๓ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๓ ยส

กรมศิลปากร

วันที่ ๓ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๓

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๑๕ วันที่ ๒๕ และวันที่ ๓๑ เดือนก่อน รวม ๓ ฉะบับ ทรงพระเมตตาตรัสประทานความรู้ต่าง ๆ แก่ข้าพระพุทธเจ้า เป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ หาที่สุดมิได้

ข้าพระพุทธเจ้ากราบทูลตอบลายพระหัตถ์ล่าช้า เพราะสลวนค้นเรื่องต้นเค้าของวันทั้ง ๗ และเรื่องคำที่กลับกันมีความหมายผิดกันไป เช่น เสียใจ-ใจเสีย เปนต้น เรื่องต้นเค้าวันทั้ง ๗ ข้าพระพุทธเจ้าค้นพบหนังสืออังกฤษที่ว่าด้วยเรื่องนี้ จึงได้แปลข้อความในนั้นทำเปนบันทึกต่างหาก และถวายมาพร้อมกับหนังสือฉะบับนี้ด้วยแล้ว

เรื่องคำกลับความหมายต่างกัน ข้าพระพุทธเจ้าเก็บเอาคำต่าง ๆ มาพิจารณา ปรากฏว่าคำกลับความหมายที่มีมากกลับกันได้ มักมีคำว่า ใจ อยู่ด้วย เช่น ชอบใจ ดีใจ เสียใจ หายใจ เจ็บใจ แต่ที่กลับไม่ได้ก็มีเช่น กินใจ ปลุกใจ ขืนใจ ที่มีคำว่า ตัว อยู่ก็มี เช่น หายตัว เจ็บตัว ขืนตัว ปลุกตัว รักตัว นอกจากคำว่า ใจ และ ตัว ในคำอื่น ๆ ก็มีเช่น ใช้ของ เกิดเรื่อง กินน้ำ ดีรส เสียความ เป็นต้น

คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า คำที่กลับความหมายจะเกี่ยวด้วยเพ่งเล็งเอาคำไหนเป็นที่ตั้ง เช่น น้อยใจ จะเพ่งเล็งเอา น้อย เป็นที่ตั้ง คำหลังเป็นแต่ประกอบช่วยคำหน้าเพื่อให้ทราบว่า น้อยอย่างไร ส่วน ใจน้อย เพ่งเล็ง ใจ เป็นใหญ่ เอาน้อย เป็นประกอบช่วย เมื่อพูดว่า น้อยใจ ความรู้สึกเป็นหน่วยเดียว จะแยกเป็น น้อย และ ใจ ไม่ได้ ถ้าเอาหลักไวยากรณ์เข้าปรับ น้อยใจ ก็เป็นคำเดียว แยกเป็น ๒ คำไม่ได้ เป็นกิริยาเข้าสมาส จะเอาอะไรเติมแซกกลางก็ไม่ได้ ส่วน ใจน้อย จะเอาอะไรเติมกลางก็ได้ เช่น ใจ-ของนายดำ-น้อย ใจ-ของนายดำ-ดี แต่ตามธรรมดาจะไม่ใช้ เว้นแต่จำเป็นเมื่อความไม่ชัด เช่น เครื่องในไก่ ความชัดเข้าใจอยู่แล้ว แต่ถ้าคำว่า อาหารไก่ ความอาจเป็นว่า อาหาร-ที่ทำด้วย-ไก่ ก็ได้ อาหาร-ของ-ไก่ ก็ได้ หรือคำว่า พ่อลูก เป็น พ่อของลูก ก็ได้ พ่อและลูก ก็ได้ จึงต้องเติมคำเข้าช่วยเพื่อให้ได้ความชัด เพราะฉะนั้นคำว่า น้อยใจ เติมอะไรไม่ได้ในระหว่าง จึงต้องถือว่าเป็นคำสมาส แยกเป็นกิริยาเป็นนามหรือเป็นอะไรไม่ได้ ส่วนใจน้อย อาจเติมอะไรเข้าได้ จึงไม่เป็นคำสมาสโดยแท้ แต่ก็ไม่ใช่คำโดด ๆ ความรู้สึกเป็นครึ่ง ๆ ว่าเป็นคำเดียวกัน ในตำรานิรุกติศาสตร์ จึงให้ชื่อเสียใหม่ว่า formula word เป็นความรู้สึกในความหมายของคำในชั้นต้นที่เป็นคำโดด ๆ มารวมกัน ถัดจาก formula word ความรู้สึกในความหมายรวมกันสนิทเกิดเป็น compound word ขึ้น แต่ยังมองเห็นคำที่ร;มกันเป็นคำๆ เมื่อใช้ไปนาน ๆ เสียงกร่อนเข้าเปลี่ยนรูปของคำจนแยกออกก็ใช้เป็นคำโดยลำพังไม่ได้ คำสมาสนั้นก็กลายกลับเป็น simple word ไป ใหม่ เช่น หมาก-ขาม หมากขาม มะขาม เป็นคำโดด ๒ คำ เอามารวมกันเป็น หมากขาม เกิดเป็นสมาส แล้ว หมาก กร่อนเสียงเป็น มะ เกิดเป็น มะขาม คำโดดสองพยางค์ขึ้น เมื่อจะกระจายออก มะ ก็กลายเป็นแค่อุปสรรคเท่านั้น ไม่มีใช้เป็นคำพูดได้โดยลำพัง ปัญหาเรื่องว่าเมื่อใดเป็นคำสมาส เมื่อไรเป็นคำไม่สมาส ต้องอาศัยความรู้สึกของผู้พูดผู้ฟังว่ามีเพ่งเล็งอย่างไร และต้องถือเสียงพูดเป็นใหญ่ เพราะเมื่อเพ่งเล็งอย่างไรก็ย่อมพูดออกมาอย่างนั้น จะยาศัยอุตามตัวหนังสือไม่ได้ เพราะตัวหนังสือเป็นแต่เครื่องหมายของเสียงที่เปล่งออกมา พูดสั้นยาวรวมกันหรือแยกกันก็ทำได้เพียงประมาณเท่านั้น ในภาษาอังกฤษคำที่เป็นสมาสใช้ขีดกลางเปนเครื่องเชื่อมคำทั้งสอง เช่น steam-ship ครั้นแล้วคำนี้เสียงก็ใกล้ชิดกัน ขีดกลางก็หายไปเป็น steamship ยังเป็นคำสมาสอยู่ ถ้าคำนี้เกิดเสียงกร่อนขึ้น แต่ละคำแยกไม่ได้ความ ก็จะกลับเป็นคำ simple ไป เช่น husband ซึ่งประกอบขึ้นด้วย ๒ คำ แต่คำ hus กร่อนมาจาก house แยกออกไม่มีคำใช้ในภาษาจึงไม่ใช่คำสมาส ในภาษาอังกฤษเวลาพูด ก็ทราบได้ว่าคำไหนเป็นคำเดียวหรือคำสมาส ถ้าเป็นคำเดี่ยว เช่น red ant เสียงเน้นเท่ากัน ถ้าเป็น red-ant เสียงเน้นอยู่ที่คำหน้า คำหลังเบาไป ถ้าเป็นคำไทยก็สังเกตยาก ว่าเมื่อใดเป็นคำสมาสและไม่ใช่คำสมาส คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า เสียงเน้นจะอยู่คำหลัง เช่น มด-แดง หมายถึงมดมีสีแดงทั่วไป มดแดง หมายถึงมดมีสีแดงชะนิดหนึ่งโดยฉะเพาะ เหตุนี้คำว่า หมาก มาเป็น มะ คิดด้วยเกล้า ฯ ว่าเน้นตัวหลังหนัก หมาก ซึ่งเป็นตัวหน้าก็เบาไป เกิดเป็นเสียงกร่อนขึ้น

ลักษณะคำที่เอามาประกอบเป็นสมาส มีมากรูป เช่น

(๑) เอาคำมีความหมายเหมือนกันมาซ้อนกัน เช่น เล็กน้อย ใหญ่โต หรือเอาคำที่เป็นคำเดียวแต่เพี้ยนเสียงสระ เช่น โตงเตง ดุกดิก

(๒) เอาคำมาต่อกัน ซึ่งคำที่ต่อนั้น อาจเอาคำช่วยพูด (บูรพบท ฯลฯ) เข้าเติมได้ เช่น เสื้อ (และ) ผ้า งัว (และ) ควาย (ลักษณะนี้ในสํสกฤตและบาลีเรียกว่า ทฺวนทฺว)

