๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๔

พระยาอนุมานราชธน

หนังสือลงวันที่ ๓ เดือนนี้ได้รับแล้ว ขอบใจเปนอันมากที่อธิบายอะไรต่าง ๆ ให้เข้าใจ

คำอธิบายเรื่องอ่านภาษาอังกฤษ ทำความเข้าใจให้เกิดขึ้นมาก นึกตัวอย่างได้ว่าฉันได้หนังสือเรื่อง ปฐมสมโพธิ ทางจีนมา นึกถึงสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ท่านใฝ่ใจอยู่ในเรื่องพุทธประวัติจึงเอาไปให้ท่าน ท่านว่าดี จะเอาไปให้ลูกจีนซึ่งท่านรู้จักเขาแปล เขารู้หนังสือมาก อีกสองสามวันท่านเอามาส่งคืน ว่าลูกจีนคนนั้นไม่รับแปล เขาว่าเขารู้แต่ทางค้าขาย อ่านทางศาสนาไม่เข้าใจ

การแปลนั้นดีกว่าอ่านมาก เพราะจะเขียนลงก็ต้องรู้ทุกคำ ถ้าอ่านแล้วคำใดที่ไม่รู้ เว้นแต่เข้าใจแล้วก็ข้ามไปเสียโดยขี้เกียจค้น เลยไม่รู้คำที่ติดนั้น

คำจำเพาะคือ เตฆนิค นั้นยากนักที่จะรู้ได้ อย่าหาว่าภาษาอื่นเลย เอาแต่ภาษาไทยก็หงายท้องไปตามกัน

ท่านพูดถึงอ่านเข้าใจขึ้นได้ด้วยไม่ได้หาทางที่จะเข้าใจ ฉันนึกจะบอกแต่ท่านว่า เพราะอินทรีย์แก่กล้าขึ้น แต่ไม่ต้องบอก ท่านคิดได้เองแล้ว

วินัยธร กับ ธรรมกถึก ที่เขาเขียนมาให้ ก็เรื่องโกสัมพีที่พระสารประเสริฐว่านั้นเอง คำ ว่า นั้นแปลกมาก เปนไปได้หลายอย่าง

ขอบใจท่านที่ชี้แจงคำ ปึ้ง ให้เข้าใจ คำ ปึ้ง นั้นหมดสงสัยไปแล้ว เลื่อนไปคิดใจในคำว่า หนังสือ เคยตกลงใจว่าคำ สือ นั้นเปนคำจีน มีตัวอย่างในลายครามซึ่งว่า สือ หลง กง เสี่ยง เปนต้น เขาชี้รูปคนอ่านหนังสือว่านี่คือ สือ แต่เจ้าพระยารัตนาธิเบศร (พุ่ม) ท่านอ่านคำที่เขียนว่า หนังสือ เปน หนังสื่อ ท่านอธิบายว่าเขาเขียนใส่แผ่นหนังส่งไปเปนสื่อ ท่านไปเอาที่ไหนมาพูดก็ไม่ทราบ แต่ทำให้เกิดสงสัยขึ้นในใจ ว่าคำ สือ กับ สื่อ จะเปนคำเดียวกันหรือไม่ใช่

คำว่า แพ้ และ พ่าย ตกเปนว่าคำไทยถิ่นอีศาน เท่าที่สอบได้ในเวลานี้

คำที่มีความหมายเคลื่อนไปนั้นเจ็บปวดมาก ที่ตำรานิรุกติศาสตร์ว่าไม่มีใครจะรู้ความหมายได้ทั่วนั้น เปนคำที่หมายถึงคำที่เคลื่อนมาเก่า ที่เคลื่อนใหม่ไม่รู้เหนอยู่โทนโท่ก็มี เช่น หลวง เข้าใจกันว่า Royal เปนต้น คำที่รู้อยู่แต่ไม่กล้าแปลก็มี เช่น ทิชาจารย์ หรือ ทวิชาจารย์ ซึ่งแปลกันว่าพราหมณ์ เปนต้น ถ้าจะแปลไปตามศัพท์ว่า ครูผู้เกิดสองหน ก็ไม่ได้ ด้วยไม่มีใครเข้าใจ สแปลว่าพราหมณ์ไม่ได้ คำผูกเช่น เรือบิน หนังสือพิมพ์ ประมวญวัน เขาก็ยักเรียกว่า ยานฟ้า แต่จะเปนผลหรือไม่ก็ไม่ทราบ คนเราสำคัญอยู่ที่จะใช้คำใด ๆ ก็ต้องใช้ไปตามกัน ไม่ว่าผิดหรือถูก ควรหรือไม่ควร ถ้าใครไม่ตามคนนั้นก็เปนบ้า มีคนยอมเปนบ้าอยู่บ้างแต่มีน้อย

