- เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๓
- พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๓
- มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๓
- กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๓
- สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๓
- กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๓
- ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๓
- พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๓
- ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๓
- มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔
- กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๔
- มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔
- เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๔
- พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๔
- มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๔
- กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๔
- สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๔
- ภาคผนวก
- ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๘
- ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๐ น
- ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๐ ดร
- ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ น
- ๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ น
- ๒๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๒ น
- ๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๒ น
- ๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๒ น
- ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๒ น
- ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ น
- ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๗ น
- ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๗ ปสศ
- ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๘ น
- ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ ยส
- ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ ว
- ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๘ ว
- ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๙
- ๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๘ ยส
- ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๓ ว
- ผู้พูดกับผู้ฟัง
- คำแบบ
- เรื่องจำนวน
๑๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ น
ตำหนักปลายเนิน คลองเตย
วันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๔๘๔
พระยาอนุมานราชธน
จะตอบหนังสือลงวันที่ ๖ มีนาคม ของท่าน
ท่านมีความเหนว่า เรือแซ อาจเปนไปได้สองทางนั้นชอบแล้ว เราจะต้องพิจารณาว่าทีจะมาทางไร อันเรือแซนั้นจำได้แน่ว่าเขา ตีกระเชียง พลกระเชียงแต่งตัวใส่กางเกงและเสื้อกับหมวกกลีบลำดวนชุดเขียวคราม คำร้องก็ผิดกับฝีพายเรา ต้นเสียงร้องว่า สัมปันเน ลูกคู่รับว่า เฮลั่กพลั่ก คิดดูในคำลูกคู่รับไม่เปนความอย่างไร นอกจากนัดให้ตีกระเชียงพร้อมกัน แต่คำต้นเสียงดูเปนเรียกชื่อเรือว่า สัมปั้น คำเรียกเรือเล็กว่า สัมปั้น จะเปนคำมลายูหรือคำจีนนั้นทราบไม่แน่ ส่วนรูปเรือนั้นจำได้คลับคล้ายคลับคลาว่าคล้ายเรือไชย คือหัวท้ายยกขึ้นพ้นน้ำ ท้ายมีเดือยยาวขึ้นไปอย่างท้ายเรือไชย เว้นแต่ไม่ยาวเท่าท้ายเรือไชยและไม่มีกนก ส่วนหัวนั้นไม่มีเดือย ดูเหมือนข้างบนจะกว้างมนแต่ข้างล่างนั้นคมแน่ เส้นล้มหัวดูเหมือนจะตรงหรือเอนไปข้างหน้าเสียด้วยซ้ำ ไม่เอนไปข้างหลังอย่างเรือไชย เรือแซนั้นล้วนแต่เขียนสีเปรอะไปทั้งนั้น เช่นเรือเสือทะยานชน เสือคำรนสินธุ์ ของกรมปากน้ำก็คือเรือแซนั่นเอง หัวเขียนเปนรูปเสือ ในพระราชพงศาวดารดูเหมือนมีว่าแปลงเรือแซเปนเรือไชย เรือรูปสัตว์ในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ แต่ได้ไปเหนรูปจำลักที่พระนครวัดมีรูปเรือไชย เรือรูปสัตว์อยู่ที่นั่น จะเปนพระนครวัดสร้างก่อนหรือทีหลังแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักพรรดิก็ไม่ทราบ ถ้าเปนสร้างก่อนนั้น คำพงศาวดารกล่าวไว้ก็ไม่จริง อีกประการหนึ่งพงศาวดารกล่าวไว้ว่า พระเจ้าทรงธรรมเสด็จขึ้นพระพุทธบาท ฝีพายเอาดอกเลามาผูกที่หัวเรือไชย ทรงเห็นงามจึ่งให้ทำเรือไชยมีเดือยหัวอย่างที่ฝีพายปักดอกเลานั้นไว้เปนประจำ ที่ว่าอย่างนี้นึกได้ว่าเคยได้เหนรูปพงศาวดาร ดูเหมือนครั้งพระนเรศวร เขียนเรือไชยหัวไม่มีเดือย มีแต่กนกลงมาติดจมูกมังกร นั่นแปลว่าช่วยพงศาวดาร เพราะเปนคราวที่ก่อนครั้งพระเจ้าทรงธรรม แต่ดูไม่เข้าทีเลย กรมหมื่นวรวัฒนศุภากรเหนว่าเปนเข้าใจผิด ที่ว่าดอกเลาครั้งพระเจ้าทรงธรรม จะเปนภู่เรือสีเรือกราบ คือเรือพระที่นั่งเรือเจ้าซึ่งใช้ขนจามรีแทนนั่นเอง ความเหนเข้าทียิ่งนัก
อนึ่งเรือชะนิดใดซึ่งเรียกว่าเรือกิ่ง และเรือชะนิดใดซึ่งเรียกว่าเรือไชย ฉันก็ยังไม่รู้ มีคนบอกว่าเรือกิ่ง หรือเรือไชยก็หัวเปนเดือยนั่นแหละ แต่ถ้ามีกนกกลางเดือยเปนเรือกิ่ง ถ้ามีแต่กนกปลายเปนเรือไชย ฉันไม่เชื่อ เพราะเห็นว่านั่นเปนแต่ทางช่างเขาผูกเท่านั้น จะนับว่าเปนชะนิดเรือหาควรไม่ ได้หันไปหาคลำเก่าก็พบมีคำเห่เรือว่า
