๑๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๔๘๓

พระยาอนุมานราชธน

หนังสือลงวันที่ ๙ สิงหาคม ได้รับแล้ว

ขอบใจท่านเปนอันมาก ที่ช่วยตรวจหนังสือ เรื่องสมเด็จพระบรมศพ บอกไปให้ทราบ คำ สมเด็จพระบรมศพ เปนอันจำได้ถูกต้อง กรมหลวงโยธาทิพย์ กลายเปน เทพย์ ไป ที่ว่าแผ่นดินสมเด็จพระเพธราชานั้น เปนความเก็งของฉัน แต่เก็งผิด เวลานั้นท่านยังสาว ต้องแก่แล้วจึงไปบวชเปนชีอยู่วัดพุทไธสวรรย์ งานพระศพเปนแผ่นดินพระเจ้าท้ายสระ ควรแล้ว หลังมาอีก ๒ แผ่นดิน

จิงโจ้ ที่ว่าเปนเครื่องเรือน ฉันก็ไม่รู้

เตียบ เห็นจะเปนภาษาเขมร คำเดิมเห็นจะเปน เทียบ เขมรอ่าน ท เปน ต จึ่งเปน เตียบ ชื่อตำแหน่งคนครัวหลวงก็เรียกกันว่า เทียบนั่นเทียบนี่ แท้จริงคำ เทียบ นั้นจะเปน ทาบ เสียด้วยซ้ำ ทางเขมรเขาอ่าน ลากข้างเปนเตียบ ฉันยังไม่เคยเห็นเขาเขียนหนังสือ คำ ทาบ นั้นก็ได้แก่ ทับ ของเรานั่นเอง เขมรเขาไม่มีไม้ผัด เตียบ เปนตะลุ่มใส่ของกิน มีฝาชีในตัว ถูกแล้ว ฝาชีนั้นรูปตรงดุจกรวย ทำด้วยทองเหลือง ฝาครอบเตี้ยก็เคยเห็น แต่ตัวเปนกะบะ ไม่เปนตะลุ่ม เขาจะเรียกอะไรไม่ทราบ

ชื่อของต่าง ๆ น่าจะต้องแยกออกจากกันเสีย เพราะเรียกกันสับสนแล้วแต่จะเอาอะไรไปยัดเข้ากับอะไร ตามสมัยและตามถิ่น

โต๊ะ กับ โตก เปนคำเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสเรียกการพูด แม่กก แม่กด เปน โกะ ว่าเผลาะแผละ เช่นชาวเดนมากพูดถึงดื่มเหล้าคำนับซึ่งเขียน สกด เปน สโก๊ะ ทางเราก็มี เช่น จะ เปน จัก ทำนุะ เปน ทำนุก สังสฤตก็มี เช่น ทุะข เปน ทุกข เขมรก็มี เช่น เลิส (เราเขียน เลิศ) พูดว่า เลอะ

ตั่ง คู่กับ เตียง = เตียงตั่ง เตียงสำหรับนอน ตั่งจะเปนรูปใดๆ ก็สำหรับนั่ง มีกลอนชี้ให้เห็นอยูว่า ขึ้นตั่งนั่งเตียง แท่นทองรองเรือง สุขศรีปรีดิ์เปรม ถ้าตันเรียก แท่น ถ้าโปร่งเรียก ตั่ง แต่เดี๋ยวนี้ออกจะหายไปเสียแล้ว