(๓) เอาคำที่บอกลักษณะอาการของอีกคำหนึ่ง เช่น มด (สี) แดง ใจ (ที่) เสีย หอ (สำหรับ) นั่ง เนื้อ (ของ) งัว

คำที่ใช้ประกอบนั้นละใช้ประกอบในคำพวกไหนก็ได้ เป็นนาม เช่น

นาม-นาม- น้ำตา น้ำปลา น้ำใจ
นาม-วิเศษณ์- ตาดำ ต้มส้ม
นาม-กริยา- น้ำกิน คนใช้
นาม-กริยา-นาม- คนเลี้ยงม้า
นาม-วิเศษณ์-นาม- ม้าสามขา
บูรพบท-กริยา- ที่่นั่ง ที่นอน

ทำเป็นคำกริยาสมาส เช่น

กริยา-กริยา- รับใช้
กริยา-นาม- เสียใจ กินตัว
วิเศษณ์-นาม- ดีใจ ชื่นใจ

คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า จะมีแบบอย่างในการทำคำสมาสมากกว่านี้ แต่ข้าพระพุทธเจ้าคิดไปยังไม่ออก มีข้อสังเกตอยู่อย่างหนึ่ง ที่คำสมาสเหล่านี้เมื่อจะให้เปนคำโดด ๆ ก็เติมคำช่วยพูดลงไป เช่น ที่กิน-(ของ) ที่กิน ของกิน - ของ (ที่) กิน กินของ เป็นคำโดด ๆ ส่วน กินตัว เป็นคำสมาส แต่ กินตัวเอง กลายเป็นคำโดด ๆ ไป

รวมความ คำที่กลับความหมาย จะเป็นวิธีเกี่ยวกับเปลี่ยนแปลงความหมายชะนิดหนึ่งในภาษาไทย ซึ่งมีคำใช้น้อยคำ ไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงความหมายด้วยใช้ลงอุปสรรคปัจจัยขยายคำออกไปได้มาก จึงต้องใช้วิธีเอาคำมาต่อกันให้สับที่กันบ้าง เพื่อประโยชน์ขยายความหมายในคำ และมีวิธีเติมคำช่วยพูดแซกลงไปเมื่อความยังไม่ชัด เช่น

ขนมกล้วยเขากินเหลือ-ขนม (ทำด้วย) กล้วย (ของ) เขากินเหลือ และจะขยายความออกไปอีกก็ได้ เช่น ขนม (ทำด้วย) กล้วย (น้ำว้าหลายห่อของ) เขา (ที่) กิน (ยังไม่หมด) เหลือ (อยู่) คิดด้วยเกล้า ฯ ว่าหลักภาษาไทยคงอยู่ที่ตัวประธาน -กริยา-กรรม คำประกอบที่ต้องการจะบอกให้มากออกไปจะเป็น คำช่วยประกอบประธาน กริยา หรือ กรรม ก็เอาเข้าข้างหลังคำตัวนั้น จะเป็นกี่คำก็ได้ไม่จำกัด ขอแต่ให้ถูกลำดับที่เท่านั้น เช่น เสือ (ดำตัวโตดุมาก) กำลังเดินด้อมคอยดักตะครุบจับกินกวาง (แดงตัวเล็กที่.......) เรื่องคำไหนจะเป็นนาม กริยา วิเศษณ์ ไม่ต้องคำนึงถึง ต่อเมื่อเข้ารูปเรื่องเป็นประโยคแล้วจึงจะปรากฏให้เห็นเอง เพราะฉะนั้น ถ้ากระจายเป็นคำ ๆ อย่างในพจนานุกรม จึงเป็นการยากที่สุด เมื่อบอกตายตัวว่านั้นเป็นนาม นั่นเป็นกริยา จึงทำให้คิดงงไป

ข้อแปลกในภาษาไทยอีกอย่างหนึ่ง คือใช้คำใดคำหนึ่งเป็นตัวตั้ง อย่างธาตุ แล้วเอาคำอื่นเข้าประกอบคล้ายลงอุปสรรคปัจจัย ก็เกิดคำเป็นพวก ๆ ขึ้น เช่น เกี่ยวกับของเหลวก็ตั้งน้ำเป็นตัวธาตุ แล้วเอาคำอื่นเข้าประกอบเป็น น้ำตา น้ำตาล น้ำซับ น้ำยา ถ้าเอาคนเป็นตัวตั้ง ก็เป็น คนใช้ คนงาน คนมี เว้นไว้เป็นคำมาแต่อื่นหรือมากพยางค์แล้ว จึงเอาคำตัวตั้งออก เช่น เศรษฐี ช่างไม้ จงอาง สาลิกา

