๓๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๔๘๓

พระยาอนุมานราชธน

ถึงฤกษ์ที่จะตอบหนังสือของท่าน ซึ่งลงวันที่ ๖ พฤศจิกายน

เรื่องไวยากรณ์ นั้นเป็นกิจของท่านที่จะพิจารณา ฉันเข้าใจไม่พอ อย่าว่าแต่ฉันเลย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ท่านก็บอกว่า ไวยากรณ์สำหรับภาษาไทย ท่านอ่านไม่เข้าใจ ท่านเปนผู้รู้วิภัตปัจจัย แปลหนังสือได้ก็ไม่เข้าใจ แล้วนับประสาอะไรแก่คนอย่างฉันหรือจะเข้าใจ ภาษาไทยผิดกับภาษาบาลีและฝรั่งมาก

คำพูดที่ร่อยไปนั้นเปนธรรมดาทีเดียว แม้กระนั้นท่านก็อุตส่าห์ค้นเอาความจริงมาได้ เช่น สะใภ้ สะดือ เปนต้น จัดว่าเปนความดีอย่างยิ่ง

หน่วย ใบ ตัว พวกฉันเรียกว่า ต้นๆ ลำๆ จับหลักไม่ได้ว่าจะจำกัดลงไปอย่างไร เช่น เข็ม ก็เรียกว่า เล่ม เกวียน ก็เรียกว่า เล่ม ผิดกันเปนกองสองกอง

มาตราอะไรต่าง ๆ แต่ก่อนก็ใช้ทางประมาณเอาหยาบ ๆ ทั้งนั้น จะยกตัวอย่างก็เช่นโยชน์หนึ่งยาวเท่าไร ฉันเคยค้นสอบก็ไม่ได้ที่แน่ มีแห่งหนึ่งจำแนกว่า ๔ โกส หรือ โกรศ เปนโยชน์ โกส ๑ ก็เปนตะโกนสุดเสียง เสียงคนก็ไม่เท่ากัน เสียงดังก็มี เสียงเบาก็มี เหนเอาแน่ได้ยาก จึงยักไปเปนว่ากี่ชั่วคันธนู คันธนูก็ไม่แน่อีกว่ายาวเท่าไร แต่ดีขึ้นกว่าเสียง ที่เอาสิ่งในกายลงเปนมาตรา เช่น ศอก คืบ นิ้ว นั้นดี ไม่ต้องวิ่งไปหาไกล แต่ก็เอาเปนแน่ไม่ได้เหมือนกัน ในการที่กำหนดลงเปนแน่เปนสแตนดาดนั้น ฉันเอาอย่างผู้ใหญ่กำหนดเอาสิ่งในตัวให้ได้สแตนดาดเหมือนกัน เพราะเมื่อต้องการจะวัดอะไรให้ได้แน่ จะไปหาไม้วาที่ถูกต้องมาวัดก็เสียเวลา

คำ หัว เปน สีสะ นั้น ฉันเหนว่าไม่ใช่เปนไปด้วยเหตุอื่น นอกจากหลบคำหยาบ เพราะเอาคำ หัว ไปใช้นำคำหยาบเท่านั้น มากด้วยกันที่คำต่างประเทศเข้ามาแทนคำของเรา เปนด้วยหลบหลีกอะไรต่าง ๆ ทั้งนั้น มีราชาศัพท์นำไปเปนเบื้องต้น โดยตั้งใจจะใช้คำสำหรับเจ้าให้ผิดกับสามัญ แล้วคำสามัญก็กลายเปนคำหยาบไป ต้องปรับคำใช้เปนชั้น ๆ ลดหลั่นกันลงไป ที่หลบคำผวนก็มี เช่น แปดตัว เปนต้น แล้วคำ ตัว ก็เลยใช้ไม่ได้ ช้างก็ต้องเปนเชือก ที่หลบคำด่ากันก็มี เช่น โคตร ก็ต้องเปน สกุล ที่หลบคำใกล้หยาบก็มีเช่น หิน ก็เปน ศิลา และหลบอะไร ๆ ไปอีกมาก นี่เปนแต่ยกตัวอย่างมาให้เหนบ้างเท่านั้น

หลักเขตนั้นเปนของเกิดใหม่ ถ้า เบาะ แปลว่า หลัก ก็จะเปนไปในที่ว่า หลักแหล่ง

ปมเปา มีคำอยู่จริง แต่ดูไม่เหมือนกับ เต็มเปา แต่ เต็มเปา ติดจะเปนคำตลาด ปมเปา ดูจะไม่เปนคำตลาด เหนจะออกจากโป เขียนอย่างหนังสือขอม อ่านอย่างหนังสือไทย

ดูหลู อาจเปน ดูหรือ ก็ได้

ขอบใจท่านที่ไม่ลืมคำ ชาดจอแส ตามที่ท่านค้นมาได้ว่าเปนชาดทำยาและเขียนยันตร์นั้น ทีจะได้แก่ชาดหรคุณของเรา ที่ใช้เขียนรูปราชสีห์บนพระที่นั่งภัทรบิฐ แต่ฉันก็ไม่ได้เห็น เพระอยูใต้พระยี่ภู่ ไม่ได้เลิกขึ้นดู แล้วได้ยินว่าทำวิธิใด ๆ อีกเปนหลายอย่าง เช่นโรยแป้งเปนต้น อะไรจะทับอะไรก็ไม่ทราบ ได้ยินแต่ช่างที่เขียนรูปราชสีห์ในแผ่นทอง เขาบอกว่าชาดหรคุณนั้นสีเหลืองมาก ทางเขมรเขาเรียก หิงคุล ฟังเข้ารูปสังสกฤตดี จึ่งเปิดพจนานกรมสังสกฤตดู ก็มีคำเหมือนกันเช่นนั้น แปลให้ได้ว่าปรอทกับกำมะถันหรือชาด ชาดเขาก็ว่าทำด้วยปรอท กำมะถันก็เปนเครื่องบำรุงเนื้อทอง ที่ว่าเหลืองมากคงเจือกำมะถันมาก คำจอแสเดิมฉันคิดว่าเปนชื่อเมือง แต่ก็ไม่ใช่ เปนไปอย่างหนึ่ง

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