๑๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๔๘๔

พระยาอนุมานราชธน

หนังสือของท่านซึ่งลงวันที่ ๗ และที่ ๑๑ เดือนนี้ ได้รับแล้วทั้งสองฉะบับ ให้คันมือคันใจที่จะเขียนตอบตั้งแต่ได้รับหนังสือฉะบับก่อนมาแล้ว แต่ระงับเสียด้วยเห็นว่าจะเปนหนังสือมากฉะบับนัก ไว้รวมกันสองสามฉะบับจึงตอบที่หนึ่งก็ได้ ไม่ใช่เรื่องธุระร้อน

โหง มาแต่ หูง แน่ ที่ฉันว่าเขมรทีจะเปน แหล่ นั้น ก็เพราะเห็นหนังสือเขมรหลายฉะบับ ลงท้ายเขียน โหง จะแปลความหมายว่าอะไรก็ไม่ได้นอกจากฉ่า แล (แหล่) เพราะไม่กินความกับคำหน้าเลย

พาย กับ พราย เปนอันเดียวกันแน่ ทางอีศานและพายัพมักตัดตัวควบ

ตายทั้งกลม เห็นด้วยว่าเปนคำเดียวกันกับ ตายโคม

ดีใจที่ได้ทราบความว่า พลาย มาแต่ภาษามอญ เปนคนละคำกับ พราย

ขอบใจท่านที่ค้นคำพวก หลง ซึ่งใช้แปล โมห บอกไปให้ทราบ ถึงแม้จะได้ตรวจชิลเดอหรือโมเนียวิลเลียมว่าเขาแปลว่ากระไรไว้ก็ดี ก็ไม่พ้นความสงสัยอยู่นั่นเอง เพราะคำว่า อวิชฺชา มีอยู่ คำแปลนั้นเชื่อได้แต่ที่ควรเชื่อ จะเชื่อไปหมดนั้นไม่ควร เพราะความหมายที่เคลื่อนตัวไม่ใช่มีแต่เมืองเรา แม้ในอินเดียก็มีเหมือนกัน อย่างไรก็ดี พจนานุกรมทั้งหลาย ถ้าสามารถเข้าใจความ ก็แปลไปตามที่เข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจก็ต้องดูชาวบ้านว่า เขาเข้าใจกันอย่างไร หรือถาม ถ้าชาวบ้านเข้าใจเคลื่อน คำแปลก็ต้องเคลื่อน คิดดูถ้ารู้อยู่แล้วว่าชั่ว แต่ขืนทำ นั่นปรับว่าตกนรกควรอยู่ แต่ความไม่รู้นั้นเพียงแต่อยู่ในทางไปนรก ยังไม่ตกแท้ ๆ อาจแก้ตัวได้ เทียบดูกับการทำผิดทั้งปวง เหมือนหนึ่งภิกษุ ท่านถือเอาใจเปนที่ตั้ง ถ้าไปเหยียบมดตายด้วยไม่มีเจตนา ท่านไม่ปรับว่าเปนอาบัติ ต่อฆ่าด้วยเจตนาท่านจึงปรับว่าเปนอาบัติ ภิกษุที่เปนบ้านั้นจะทำอะไรก็ได้ ท่านไม่ปรับอาบัติทั้งสิ้น นี่หมายความว่าบ้าคลั่งไคล้ไปจนไม่รู้สึกตัว เห็นได้ว่าท่านหมายเขาความจงใจเปนที่ตั้ง แต่อาบัตินั้นท่านจัดเปนว่ามีทั้งสจิตตกาบัติและอจิตตกาบัติ พระเถระลางองค์ท่านก็เห็นว่าอจิตตกาบัตินั้นเกินไป

ไม้ม้วนนั้นสงสัยมานานแล้วว่ามีทำไม เสียงก็เหมือนกันกับไม้มะลาย เปนแต่สงสัยว่าทีจะออกเสียงต่างกัน แต่ไม่ได้ถามท่าน ท่านบอกให้ทราบด้วยไม่ต้องถาม ก็เปนอันพอใจอย่างยิ่ง

