๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๔ ยส

กรมศิลปากร

วันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๔

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ ลงวันที่ ๑๙ เดือนนี้ พระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ หาที่สุดมิได้

พระอธิบายเรื่องเครื่องประดับหัว ทำความแจ่มแจ้งให้ข้าพระพุทธเจ้าเป็นอันมาก หมวกที่มีทรงสูงหรือยอดสูง คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า น่าจะมาจากต้องการให้ผิดสามัญที่เป็น แคป ให้เป็นยศอย่างขึ้น หมวกทอปแฮด และมงกุฎทรงชฎา ก็จะเนื่องมาจากเหตุนี้ มีแปลกอยู่ที่มงกุฎทรงชฎา ข้าพระพุทธเจ้าพบแต่ของไทยใหญ่ พะม่า และเขมร ส่วนชาติอื่น ข้าพระพุทธเจ้านึกไม่ออกว่าได้เคยเห็นชะนิดยอดแหลม ข้าพระพุทธเจ้าอ่านพบเรื่องหมวกเกาหลี ในหนังสือฝรั่งเรื่องหนึ่ง ว่าเป็นรูปกระถางต้นไม้คว่ำ มีขอบยื่นออกไปโดยรอบ ๒ ฟุต ทำด้วยผมแล้วทาน้ำมันชักเงา เห็นจะหมายความว่าลงรักดำ

เรื่องเสลลัดและเกลลัด ที่ข้าพระพุทธเจ้าไม่ได้กราบทูลคำว่า เสลลัด ไปในคราวก่อน เพราะในพจนานุกรมภาษามะลาย-อังกฤษให้แต่ เกลลัด ไว้คำเดียว แต่พจนานุกรมอีกฉะบับหนึ่งให้ไว้ทั้ง เสลลัด และ เกลลัด ว่าเป็นคำเดียวกัน พจนานุกรมภาษามะลายู-อังกฤษนี้แปลก ทุกฉะบับเก็บคำพูดต่าง ๆ มีแปลกกัน ต้องตรวจดูทุกฉะบับ จึงจะพบคำที่พ้องกับภาษาไทย เช่นในเล่มหนึ่งมีคำว่า จังงัง หมายความว่า ตกตะลึงงุนงัน แต่อีกเล่มหนึ่งไม่มี อีกเล่มหนึ่งมีคำว่า Betarā หรือ Bahtarā คือ เภตรา (ว่ามาจาก วาหีตรา ในสํสกฤต ในฮินดูสตานีเป็น Bera) หมายความถึงเรือกำปั่นใบอย่างในเรื่องละครหรือเรืออารกของโนวา ที่บรรทุกสัตว์อย่างละคู่คราวน้ำท่วมโลก ส่วนเล่มอื่น ๆ ไม่มีคำนี้

กล้องสลัด ในกุมารบรรพ คิดด้วยเกล้า ฯ ว่าผู้แต่งจะต้องการให้เป็นกล้องส่องดูไกล แล้วเกณฑ์ให้พวกสลัดใช้ เพื่อได้เห็นเรืออื่นซึ่งจะตีชิงได้สะดวก จึงได้เรียกว่า กล้องสลัด หาได้เฉลียวคิดว่า กล้องสลัด หมายความถึงลูกดอกชุบยาพิษใส่หลอดเป่า คำว่า กล้อง ในไทยใหญ่และอาหมเป็น ก้อง แปลว่า หลอด กล้อง ปืนไฟ (คงหมายความว่ามีลักษณะอย่างกล้อง) ก้องหลวง = ปืนใหญ่ ก้องสบหอก = ปืนมีหอกปลายปืน

พวกชาวน้ำ ว่าเป็นชาวพื้นเมืองเดิมในแหลมมะลายู มีชื่อเรียกอยู่ชื่อหนึ่งว่าพวก เซลัง ซึ่งเข้าใจกันว่ามาเป็นเกาะสลางหรือถลาง

