๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ยส

กรมศิลปากร

วันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๑๓ มีนาคม ทรงพระเมตตาตรัสเล่าเรื่อง เรือแซ เรือกิ่ง และ เรือไชย ทั้งนี้เป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ หาที่สุดมิได้ คำว่า สำปัน ในคำร้องว่า สัมปันเน และ เฮลั่กพลั่ก เสียงใกล้กับ สัมปั้น ซึ่งในพจนานุกรมภาษาอังกฤษว่าเปนคำมะลายูได้ไปจากจีน หมายความถึงเรือขนาดยาวตั้งแต่ ๑๒ ถึง ๑๕ ฟุต ข้าพระพุทธเจ้าดูในพจนานุกรมภาษาจีน-อังกฤษ มีคำว่า ซำปัน หมายความว่าเรือขนาดเล็ก แปลตามคำ ซำ = สาม ปัน = บาน แผ่น รวมกันก็ว่าเรือต่อด้วยไม้สามแผ่น ในภาษามะลายู สำปั้น หมายความถึงเรือขนาดเล็ก และใช้คำอื่นประกอบเป็นชื่อเรือชะนิดต่าง ๆ เช่น สำปั้น ปันยัง = เรือยาว เป็นต้น ในการตรวจค้นคำ สำบั้น ข้าพระพุทธเจ้าพบคำว่า kolek ในภาษามะลายูคำหนึ่ง อธิบายไว้ว่าเป็นเรือขุดขนาดแคบ รูปเพรียว ชาวยุโรปเรียกว่า koleh คำนี้เองคงมาเป็น กุแหละ ในภาษาไทย แต่เรือกุแหละของไทยรูปกลางป่องม่อต้อ ผิดกับกุแหละของมะลายู ในมะลายูมีคำ เฮลา แปลว่าฉุดลาก ใกล้คำ ซาละพาเฮโล เห็นจะเป็นคำเกิดเต่เสียงที่เปล่งออกมาในเวลาเหนื่อย จึงได้มาตรงกัน ถ้าเทียบ เฮลา กับ เฮลั่ก ดูก็ใกล้กันมาก ในมะลายูยังมีคำว่า pelok แปลว่ากอด รัด ความไม่เข้ากันกับที่ร้องในเวลาพายเรือแจวเรือ

ข้าพระพุทธเจ้าเคยเห็นเรือของพวกชาวเกาะทะเลใต้ มีรูปคล้ายเรือหงส์มีเดือยหัว ลางชะนิดก็มีรูปเป็นศีรษะจรเข้และสัตว์ต่าง ๆ คิดด้วยเกล้าฯ ว่าจะเป็นความคิดร่วมกันด้วยเผอิญ หรือมิฉะนั้นจะเกิดจากแหล่งเดียวกันก่อน แล้วแพร่หลายไปในที่ต่าง ๆ ซึ่งในภาษาอังกฤษเรียกว่า diffusion of culture ที่ทรงพระเมตตาตรัสอธิบายเรื่องเรือกิ่งเรือไชยแก่ข้าพระพุทธเจ้า กระทำให้ข้าพระพุทธเจ้ารู้จักรูปลักษณะของเรือชัดขึ้น มีประโยชน์ในการค้นคว้าของข้าพระพุทธเจ้าต่อไปเป็นอันมาก

เรื่องชื่อเรือ แม้แต่เป็นเรือของชาวบ้านใช้กัน ก็เป็นเรื่องยุ่งยาก ข้าพระพุทธเจ้าเคยรวบรวมชื่อเรือต่าง ๆ ในภาษาไทย แบ่งเป็นพวก เรือขุด เรือเสริมกราบ และ เรือต่อ การรวบรวมก็ได้แต่ชื่อ ครั้นนำเอาชื่อไปสอบกับบัญชีและลักษณะเรือต่างๆ ของกรมเจ้าท่า และรูปเรือตัวอย่างในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ และจากผู้รู้ชี้แจงให้ฟังก็มีที่ไม่ตรงกันอยู่มาก ข้าพระพุทธเจ้าจึงต้องระงับการสอบสวนอยู่เพียงนี้ คำว่า สำเภา คำหน้าพ้องกับคำ สำปั้น ค้นหาในภาษาจีนก็ไม่พบ แต่ในไทยใหญ่เรียกสำเภาว่า ซางพอ น่าจะมีที่มาจากแหล่งเดียวกัน ถ้าเป็นกำปั่นไฟ ในไทยใหญ่เรียกว่า ซางพอไพ

เรื่องขุนช้างไม่ใช่ล้านเหม่ง ถ้าไม่ตรัสขึ้นข้าพระพุทธเจ้าก็ไม่เห็น ได้ลองสอบถามคนอื่นก็เป็นอย่างข้าพระพุทธเจ้า เป็นน่าขันมากที่ความหมายก็เห็นอยู่อย่างหมิ่นเหม่ แต่ไม่มีใครเห็น

ที่ตรัสถึงไม้ยุงปัด ข้าพระพุทธเจ้านึกถึงคำไม้กวาด ในภาษาไทยพบเรียกว่า ไม้ยู หรือไม้ยูปัดทุกแห่ง ยู ในพจนานุกรมภาษาไทยใหญ่ว่าเป็นต้นไม้จำพวกปาล์ม เอาก้านของใบมาทำไม้กวาด ทีแรกคิดด้วยเกล้า ฯ ว่าจะเป็นมะพร้าว แต่มะพร้าวไทยใหญ่มีชื่อต่างหาก เรียกว่า หมากอุ๊น ข้าพระพุทธเจ้าคิดด้วยเกล้า ฯ ว่า ที่คำปากใช้เรียกไม้กวาดว่าไม้ยังกวาด จะเพี้ยนไปจากไม้ยูปัด ก็ได้ ส่วนคำ วี น่าจะพ้องเข้ากับ วี ในวีชนีด้วยเผอิญ เพราะวี ซึ่งแปลว่าปัด มีอยู่ในภาษาไทยเป็นปกติทุกถิ่น ส่วน พัด ไม่ปรากฏมีใช้ เช่นคำว่า พัด (นาม) ก็ใช้ว่า วี หรือ หมากวี พัด (กิริยา) ก็ใช้ว่าวีคำเดียวกัน