เรือไชยไวว่องวิ่ง | รวดเร็วจริงยิ่งอย่างลม |
เสียงเส้าเร่าระดม | ห่มท้ายเยิ่นเดินคู่กัน |
สังเกตเห็นว่าเปนเรือดั้ง เมื่อดูที่โคลงต้นกาพย์มีว่า
พระเสด็จประเวศด้าว | ชลาลัย |
ทรงรัตนพิมานไชย | กิ่งแก้ว |
นี่ ไชย กับ กิ่ง เข้ามาซ้อนกันอยู่ จะหมายความว่าอย่างไร ที่เรียกว่าเรือไชยสุพรรณหงษ์ก็มี เรือหงษ์ก็เปนพวกเรือรูปสัตว์ไม่ไช่หัวเดือย จะเปนได้หรือไม่ ว่าคำเรือไชยนั้นตรงกับเรือรบ ไม่ว่าจะมีรูปเปนอย่างไร ต่อหัวเป็นเดือยจึงเรียกว่าเรือกิ่ง
ตามที่พูดมานี้ติดจะยืดยาว เปนพุ่งให้ท่านคิดเล่น
ย่าโม่ คงเปนภาษาแขกอันใดอันหนึ่ง ซึ่งรากภาษามาแต่ภาษาเปอเซีย เว้นแต่เคลื่อนไป แต่ก็คงหมายเปนอูฐแน่ ขอบใจที่ท่านช่วยค้นบอกให้ได้ว่าภาษาเปอเซียเรียก ya’ mal ที่จะเปนฝุ่นจีนเหนจะเปนไปไม่ได้
ตัวม่าเหมียวฉันก็เคยเหน เปนตัวแมลงเล็ก ๆ ดำ ๆ อย่างท่านว่า เข้าใจว่ามาแต่เมืองแขก เขาเอาขี้มันหรือตัวมันอย่างใดอย่างหนึ่ง ผสมลงไปกับเครื่องหอม เพื่อนฉันคิดว่าชื่อของมันคือ มัมมี แต่จะฟังได้หรือไม่ได้ก็สงสัย ไม่มีอะไรนอกจากว่ามันมาแต่เมืองแขก และตัวดำอย่างศพเก็บ กับชื่อของมันคล้ายมัมมีเท่านั้น
มุหน่าย เปนน้ำมันใส่ผม มีในกลอนเสภาเมื่อขุนช้างแต่งตัวว่า.........ควักมุหน่ายขึ้นป้ายปีก ฉีกผมกลางกบานให้ล้านหาย ในที่นี้จะสัเงกตได้ว่าขุนช้างหัวไม่ใช่ล้านเหม่ง ตามที่ปรากฏนี้ก็ทีจะได้แก่น้ำมันตานีนั่นเอง ปูนนั้นผสมกับอะไรก็ทำให้สิ่งนั้นแขง ที่ใช้ปูนแดงกินกับหมากก็เพราะหยิบเอาได้ง่าย
พัดก็ปัด ปัดก็พัด ขนนก ถ้าผูกเปนกำก็เปน ยุงปัด ถ้าผูกแผ่ก็เปนพัด ลงกันได้ วี ทีจะมาแต่ วีชนี
เมื่อกลับจากปินัง เหนสถานีรถไฟที่เมืองไทรมีชื่อว่า สุไหงปะตานี มาโดนเข้ากับเมืองตานีหรือปัตตานีของเรา จึ่งสอบไปก็ได้ความว่าเปนภาษามะลายู ตานี แปลว่านา ปะตานี แปลว่าชาวนา มีจริงทั้งสองอย่าง คำ โฮเตล เมื่อคราวประชุมตั้งคำ ฉันเข้าใจว่าไม่มีประสงค์จะให้เลิกเพราะเปนคำที่ใช้กันทั้งโลก คำว่า โรงแรม นั้นประสงค์ให้ใช้แก่โฮเตลเล็ก ๆ ซึ่งภาษาอังกฤษใช้เรียกว่า อิน
ที่เรียกหม้อน้ำอย่างฉลักลายเปนกลีบบัวว่าพระปทุมนั้น ฉันไม่เคยได้ยิน เคยได้ยินแต่พระเต้าปทุมนิมิตร แต่เรียกพระเต้าฉลักลายกลีบบัวว่า พระปทุม หรือ พระเต้าปทุม ก็ไม่ผิด
อนึ่งฉันลืมบอกแก่ท่านไป ว่าพานพระขันหมากสำรับเก่านั้น เขาเรียกว่า พานพระขันหมากใหญ่ จะเปนเหตุที่ใหญ่กว่าพานพระขันหมากสำรับใหม่ พระสุพรรณศรีในสำรับพานพระขันหมากใหญ่ เรียกว่า พระสุพรรณศรีบัวแฉก ได้ยินว่าของเก่าหาย พวกมหาดเล็กเรี่ยรายกันสร้างขึ้นแทน เพราะเปนของซึ่งเก็บไว้ที่ห้องมหาดเล็ก แต่จะเหมือนเก่าหรือไม่เหมือนนั้นให้การไม่ถูก กับที่ฉันว่าพระมณฑปเก่ากว่าคนโทนั้น เหนจะผิดไป คนโทเข้าใจว่ามาแต่กะโหลกลูกไม้ มีมะพร้าวเปนต้น แต่คนโทเท่าที่แลเหนเปนของทำใหม่ทีหลังพระมณฑปทั้งนั้น จึ่งได้ว่าพระมณฑปเก่ากว่า