ที่ทรงพระเมตตาประทานเรื่องเขางัว ซึ่งพราหมณ์ศาสตรีว่า ใช้เป็นของตักน้ำสาด ข้าพระพุทธเจ้านึกถึงภาษาอังกฤษได้อยู่คำหนึ่ง คือเขาเรียกถ้วยน้ำว่า drinking horn มีเค้าให้เห็นว่า เห็นจะใช้เขางัวเป็นเครื่องตักน้ำมาแต่ครั้งเมื่อยังไม่รู้จักทำเครื่องตักน้ำด้วยวัตถุต่าง ๆ เขางัวมีรูปเหมาะที่จะใช้ตักน้ำได้เสร็จมาในตัว ชาวอริยกะซึ่งโดยปกติเลี้ยงงัวอยู่แล้ว จึงได้ใช้เขางัวเป็นภาชนะตักน้ำ ข้าพระพุทธเจ้าได้ทราบเกล้า ฯ ถึงความหมายคำว่า ภฤงคาร และ กลศ ที่ทรงพระเมตตาประทานมา เหตุที่ความหมายของคำจะแคบเข้า ก็คงเนื่องมาแต่ใช้คำในสิ่งของ ที่มีรูปร่างโดยฉะเพาะ เช่นเรียกคนโซว่า ภฤงคาร คำว่า ภฤงคาร ก็มาเกาะอยู่ฉะเพาะภาชนะรูปคนโซเท่านั้น กลศ ใช้แก่รูปเป็นหม้อ ก็มาเกาะอยู่กับภาชนะรูปเป็นหม้ออย่างเดียว

เรื่องหม้อกลศ หนังสือฝรั่งเรื่องหนึ่งกล่าวว่า กลศ หรือ กุมภ ซึ่งแปลว่าหม้อน้ำ ถือว่าเป็นเครื่องหมายแห่งการเกิด หรือเป็นน้ำอมฤตที่เกิดขึ้นเมื่อคราวกวนเกษียรสมุทร สิ่งก่อสร่างของชาวฮินดู ถือรูปหม้อกลดเป็นส่วนสำคัญของหลังคาโดม (dome) รูปกลศ ซึ่งมีดอกบัวตูม อยู่เหนือมหาปัทมหรืออมลก (ไม่ทราบเกล้า ฯ ว่าหมายถึงส่วนใด) เบีมยอดสุดของโดม ถือว่าเป็นเครื่องหมายแห่งการเกิด

หลังคาโดมและสิขร (ยอดปรางค์) ของเทวาลัยฮินดู มักมีรูปคล้ายหม้ออ้วน ๆ ประดับ พระสถูปโบราณ มีเป็นหลังคาโดม (อัณฑ์ หรือ ครรภ) มีฐานรอบโดมเป็นสามชั้น เหนือโดมเป็นเทวาลัยรูป ๖ เหลี่ยม มีเสาโลห(ยศติ) ปัก แล้วมีเครื่องหมายฉัตรเป็นชั้น ๆ ยอดทีเดียวเป็นรูปวรรษสถาล (หม้อน้ำฝน) เทียบหม้อกลศของเทวาลัยฮินดู

ข้าพระพุทธเจ้าเห็นคำว่าเมขลา ในหนังสือ คำฤษดี ของสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรสแปลไว้ว่า สะอิ้ง กระทำให้ทราบเกล้า ฯ ว่า สะอิ้ง คือสายรัดเอว คำนี้ถ้าจะเป็นคำไทยแท้ก็ควร เพราะ สะ คงกร่อนเสียงมาแต่คำว่า สาย ส่วน อิ้ง ในพจนานุกรมไทยใหญ่มีคำว่า แอ้ง ว่าเป็นคำของพวกไทยในเมืองจีน เรียก เอว ว่า แอ้ง เมื่อเทียบ สายแอ้ง กับ สะอิ้ง หรือ สะเอ้ง ก็ใกล้เคียงกันมาก พายัพเรียก สายฮั้ง ไทยใหญ่ว่า สายเอ๋ว หรือ สายฮัดเอ๋ว

