๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๔ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๕ เมษายน ๒๔๘๔

พระยาอนุมานราชธน

ได้รับหนังสือของท่าน ลงวันที่ ๓๑ เดือนก่อน จะตอบบัดนี้

ขอบใจท่านที่บอกให้ทราบรากเหง้าของคำ สำปั้น และเรือชะนิดอื่นด้วย ย่อมได้ความรู้มากขึ้น

คำ สำปั้นปันยัง นึกไม่ออกว่าเมืองเรามีใช้ นึกได้แต่คำ สำปันนี คล้ายกับที่ร้องว่า สำปันเน มากทีเดียว ทั้งคำ เฮล่า ท่านคิดว่าทีจะตรงกันกับ เฮลั่ก (พลั่ก) ซึ่งร้องต่อนั้นเหนชอบด้วยอย่างยิ่ง ทางเรามีร้อง ซาละพาเฮโล เฮโล เฮล่า กันต่อเมื่อลากของหนัก แต่ไปพบทางเมืองตานีเขาใช้ร้องพายเรือทีเดียว ก็มาเข้ารูปที่ท่านคาด คิดดูก็ไม่ประหลาดอะไร ร้องในที่ทำการหนักเพื่อให้ทำพร้อมกันเท่านั้น จะร้องอะไรก็ได้ ลืมบอกแก่ท่านไปในคำว่า เฮลั่กพลั่ก นั้นจะเปน เฮลั่กคลั่ก ก็ได้ ฉันฟังมาให้การไม่ถนัด และถ้าคำ เฮลั่ก เปน เฮล่ะ ก็ใกล้กับ เฮล่า เข้าไปมากทีเดียว ตัวอย่าง ะ เปน ก ก็มีถมไป เช่น ทุะข = ทุกข ทำนุะ = ทำนุก หรือ จะ = จัก เปนต้น

ตามที่พิจารณาได้เรื่องเช่นนี้ คำร้องเปนไปในทางภาษาไทยและมะลายูเหนจะไกลจากภาษากะแซ ชื่อ เรือแซ ก็เปนอันพ้นสงสัยว่าไม่ใช่มาจากคำกะแซ

ในการที่ท่านจะเอารูปเรือกับชื่อเรือเข้าปรับกันนั้นเหนไม่ได้ เพราะความหมายในถ้อยคำย่อมเคลื่อนไปเสมอ ถ้าหากจะคิดถึงหุ่นเรือ คิดว่าอย่างขุดเปนเก่าก่อน อย่างเสริมกราบเปนตอนกลาง อย่างต่อเปนทีหลังที่สุด ตามลำดับแห่งความฉลาดซึ่งเกิดขึ้นแก่คน

เรือกู้แหละ มาแต่คำ โกเล็ก โกเละ แน่

สำเภา เราเรียกกันว่า ตะเพา ส เปน ต และยาวเปนสั้นนั้นไม่ประหลาดใจ มีถมไป ประหลาดใจแต่ที่เปนคำไทย ชาวใต้เขาเรียกเรือกลไฟว่า ตะเพาไฟ คำ ตะเพา เหนจะตกเปนว่าเรือใหญ่ คำมะลายูเรียก กำปั่น หรือ กปัล (เขียนอย่างไรไม่ทราบ ไม่ได้เหนหนังสือ) นั่นก็ทีว่าเปนเรือลำใหญ่ แต่ทำไมมามีชื่อหีบเหล็กพ้องกันเข้าไม่ทราบ

ฉันไปทางทะเลเคยเหนเรือซึ่งเปนรูปคล้ายเรือกิ่งเรือรูปสัตว์อยู่เนือง ๆ เขาบอกว่าเปนเรือแขก แต่หัวจะเปนรูปอะไรไม่ได้สังเกต ได้สังเกตแต่เรือซึ่งเขาจัดมารับที่เมืองตานี ตามที่ได้บอกว่าเขาร้อง ซาละพา เฮโล นั่นหัวเปนรูปห่านหรือหงส์ทั้งตัว เข้าใจว่าเปนของใหม่ฝรั่งนำไป

ตามที่เข้าใจกันว่าขุนช้างหัวล้านเหม่งนั้น เปนด้วยละคอน หรือยี่เกเสภารำ พาไป ไม่ได้สังเกตหนังสือว่าคนแต่งคิดอย่างไร ที่ ละคอน ยี่เก เสภารำ ทำเปนหัวล้านเหม่งก็เปนคิดจะให้ขันยิ่งขึ้น

