๑๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๔๘๓

พระยาอนุมานราชธน

หนังสือลงวันที่ ๒ พฤษภาคม ได้รับแล้ว

คำซ้ำหรือคำซ้อน คิดว่ามาแต่การที่กวีปรุงแต่งให้ฟังดี แล้วคนจำเอามาพูดตามอีกต่อหนึ่ง

ทร ทำไมเราอ่านเปนเสียง ฉันไม่เข้าใจจนทุกวันนี้ เพื่อนประเทศที่อยู่ใกล้เคียงกันก็ไม่เห็นมีใครเขาอ่านเปน เช่น ทรง ทรวง เขมรเขาก็อ่านว่า ตรง ตรวง หรือ ทุรวฺยะ ในภาษาสํสกฤตก็สอนกันให้อ่านว่า ดฺรวฺยะ ต้องเข้าใจว่าทางอินเดียเขาอ่านออกเสียงกันดังนั้น อินฺทฺริย พระธรรมยุติเราสวดว่า อินฺดฺริย มหานิกายคือไทยเก่าจึงสวดว่า อินฺซิย

ตามที่สอบคำ เจริญ ได้ความว่าเขมรเขียนสกด นั้นถูกแล้ว ทางเรากับทางเขมรใช้ตัวผิดกันมีถมไป เช่น โปรด เราสกดด้วยตัว แต่ทางเขมรเขาเขียนสกดด้วยตัว สำคัญ เราสกด ทางเขมรสกด ที่ผิดกันไปเข้าใจว่าเพราะการใช้ตัวมาแต่ก่อนไม่เปนแบบ เขมรกับเราต่างก็เอาคำแต่ละฝ่ายไปใช้ มีคำพ้องกันมาก ไม่ใช่ว่าเราจำเอาคำเขมรมาใช้แต่ฝ่ายเดียว ทั้งนั้นก็เปนธรรมดาที่บ้านเมืองอยู่ใกล้กัน ศาสตราจารย์เซเดส์ ซึ่งเปนผู้รู้ทั้งสองภาษาเคยบอกว่า คำที่เดิมเปนคำเขมรแล้วไทยเอามาใช้ แต่ออกเสียงเพี้ยนไป เขียนก็เพี้ยนไปด้วย ซ้ำความหมายก็ต่างกันไป เขมรเข้าใจว่าเปนคำไทยจำเอาไปใช้ แต่ที่แท้เปนคำเขมรนั้นเอง ศาสตราจารย์เซเดส์ว่าจับได้หลายคำได้จดไว้มากแล้ว

ท่านบอกว่า อัน ในภาษาไทยใหญ่เปน ซึ่ง นั้นดีนัก ฉันเคยสังเกตว่า อัน กับ ซึ่ง นั้นลางทีก็เปลี่ยนกันได้ เพราะ กับ ด้วย ลางทีก็เปลี่ยนกันได้เหมือนกัน

คำแปล แม่ฮ่องสอน นั้นเชื่อยาก กลัวจะเปนพวกเดียวกับแปล สามเสน เปน สามแสน กางเขน เปน กางแขน สุพรรณบุรี เปน สองพันบุรี แต่ ฮ่อง เปน ร่อง นั้นแน่ หมายความว่าลึกยาว ห้วง นึกคำเพลงทางไทยเหนือขึ้นมาได้ ร้องว่า น้ำขาดฮ๎วั่ง ดูเปน ห้วง หรือ วัง หรือ ฮ่อง อะไรก็จะได้

ท่านถามถึงคำ ค่าที่เชิงเรือน ดูชัดอยู่แล้วไม่น่าจะสงสัยอะไร ความสงสัยถ้าจะพิจารณาก็เห็นมีอยู่ที่คำเชิง คำนั้นแปลว่า ตีน ท่านแต่ก่อนท่านเห็นว่าพูดว่าตีนเปนคำหยาบ จึงเอาคำเชิงมาให้แทน เชิงเรือนก็คือตีนเรียน เหมือนเชิงเขาก็ตีนเขา หรือเชิงเทียนก็ตีนเทียน คนเรียกว่าตีนเทียนกันอยู่ก็มี นั่นเปนแปลอยู่ในตัวแล้ว

กาญจนฉันท์ เปนชื่อเรียกแหย่งช้างชนิดหนึ่ง สิงอื่นไม่เห็นเรียกใครผูกชื่อเรียกกันขึ้นครั้งไรไม่ทราบ พระกลดเครื่องสูงที่ทำเปนสีต่างกันและวัตถุต่างกันนั้น ฉันก็ไม่ทราบว่าใช้ต่างกันอย่างไร อยากทราบอยู่เหมือนกัน เคยสังเกตมาได้แต่ว่าวันพระแล้วเขาถวายพระกลดแพรขาวขลิบทอง