ข้าพระพุทธเจ้าค้นคำไทยถิ่นต่าง ๆ ถึงคำว่า เสื้อ ปรากฏมีเหมือนกันทุกถิ่น แสดงว่ารู้จักเสียกันมานานแล้ว เมื่อครั้งยังรวมกันอยู่ ครั้นเลื่อนมาอยู่ในประเทศร้อน เลยไม่ชอบสวมเสื้อ ใช้แค่ผ้าแปะบ่า แต่คำว่าเสื้อยังคงอยู่เพราะยังมีใช้อยู่บ้างลางครั้งลางคราว ส่วนคำว่านุ่งก็หมายความถึงสวมเสื้อผ้า เพราะฉะนั้นไทยลางถิ่น นุ่งเสื้อ จึงยังใช้เป็นภาษาอยู่ ส่วน กางเกง คำนี้แปลก ไม่เหมือนกันสักแห่ง ไทยใหญ่เรียกกางเกงว่า ก๋น จะเรียกมีสร้อยคำว่า ก๋าน เป็นคำคู่ก็ได้ เป็น ก๋นก๋าน ไทยคำที่ กางเกงขากว้างอย่างกางเกงจีน เรียกว่า ป่องปี ถ้าขาแคบอย่างฝรั่งเรียกว่า ก๋น พายัพ กางเกงจีนเรียกว่า เตี่ยว เช่น ผ้าเตี๋ยว = กางเกงผ้า เตี่ยวแฮ = กางเกงแพร ถ้าเป็นกางเกงแบบฝรั่งเรียกว่า กงเก็ง อย่างชะนิดสั้นเรียกว่า กงเกงขาก้อม อีศานเรียกกางเกงว่า ส่ง คำเดียวกับ ส้ง ในคำว่า ลาวส้ง คือลาวนุ่งกางเกง กางเกงขาสั้นเรียก ส่งขากบ ส่วน เตียว อีศานหมายถึงผ้าขัดหนอกอย่างที่พวกข่าใช้ ทางเชียงตุงพวกเขินเรียก ขากิ๊น ไทยโท้ ไทยนุง และผู้ไทยขาว เรียกกางเกงว่า ขวส ซึ่งเพี้ยนเป็น โข หรือ ขัว ในอีศานลางถิ่น เขมรก็ดูเหมือนเรียกว่า โค เหมือนกัน ไทยย้อยเรียกกางเกงว่า กุน เห็นจะเป็นคำเดียวกันกับ ก๋น ในไทยใหญ่ จีนเรียกกางเกงว่า โข่ กางเกงขาสั้นว่า โข่ก๊วย แต่อ่านว่า โค้ก๊วย แปลว่า กางเกงครึ่งท่อน ไทยแผลง โค้ เป็น ขา เป็นกางเกงขาก๊วย ปักษ์ใต้เรียกกางเกงว่า โกงเกง ซึ่งคงเป็นคำเดียวกัน คงมีเรียกว่า กางเกง แต่ไทยกลางและปักษ์ใต้เท่านั้น จะว่า กางเกง เป็นของเกิดใหม่ เพราะคำเรียกในภาษาไทยเป็นต่างๆ กัน ก็ยังหมิ่นต่อเหตุผล ข้าพระพุทธเจ้าพบใน คำฤษดี ของสมเด็จกรมพระปรมานุชิต ฯ แปลคำ สนับเพลา ว่า เสื้อขา ถ้าเสื้อขา เป็นคำที่ใช้กันอยู่แต่เดิม เสื้อตอนบนก็ควรเป็นเสื้อแขน และคงคะเป็นเพราะมาเรียกเสื้อขาเป็นกางเกงและสนับเพลาเสียแล้ว เสื้อจึงไปเกาะอยู่กับเสื้อแขนพวกเดียว เรื่องเครื่องแต่งกาย คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า ถ้าพูดถึงประเทศร้อน เดิมจะนุ่งผ้าแคบ ๆ อย่างนุ่งผ้าขาวม้า อย่างรูปชาวอียิปต์ครั้งโบราณ แล้วผ้าแคบนี้จึงยืดมาเป็นยาว