ตะลุ่ม ตลับ ผะอบ โถ พาน ฉันไม่ทราบว่ามาแต่อะไรทั้งนั้น รู้สึกในใจแต่ผะอบ เคยพบแต่ในหนังสือกับชื่อคน ที่เรียกสิ่งของกันทุกวันนี้ว่าอะไรเปนผะอบฉันไม่ทราบ แต่เข้าใจว่าคือโถนั่นเอง คำว่า โต๊ะโตก โพงพาน ฉันคิดเอาอย่างป่า ๆ ว่า โต๊ะ กับ โตก เปนคำเดียวกัน โพง กับ พาน ก็ควรจะเปนคำเดียวกัน เคยได้ยินกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ตรัสว่า ทางอุบลเขาเรียก พาน ว่า พา ทรงคาดคะเนว่าจะเปน ภาชนะ จะอย่างไรฉันก็ไม่ทราบ คำ พะโอง ฉันจำได้ว่าฉันเคยวินิจฉัยให้วรรณคดีสมาคมไปว่า สูง พานพะโอง ว่าพานสูง เอาคำพะโองขึ้นตาลเปนต้นมาปรับเข้า

คำว่า จอก คิดว่าเดิมจะหมายถึงว่าเปนภาชนะเล็ก คำว่า ถ้วย เข้าใจว่าหมายถึงเครื่องเคลือบ (Porcelain) ไม่จำต้องเปนภาชนะ ตุ๊กตาถ้วยก็มี คำที่หมายไปได้หลายอย่างนั้นมีมาก ถ้าพูดว่า ถ้วย แล้ว เดี๋ยวนี้เข้าใจกันเปนว่า ภาชนะเคลือบใบเล็กๆ ที่เรียกชามว่าถ้วยก็เคยได้ยิน เห็นว่าถูก แต่หายไป แสดงว่าไม่มีคนชอบ ที่เอาจอกมาปรับกับถ้วยนั้นปรับได้ เพราะเปนภาชนะใบเล็ก ๆ ด้วยกัน สองจอกสามจอกมาตรอกเข้า เมรีขี้เมาก็หลับไป

บรรดาชื่อของนั้นปะปนกัน เช่น จาน เคยได้ยินว่า ถ้าได้หญิงซึ่งเปนข้าหลวงเจ้าเปนเมียแล้ว ต้องถวายจานเงินจานทองแก่เจ้า แต่หญิงข้าหลวงของฉันไปมีผัวมากกว่ามากแล้ว ก็ไม่เห็นมีใครถวายจานเงินจานทองสักที เล่นเอาไม่รู้จักว่าจานรูปร่างเปนอย่างไร จนได้ไปเห็นทางเมืองแขกปักษ์ใต้ เขาแต่งสำรับของกินมาให้ สำรับหวานเขาจัดขนมใส่ถาดโลหะเล็กๆ ซ้อนกันพูนสูงขึ้นไปตามทรงฝาชี จึงได้เข้าใจว่าอ้ายนี่เองคือจาน แล้วทำให้เข้าใจอีกต่อไปว่าที่ทำรูปฝาชีเปนจานสูงก็เพราะจัดของกินให้เปนจอมขึ้นไปนั่นเอง จานโลหะที่เขาจัดใส่ขนมมาให้นั้น คิดดูก็ตรงกับจานเชิงเรานี่เอง จานเชิงของเราก็คือเอาจานต่อตีนเข้า แล้วคิดต่อไปก็เห็นว่า โต๊ะก็เหมือนกับจานเชิง เว้นแต่ใหญ่ขึ้น แล้วก็เห็นว่าโต๊ะก็เหมือนถาด ที่ทำปุ่มเห็นจะกันไม่ให้ก้นสึก แล้วนึกถึงโต๊ะที่คลังใน มีทำที่ปุ่มถาดยืดขึ้นสูงเปนท้าวสิงห์ เขาจะเรียกอะไรไม่ทราบ แล้วพบมีขายที่โรงจำนำ แต่ไม่ใช่ของมาแต่คลังใน จำได้ว่าผิดกัน เปนทองเหลืองก็มี เปนอันเข้าใจได้ว่าตามบ้านก็มีใช้ จึงคิดจัดเอาตามใจว่าทำเล็กเปนจาน ทำใหญ่เปนถาด แล้วต่อขาเปนปุ่มขึ้นก่อนเพื่อกันลากสึก แล้วอยากให้สูงจึงทำปุ่มเปนขาสิงห์ แต่หักง่าย จึงแก้ทำเปนโต๊ะท้าวช้าง แล้วก็ทำจานเชิงไปเปนอย่างเดียวกัน ที่จานเชิง เชิงเปนถ้วยนั้นเห็นได้ว่าเปนของใหม่ เมื่อทำเครื่องเคลือบขึ้นได้แล้ว เพราะทำให้สอาดง่ายจึงใช้เครื่องเคลือบ แต่ก่อนคงทำด้วยโลหะอย่างที่ไปเห็นมาทางเมืองแขก บรรดาของใช้ย่อมเปลี่ยนไปเช่นนี้ จะเอาเปนแน่นอนอะไรไม่ได้ และเรียกชื่อกันก็ตามสมัยตามถิ่น แล้วก็รับเอาคำถิ่นอื่นมาเรียกตามเขาไปก็มี จะรวมเอาคำทุกคำมาแยกปรับกับชะนิดของเห็นจะไม่ได้

