๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๓ ยส

กรมศิลปากร

วันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๓

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๗ เดือนนี้ พระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ หาที่สุดมิได้

ข้าพระพุทธเจ้าได้ถวายชื่อเดือน ชื่อวัน ในทางเขมร ซึ่งมหาฉ่ำจดไว้ฉะบับ ๑ กับเรื่องชื่อวันในภาษาบาลีฉะบับ ๑ มาในซองนี้ด้วยแล้ว

ที่ตรัสถึงหลักภาษาอยู่ที่คำพูด ไม่ใช่อยู่ที่ตัวหนังสือ จับใจข้าพระพุทธเจ้าอย่างยิ่ง ในตำรานิรุกติศาสตร์ก็เน้นความข้อนี้ไว้เสมอ ว่าภาษาพูดนั่นแหละเป็นภาษาที่แท้จริงถูกต้องตามหลักของภาษานั้น ๆ เขาว่าคนบ้านนอกไม่ได้เรียนไวยากรณ์สักนิดเดียว ก็พูดภาษาได้ดี เรื่องข้อบังคับในไวยากรณ์ลางประการเกิดขึ้นเพราะนักปราชญ์มาดัดแปลงขึ้นทีหลังก็มี ไม่ใช่เป็นของมีมาแต่เดิม ข้าพระพุทธเจ้าได้สอบถามผู้ที่เคยไปศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยที่เมืองจีน ว่าเรียนไวยากรณ์ภาษาจีนกันอย่างไร เขาตอบเป็นอย่างเดียวว่า ไม่ได้เรียนไวยากรณ์ เรียนแต่เรียงรูปคำเข้าประโยคเรื่อยไป แล้วก็รู้ไปเอง ไวยากรณ์ภาษาจีนที่มีขึ้น เป็นเรื่องฝรั่งจะเรียนภาษาจีน จึงต้องนำเอามาเปรียบเทียบกับของฝรั่ง ไม่ทำเช่นนั้นฝรั่งก็ไม่เข้าใจ คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า ภาษาไทย ถ้ารู้วิธีเอาคำเข้าเรื่องกันให้ถูกต้องก็พอ การเรียงคำถ้าความไม่ชัดก็เติมคำช่วยพูดลงไปจนให้ได้ความชัด เช่นคำว่า พ่อลูก ถ้าไม่มีความอื่นประกอบให้ชัด ก็เป็นคำที่ต้องหาคำช่วยพูดเติมให้ชัดเป็น พ่อของลูก พ่อและลูก เป็นต้น ลางคำความเป็นที่เข้าใจกันดีแล้ว เช่น ตัดเสื้อ ย้อมมะเกลือ ขุดหลุม มีผู้คิดเห็นว่าตามลำพังความไม่ให้ และว่าเป็นคำตัดมาจากคำทั้งประโยค โดยเอาคำต้นกับคำท้ายมาพูดเท่านั้น เช่น ตัดเสื้อ ก็ว่ามาจาก ตัดผ้าให้เป็นเสื้อ ย้อมมะเกลือ ก็ว่า ย้อมผ้าด้วยมะเกลือ ขุดหลุม ก็คือ ขุดดินให้เป็นหลุม คิดด้วยเกล้า ฯ ว่าเป็นคิดถอยหลัง

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์

----------------------------

คัดจาก อธิบายในการใช้เวลาตามสุริยคดิของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า

(แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๑ หน้า ๗๓-๗๔)

๒๗ วาร ๗ นั้น หามีชื่อระบุในบาลีไม่ แต่ครั้งนั้นก็ใช้กันแล้ว ปรากฏในมหาขันธกคัมภีร์มหาวรรค กำหนดการที่สมเด็จพระบรมศาสดาเสด็จอยู่ ณ ร่มไม้นั้น ๆ ในจังหวัดพระมหาโพธิ์ เป็นสัตตาหะๆ ไป และในวัสสูปนายิกขันธกคัมภีร์นั้น ทรงอนุญาตให้ภิกษุผู้จำพรรษาเมื่อมีเหตุสมควรไปแรมในที่อื่นได้ชั่วสัตตาหะหนึ่ง ยังมีที่มาอีกหลายแห่ง เมื่อรู้จักใช้แล้วไฉนไม่เรียกชื่อเลย เห็นร่องรอยอยู่ในเรื่องข้างต้นนั้นเองว่า ชรอยจะใช้ปุรณสังขยาเป็นเครื่องนับว่า วารที่ ๑ วารที่ ๒ เป็นต้น เช่นพวกจีนใช้กัน ข้อว่าเสด็จประทับ ณ ร่มไม้นั้นๆ สถานละสัตตาหะ รวมเป็น ๗ สัตตาหะนั้น น่าจะเป็นตำบลละ ๑ วารแห่งสัตตาหะ รวมเป็นสัตตาหะเดียวเท่านั้น เรียกสั้น ๆ ว่า ที่ ๑ แห่งสัตตาหะ ที่ ๒ แห่งสัตตาหะ คราวนี้กลายเป็นสัตตาหะที่ ๑ สัตตาหะที่ ๒ ไป และในฝ่ายพระก็ใช้กันอยู่แล้ว ทั้งเป็นเครื่องกำหนดนับสั้น ๆ ควรใช้ได้ แต่ชื่อนั้นโดยมากเรียกตามพระเคราะห์ ๗ สังเกตง่ายกว่าเรียกตามปูรณสังขยา และใช้กันมาจนชินแล้ว ควรใช้ตามนัยนั้น

ชื่อวันในภาษาเขมร

(ตามที่ชาวบ้านเรียกกัน)

อาทิตฺย (อา-ติ๊ดย์) อาทิตย์
จนฺทฺร (จันทร์) จันทร์
องฺคาร (อ็อง-เกียร์) อังคาร
พุธ (ปุ๊ธ) พุธ
พฺรึหสฺบติ์ หรือ พฺรหสฺบติ์ (ปรึ-ฮัส) (โปร-ฮัส) พฤหัสบดี
สุกฺร (ซกร์) ศุกร์
เสาร์ (เซาร์) เสาร์

ชื่อเดือนในภาษาเขมร

(ตามที่ชาวบ้านเรียกกัน)

แจตฺร (แจตร์) เดือนห้า
พิสาข (ปิสาข) เดือนหก
เชสฺฐ (เจ๊ะสฐ) เดือนเจ็ด
อาสาฒ (อาสาฒ) เดือนแปด
สฺภพน์ (สะภพน์) เดือนเก้า
ภทฺรบท (ภัด-ตระ-บด) เดือนสิบ
อาสุช (อา-ซช) เดือนสิบเอ็ด
กตฺติก (กัด-เดิ๊ก) เดือนสิบสอง
มิคสีร (มิก-เกียะ-เซร์) เดือนอ้าย
บุสฺส (โบ๊ะส์) เดือนยี่
มาฆ (เมียฆ) เดือนสาม
ผลฺคุณ หรือ ผคฺคุณ (พ็อล-กุน) (พัก-กุณ) เดือนสี่

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