๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๔๘๓

พระยาอนุมานราชธน

หนังสือลงวันที่ ๔ ตุลาคม ได้รับแล้ว

เรื่องไวยากรณ์ที่ท่านพูดนั้นจับใจเปนอย่างยิ่ง ฉันไม่รู้เรื่องไวยากรณ์พอ เปนแต่สังเกตว่าไวยากรณ์เขยงเรา เอาไวยากรณ์ภาษามคธภาษาฝรั่งมาครอบนั้นผิดฝาแน่

จะต้องอธิบายคำ ผิดฝา ให้ท่านเข้าใจ ในการเล่นเครื่องลายครามนั้น สมเด็จพระราชปิตุลาทรงตั้งอยู่ในที่เปนอาจารย์เรื่องฝา เพราะทรงสังเกตอยู่ในทางนั้นมาก เช่นผิดฝา ขาดฝา เปนต้น ตามธรรมเนียมการเล่นลายครามนั้น มีธรรมเนียมอยู่ว่าชิ้นซึ่งควรจะผูกผ้าแดงได้ต้องมีชิ้นเดียว ถ้ามีหลายชิ้นก็ผูกไม่ได้ เรียกกันว่า สวะ ในการผูกผ้าแดงนั้น เมื่อเจ้าของเรียกให้กรรมการผูก ถ้ากรรมการคนใดไม่ยอมให้ผูก ก็ต้องบอกเหตุว่าไม่ให้เพราะเหตุใด ในธรรมเนียมอันมีอยู่อย่างนั้น เมื่อใครเรียกผ้าแดง สมเด็จพระราชปิตุลาก็ทรงตรวจฝาเปนที่ตั้ง แม้เปนชิ้นที่ควรมีฝาแต่ไม่มีก็ตรัสว่าไม่ให้เพราะขาดฝา ถ้าฝาไม่ลงกันสนิทก็ตรัสว่าไม่ให้เพราะผิดฝา โดยมากมักหลวมไป หรือลายไม่ทันกัน หรือสีครามไม่เหมือนกัน น่าเห็นความลำบากของเจ้าของชิ้น ชิ้นที่จะผูกผ้าแดงได้ก็ต้องมีชิ้นเดียว ถ้าฝาแตกไปแล้วก็ต้องหาฝาอื่นมาครอบเข้า จะให้ลงกันสนิทประกอบทั้งน้ำเนื้อด้วยก็ยากเต็มที ทั้งนี้ก็เหมือนกับไวยากรณ์ของเราฉะนั้น

ขอบใจท่านที่บอกให้ทราบว่า โทน มาแต่ โฑล ในภาษาทางอินเดีย ทับ เปนภาษาของชาวปักษ์ใต้ จเข้ มาแต่ ติ่งเห้ ภาษาไทยใหญ่ สืบได้ความว่าชาวละครนั้นเปนไทยลื้อ กวาดครัวเอาลงไปไว้ปักษ์ใต้ในแผ่นดินสมเด็จพระราเมศวร เมื่อ พ.ศ. ๑๙๒๗ คำว่า โทน และ ทับ นั้น ฉันก็งมมานานแล้ว ไม่ได้รู้รากเหง้าเลย เปนแต่สังเกตได้ว่า โทน นันเปนชื่อชะนิดกลอง ทับ เปนชื่อเพลงซึ่งตีด้วยกลอง สังเกตได้จากบทดอกสร้อย ว่าร้องอะไร ตีหน้าทับอะไร ลำๆ จะเข้าใจไปว่า โทน กับ ทับ เปนวัตถุอันเดียวกันไปเสียด้วยซ้ำเพราะเห็นในกฎมณเฑิยรบาล ห้ามตีโทนทับกรับฉิ่งในสระแก้ว แต่ จเข้ มาแต่ ติ่งเห้ นั้นเพิ่งเคยทราบ สมควรแล้วที่ ติ่งเห้ จะกลายเปน ตเข้ ได้ คำว่า เป่า ในภาษาเราเปนว่าทำลมเข้าไปสู่ เป่าปี่เป่าแตรเป่าสังข์ควรอยู่ แต่เป่ากลองนั้นเต็มที เพราะไม่ใช่ของต้องใช้ลม ท่านเดาว่า เปาะ แปลว่าตีนั้นเข้าทีมาก ทางเราก็มีคำว่า เบาะ ใช้อยู่ แต่จะว่าตีหรือมิใช่ก็สงสัย เช่นว่า ตีเบาะๆ นั้นดูเปนว่าเบา ๆ เบาะพก เปนชื่อเหล็กแหลม ซึ่งหมอช้างคาดพุงไป เห็นจะเอาออกใช้เมื่อขอหลุดมือไป เบาะแสร ดูเปนสถานที่ แสร ภาษาเขมรแปลว่านา ก็เข้ารอย แต่มีคำหนึ่ง เครื่องรองนั่งยัดนุ่นเรียกว่า เบาะ นั่นไกลไปไหนๆ มีอีกคำหนึ่งว่า เตมเปา แปลไม่ออก แต่คำ เปา ไปคล้ายกันเข้ากับเป่ากลอง เลยยุ่ง คิดไม่ออกว่าไปทางไหน

ชื่ออะไรต่างๆ มาแต่เสียงและรูปของมันโดยมากนั้นเปนแน่นอน

วิจารณ์เรื่องแต่งงานและเลี้ยงลูก นั้นจะอ่านก่อน แล้วจะจดบันทึกมาให้ทีหลัง

สงสัย กาพย์ และ ฉันท์ เปนของมาแต่อินเดียนั้นแน่ แต่ตำราที่เรามีเห็นได้ว่าแต่งขึ้นในนี้ เพราะในทางอินเดียเขาไม่เอื้อแก่สัมผัส เท่าที่พบนั้นพบแต่ฉันท์มาก ส่วนทางกาพย์นั้นไม่พบอะไรในภาษามคธนอกไปจาก ปัฐยาวัตร (เขียนอย่างไรจะถูกก็ไม่ทราบ) แต่ดูเหมือนเขาก็เรียกว่าฉันท์ กาพย์นั้นมีรูปเปนรูป กาวฺย หมายความว่าเปนคำของกวี รูปเปนสังสกฤตกลัวจะหมายตลอดไปถึงฉันท์ด้วย ภาษาสังสกฤตนั้นเปนมือซ้าย รู้อะไรไม่ได้พอ ถ้าสบโอกาศแล้วช่วยถามพระสารประเสริฐด้วย ดูภาษาสังสกฤตพบลาดเลาอะไรที่จะนับว่าเปนแบบกาพย์มีอยู่บ้างหรือไม่

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