ดาบชเลย ดูเปนจะหมายความว่ารูปเหมือนดาบ แต่ใหญ่กว่าดาบไทย เห็นจะไม่มีกำหนดลเอียดไปถึงว่าใหญ่ยาวเท่าไร ง้าว ก็คือดาบด้ามยาว หอกก็คือพระขรรค์ด้ามยาว หอกสามัญก็ใช้ไม้ไผ่เปนด้าม พระองค์เจ้าประดิษฐวรการเคยพูดเล่นว่าเปนของกษัตริย์ขี้ขลาด เอาไม้ไผ่ซึ่งจะตัดหาเอาได้ง่ายในป่ามาผูกต่อพระขรรค์เข้า

ขอบใจท่านเปนหนักหนา ที่อุตส่าห์ค้นหาและไต่ถามเรื่องลูกประคำ จดบันทึกไปให้เปนการลำบากแก่ท่านมาก แต่ท่านก็ได้ความรู้ขึ้นด้วยเหมือนกัน ถ้าจะสรุปเอาความซึ่งท่านบันทึกไปให้ ก็ตกเปนว่าต้องการใส่คแนนการภาวนา ทีแรกก็นับนิ้วมือก่อน ครั้นเห็นยุ่งยากวนเวียนจึงหาคแนนมาใส่ แล้วจะไม่ให้คแนนพลัดหายไปก็เจาะร้อยเสียเปนพวง ครั้นทำเมล็ดคแนนด้วยมหรรฆภัณฑ์เช่น แก้วเงินทองก็แยกไปใช้เปนเครื่องอาภรณ์ เปนการสมควรเช่นนั้นอย่างยิ่งอยู่แล้ว ส่วนจำนวนลูกประคำนั้นก็มากน้อยตามแต่พวกไหนต้องการจะภาวนากี่คาบ จำนวน ๑๐๘ เปนจำนวนที่ถนัดอย่างหนึ่ง พวกเดียวกับสำเภา ๕๐๐ โจร ๕๐๐ บ้า ๕๐๐ จำพวก แต่จำนวน ๑๐๘ จะมาแต่อะไรซึ่งถนัดกันก็สอบไม่ได้เรื่อง สิ่งที่อ้างเปนจำนวน ๑๐๘ ก็เห็นเปนผูกเข้าหาจำนวนนั้นในภายหลัง ไม่มีความจำเปนที่จะต้องเปนจำนวนเท่านั้น และโดยมาก ขอไปที เสียด้วย เช่นนับเอาสระพยัญชนเข้าจำนวน ๑๐๘ โดยอนุโลมปฏิโลมเปนต้นนั้นก็ขอไปที ตัวอย่างที่พูดถึงสระพยัญชนนั้น ทำให้รู้ไปได้ถึงพราหมณ์พฤฒิบาศเขาบริกรรม ในการพิธีคเชนทรัศวสนานว่า โอมะ กะ ขะ คะ ฆ่ะ ง่ะ โอมะ จะ ฉะ ชะ ณ่ะ ญ่ะ ฯลฯ แรกได้ยินก็หัวเราะด้วยความประมาทเห็นเปนว่าสิ้นปัญญา เพิ่งจะมาเข้าใจในบัดนี้ ว่าเขาเห็นว่าอักขระนั้นเปนรากเหง้าแห่งคำทั้งปวง

ในบันทึกเรื่องลูกประคำ นั้น มีผิดอยู่ที่ชื่อวัด มังกรกมลาศน์ ที่ถูกเปน มังกรกมลาวาส ถ่ายจากชื่อจีนว่า เล่งเนยยี่

อีกคำหนึ่ง เกิดหนุนพูนสุข นั่นไม่ใช่ผิด แต่นึกว่าท่านเทียบเอาคำ เกิดหมูนพูนเขา คำ หมูน นั้นฉันคิดว่า มูน นั่นเอง หากพูดเพี้ยนไปเท่านั้น

