๒๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ยส

กรมศิลปากร

วันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ ลงวันที่ ๑๐ ธันวาคม และวันที่ ๑ มกราคม รวม ๒ ฉะบับ พระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ หาที่สุดมิได้

เรื่องไวยากรณ์ ข้าพระพุทธเจ้าได้อ่านพบหนังสือฝรั่งเล่มหนึ่ง เรียกชื่อว่า Philosophy of Grammar นักปราชญ์ชาวเดนมารคคนหนึ่งเป็นผู้แต่ง เป็นหนังสืออ่านเข้าใจยาก แต่เมื่อเพียรอ่านไปทีละน้อย ทบทวนอยู่หลายหนก็เข้าใจได้บ้าง เป็นหนังสือที่ให้สติในเรื่องไวยากรณ์ว่าที้แท้จริงนั้นอะไร ข้าพระพุทธเจ้าจะได้แปลเลือกแต่ข้อความซึ่งพอปรับเทียบกับหลักภาษาไทยได้ แล้วจัดถวายมาเป็นคราวๆ

เรื่อง หน่วย ใบ ตัว ในตำราไวยากรณ์ไทยให้ชื่อว่า ลักษณะนาม ข้าพระพุทธเจ้ากำลังสอบค้นในภาษาไทยถิ่นต่าง ๆ อยู่ คำว่า เล่ม ในไทยใหญ่อธิบายว่า สิ่งที่ยาวเรียวตามส่วนของสิ่งนั้น ๆ ท่อนหรือแท่ง สิ่งใด ๆ ที่มีลักษณะยาว คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า เกวียน เรียกว่า เล่ม จะมุ่งนับแอกที่เทียมเกวียนเป็นประธาน เมื่อข้าพระพุทธเจ้าไปภาคพายัพต้นปีที่ล่วงมานี้ ได้ความว่า เกวียน เขาเรียกว่า ล้อ ตรงกับที่ไทยใหญ่ใช้ ส่วนภาคอีศานเรียกว่า เกวียน ในภาษามอญเรียกเกวียนว่า กวี คิดด้วยเกล้าฯ ว่าเกวียนจะเป็นภาษาตระกูลมอญ-เขมร ในภาษาจีน รถที่รุนไป ไสไป เรียกว่า หลุน ใกล้กับคำว่า เลื่อน ซึ่งอาจเป็นคำเดียวกัน

โยชน์ ๑ ข้าพระพุทธเจ้าเคยพบฝรั่งอธิบายว่า ระยะทางที่โคไปได้ไกลที่สุดโดยไม่ต้องหยุดพักปลดโคออกจากแอก ในบาลีโยชน์ ๑ แบ่งเป็น ๔ คาวุต คาวุต ๑ อธิบายว่า เสียงโคร้องสุดเสียงที่อาจได้ยินถึง แต่ลางแห่งอธิบายว่าคารุต ๑ คือ ระยะทางที่โคอาจวิ่งแล่นไปพักหนึ่ง คำว่า โยชน์ มีพวก คือ โยช โยค โยตฺต และยุค ซึ่งล้วนมีความหมายว่า ผูก และเครื่องผูก ในภาษาอังกฤษ Yoke แปลว่าผูกมัดเอาเข้าเทียบแอก เพราะฉะนั้นข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้า ฯ ว่าถ้าแปลอย่างความแรกจะใกล้กับรูปความหมายของคำเพราะเนื่องจากเรื่องผูก

