- เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๓
- พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๓
- มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๓
- กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๓
- สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๓
- กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๓
- ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๓
- พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๓
- ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๓
- มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔
- กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๔
- มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔
- เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๔
- พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๔
- มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๔
- กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๔
- สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๔
- ภาคผนวก
- ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๘
- ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๐ น
- ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๐ ดร
- ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ น
- ๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ น
- ๒๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๒ น
- ๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๒ น
- ๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๒ น
- ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๒ น
- ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ น
- ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๗ น
- ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๗ ปสศ
- ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๘ น
- ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ ยส
- ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ ว
- ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๘ ว
- ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๙
- ๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๘ ยส
- ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๓ ว
- ผู้พูดกับผู้ฟัง
- คำแบบ
- เรื่องจำนวน
๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๔ ยส
กรมศิลปากร
วันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๔
ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท
ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๕ พระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ หาที่สุดมิได้
คำ กำปั่น คิดด้วยเกล้า ฯ ว่าจะมาจากคำมะลายูว่า กะปัล หรือ กาปัล หมายความถึงเรือใบเต็มเสาอย่างที่ฝรั่งเรียกว่า sailing ship ในหนังสืออังกฤษเล่มหนึ่งว่า น่าจะมาจาก กัปปัล ในภาษาทมิฬ ซึ่งแปลว่าเรือ แต่อิกเล่มหนึ่งว่าจะมาจาก กอปปัล อันเป็นคำในภาษาทางแคว้นมลาบา (Malabar อยู่ตอนใต้ของอินเดียตกทะเลทางด้านตะวันตก) แต่ภาษาทมิฬ และภาษาแคว้นมลาบา ซึ่งเรียกว่า ภาษามลายพัม ก็เป็นภาษาในตระกูลทราวิฑด้วยกัน เพราะฉะนั้นกำปั่นคำเดิมจึงมาจากภาษาทราวิฑ (ทราวิฑ = ทราวิฬ - ทมิฬ เทียบ ครุฑ กับ ครุฬ)
กำปั่นที่เป็นชื่อหีบเหล็ก ข้าพระพุทธเจ้าได้เพียรค้นหลายครั้ง ก็ไม่ได้เค้าคิดด้วยเกล้า ฯ ว่าจะมาจากคำกำปั่นที่แปลว่าเรือ กำปั่นเก็บของมีค่าข้าพระพุทธเจ้าเดาว่า เดิมอาจทำด้วยไม้และจะมีรูปร่างอย่างเรือกำปั่น แล้วมามีกำปั่นเหล็กจากฝรั่งขึ้นภายหลัง ลักษณะของกำปั่นก็หายไป
ที่ตรัสประทานเรื่องพระมาลาว่า ถ้าแปลตามตรงก็ว่าดอกไม้ แล้วเคลื่อนความหมายมาเปนหมวก คงเนื่องมาจากใช้ผัวโพกสวมพวงดอกไม้ ตรึงเป็นผ้าโพกสำเร็จในตัว ข้าพระพุทธเจ้าเห็นพ้องในกระแสพระดำริ ที่ตรัสถึงพระมาลาเส้าสูงว่ารูปคล้ายหมวกชาวเกาหลี ข้าพระพุทธเจ้าก็นึกออกว่าได้เคยเห็นรูปภาพ แต่ไม่ตรัสขึ้น ข้าพระพุทธเจ้าก็ไม่เฉลียวนึก
เรื่องการเคลื่อนแห่งความหมาย แม้จะเคลื่อนไปไกล แต่เค้ายังเห็นอยู่ ดั่งเรื่อง มาลา แปลว่าหมวก แต่ลางทีเคลื่อนไปไกลมาก เช่น โจรสลัด ซึ่งมาจากคำว่า ช่องแคบของทะเล ในภาษามะลายู ชาวมะลายู เรียกช่องแคบแถวเมืองสิงคโปร์ว่า Sellat หรือ Kellat (คำหลังเสียงใกล้กับเกรด ซึ่งเจ้าพระยาภาศกรวงศ์บอกข้าพระพุทธเจ้าว่าแปลว่าช่องแคบ) จีนเรียกเมืองสิงคโปร์ว่า ซิดลัด มาจนทุกวันนี้ ก็เป็นคำที่มาจาก เสลลัด เหตุที่คำนี้จะมากลายเป็นหมายความว่าโจรสลัด เพราะในสมัยโบราณแถบช่องแคบมลากา หรือเสลลัดมลากา ย่อมเป็นที่อยู่ของโจรชาวมะลายู คอยตีปล้นเรือสำเภา และเรือใบที่ผ่านไปมาทางช่องทะเลนี้ คำว่า เสลลัด หรือ สลัด ซึ่งแปลว่า ช่องแคบ จึงติดมาเป็นชื่อของโจรแถบนั้น
ข้าพระพุทธเจ้าเคยอ่านเรื่องมงกุฎของฝรั่งที่เรียกว่า crown ก็เป็นอย่างลุ่น ๆ ไม่มียอดอย่างชฎา เขาอธิบายว่า เครื่องหมายของเจ้านายฝรั่งแต่โบราณเป็นแถบผ้าหรือแถบแพรพันพระเศียร ลางทีแถบผ้าหรือแถบแพรนั้น ประดับด้วยมณีมีค่า หรือใช้ทองคำแผ่แทนแถบก็มี แถบอย่างนี้เรียกว่า diadem ส่วน crown นั้น เป็นพวงมาลาร้อยด้วยดอกไม้สดหรือดอกไม้ปลอมซึ่งโดยมากทำด้วยทองคำ พวงมาลาชะนิดนี้ใช้สวมศีรษะผู้ที่มีชัยชะนะ หรือสวมเจ้าบ่าวเจ้าสาวในเวลาแต่งงาน หรือในโอกาศมีงานสมโภช และกล่าวต่อไปว่า การใช้พวงมาลาสวมศีรษะ เนื่องมาจากธรรมเนียมประดับผมด้วยดอกไม้ในวันมี้งานนักขัตฤกษ์ เป็นเครื่องหมายแสดงความว่ารื่นเริง ซึ่งชนชาติที่ไม่เจริญยังใช้กันอยู่ แล้วต่อมาพวงมาลากับแถบผ้าร่นมาเป็นอันเดียวกัน คำว่า crown กับ diadem ก็รวมความหมายแปลว่า มงกุฎ ข้าพระพุทธเจ้าคิดด้วยเกล้า ฯ ว่า มงกุฎ ในชั้นเดิมเห็นจะทำด้วยผ้าเหมือนกัน แต่ถูกเครื่องประดับมีค่าต้อนเอาผ้าศูนย์หาย กลายเป็นทองไปทั้งองค์ เช่นมงกุฎของกษัตริย์ชาติอัสสิเรียครั้งโบราณ ว่าทำด้วยผ้าหรือขนสัตว์รูปเป็นกรวยคว่ำ เป็นแหลมเรียวขึ้นไปแล้วปาดยอดแหลมออก ประดับด้วยแผ่นทองคำและลายปัก เบื้องล่างมีแถบผ้าสีแดงและขาวคาด ตอนกลางเป็นรูปกลุ่มดอกกุหลาบ ปลายห้อยย้อยลงมาสองข้างหูอย่างอุบะ