โสร่ง เป็นถุงขึ้น เกิดรุ่มร่ามจึงรวบชายกลางไปไว้ข้างหลังเป็นครั้งเป็นคราวก่อน แล้วภายหลังก็รวบเลย เกิดเป็นนุ่งผ้าโจงกระเบน ส่วนกางเกงก็จะมาจากรอบชายกลางนั่นเอง เกิดเป็นเสื้อขาขึ้น ที่เคยตรัสเล่าให้ข้าพระพุทธเจ้าว่า พะม่านุ่งลอยชายเป็นเคารพ ตรงข้ามกับไทยซึ่งนุ่งรวบชายเป็นเคารพ ก็คงเนื่องมาแต่การนุ่งปกติเป็นหลัก ถ้าปกตินุ่งลอยชาย ๆ ก็เป็นสุภาพ ถ้านุ่งรวบชายเป็นปกติ นุ่งอย่างนั้นก็สุภาพ ผิดปกติจากนั้นก็ไม่เป็นสุภาพ อย่างเดียวกับความคิดเรื่องไว้ทุกข์ของชาติต่าง ๆ ที่ต้องแต่งให้ผิดปกติ ข้าพระพุทธเจ้าดูรูปเขียนวัดยม เรื่องพยุหยาตรา เห็นพวกแต่งเป็นเทวดาสวมครุยนุ่งผ้า มีกางเกงขาลีบ ๆ ยื่นเลยเข่าออกมา ส่วนพวกหามพระที่นั่งยานุมาศ มีแต่นุ่งผ้าไม่เห็นกางเกง ถ้าจะมี ก็คงอยู่ภายในผ้าเหนือเข่าขึ้นไปจึงไม่เห็น เรื่องนุ่งผ้าซ้อนกางเกง ข้าพระพุทธเจ้าเห็นพวกแขกมะลายูแต่งเต็มยศนุ่งโสร่งสั้น ๆ ทับกางเกงยาวอีกที คงมีเหตุผลสักอย่างหนึ่งที่แต่งเช่นนั้น ข้าพระพุทธเจ้าอ่านพบเรื่องลูกดุมเสื้อของฝรั่ง ถ้าเสื้อผู้ชายเขาติดลูกดุมทางขวา ถ้าเป็นเสื้อผู้หญิง ติดลูกดุมทางซ้าย ข้าพระพุทธเจ้านึกสนุก ตรวจดูเสื้อผู้หญิง ก็พบลูกดุมอยู่ทางซ้ายทั้งนั้น เมื่อสอบถามคงได้ความว่า เสื้อผู้หญิงของไทยแต่เดิม ติดลูกดุมทางขวา มาติดลูกดุมทางซ้ายกันไม่สู้ช้า เมื่อตัดเสื้ออย่างฝรั่งขึ้น

ไม้สำหรับต่อขาให้สูงเดินได้เก้งก้างอย่างที่ในอังกฤษเรียกว่า stilts ทางพายัพเรียก กงกั๋ก ทางนครสวรรค์และอีศานเรียกว่า ขาหย่าง คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า ขาหย่างของเดิมอาจเป็นของอย่างนี้ คือใช้อย่างขา ขาหย่างนักโทษอาจเป็นไม้สูงอย่าง กงกั๋ก แล้วมีอะไรพาดสำหรับนั่งเก้งก้างอยู่เหนืออื่นมองได้เห็นเด่น

วันที่ ๒๘ เมษายน เป็นวันมงคลคล้ายกันประสูติของใต้ฝ่าพระบาท ข้าพระพุทธเจ้าไม่ทราบเกล้า ฯ ว่าจะแสดงความรู้สึกปลาบปลื้มได้เพียงไร เมื่อมาระลึกถึงพระเมตตากรุณาคุณที่ได้มีแก่ข้าพระพุทธเจ้า นอกจากขออัญเชิญคุณพระศรีรัตนตรัย ขอจงดลบันตาลให้ใต้ฝ่าพระบาทคงทรงพระเกษมสำราญตลอดไปสิ้นกาลนาน

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