ที่ประทานคำแปลของคำ ปะตานี ว่า ชาวนา พระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ ข้าพระพุทธเจ้าเคยค้นหาในพจนานุกรมมะลายู-อังกฤษ มาพักหนึ่งก็ไม่พบ

โฮเต็ล ในเวลานี้ทางราชการเรียกว่าโรงแรมทั้งหมด ข้าพระพุทธเจ้านึกเสียดายคำว่า โฮเต็ล เพราะรู้จักกันแพร่หลายเข้าใจกันดีแล้ว ถือได้ว่าเป็นคำของกลางใช้กันทั่วโลก ไม่ใช่เป็นคำของชาติใดโดยฉะเพาะ โรงแรม ควรจะใช้ปรับเข้ากับ อิน ในภาษาอังกฤษ หรือโรงเตี้ยมของจีน ส่วน เรสโตแรง ของฝรั่ง ที่ใช้กันว่า ภัตตาคาร ก็สะดวกดี เมื่อมีคำใช้แยกออกเป็นสามคำดั่งนี้ ก็เท่ากับภาษาไทยมีคำร่ำรวยขึ้นอีก ดีกว่าให้คำในภาษาหดไป แต่ข้าพระพุทธเจ้ากราบทูลนี้ในแง่อักษรศาสตร์ ส่วนในแง่กฎหมาย ถ้าใช้เป็นสามอย่างจะมีขัดข้องอย่างไรบ้างไม่ทราบเกล้า ฯ

ที่ตรัสถึงเรื่องเป็น เผอิญ หรือ ฟลุก มีแปลกอยู่ที่ฟลุกนั้นผู้ที่ชำนาญมักได้ฟลุกมากกว่าผู้ที่ไม่ชำนาญ เช่นคนเล่นบิลเลียดเก่งมักได้แต้มฟลุกมากกว่าคนที่เล่นไม่เก่ง

ข้าพระพุทธเจ้าได้อ่านพบเรื่องสังข์ทองในภาษาไทยใหญ่ เรื่องเหมือนกันกับสังข์ทองพระราชนิพนธ์ จะผิดกันก็แต่พลความ อีกเรื่องหนึ่งของไทยใหญ่ เรื่องตอนต้นเหมือนจันทโครบ ส่วนตอนปลายเหมือนพระสุธน นางมโนหรา เรื่องอย่าง สังข์ทองเคยเห็นกันว่าเปนนิยายพื้นเมืองของไทยก็ไม่ผิด แต่ของเดิมทีเดียวอาจมาจากอินเดีย ของไทยใหญ่จึงมีด้วย เรื่องคล้ายสังข์ทองของอินเดียก็มีเป็นนิยายในท้องถิ่นเบงคอลของชาวเบงคลี ถ้านิยายเหล่านี้มาแต่อินเดียอาจผ่านมาทางจีนในนิกายมหายานก็ได้ เพราะเรื่องต่าง ๆ ในคัมภีร์ทิวยาวทานของมหายาน ก็มีพ้องกับเรื่องในปัญญาสชาดกอยู่หลายเรื่อง ข้าพระพุทธเจ้ายังใฝ่ฝันถึงเรื่องชะนิดเรื่องท้าวแสนปม เรื่องพระร่วงลูกนาคอยู่

พระมาลาเส้าสูงมีขนนกและช่อดอกไม้ทำด้วยทองคำเสียบ เจ้าหน้าที่อธิบายให้ข้าพระพุทธเจ้าฟังว่า ช่อดอกไม้ทองคำนี้ เรียกว่าพระสุวรรณมาลัย ในชั้นต้นข้าพระพุทธเจ้าคิดด้วยเกล้า ฯ ว่าน่าจะตั้งชื่อขึ้นเอง ครั้นเปิดค้นหาคำ สำปั้น ในภาษามะลายู ก็พบคำ มาลัย ด้วยเผอิญ ในนั้นแปลไว้ว่าภู่ขนนกชะนิดหนึ่ง ดอกไม้ที่เสียบประดับผม

ข้าพระพุทธเจ้าอ่านพบในหนังสือฝรั่งชื่อ East Again by Walter B. Harris เล่าถึงเรียนพวกนาคซึ่งเป็นชาวป่าอยู่ในแคว้นอัสสัมว่า เรือนของพวกนี้มุงด้วยแฝกมีขนาดใหญ่แต่สกปรก ถ้าเป็นเรือนของคนใหญ่คนโต ปลายอกไก่ด้านหน้า มีท่อนไม้ขนาดใหญ่สลักเป็นลวดลายรูปร่างคล้ายเขากระบือกางออก... ประตูนั้นสลักเป็นรูปคนอย่างหยาบ ๆ ตอนบนของประตูมีเขากระบือหรือมีลวดลายอื่น ๆ ประดับ ดังนี้ ทำให้ข้าพระพุทธเจ้าคิดไปถึงช่อฟ้า หางหงส์ และตัวเหงา ว่าจะเปนแนวเดียวกันในชั้นของเดิม

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