คำไทยซึ่งเขียนด้วยตัว ภ ฉันก็เคยคิดเหนว่าติดมาทางเขมร ทางเขมรถ้าจะให้ออกเสียง พอ ก็ต้องเขียนด้วยตัว ภ ถ้าเขียนด้วยตัว พ ก็อ่านเปน ป ไปเสีย เช่น ทวาร ก็ต้องเขียน ธวาร เพราะอ่าน ท เปน ต จะอ่านเปน ตวาร ไปไม่ตรงคำเดิม ลางคำฉันเคยเขียนมาทั้งสองอย่าง แต่แรกเขียนด้วยตัว ภ ทีหลังเขียนกันเปนตัว พ ฉันก็ต้องเขียนตามเขาไป ถ้าดื้ออยู่คนเดียวทีก็จะตกเปนคนบ้า

ยอ หมายความว่า ยก แน่ แต่ ยอทัพ เข้าใจว่ารับทัพด้วยทัพ เปนเรื่องความหมายเคลื่อน

คำว่า ลอง มีใช้อยู่ในเรื่องพระลอมาก ท่านค้นภาษาจีนมาได้ว่า หล่อง แปลว่าทำ ก็เข้ากันได้แล้ว ลองแต่ส่ำผู้ดี พอแรงผีแรงคน เจ้าสากลผ่านหล้า หน้าผู้ใดจะลองลุ ทั้งนี้คำ ลอง ก็เปนคำด้วยกฤตยาคมทั้งนั้น จึงเหนเข้ากันได้ แต่ รัง ไม่เหนว่ามาแต่ สร้าง คิดว่าเปนที่อยู่ รังงสรรค์ ก็เปนที่อยู่บนสวรรค์ แต่ขอออกตัวว่านี่คิดอย่างพลุ่ย ๆ อาจมีอะไรที่เอามาค้านก็ได้

รังวัด คิดว่าเปน รางวัด อย่างเดียวกับ รางประทัด คงเปนเส้นเชือกม้วนเข้าได้อย่างรางประทัด และชักออกวัดก็ได้ คำว่า เส้น คือ ๒๐ วา ก็แสดงว่าเปนเชือก เส้นที่ใช้รางวัดจะต้องเปนเส้นเชือก ยาว ๒๐ วาเปนกำหนดแล้วม้วนเก็บเข้ารางได้

พระแสงต่างๆ ตามที่ท่านคิดนั้นถูกแล้ว พระแสงสำหรับพระองค์นั้นเขาเรียกว่า พระแสงต้น แต่ก่อนมีกรมพระแสงต้นเปนหน้าที่ได้รักษาอยู่ต่างหากทีเดียว

