียนเป็นหนังสือไทยกลายเป็นรูปแขกไป พง ก็เป็น พงศ์ พัด ก็เป็น พัฒน ญวนอยู่ใกล้กับไหหลำเสียงเป็นอย่างเดียวกัน เสียง ส ญวนและไหหลำเป็น ต เช่น สุน ก็เป็น ตุ้น เสง ก็เป็น เต้ง เสียง ค กลายเป็น ด เช่น เต้า (ถั่ว) ไหหลำเป็น เต้า เต๊ ไหหลำเป็นเด่ ญี่ปุ่นตามที่ข้าพระพุทธเจ้าสังเกตมาก็เป็นเช่นนั้น เช่น ไต้ เป็น ได้ ในไหหลำ และเป็น ได ในญี่ปุ่น ฝรั่งว่าชนชาติที่พูดภาษาฮกเกี้ยน แต้จิ๋ว และไหหลำ เป็นพวกเดียวกัน เป็นพวกไม่ใช่จีนเดิม หากมาผสมกันเข้าในภายหลัง ภาษาญี่ปุ่นเป็นพวกตาด แมนจู และเกาหลี คงจะผสมกันเข้ากับภาษาของชาวทะเลใต้ เป็นเรื่องยุ่งถืออะไรแน่ไม่ได้

ขยด เขยิด เขยิบ ขยับ และคำ หยด หยัด หยาก หยอด ข้าพระพุทธเจ้าเห็นพ้องในกระแสพระดำริทุกประการ ข้าพระพุทธเจ้าคิดค้นต่อไป โดยอาศัยตัวสกดหัวท้ายในวรรคอักษรเป็นหลัก เช่น ด - น ก็ได้คำเพิ่มขึ้นอีกหลายคำ เช่น ขยด - เขยื้อน ถ้าตัด ขะ ซึ่งจะตรงกับ กระ ออกเสีย ก็มีคำว่า ย่น ยั่น (อีศานออกเสียงยาวเป็น ย่าน หมายความว่า ถอย เช่น ไม่ย่าน - ไม่ถอย) เขยิบ - คืบคลาน - ขยับ หยัด – ยืด - ยื่น หยาด - ยืด - ยาด - ยาน (อีศาน หยาด คือไหลยืดเป็นสายลงมา) หยอด - หย่อนลง ถ้าเขียนเป็น หย่อญ โดยออกเสียง ญ ขึ้นนาสิก ก็เป็น ย้อย มีตัวอย่างเป็นแนวเทียบ เช่น อาหมเขียน หญ แต่ออกเสียงอ่านว่า หอย = ห้อยโหน ไทยใหญ่เขียน มุญ แต่ออกเสียงอ่านว่า มุย = มุ่นมวย ในเตลงพ่ายมีคำว่า สงสัญ=สงสัย

ข้าพระพุทธเจ้ายังติดใจในคำว่า ยกเลิก ที่ตรัสว่า ยกทัพ คือไป เลิกทัพ คือกลับ ยก ถ้าควบกับ ยอ ก็เป็น ยกย่อง (ยก - ย่อง) อีศาน ยกทัพ ใช้ว่า ยอทัพ ในหนังสือวรรณคดีใช้ ยอทัพ ว่า ยกทัพ ก็มี ยอ ซึ่งเป็นชื่อเครื่องดักปลาด้วยวิธียกขึ้น เรียกว่า ยกยอ ก็จะมีความหมายเป็นพวกเดียวกัน

ข้าพระพุทธเจ้าพบคำจีนอยู่คำหนึ่งเห็นแปลก คือ หล่ง อ่านเป็น หลั่ง หล่อง ก็ได้ แปลว่า ทำ เล่น รังแก ลิลิตพระลอ แห่งหนึ่งว่า ยายจะลองเจ้าหล่าบ่ได้หลานเฮย ลอง เห็นจะตรงกับความหมายว่าทำ ว่าลอง หรือเล่น รัง ที่แปลว่าสร้าง ก็จะเป็นคำเดียวกัน สร้างจึงได้มีตัว ร แซก รังแก ก็คงทำเกเรอะไรอย่างหนึ่ง รังวัด ก็คงเป็นทำการวัด สร้าง ในภาษาจีนกวางตุ้งมี ซัง หรือ เซง แปลว่า เกิด ว่า สร้าง แต้จิ๋วเป็น แซ ใช้พูดเป็น ซา ก็มี เช่น แซยิด ซายิด