ข้าพระพุทธเจ้ารู้สึกในพระกรุณาเป็นล้นเกล้า ฯ ที่ตรัสบอกเรื่องรกของเจ้า เรียกว่า พระสกุล ครรภ ชาวบ้านพูดกันว่า ครัน ข้าพระพุทธเจ้าลองพิจารณาถึงหลักการกลายเสียงก็คิดยังไม่เห็น แต่รู้สึกด้วยเกล้าฯ ว่า ถ้าใครพูด ครัน เป็น คัน มักถูกชาวบ้านกล่าวหาเป็นอย่างว่า อยากจะอวดเป็นผู้รู้เสียด้วยซ้ำ นายกีบอกข้าพระพุทธเจ้าว่า คพฺภ ในภาษาบาลี อาจารย์เคยสอนให้แปลตามความหมายของประโยค ถ้าความบ่งเป็นห้องเรียนก็ให้แปลว่าห้อง ถ้าความบ่งเป็นสัตว์ที่อยู่ในท้อง ก็ให้แปลว่า สัตว์เกิดในครรภ เช่น คฺพโภ อิตฺถิยา ปติฏฺิโต (สัตว์ผู้เกิดในครรภตั้งขึ้นแล้วแก่หญิง) คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า ครรภ แปลว่าห้องว่าท้อง คงมุ่งไปในทางที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน คืออยู่ในที่แวดล้อมมิดชิด เป็นความคิดเดียวกับที่ไทยถิ่นอื่น เรียกมดลูกว่า เรือนลูกอ่อน หรือ รังลูกอ่อน

คำไทยกับคำเขมรพ้องกัน ข้าพระพุทธเจ้าอาศัยค้นหาคำในตระกูลภาษาไทย-จีนก่อน เมื่อมีอยู่ในภาษาไทยลางถิ่น แต่ไม่มีอยู่ทั่วไปเป็นปกติ ครั้นตรวจดูทางภาษาตระกูลมอญ-เขมร มีอยู่มากถิ่น เช่นมีอยู่ในมอญ ข่า ขมุ ละว้า ฯลฯ และคำในภาษาไทยถิ่นที่พ้องกับของคำตระกูลมอญ-เขมรก็มีเหตุผลว่าอาจมีทางติดต่อกัน ข้าพระพุทธเจ้าก็ลงความเห็นว่าคำนั้นน่าจะเป็นคำที่ไทยยืมเอามาจากมอญ-เขมร ถ้าตรงกันข้ามกับข้างต้นก็ถือว่าเขมรยืมเอาไปจากไทย แต่การค้นอย่างนี้เสียเวลามาก ด้วยไม่มีทางที่จะค้นได้ทุกคำ ทั้งลางคำในลางถิ่นก็กลายเสียงและกลายความหมายเสียด้วย ที่ทรงยกตัวอย่างคำว่า ยกทัพ และ เลิกทัพ ความกลับกัน ทำให้ข้าพระพุทธเจ้าเฉลียวถึงคำว่า แพ้ ที่ไทยถิ่นอื่นหมายความว่าชะนะขึ้นมาอิก ที่ความหมายกลายกลับกัน จะเป็นไปในลักษณะนี้ แต่ข้าพระพุทธเจ้ายังหาตัวอย่างที่ใช้ในครั้งเก่ามาสอบไม่ได้เพียงพอ คำปากที่พูดกันถึงเรื่องหนี้สินค้างกันอยู่ เช่น ท่านติดฉัน ๕ บาท หรือ ฉันติดท่าน ๕ บาท ก็เป็นเรื่องที่เถียงกันอยู่ว่า ท่านเป็นเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ เมื่อข้าพระพุทธเจ้าเขียนในใบปลิวว่า ฝรั่งเศสแพ้เยอรมัน ต้องคอยระวังคำและเปลี่ยนเป็น พ่าย แทนว่า แพ้ มิฉะนั้นไทยถิ่นอื่นอาจเข้าใจผิดกันตรงข้าม ยังคำว่า ให้พร คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า เดิมผู้ใหญ่ให้แก่ผู้น้อย เพราะให้ได้จริง ๆ ต่อมาให้พรเป็นเพียงพิธี เลื่อนมาเป็นผู้น้อยให้ผู้ใหญ่ก็ได้ เป็นลักษณะเลื่อนความหมายในภาษา ตามหลักแห่งความหมายขยายตัวกว้างออกไป เพราะผู้ใช้สำคัญผิด

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