พระแสงจักร ซึ่งมีตัวจริงอยู่นั้น เปนของทำให้รัชชกาลที่ ๑ ทำเพื่อให้มีให้ต้องตามเรื่องโบรมโบราณเท่านั้น มีอยู่อันเดียว จัดว่าเปนของทำเล่น คำว่า จักร ก็แปลว่า วงกลม ๆ อะไรที่เปนวงกลมหรือไม่สู้กลมก็เรียกว่าจักรทั้งนั้น พระแสงจักรเปนจักราวุธทำกันอยู่เปนสองอย่าง ที่เปนฟันเลื่อยอย่างเลื่อยวงเดือนก็มี ที่เปนคมเกลี้ยงดุจฉาบก็มี ก่อนจะทำเปนอย่างไรคงเอะอะกันมาก ในที่สุดก็ทำเหล็กเปนวงกลมเกลี้ยงดุจฉาบ แล้วมีลายคร่ำทองข้างในเปนฟันเลื่อย แปลว่าเอาเสียทั้งสองอย่าง จะทำอย่างไรก็ได้ ความจริงไม่ได้ใช้อะไรนอกจากเปนพิธีเท่านั้น ที่ท่านสังเกตว่ากรมนั้นทำเวียนซ้าย กรมนี้ทำเวียนขวา ฉันเรียกความสังเกตชะนิดนั้นว่า เก้าประโยค ใช้เรียกพวกศาสตราจารย์ฝรั่งซึ่งคิดเหนว่าจะต้องเปนเช่นนั้นเช่นนี้ ด้วยหลักอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ที่จริงช่างผู้ทำก็ทำไปตามที่เหนเขาทำ ซ้ำขาดความสังเกตด้วยว่าเขาเวียนซ้ายหรือขวา ทั้งพระแสงจักรจริง ๆ ก็ไม่เคยเหน อันพวกศาสตราจารย์คิดอะไรก็คิดไปด้วยอาศรัยความคิดในความรู้แต่ฝ่ายเดียวเท่านั้นเอง เหมือนหนึ่งที่ท่านอ้างว่า กรมนั้นกรมนี้ทำจักรเวียนซ้ายเวียนขวา ก็เปนแต่ช่างผู้ทำหลับตาทำไปให้นาย นายได้สิ่งที่ต้องการมาใช้ก็เปนแล้ว ของนั้นจะเปนอย่างไรก็ไม่เอื้อ

ฉันจะเปนหมอความแก้ต่างช่างผู้ทำ อันว่าจักรอย่างฟันเลื่อยนั้น จะเวียนซ้ายหรือขวาก็เหมือนกัน ดูด้านหนึ่งจะเหนเวียนซ้าย ดูอีกด้านหนึ่งจะเหนเวียนขวา วางเอาทางหนึ่งลงจะเหนเวียนซ้าย วางเอาอีกทางหนึ่งลงก็จะเหนเวียนขวา จะหาโทษใส่ช่างว่าทำผิดอย่างใดหาได้ไม่

เวียนซ้ายถูกหรือขวาถูกฉันก็บอกไม่ได้ ทั้งเปนฉาบถูกหรือเปนเลื่อยถูกก็บอกไม่ได้ บอกได้แต่ว่าถ้าเปนเลื่อยแล้วต้องหมุน ถ้าไม่หมุนก็ไม่ได้ผล สังข์ทักษิณาวัฏกับอุตตราวัฏนั้น เปนหอยคนละอย่าง หากเอามาหลาวตบตาเสียเท่านั้น ไม่ใช่ว่าหอยอย่างเดียวจะมีซ้ายบ้างขวาบ้างก็หามิได้ ท่านจะสังเกตเหนได้ว่าสังข์ทักษิณาวัฏนั้นหัวแบนกว่าสังข์อุตตราวัฏ

เรื่องรดน้ำด้วยสังข์ ฉันเคยถูกทักมาทีหนึ่งแล้วเมื่อรัชชกาลที่ ๖ ตรัสสั่งให้เขียนเหรียญพระราชนิยมเปนรูปนารายณ์หลั่งน้ำ เพื่อเปนสวัสดิมงคล ฉันเขียนถวายขึ้นไปเปนรดด้วยสังข์ตามที่เคยเหน ตรัสทักว่าสังข์มันสำหรับเป่าเปนพวกแตรต่างหาก ทำไมเอามาใส่น้ำรด ฉันได้สติเหนตรัสถูกที่สุด รูปพระเวสสันดรก็เหนทำกันประทานน้ำด้วยพระเต้า จึ่งเขียนแก้ตัวถวายใหม่ เปนรดด้วยกลศก็เงียบไป แต่ทำไมจึ่งไม่ใช้รูปนารายณ์อย่างกระแสรพระดำริห์นั้นฉันบอกไม่ได้เพราะไม่รู้ ที่สัดยานันทปุรีบอกก็บอกตามที่เคยทำ ไม่ได้แสดงเหตุผลให้ทราบ ก็เปนด้วยไม่รู้นั่นเอง ทำไมจึงเอาน้ำใส่สังข์รด ฉันกีไม่ทราบ เมื่อไม่ทราบก็ต้องเดา ความเดาอาจจะผิดหรือถูกก็ได้ไม่เปนหลักฐาน

