๒๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ยส (๒)

กรมศิลปากร

วันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๑๖ เดือนนี้ พระเดชพระคุณล้นเกล้าฯ หาที่สุดมิได้

โปสตก๊าดทางภาคอีศาน ที่ประทานมายังข้าพระพุทธเจ้าแผ่นหนึ่งนั้น เป็นโปสตก๊าดที่ข้าพระพุทธเจ้าให้นายสุดเขียนแปลงคำเป็นไทยอีศาน ข้าพระพุทธเจ้าได้รับหน้าที่จัดการเรื่องนี้มา ๒ คราว คราวแรกมี ๔ ภาษา คือ ไทยกลาง ไทยอีศาน เขมร และญวน ตัวหนังสือที่เขียนไม่เรียบร้อย เพราะต้องแต่งแปลเขียน ตลอดจนระบายสีรูปพระธาตุพนมให้แล้วเสร็จภายใน ๓ ชั่วโมง รูปพระธาตุพนม ข้าพระพุทธเจ้าฉีกเอารูปในสมุด ให้ช่างเขียนระบายสีทับลงไป แล้วทำเป็นรัศมีให้เป็นสีฉูดฉาด เหมาะที่จะเอาไปทิ้งเป็นใบปลิวให้ผู้รับสดุดตา ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานถวายชุดแรกมี ๔ ภาษารวม ๔ แผ่น กับถวายแผ่นที่ประทาน ข้าพระพุทธเจ้าคืนมาด้วย คำว่า รบเลา ที่ถูกเป็น รบเลว เลว เป็นคำภาคอีศาน แปลว่า รบ ใช้ประกอบต่อกับคำว่า รบ เท่านั้น ตามลำพังไม่ใช้เป็นอย่างเดียวกับคำว่า รบรา ซึ่งข้าพระพุทธเจ้าเดาว่าจะเป็นคำผ่อนเสียงออกมาจากคำว่า รบ เช่นเดียวกับคำว่า วัดวา ซึ่งทางพายัพ วา แปลว่า วัด (กริยา) คำว่า เรส ที่ถูกเป็น เฮ็ด แปลว่า ทำ แต่นายสุดชี้แจงว่าเขาเขียนสกดด้วย ษ ซึ่งเรียกว่า อักษรเฝื่อง หรือ เฟื่อง (= ชิ้น ภาค ส่วน) แปลว่าเป็นอักษรกึ่ง ไม่เต็มตัว เหตุไรจึงเรียกว่า อักษรไม่เต็มตัว ข้าพระพุทธเจ้าซักนายสุดชี้แจงยังไม่เข้าใจกัน ที่ตรัสเรื่อง ยกเอ้ ยกพินทุ์ ข้าพระพุทธเจ้าอ่านดูเป็นครู่ใหญ่จึงได้ทราบเกล้า ฯ ว่าทรงหมายความถึงอะไร ข้าพระพุทธเจ้าเห็นในหนังสือไทยใหญ่เขียนคำว่า เดียว เป็น ลิว อ่านว่า เหลว เสียงสระควบหรือสระสังโยคไม่มีใช้ ที่โบราณเขียน เดียว เป็น ดยว ถ้าว่าโดยเสียงก็ใกล้ไปทาง ดิว (ย=อิ) หรือ เดว มาก ที่ตรัสเรื่องอีศานเขียน หนำ ติดกับตัวที่ต้องการ ข้าพระพุทธเจ้าเห็นพ้องในกระแสพระดำริว่าดี ตัดปัญหาเรื่องผิด อย่างคำว่า ห นำ ถ้าเขียนชิดไม่ได้ระยะ ก็อ่านเป็น หนำ ไปได้

ข้าพระพุทธเจ้าเคยกราบทูลว่า เสียงอักษรกลางในไทยใหญ่เป็นเสียงไม้จัตวา เมื่อ ๒ -๓ วัน ข้าพระพุทธเจ้าฟังท้าวอุ่น ซึ่งหนีจากแดนหลวงพระบางเข้ามาอยู่ในประเทศไทย กล่าวว่าทางวิทยุกระจายเสียง เมื่อถึงคำที่เป็นอักษรกลาง แม้เป็นคำที่ผันแล้วก็ดี เช่นคำว่า ได้ เป็นต้น ก็เป็นเสียงครึ่งไม้จัดวากับเสียงครึ่งไม้เอก ถ้าเทียบกับเสียงที่พูดกันในชนบท เช่น นครสวรรค์และสุพรรณบุรี เสียงอย่างนี้คงเป็นเหน่อ เป็นอย่างเสียงไม้เอก ลางทีก็ได้ยินเป็นเสียงครึ่งไม้เอก พอถึงกรุงเทพฯ เสียงเป็นปกติ ดูประหนึ่งว่า เสียงเลื่อนจากเสียงไม้จัตวา แล้วค่อยกลายมาเป็นขั้น ๆ คนเป็นเสียงปกติอย่างชาวกรุงเทพ ฯ คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า เสียงอักษรกลางไม่มีคู่เสียงสูง และที่ในศิลาจารึกพ่อขุนรามกำแหงไม่มีเครื่องหมายไม้จัตวา น่าจะเนื่องมาด้วยการออกระดับเสียงนี้ด้วยประการหนึ่ง

คำว่า ขำ และ ขัน คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า จะเป็นคำเดียวกัน ดังที่ทรงพระดำริ มีคำคู่เป็นแนวเทียบอยู่ เช่น ห้ำหั่น ครามครัน ขบขัน (ขบ=ขัม) ข้าพระพุทธเจ้าค้นหาในพจนานุกรมไทยใหญ่ ไม่พบคำว่า ขำ และ ขัน ในความที่ว่าน่าหัวเราะ

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