ตามที่กราบทูลมานี้ จะผิดถูกสถานไรขอพระบารมีโปรดเกล้า ฯ เป็นที่พึ่ง แล้วแต่จะทรงพระเมตตา

ที่ตรัสถึงเรื่องคำอุทาน ข้าพระพุทธเจ้ารับใส่เกล้า ฯ พิจารณาดูเห็นด้วยเกล้า ฯ ว่า คำที่เปล่งออกมา มักเกี่ยวกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นด้วยเวทนาเป็นส่วนมาก และเป็นชั้นต้นของการออกเสียงพูด แล้วคำอุทานเหล่านี้ ต่างเสียงก็เกิดเป็นคำใช้ในภาษาขึ้น เช่นคำแสดงอาการเจ็บปวดเป็นทุกข์ก็มี โอ๊ย อ๋อย อุ๊ย ไอ๊ (ย่า-เกิดจากผ่อนเสียงจึงลากหางเสียงเป็น ย ไป) ก็จะกลายมาเป็น โหย (ละ) ห้อย ไห้ หา เกิดจากดีใจเป็น หัวว (หอ ๆ) หัวเราะ (= ห็อๆ เป็นคำซ้อน) ฮิกๆ-ริกๆ ระรี ระริก

ที่ทรงพระเมตตาตรัสเล่าถึงเรื่องละครนอกละครใน ข้าพระพุทธเจ้ารู้สึกทราบซึ้งในพระกรุณาเป็นล้นเกล้า ฯ มีข้อความซึ่งข้าพระพุทธเจ้าเพิ่งได้รู้เป็นครั้งแรกอยู่หลายอย่าง สมุดไทยเรื่อง อุณรุท ที่มีอยู่ในหอสมุด มีรอยวงเล็บด้วยเส้นดินสอก็มี บอกแซกไว้ก็มี ข้าพระพุทธเจ้าเคยสงสัยว่าทำไมจึงมีรอยเปรอะเช่นนั้น เพิ่งทราบเกล้า ฯ เมื่อตรัสบอกข้าพระพุทธเจ้าคราวนี้ คำว่า พองออ ข้าพระพุทธเจ้าเคยเห็นเขียนหรือพูดกันเป็น เพียงออ ก็มี พวงออ ก็มี ไม่ทราบเกล้า ฯ ว่าแปลว่าอะไร.

ที่ตรัสถึงเรื่องหนังใหญ่ ข้าพระพุทธเจ้าได้เคยดูครั้งเดียว แต่ดูไม่ได้นาน เพราะชวนให้ดูเบื่อ ๆ ข้าพระพุทธเจ้าเคยดูหนังชวาในกรุงเทพ ฯ ซึ่งเชิดที่จอ ยิ่งเบื่อไปกว่าหนังใหญ่ เพราะเชิดทีละตัว เชิดเสร็จก็เอาไปปักไว้เฉย ๆ ลางตัวพอออกมาก็เอาไปเสียบไว้ ผู้เชิดพูดเสียนาน แล้วก็ย้ายที่ไปปักไว้ หยิบตัวอื่นออกมา ทำอย่างเดียวกัน สอบถามว่าเชิดกันอย่างนี้ตลอดรุ่งก็ไม่หมดตัวเชิด คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า การเชิดหนังจะอยู่ที่ฟังเรื่องจากคนเชิด ส่วนตัวหนังเป็นแต่ประกอบเรื่องเท่านั้น ส่วนหนังใหญ่ก็จะเช่นเดียวกัน แต่เพิ่มท่าทางคนเชิดให้น่าดูขึ้นอีกเท่านั้น ที่หอพระสมุดมีบทพากย์รามเกียรติ์อยู่มากเล่ม ข้อความที่มีในนั้นลางแห่งผิดกันกับเรื่องใน รามเกียรติ์ มีเค้าใกล้ไปทางอินเดีย คิดด้วยเกล้า ฯ ว่าคำพากย์เหล่านี้ คงจะไม่ใช้เล่นโขน น่าจะเป็นคำพากย์หนังใหญ่มากกว่า และความประสงค์จะฟังเรื่องจากคำพากย์มากกว่าดูเชิด

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