ขอบใจท่านที่เขียนหนังสือจีนไปให้ทราบ เรื่องหนังสือจีนจะกล่าวทีหลัง

รอหันเปนของไทย สังสกฤตไม่มี แม้ กรรม ก็เปน กรม เราเขียนสับปลับอยู่ก็มี เช่นเก่าเขียน มรคา (อ่านว่า มอ-ร-คา) ใหม่เขียน มรรคา (อ่านว่า มัน-คา) ถ้าจะว่าไปทีก็จะเปนอายุลงศักราชได้ และทำไมจึ่งมีรอหันแต่ตัวเปล่า ถ้ามีสระด้วย เช่น บูรณ บูรพ ทำไมไม่เป็นรอหันไปด้วย

เรื่องอายุ ฉันมีตัวอย่างจะเล่าให้ท่านฟัง มีคนเขาคิดค่าเตียงทองของเขาเปนรัชชกาลที่ ๑ ฉันค้านว่าไม่ใช่ เพราะเตียงนั้นจำลักลายเทศพุดตาน ลายนั้นเกิดครั้งแรกในรัชชกาลที่ ๓ รัชชกาลที่ ๑ ยังไม่มี รู้ได้อย่างนี้ ที่เขาคิดว่าเปนรัชชกาลที่ ๑ ก็เป็นอันตกไป เพราะที่ฉันว่านั้นประกอบด้วยหลักฐาน เรื่องจำฝีมือได้ก็มี แต่ก่อนนี้ฉันไปเที่ยวดูของเก่าๆ กับกรมหมื่นวรวัฒน์ ไปเห็นตู้ลายลดน้ำเข้าใบหนึ่ง มีรูปเมขลารามสูร กรมหมื่นวรวัฒน์ท่านทักขึ้นว่าใครหนอเขียน รูปรามสูรมาทางข้างเราๆ ฉันทูลว่า พระยาจินดาสาย ตรัสรับรองว่า เอ๊อจริง

ท่านแปลชื่อ บัวเหลียว บัวผัด อินแปง อินตุ้ม อินลุ้ม ให้เข้าใจ ขอบใจเปนอันมาก ฉันรู้ได้แต่ อินแปง อนึ่งคำ ล่า หล้า เล่า เหล้า เปนต้นนั้น เปลี่ยนวิธีเขียนไปด้วยความต่างกัน แต่เมื่อไม่รู้ความหมายก็เขียนคลาดไป การเขียนไม่ถูกนั้นมีเสมอ เมื่อสองสามวันนี้เอง ฉันจะต้องเขียนคำ ราชวัด แต่เขียนอย่างไรไม่ทราบ จึงถามพระองค์เจ้าวรรณไวทยากร ซึ่งพอดีที่เธอไปหา เธอบอกว่าเขียน ราชวัติ แปลว่า รั้วพระราชา เข้าใจว่าเธอนึกผูกเอาเอง คำ ราชวัด จะมีมาแต่อินเดียแล้ว หรือเราจะผูกกันขึ้นในนี้ก็ไม่ทราบ เรื่องผูกชื่อยาว ๆ สมเด็จพระวันรัตน์เคยทักการให้ชื่อพระว่าไม่เป็นชื่อ จับใจฉันเสียจริงๆ นึกถึงชื่อหม่อมราชวงศ์ถ้วนเท่านึก ฉันเห็นไม่เปนชื่ออย่างที่ท่านว่า ชื่อที่ทำให้หลงไปก็มี เช่นครั้งหนึ่ง เจ้าผู้หญิงทูลลาออกจากฐานะพระราชวงศ์เพื่อสมรส สั่งลงมาให้ไต่สวน ฉันก็เรียกตัวมาถามว่าจะแต่งกับใคร บอกว่าจะแต่งกับนายซูลิน ฉันถามว่าแขกหรือ ก็บอกว่าไทย ทีหลังจึ่งมาคิดได้ว่า สุรินทร์ อันเปนแฟแช่นที่ชอบชื่อกันอยู่ โดยไม่รู้ว่าแปลว่ากะไร เหล่านี้เปนเรื่องชื่อ