ดูเปนท่านนับถือช่างเขียนว่าเขารู้อะไรในโลกทุกอย่าง สิ่งที่ท่านไม่รู้จึงให้เขาเขียนรูปมาให้ดู แต่ความจริงนั้นช่างเขียนไม่มีราคาค่างวดอะไร สุดแต่เขียนเส้นให้เปนไปได้ตามใจก็เปนช่างเขียนกันเท่านั้น ที่เขียนเปนรูปอะไรขึ้นได้นั้นไม่ใช่เกิดแต่การเขียน เกิดแต่ความรู้ความสังเกตและความคิดต่างหาก คนที่ไม่ได้เปนช่างเขียนก็มีได้เหมือนกัน เว้นแต่ทำให้เปนรูปขึ้นไม่ได้เท่านั้น แท้จริงรูปเขียนย่อมเปนแต่เครื่องวัดตัวผู้เขียนว่า ตื้นลึกหนาบางเพียงไรเท่านั้น เช่นเดียวกับการแต่งหนังสือเหมือนกัน

เรื่องขันหมาก ฉันไม่มีความรู้จะพูดอะไรได้ เห็นทีหนึ่งก็ในการที่คนทรงเข้าผี แม่มดถือขันหมาก แต่นั่นก็เปนทำแต่พอเปนกิริยาบุญ ในขันมีแต่หมากอยู่ลูกเดียว ไม่มีพลู เห็นที่สุพรรณ ในงานที่เล่าให้ท่านฟังก็เห็นแต่เขาใส่เรือแห่มา ในขันจะมีอะไรบ้างหาได้เห็นไม่

พระนารายณ์ถืออะไรบ้าง ฉันเคยคลั่งมาแต่ก่อนคราวหนึ่งแล้ว ที่ว่าสี่มือถือสังข์จักรคธาธรณี คำ ธรณี แปลตามศัพท์ก็ว่าแผ่นดิน ถือไม่ได้ เพื่อนเขาเห็นว่าจะหมายความว่าถือคทาเท่านั้นเอง เปน คทาธร ณี นั้นหลงเอา จักรปาณี และ เพชรปาณี มาใส่เข้า ฉันก็เดือดร้อนว่าเช่นนั้นก็ถือสามมือเท่านั้นเอง ไม่ครบสี่มือ เขาก็ว่าไม่เอาไว้เกาหลังบ้างเลยหรือ ฉันก็สิ้นพูด สังเกตดูรูปนารายณ์ จำสถานที่ทำในอินเดียก็เห็นถือสามอย่างเท่านั้น คือ สังข์ จักร กับไม้ท้าว อีกมือหนึ่งเขาทำเปน อภยหสฺต บ้าง เปน วรทหสฺต บ้าง เข้ารูปเหลือมือไว้เกาหลัง ฉันได้โจษจนถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว เมื่อตรัสสั่งให้เขียนรูปนารายณ์ ทรงพระราชวินิจฉัยว่าต้องถืออะไรต่าง ๆ ตามเวลาที่ต้องการ ใช้ตามคราวตามสมัย จะถือเอาอะไรเปนจับตัววางตายหาควรไม่ ข้อพระราชวินิจฉัยนั้นฉันเห็นสมควรอย่างยิ่ง ได้ปฏิบัติตามอยู่จนทุกวันนี้ ที่ในหนังสือเขาว่าอย่างไรนั้น ควรจะถือเอาได้แต่เปนเครื่องวัดผู้แต่ง ว่ามีความรู้ตื้นลึกหนาบางเพียงไรเท่านั้น ที่จะถือเอาเปนแบบนั้นเห็นไม่ได้ แม้ท่านจะค้นไปอีกร้อยแห่งก็คงพบพูดไม่ลงกันทั้งร้อยแห่ง