คำ ตะไล ก็มาประจวบเหมาะที่เคยได้ยินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เคยทรงสันนิษฐานมาทีหนึ่งแล้ว ว่าคำ ดาไล ในชื่อดาไลลามา เห็นจะหมายความว่าทเล ฟังก็ไม่รู้สึกเลื่อมใสนัก แต่ไปต้องเข้ากับคำของตาดมงคล เปนอรรศจรรย์ที่สุด ภาษาธิเบตนั้นเต็มที ในว่าคำที่เปนชื่ออะไรเปนภาษาสํสกฤตไปกับพระพุทธศาสนา แต่ไม่เห็นว่าคำเหล่านั้นมีรูปเปนภาษาสํสกฤตเลย สมเด็จกรมพระสวัสดิเธออยากรู้สิ่งซึ่งถือกันว่าเปนมงคล ฉันก็เคยค้นจดส่งไปให้เธอ ในนั้นมีมงคลทางธิเบตหลายอย่าง ได้ชื่อจดไว้ให้ด้วย เปนหนังสือฝรั่งตัวเป้ง ๆ ควบกันเปนหลายตัว ฉันก็เขียนไปให้ตามที่เขาจดไว้แต่ฉันอ่านไม่ออก ครั้นพบตัวเธอเข้าจึงถามเธอว่าอ่านอย่างไร ด้วยเชื่อใจว่าเธอรู้มากอาจบอกได้ แต่เธอว่าเรื่องอ่านนั้นต้องงดไว้ที แปลว่าเธอก็อ่านไม่ออกเหมือนกัน ท่านออกความเห็นว่า พวกธิเบตนั้นถื่อผีมาก่อน แล้วได้ทางพระพุทธศาสนาเข้าไปปนนั้น ทำให้ได้สติเห็นทางไปด้วยดี แต่แรกฉันไม่เข้าใจ ว่าอย่างไรพระพุทธศาสนาจึงประกอบด้วยผีถึงปานนั้น

คิด ๆ อะไรก็เกิดภาษิตขึ้นในใจ ว่าการคิดค้นหาความจริงที่ถูกต้องนั้น เปนทางดำเนินเข้าไปหามิจฉาทิฏฐิ ถ้าจะดำเนินทางให้เปนวัมมาทิฏฐิก็ต้องดำเนินไปตามครูบอกไม่กระดิก

จะให้ข่าวแก่ท่าน ว่าพระองค์เจ้าธานีเขียนเรื่องศพโกศมาให้ ด้วยเธอเคยได้รับตอบได้ความเห็นแปลก ๆ ฉันก็อ่านเสียตาถลน จบลงก็ได้ความว่าเธอก็ยังไม่รู้เหมือนกัน แต่ที่เธอพรรณนามานี้ มีตัวอย่างที่คัดมาจากศิลาจารึกของพวกจามอยู่ ๓ บท ซึ่งฉันไม่เคยได้ทราบ และเชื่อว่าท่านก็ยังไม่ได้พบเหมือนกัน จึงคัดมาให้

บทที่ ๑ บันทึกไว้ว่าแปลจาก Finot:- Notes d’ Epigraphic XI (BEFEO IV p. 937-8 inscription XII B) ว่าดั่งนี้ พระเจ้าหริวรมันทรงพระราชอุทิศถวายแด่พระศรีอีศานผู้เปนเจ้า (คือพระศิวลึงค์ ที่ทรงสถาปนาขึ้น) โกศทองคำประดับมณีขนาดใหญ่อันวิจิตรแวววาวยิ่ง ส่องแสงสว่างยิ่งกว่าทินกร กระทำให้มีแสงสว่างทั้งกลางคืนกลางวัน ด้วยรัศมีแห่งแก้วมณีเหล่านั้น โกศนี้ประดับด้วยมณีรัตนทั้งสี่ด้าน

จำเนียรกาลมา ได้ทรงสร้างโกศทองอันงามวิจิตรยิ่งกว่าสูรย์จันทร์ประดับด้วยแก้วมณีทั้งสี่มุข พระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐและมีพระปัญญายิ่ง ได้ยกโกศนี้ถวายแด่พระศิเวศานลิงค์ ซึ่งโปรดให้สร้างขึ้นเมื่อปี ๑๐๐๒ ศก (ปีมหาศักราชซึ่งตรงกับ พ.ศ. ๑๖๒๓)

บทที่ ๒ บันทึกไว้ว่า (พ.ศ. ๑๖๓๑) แปลจากหนังสือเล่มเดียวกัน จารึกหมายเลขที่ ๑๖ บี หน้า ๙๕๐ ว่าดั่งนี้ พระบาทศรีชยอินทรวรมเทพ ทรงตระหนักในพระหฤทัยว่า พระภัทเรศวรเจ้าเปนใหญ่เหนือสรรพสิ่งทั้งปวงที่ปรากฏในโลกนี้ จึงโปรดให้สร้างโกศทองหกหน้า (ษณมุข) ประดับด้วยนาคภูษณและพลอยสีฝังบนยอดแห่งศิขรมกุฎ (เหนือโกศนั้น) อนึ่ง อูรธวโกศนั้นแล้วไปด้วยทองอร่าม แล้วโปรดให้ทำอาธารใต้โกศประดับสูรยกานตมณีหน้าทั้งหกของโกศนั้น (แต่ละด้านเรียวขึ้นไปเปนหัวนาค) ด้านที่แปรสู่ทิศบุรพายอดแห่งเศียรนาคราชฝังทับทิม ด้านอิสาณและหรดีฝังนิลในลูกตานาคราช ด้านใต้ฝังทับทิมบนยอดเศียรนาคราช ด้านปาจีนฝังบุศราคำบนเศียรนาคราช ด้านอุดรฝังอุตตรัตน โกศทองนี้หนัก ๓๑๔ ถิล กับ ๙ ทรม ยอดหกเหลี่ยมกับเศียรนาคราชและอาธารซึ่งหงายรับโกศนั้นหนัก ๑๓๖ ถิล รวมทั้งสิ้นเปนน้ำหนัก ๔๕๐ ถิล ๙ ทรม