เรื่องไว้ทุกข์ ตัดเสียให้เหลือน้อยเปนดี การไว้ทุกข์เราเอาอย่างต่างประเทศมาทั้งนั้น ของเราเองไม่มี

คำ อับปาง อับเฉา ท่านสอบได้ว่าเปนภาษาจีนกวางตุ้งดีอย่างยิ่ง เข้าใจได้ว่ามากับเรือเมืองจีน คำ สเภา สำเภา เห็นจะมาทางเขมร หนังสือจีนนั้นทีแรกฉันก็เห็นในปติทิน คิดว่าง่าย นึกว่าทางจีนเขาจะอ่านว่ากะไรก็ช่าง เราอ่านเปนภาษาไทยก็แล้วกัน ไปพูดขึ้นกับกรมพระนราธิป ท่านก็สั่งดิกชนารีจีนมาให้ดูก็หงายท้อง เขาเรียงตามคำหลวง คำหลวงทางเราก็ไม่ได้ใช้ ภาษาไรออกเสียงอย่างไร เขาก็จดไว้เปนอธิบายคำหลวง เราจะไปได้ยินภาษาแต้จิ๋วกวางตุ้งอะไรมา ก็หาไม่พบ อีกประการหนึ่ง หนังสือจีนนั้นก็มีเขียนประสมตัว หรือประสมกันหลายคำ ก็เปนความอย่างหนึ่งไป จึงทอดหุ่ยว่าเรารู้ไม่ได้ หนังสือนั้นก็ทิ้งแจ้งอยู่ในตู้

ตัวควบคิดว่าเรามาเอาอย่างเขมร คำของเราจะเปนตัวเดียวเปนพื้น คำเศร้า และ เซา ก็เข้าใจว่าเปนคำเดียวกัน คำ รัง ไม่เห็นจำเปนว่าจะต้องออกจากคำ สร้าง รัง หมายความว่าที่อยูก็จะได้ พยานก็มี เช่น รังสรรค์ ก็หมายความว่าที่อยู่บนสวรรค์ รังรักษ์ ก็หมายความว่าคุ้มที่อยู่ เมืองสรองก็เป็นชื่อเมืองในหนังสือ พระลอนั่นเอง มีคำต่อไปว่า สมบัติสองราชา มีมหิมาเสมอกัน คำ รอง ไม่จำเป็นต้องออกจาก สรอง เป็นคนละคำก็ได้ อนึ่งคำว่า ตีตั๋ว ก็หมายความว่าตีตราลงในตั๋ว หน้าที่ ก็คือ หน้าที่ ไม่เห็นผิดอยู่ที่ตรงไหนเลย

พจนานุกรมของพระอาจวิทยาคม ก็เห็นหนังสือพิมพ์เขาลง อยากเห็นอยู่เหมือนกัน คำ อยู่กิน กับ กินอยู่ ออกจะเหมือนกัน ไม่ต่างกันมาก อย่าง ใจเสีย เสียใจ ใจดี ดีใจ เช่นฉันบอก เจ้ามา (มาอะไรลืมเอานึกไม่ออกทีเดียว เปนเด็กหนุ่มลูกชายนายลุสลิ ช่างเขียนกรมศิลปากร) ตั้งใจเรียนภาษาไทย เขาบอกว่าภาษาไทยนั้นยากมาก ตัวอย่างที่เขายกมาว่าก็คือ ปลาเสือ กับ เสือปลา

เรื่องตรา กำลังตรวจแก้ ที่ออกชื่อฉันนั้นลางอย่างก็เปน ลางอย่างก็ไม่จำเปน ที่จำเปนก็ต้องคงไว้ ที่ไม่จำเปนฉันตัดออกลางอย่างฉันรู้ เช่นไตรสารเศวต เป็นต้น ได้แก้ไว้ให้ จะส่งมาให้ทีหลัง

ขอให้ท่านช่วยตรวจพจนานุกรมภาษาชวามลายูให้ด้วยว่า บุหงารำไป เขาแปลว่ากะไร

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