ที่นายกีแปลชื่อ สุรางคนางค์ ยานี ฉบัง นั้น ก็เปนการเล่นแปลชื่ออย่างเขาเล่นกันมาแล้วแต่ดึกดำบรรพ์, เช่น แปลชื่อเมืองลำปาง แพร่ น่าน เปนต้น จะผิดถูกอย่างไรก็ไม่มีหลักอะไรจะตัดสิน ยานีในกาพย์หรือยานีในเพลงก็เปนชื่อเหมือนกัน บอกได้เท่านั้น แขกวรเชษฐ เปนชื่อเพลง มีบทดอกสร้อยของโบราณบอกเพลงร้องจดได้ว่า แขกบรเทศ ดูเหมือนที่จดว่า แขกประเทศ ก็มี มีนักปราชญ์ตัดสินว่า ทั้งสามชื่อนั้นเปนอันเดียวกัน แต่จะผิดถูกอย่างไรก็ไม่ทราบ ไม่มีหลักจะตัดสิน

ฉบัง บอกได้ว่ามาแต่เขมร คือคำ จบัง จำบัง นั้นเอง การเปลี่ยนตัว จ เปน อ นั้นมีถมไป เช่น จบาบ เปน ฉบับ เปนต้น ฉบำ ฉบัง ซึ่งนายกีตั้งเปนปัญหาไว้นั้น ฉันอาจบอกได้ว่าเปนไปด้วยอำนาจนิคฤหิต ทางสังสกฤตอ่านเปน ม ทางมคธอ่านเปน ง ที่แท้ก็อันเดียวกัน

จะบอกความเห็นของฉัน ในเรื่องฉันท์และกาพย์ ฉันท์นั้นฉันเคยเห็นมามากจากทางอินเดียและทางไทย ส่วนกาพย์นั้นทางไทยได้เคยเห็นแต่ที่เขาแต่งแล้ว แต่ตำราไม่เคยตู ส่วนทางอินเดียนั้นไม่เคยพบ ถ้าจะว่าตามตัวอักษรกาวฺย ก็เปนคำของ กวิ อาจเปน ฉันท์ นั้นเองก็ได้ หรือกวีเขาจะพุ่งอะไรไปก็ได้ แต่เท่าที่ได้สังเกตแล้ว ทางอินเดียเขาเล่นครุลหุ เขาไม่เอื้อแก่คำกระทบกัน (คือสัมผัส) ทางเราเล่นคำกระทบกัน จะมีข้อบังคับอย่างไรก็ดี ถ้าบังคับด้วยครุลหุ เชื่อว่าเปนของทางอินเดีย ถ้าบังคับด้วยคำกระทบ เชื่อว่าเปนของเรา ที่เอาแบบฉันท์มาแต่งภาษาไทยเพิ่มคำกระทบเข้าด้วย ฉันเห็นเปนอุตริ แต่งยากเต็มที คำลหุของเราเกือบไม่มี ที่แต่งกันก็ขอไปทีโดยมาก คนอ่านต้องรู้คณะฉันท์จึงจะอ่านถูก ถ้าไม่รู้ก็อ่านไม่ถูก เห็นไม่ควรจะเล่นเลย

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