ข้าพระพุทธเจ้าได้เห็นพระแสงดาบในราชพิพิธภัณฑ์มีมากมาย เพิ่งได้สติทราบเกล้า ฯ ว่าคล้ายกับเรื่องพระราชฉัญจกร เพราะจะทรงพระกรุณาพระราชทานผู้ใดก็ได้ พระแสงลางองค์เทียบได้กับพระตรา อย่างพระมหาโองการเป็นของประจำพระองค์ พระแสงที่พระราชทานเจ้านาย แม่ทัพ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เทียบได้กับพระราชลัญจกรที่พระราชทานไปประจำตัวผู้ได้รับพระราชทาน ยังพระแสงจักรอีกอย่างซึ่งข้าพระพุทธเจ้าคิดไม่เห็น จักร ก็คืออาวุธ เป็นรูปวงกลมมีคมรอบตัว แต่จักรของไทยเขียนเป็นลายจัก ๆ ในแนวคม แล้วรูปจักรที่เขียนเป็นแนวคมหายไป เหลือแต่ลายจัก ๆ เสียงไปพ้องเข้ากับคำว่า จักร แต่ลายจักในพระแสงจักรเป็นเวียนซ้าย ลายในเครื่องราชอิสสริยาภรณมหาจักรีเป็นเวียนขวา ลายในสตางค์เป็นเวียนซ้าย จักรเครื่องหมายของทหารบกเป็นเวียนซ้าย แต่ของทหารเรือเป็นเวียนขวา กลับกันไปกลับกันมา ถ้าถือว่าเป็นแต่ลวดลายจัก ๆ ก็ควรเวียนขวา ถ้าถือลายจัก ๆ เป็นคมอาวุธก็ควรเวียนซ้าย คิดด้วยเกล้า ฯ ว่าถ้าไม่เปนเพราะผู้เขียนเผลอ ก็น่าจะมีความหมายผิดกัน ขอรับพระบารมีปกเกล้า ฯ ขอประทานทราบเกล้า ฯ ด้วย

พระสังข์ในราชพิพิธภัณฑ์ก็มีมากองค์ การรดน้ำด้วยสังข์เพื่อสิริมงคล ข้าพระพุทธเจ้ายังไม่เคยพบทางอินเดีย จะมีกล่าวก็แต่ใช้เทรดจากหม้อกลศเป็นการหลั่งน้ำ ข้าพระพุทธเจ้าถามสวามีสัตยนันทบุรี ก็อธิบายว่า การรดน้ำด้วยสังข์ก็มีแต่เรื่องสนานเทวรูป คือยกเทวรูปวางลงในภาชนะแล้วถวาย รดด้วยน้ำมนตร์ในสังข์ ซึ่งมีหญ้าแพรกใบมะตูมและดอกไม้ประจำเทวดาปนอยู่ในน้ำมนตร์ การรดอย่างนี้เรียกว่า วิเศษอรรฆย ถ้ารดด้วยภาชนะโลหะมีรูปเป็นราง เรียกว่า สามัญอรรฆย ข้าพระพุทธเจ้าสอบถามว่า ถ้าเป็นเทวรูปขนาดใหญ่ทำอย่างไร ก็อธิบายว่า ใช้ดอกไม้ประจำเทวดาแทน เอาดอกไม้นั้นวางในกลางภาชนะแล้วหลั่งน้ำสนาน ดอกไม้ประจำพระอิศวรใช้ดอกลำโพง พระนารายณ์ใช้ดอกมะลิ พระลักษม์ใช้ดอกบัว พระกาลีใช้ดอกชะบา เทวดาองค์อื่น ๆ สวามีสัตยนันทบุรีจำไม่ได้ แต่ว่าใช้อดกอะไร ๆ ก็ได้ ยกเว้นดอกชะบา ข้าพระพุทธเจ้าพบในกฎหมายเก่า กำหนดให้หญิงแพสยาทัดดอกชะบาแดงนั่งขาหยั่งพาตะเวน (ขาหยั่ง ข้าพระพุทธเจ้าไม่เคยเห็น) เพราะด้วยดอกชะบาเป็นไม้ประจำกาลีเทวี จึงเหมาะแก่ที่จะใช้กับหญิงที่ถือว่าเป็นกาลีเมือง ดอกลำโพงประจำพระศิวก็เหมาะ เพราะพระศิวปางเป็นภูเตศวรอาศัยอยู่ในป่าช้า มีภูตผีเป็นบริวารก็เป็นสมควรที่จะใช้อย่างนั้น สังข์เป็นหอยทะเล เหมาะแก่พระนารายณ์ เพราะเสด็จประทับอยู่ในเกษียรสมุทร ดีร้ายพระนารายณ์จะเป็นเทวดารุ่นหลังของพวกที่อยู่ใกล้ทะเล สังข์ กับ conch ในภาษาอังกฤษ คิดด้วยเกล้า ฯ ว่าเป็นคำเดียวกัน เพราะ c = ศ ch = ข เทียบ ศัต = ent c = ศ n = ต hundred h = ศ หรือ ส เทียบ สินธู-ฮินดู nd = ต red เป็นปัจจัยแปลว่านับ คำว่าดีร้าย เป็นความหมายกลาง แต่ลางทีก็เป็นความหมายไปทางข้างร้ายทางเดียว ไม่ดีไม่ร้าย กับ (ทำ) มิดีมิร้าย ความหมายผิดกัน สำนวนทางพายัพ คำว่า บ่ฮ้ายบ่ดี หมายความว่า พอสมควร ไม่ถูกไม่แพง ปานกลาง

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