ศก ๑๐๑๐ (คือ พ.ศ. ๑๖๓๑)

บทที่ ๓ บันทึกไว้ว่า (พ.ศ. ๑๗๙๗) แปลจากหนังสือเล่มเดียวกัน จารึกหมายที่ ๒๓ ว่าดั่งนี้ พระราชาองค์นี้ (ปรเมศวรมันที่ ๒) ทรงมีสมบัติห้า คือพระเมตตาสมบัติ พระเกียรติสมบัติ พระคุณสมบัติ พระรูปสมบัติ พระวีรยสมบัติ ฉนั้นเพื่อจะให้สมบัติทั้งห้านี้ปรากฏพร้อมกัน จึ่งได้ทรงสร้างครอบ (โกศ) ขึ้นไว้ถวายพระมเหศวรเจ้าเปนห้าด้านดั่งนี้

โกศนี้เครื่องประดับเปนทอง ๒๓๒ ขึ้น เปนมณีมีค่า ๘๒ ชิ้น เปนไขมุกด์ ๖๗ ชิ้น เปนเงิน ๒๐๐ ชิ้น

รู้อยู่แล้วว่า โกศอัฐิมีส่วนสูงกว่าโกศศพมาก แต่ก่อนนึกว่าเขาเอาอัฐิใส่กลัก (ซึ่งตามปกติทำปากผาย) ทำฐานรองให้ตั้งได้ กระเดียดจะเห็นจากคำจารึกนี้ว่าเอาอัฐิประจุลงในครอบพระศิวลึงค์ ด้วยความสมสองประการ คือโกศอัฐิมีส่วนสูงที่สมควรจะเปนครอบพระศิวลึงค์นั้นประการหนึ่ง กับที่ถือว่าพระมหากษัตริย์ก็คือองค์พระเจ้านั้นอีกประการหนึ่ง (มีคำ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว เปนอย่างอยู่) ข้อที่ว่าเปนสี่มุขนั้นก็เคยเห็นโกศเล็กจำลักด้วยไม้ มีมุขเปนจั่วสี่ด้าน หม่อมเจ้าปิยภักดีนารถเก็บเอามาไว้มี เมื่อเห็นก็นึกว่าเขาปรุงเล่น แต่ที่แท้ทำเข้าแบบทีเดียว ขอสารภาพว่าโกศนั้นแต่แรกเคยเขียนสกด ฐ แล้วมาเปลี่ยนเขียนกันเปนสกด ศ ก็เขียนตามเขาไป ไม่ได้คิดวินิจฉัยว่าจะมีผลเปนอย่างไร มาพบในที่จารึกนี้ปรากฏว่าสกด นั้นหมายเปนบุรษลึงค์ เจ็บปวดมาก

ไปเผาศพเห็นเขาเอาศพลูกซึ่งเปนผู้น้อยออกไปไว้นอกเมรุ เกิดได้สติขึ้นว่าหลังคาปรำหยวกที่เชิงตะกอนนั้นเขาทำสำหรับเผากลางแจ้ง ต้องตามที่ท่านได้วินิจฉัยไว้ ที่เอามาเข้าในโรงทึมนั้นเปนหลังคาซ้อนหลังคา เปนการทำโดยไม่สมควร

หนังสือเรื่องเกิด ได้อ่านตลอดแล้ว และได้ทำบันทึกเสร็จแล้วด้วย แต่พยายามทำบันทึกเรื่องการสมโภชน์และเจ้านายประสูติต่อไป เพราะในหนังสือที่แต่งไว้นั้นไม่มีกล่าว ท่านจะได้ทราบไว้ด้วย แต่ฉันก็ไม่รู้ตลอดเพราะไม่ได้เห็นตลอด แต่ก็ดีกว่าที่ไม่รู้เสียเลย

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