เรื่องชื่อต่าง ๆ ของเครื่องโบสถ์วิหาร ข้าพระพุทธเจ้าเคยสอบถามช่างผู้รู้ แต่จะเป็นเพราะอธิบายไม่เป็น หรืออย่างไรไม่ทราบเกล้า ฯ ข้าพระพุทธเจ้าจึงไม่สู้เข้าใจ ครั้นจะซักถามก็เกรงใจ ไม่กล้าเซ้าซี้ แต่เมื่อมาได้อ่านพระอธิบายที่ทรงพระเมตตาประทานมา อย่าง เหงา เป็นต้น ข้าพระพุทธเจ้าก็เข้าใจได้แจ่มแจ้ง ผิดกับคำอธิบายของผู้รู้ในเรื่อง เหงา ซึ่งเขาบอกว่าเป็นชื่อหยักที่ใบระกาอันแรก และที่หางหงส์ มีสองแห่งเท่านั้น
ข้าพระพุทธเจ้าเคยนึกถึงเรื่องคั่นบรรได จำนวนคู่ว่าเป็นบรรไดผี คั่นบรรไดจำนวนคี่เป็นบรรไดคน ว่าเหตุที่ถือจำนวนคี่ว่าดี เนื่องมาจากอะไร สอบถามแลค้นหาหนังสือต่าง ๆ ก็ไม่มีอธิบาย นานมาแล้วข้าพระพุทธเจ้ามีธุระไปที่วัดเขมา ฯ ที่หน้าวัดมีตึกโบราณใช้เป็นโรงเรียน ตึกนี้ว่าเป็นพระตำหนักรื้อเอามาปลูก ข้อประหลาดใจของข้าพระพุทธเจ้า ก็ที่มีคั่นบรรไดเป็นจำนวนคู่ ไม่ใช่จำนวนคี่อย่างเรือนของชาวบ้าน ต่อมาข้าพระพุทธเจ้าเข้าไปในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ คั่นบรรไดพระที่นั่งด้านข้างก็ปรากฏว่าบรรไดเป็นจำนวนคู่อีก จึงทำให้ข้าพระพุทธเจ้าเข้าใจว่า จำนวนคู่ถ้าเกี่ยวกับวังหรือวัดไม่เป็นไร เป็นอย่างเดียวกับวังและวัดมีช่อฟ้าได้ สิ่งอื่น ๆ เช่นฉัตร ก็เป็น ๕ ๗ ๙ ชั้น ล้วนเป็นจำนวนคี่ทั้งนั้น ที่จะเป็นจำนวนคู่ไม่ปรากฏมี ครั้นมาวันนี้ข้าพระพุทธเจ้าพบหนังสือฝรังอธิบายถึงเรื่องจำนวน ถึงแม้ไม่ได้กล่าวถึงจำนวนคู่คี่ว่าดีและไม่ดี แต่ก็มีข้อความลางประการที่น่าฟังอยู่บ้าง ข้าพระพุทธเจ้าจึงเก็บข้อความตอนที่ว่าถึงจำนวนของชาวอริยกะ ถวายมาในซองนี้ด้วยแล้ว๑
ในหนังสือบทกลอนของเก่าตอนไหว้ครู อ้างถึงครูพักหรือภักดิ์ เช่น (ไหว้) คุณบิดามารดร ครูภักอักษร อุปฌาย์อาจารย์ (สุธนกลอนสวด) คงคายมุนามาเป็นเกณฑ์ พระสุเมรุหลักโลกสูงระหง ดินน้ำลมไฟเป็นมั่นคง จึงดำรงได้รอดมาเป็นกาย ไหว้คุณบิดาและมารดร ครูพักอักษรสิ้นทั้งหลาย (กลอนไหว้ครูเสภา) ทีนี้จะไหว้ครูปี่พาทย์ ฆ้องระนาดฤๅดีปี่ไฉน ทั้งครูแก้วครูพักเป็นหลักไชย ครูทองอินนั่นแลใครไม่เทียมทัน (ตำนานเสภา) ไหว้คุณบิดามารดร ครูพักอักษร ที่ได้ชี้บ่อนบอกตรง-เอ่ยให้ (คำไหว้ครูเพลง) ได้มีผู้มาถามข้าพระพุทธเจ้าว่า ครูพักนี้มีตัวอยู่ในสมัยไหน ข้าพระพุทธเจ้าสงสัยด้วยเกล้า ฯ ว่าจะเป็นนักแต่งกลอนดีมีชื่อเสียงคนหนึ่ง เพราะมักอ้างถึงว่า ครูพักอักษร และเป็นครูปี่พาทย์ด้วย ส่วนจะอยู่ในสมัยไหน ข้อความในไหว้ครูก็ไม่มีเค้าให้พิจารณาสันนิษฐาน ข้าพระพุทธเจ้าขอรับพระบารมีปกเกล้า ฯ เป็นที่พึ่งในเรื่องครูพักอักษรนี้ด้วย
ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานถวายคืนเรื่องอั้งยี่ มาในซองนี้พร้อมด้วยบันทึกแก้คำภาษาจีนเป็นสำเนียงแต้จิ๋วฉะบับหนึ่ง ซึ่งข้าพระพุทธเจ้าได้ถวายไปยังสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพฉะบับหนึ่งแล้ว เรื่องอั้งยี่ ผู้สอบเสียงจีนทำกระดาษช้ำไปหลายแผ่น ทั้งนี้พระอาญาไม่พ้นเกล้า ฯ
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ
ข้าพระพุทธเจ้า
ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์
-
๑. เรื่องจำนวน ดูภาคผนวก ส่วนเรื่องอั้งยี่ มีในนิทานโบราณคดี ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ แล้ว จึงไม่ได้นำมาลงไว้ในเล่มนี้ ↩