สุวรรณ สุพรรณ ซึ่งแปลกันว่าทอง นั่นก็เปนทางลัดเสียแล้ว ที่แท้มีความว่าผิวงาม นี่นึกมาจากคำ พระสุพรรณราช จะต้องตราไว้ ที่ว่าเขียนพระสุพรรณราช แปลว่าเครื่องทองของพระราชา ดูเปนดีกว่าจะเขียน ราด สอบก็ไม่ได้เรื่อง พระสุพรรณภาชน์ นั้นมี เรียกโต๊ะเครื่องเสวย แต่เขาจะหมายเอาโต๊ะหรือจานกับเข้าหรือหมดด้วยกันก็ไม่ทราบ เคยได้ยินเขาเรียกอย่างนั้นเมื่อเขาแต่งของกินใส่เสร็จแล้ว
ที่ท่านว่าค้นอย่างคร่ำเคร่งก็มักไม่พบ บทจะพบก็พบเข้าเองนั้นจับใจยิ่งนัก ได้แก่ตัวฉันก็เปนเช่นนั้น คิดตกว่าอย่างที่ค้นไม่พบนั้นเพราะถ้าหากมันเคลื่อนจากคำที่ถูกไปเสียนิดเดียวก็พบไม่ได้ ที่ไปพบเข้าเองถึงจะเคลื่อนไปหน่อยก็รู้ได้ว่าคือสิ่งนั้น แต่เปนผเอิน (ฟลุก)
ไม้ทานตะวัน นั้นฉันเคยเหน สำหรับทรงทิ้งลูกมะนาวไปให้ไกล เจ้าพนักงานคอยเสียบถวาย ถ้าจะทรงทิ้งใกล้ก็โปรยด้วยพระหัตถ์ แต่ทำไมไม้นั้นจึงเรียกว่าไม้ทานตะวัน ฉันก็คิดไม่เหน
เรื่องสัตว์ประจำปี ท่านค้นบอกไปให้ทราบแต่ก่อนแล้ว ว่าทางตุรกีมีมาก่อน ตามที่ท่านพบใหม่ก็ลงรอยเดียวกัน ปีเดือนวันคืนที่ใช้ในประเทศชะวานั้นฉันไม่ทราบมาเลย จะต้องสอบถามไปดูก่อน
ศรีปราชญ์แต่งโคลงก็ดี พระร่วงลูกนาคก็ดี ท้าวแสนปมก็ดี ฉันตกลงใจแล้วว่า รับพร่าอาทานอย่างมาแต่อินเดีย ลางทีจะมีอื่นอีก ในการสอบก็เพื่อให้รู้แน่เท่านั้น
ขอบใจท่านที่ให้สำเนาคำแปลมา ๒ เรื่อง
เรื่องลัทธิเชนนั้น ฉันได้ทราบมาก่อนแล้วว่าเชนว่าเปนชีเปลือย และศาสดาของเขาชื่อมหาวีร ตามสำเนาที่ท่านคัดให้ไป เปนว่ามหาวีร เปนลูกสิททารถ ถ้าจะว่าไปก็คือพระราหุล แต่ว่าเปนโคตรอันหนึ่งในเมืองปาฏลิบุตร ดูใหม่นัก อาจเปนชื่อพ้องกันก็ได้ เชน ก็คือ ชิน มหาวีรในลัทธิชินก็มี มิใครก็ใคร รับพร่าอาทานอย่างแก่กัน ที่จริงลัทธิชีเปลือยนั้นมีมาแต่ครั้งพุทธกาลหรือก่อนนั้นแล้ว อาจบอกรูปบอกลายในครั้งพุทธกาลได้ว่าเปน แฟแช่น หาดีกันในทางเปนศาสดา ธรรมะที่ข่มใจก็มีอยู่มากอย่าง ข้อใดที่ลัทธิหนึ่งเหนว่าดีก็เอาไปใช้ ข้อใดที่เหนไม่ดีก็ไม่เอา จึงมีหยาบมีละเอียด พระพุทธเจ้าของเราจึงให้ถือเอาทางกลาง คือ มชฺฌิมาปฏิปทา พิธีถอนผมหนวดเคราของพวกเชนนับว่าเปน อตฺตกิลมถานุโยค ตลอดถึงเรื่องนอนกินด้วย
เรื่องผู้พูดกับผู้ฟัง เข้าใจว่าเปนเรื่องซึ่งท่านบอกว่าจะแปลส่งไปให้เปนคราว ๆ อ่านเรื่องรู้ได้ว่าพูดดีคิดดี แต่เปนไปในทางภาษาอังกฤษ, ไม่สู้เปนประโยชน์ในภาษาไทย แต่เหนได้ในนั้นว่าไวยกรณ์นั้นเหลว