ที่ฉันเรียกว่า ไม้ยุงปัด ก็แปลว่าเคยได้ยินมาอย่างนั้น นึกไขต่อไปก็พบว่าเคยได้ยินมา ๔ อย่าง คือ ไม้ยุงปัด ไม้ยุงกวาด ไม้กวาด ไม้กราด ขอบใจท่านที่บอกให้ทราบคำ ยูง ว่าเปนก้านใบไม้ชะนิดหนึ่ง ทำให้เข้าใจความได้ตลอดไม่ประหลาดอะไร ที่ต่างถิ่นต่างก็ใช้ของที่มีอยู่ในถิ่นซึ่งจะหาได้ง่าย แต่ทำให้เราหลงไป เพราะเอาชื่อมาสรวมกันเข้าเท่านั้น คำ วิชนี เปนคำที่ไทยเราเขียนเคลื่อน ที่แท้ภาษามคธยาวเปน วีชนี ทีเดียว เพราะเช่นนั้นจึงเดาคำว่า วี เปนภาษามคธ เพราะรู้คำไทยไม่พอ ถ้าเอาเข้าคำไทยได้ก็เปนทางที่ดีที่ถูกกว่าเอาเข้าทางภาษามคธสังสกฤตมาก

ผเอิญเปนหรือฟลุกนั้น พูดโดยจะหมายความว่าเปนขึ้นด้วยไม่ได้ตั้งใจเท่านั้น ส่วนอย่างใดจะเปนมากเปนน้อยและเปนแก่คนชะนิดใดมากน้อยนั่นเปนอีกเรื่องหนึ่ง

นิทานพื้นเมืองของเราเชื่อว่ามาแต่อินเดียแท้แล้ว สำคัญอยู่ที่เรื่องใดเราถือว่าเปนนิทาน เรื่องใดเราถือว่าเปนเรื่องจริง ก็ต้องใส่ใจในเรื่องที่ว่าจริงนั้นมากอยู่เอง

เรื่องขนนกหรือดอกไม้ทองปักพระมาลา เหนจะต้องพูดยาว ท่านจงทรงไว้ว่าไม่ว่าอะไรซึ่งใช้ดอกไม้สดก็ย่อมมีสิ่งอื่นแทน เพราะมันเหี่ยวเสียเร็ว ในที่นี้จะกล่าวถึงแต่ใช้ขนนกกับทองทำเปนดอกไม้ ใช้ต่างดอกไม้สด

ขนนกการเวกก้านดอกไม้ทอง ได้เคยเหนแต่ใช้แต่ปักพระมาลาเจ้า ถ้าขุนนางแล้วก็งด ที่ทำดอกไม้ทองไม่เคยเหนที่ปักพระมาลา เคยเหนแต่ปักพระชฎามหากฐิน (๕ ยอด) หรือชฎาพระกลีบ (ในหนังสือ ลัทธิธรรมเนียมภาคที่ ๑๙ กล่าวความเปนว่า พระชฎา ๒ อย่างนี้เปนองค์เดียวกัน) ดูเหมือนชื่อดอกไม้ทองนั้นเรียกกันว่า พระยี่ก่า หรือ พวงสน ใบสน อะไรก็เคลือบเคลิ้มไปเสียแล้ว จะเรียกให้ถูกหาได้ไม่ คำ ยี่ก่า นั้นได้เคยพบขนนกก้านดอกไม้ทองซึ่งใช้ปักผ้าโพกของพระเจ้าแผ่นดินเปอเซียก็เรียก ยี่กา (ดูเหมือนเขียนหนังสือฝรั่งเปน Jiga) พวงสนหรือใบสนนั้นเข้าใจว่าเปนของเราทำบิดจากขนนกไปเปนทอง เพราะทนกว่าขนนก ที่แท้ก็จะเปนอันเดียวกันนั่นเอง เพราะฉันเหนเช่นนั้น พระมหากฐินรัชชกาลที่ ๖ ที่ ๗ ซึ่งฉันให้อย่างจึ่งบิดไปเข้าหาเดิมเปนปักขนนกการเวก ตามที่เจ้าพนักงานว่าช่อดอกไม้ทองที่ปักพระมาลาเรียกว่า พระสุวรรณมาลัย และท่านพบภาษามะลายูเรียกว่า มาลัย แปลว่าขนนกปักหรือดอกไม้ประดับผมก็ลงรอยกันหมดแล้ว ไม่มีเรื่องจะต้องคิดอะไรอีก