ของโบราณอย่างหนึ่ง ทำด้วยทองสัมฤต เห็นจะไม่ควรบอกรูปให้เปนคำยาว หวังว่าท่านจะเคยเหนเพราะมีหลายตัว เปนรูปทีสังข์ ฉันเข้าใจว่าเปนเครื่องใส่น้ำรด สังเกตเหนเปนฝีมือเขมร มักมีเทวรูปติดอยู่ด้วย แต่เปนเทวรูปทางศาสนามหายาน ถ้าเข้าใจถูกดั่งนั้นก็คือรดน้ำด้วยสังข์สัมฤต มีมาแต่ครั้งเขมรศรีวิลัยมาแล้ว ทำให้เหนไปได้ว่าต้องมีการรดน้ำด้วยสังข์หอยมาแล้วในเวลานั้นจึ่งเลื่ยนมาทำสังข์สัมฤตเทียม แต่สังข์สัมฤตที่ว่านั้น ทางน้ำออกไม่แหลมอย่างสังข์ น่าจะคิดทำให้เปนกลศกับสังข์ปนกัน ถ้าเปนเช่นนั้นก็แสดงว่าการรดน้ำด้วยกลศก็มีมาแล้วเหมือนกัน

อีกสิ่งหนึ่ง มีคนเอามาถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชชกาลที่ ๕ เดี๋ยวนี้จะอยู่ที่ไหนไม่ทราบ ทำด้วยทองสัมฤตเหมือนกัน รูปดุจทรพีด้ามสั้น แต่มีเปลือกสองชั้น กลางและหัวท้ายกลวง ไม่ทรงทราบว่าสำหรับทำอะไร จึงทรงปรึกษาด้วยผู้รู้ทางโบราณคดีก็หงายท้องไปตามกัน แต่มีพระราชาคณะองค์หนึ่งท่านกราบทูลว่านี่แหละคือ ภิงคาร เปนเครื่องรดน้ำ ได้สอบพจนานุกรมมคธเขียน ภิงฺการ สังสกฤตเขียน ภฺฤงคาร แปลให้ไว้ว่าภาชนทอง ก็ไปเข้ารูปรดด้วยกลศ

เรื่องทัดดอกชะบาขึ้นขาหยั่ง ฉันก็ไม่เคยเหน เปนแต่ได้ยินเขาเล่าลือ ขาหยั่งก็ไม่เคยเหนตัวจริงอย่างเดียวกับท่าน เปนแต่ได้เหนเขาเขียนรูปพระมงกุฎ (กุศ) ขึ้นขาหยั่ง เขาเขียนขาหยั่งก็อย่างที่แขวนฆ็องโหม่ง เหนเปนนั่งไม่ได้ นึกว่าไม่ถูก เปนช่างเขียนคิดเอาเอง

คำ ดีร้าย เปนคำกลางอย่างที่ท่านเหนถูกแล้ว คำ มิดีมิร้าย ก็เปนอันเดียวกับ ไม่ดีไม่ร้าย นั้นเอง สมเด็จกรมพระยาเทววงศ์ทรงหลบคำ มิ ถ้าไม่จำเปนต้องใช้ก็ทรงใช้คำ ไม่ เพราะทรงเหนว่าคำ มิ นั้นใกล้กับ มี ลางทีก็จะอ่านผิด ทำให้เข้าใจผิดไปได้ ฉันเหนด้วยตามพระดำริห์ ปฏิบัติตามอยู่จนทุกวันนี้ คำ ทำมิดีมิร้าย ก็จัดว่าเปนคำกลางเหมือนกัน หมายความว่าเขาจะพาไปทำดีหรือทำร้ายก็ไม่ทราบโดยไม่เหน แต่ที่กลายเปนร้ายไปนั้นเปนด้วยอำนาจความหมายเคลื่อน

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