คำ พระมาลา ถ้าแปลตามตรงก็ว่าดอกไม้ แต่เหตุไฉนกลายเปนว่าหมวก คิดก็เหนทางว่าเปนการเคลื่อนความหมาย แต่ก่อนคงเปนโพกผ้าสรวมพวงดอกไม้ (ดูหน้าโขนยักษ์ก็เหน) ทีหลังตรึงผ้าโพกติดกับดอกไม้เสียเสร็จให้สรวมหัวได้ไม่เสียเวลา จึ่งกลายเปนหมวก (หมวก หมายความว่าเครื่องสรวมหัว) คำ พระมาลา เหนว่ามาแต่หมวกยศ หมวกยศยังเหนอยู่ที่มีวงทองติดอยู่ทุกใบ ซึ่งตั้งใจจะทำเปนพวงดอกไม้ทองแล้วก็เลือนมา

พระมาลาเส้าสูง เคยเหนรูปชาวเกาหลีเขาใช้ใส่กัน (แต่ไม่มีเครื่องประดับ) เข้าใจว่าหุ่นพระมาลาเส้าสูงมาทางจีน เก่ามาก ส่วนพระมาลาเส้าสเทินนั้น เขาว่าหมวกฝรั่งครั้งหลุยที่ ๑๔ เข้ามาในแผ่นดินพระนารายณ์ (ไม่มีเครื่องประดับเหมือนกัน) ถูกผิดอย่างไรอยู่แก่ผู้กล่าว ฉันไม่ได้สังเกต

ท่านเล่าถึงปั้นลมเรือนชาวอัสสัม ก็มาต้องกับที่ฉันเคยไปเหนเรือนชาวเมืองด้ง เมื่อเดินจากอุตรดิฐไปสวรรคโลก สุโขทัย เขาทำอย่างเดียวกันกับที่ท่านว่า มีพิสดารกว่าขึ้นไปเสียอีก ที่ไม้ปั้นลมนั้นไม่ใช่สุดอยู่เพียงเชิงชาย เขาทำเลยลงมา ส่วนที่เลยนั้นเขาฉลักหรูเหมือนข้างบน ลางทีเรือนชาวอัสสัมก็จะทำเช่นนั้นเหมือนกัน ลางทีพวกชาวเมืองด้งจะเปนเหล่ากออันเดียวกันกับชาวอัสสัมก็เปนได้ บานประตูฉลักหยาบ ๆ ก็เคยเหน เว้นแต่ไม่เกี่ยวกับเรือนที่ว่านี้ และไม่มีเขาควายข้างบนอย่างที่ฝรั่งว่า เขาควายนั้นทีก็จะเปนปั้นลมแห่งซุ้มรูปภาพนั้นเอง

ช่อฟ้า หางหงส์ นั้นสงสัยมาก ช่อฟ้าอย่างที่ฟันเปนที่หัวนาคชะโงกออกมานั้น เก่าขึ้นไปไม่พบเลย มีแต่ของใหม่ ส่วนที่เรียกว่าหางหงส์นั้นตรงกันข้าม ทำไมจึ่งเรียกอย่างนั้น ดูของเก่าก็เหนฟันเปนหัวนาคทั้งนั้น จัดได้ว่าเปนแบบ ที่ฟันเปนกนกเคยเหนแห่งเดียว คือปรางค์ปราสาทที่วัดจุฬามณี พิษณุโลก ทำเปนหางกินนรมีตัวติดอยู่ด้วย แต่ดูไม่สู้สนิท หากทำด้วยคิดถึงคำหางหงส์ก็เปนได้ แต่ที่ทำเปนตัวหงส์นั้นไม่เคยหบ เหงา ไม่ใช่หัวนาค เปนชื่อกนกตัวหน้าแห่งกนก ๓ ตัว ไม่ว่าหัวอะไรซึ่งทำขึ้นด้วยกนก เช่นหัวนาคเปนต้น ก็ย่อมมีเหงาติดอยู่ด้วยทั้งนั้น

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