วันที่ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๑๕ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๘๓

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๘ ตุลาคม เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๑ เวลาเช้า แต่มีรอยตัดเปิดผนึกที่ปีนัง และทราบความในลายพระหัตถ์ฉบับนี้ว่า จดหมายหม่อมฉันถวายไปเมื่อคราวเมล์ก่อน ก็ถูกตัดเปิดผนึกเหมือนกัน ยุติได้ว่าเป็นเพราะเขาตรวจเข้มงวดขึ้น

ทูลสนองความในลายพระหัตถ์ฉบับลงวันที่ ๑ ตุลาคม

๑) เรื่องเสด็จประพาสต้นนั้น หม่อมฉันได้เขียนแล้วตั้งแต่ในรัชกาลที่ ๕ แต่งเป็นจดหมายของ “นายทรงอานุภาพ หุ้มแพร” ถึงเพื่อนเป็นฉบับๆ ถวายสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ทรงพิมพ์ในหนังสือทวีปัญญา ต่อมาได้รวมเล่มเป็นสมุดเรียกว่า “จดหมายเหตุประพาสต้น” พิมพ์แล้วหลายครั้งเรื่องต่างๆ ที่ได้ฟังสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงตรัสเล่านั้น ถ้านึกถึงเรื่องใดได้เห็นเหมาะเมื่อใดก็คงแต่งในนิทานพวกนี้ หม่อมฉันนึกขึ้นถึงเรื่องซึ่งเห็นน่าแต่งขึ้นได้อีกเรื่อง ๑ คือ “เรื่องศาลาอันเต” แต่พระองค์ท่านจะทรงแต่งได้ดีกว่าหม่อมฉันมาก เพราะเป็นผู้ทรงพระดำริและทรงทราบรายการ เช่น การเล่นต่างๆ เป็นต้น ซึ่งหม่อมฉันไม่ทราบ

๒) ชื่อที่เรียกว่า “นิทาน” นั้น ก่อนเมื่อจะยุติหม่อมฉันได้คิดชื่อหลายอย่าง เห็นว่าเรียกนิทานตรงกับเจตนาที่หม่อมฉันจะแต่งเป็นรูปนิทาน คือจะเลือกเรื่องมาเล่าตามชอบใจไม่มีกำหนดกฎเกณฑ์ ถือหลักแต่ว่าเป็นเรื่องจริงที่หม่อมฉันได้รู้เห็นมาเอง เรียกว่านิทานเป็นคำที่เข้าใจกันซึมซาบ ส่วนค่าของนิทานปล่อยให้คนอ่านเห็นเอาเอง แต่เมื่อท่านทรงทักท้วงมาก็จะลองคิดหาคำใหม่ ขอประทานตรองต่อไปก่อน

๓) ที่ตรัสเล่าเรื่องปลอมพระองค์ ไปกลแตกที่สรรพยานั้นขันดีแต่ไม่ประหลาด หม่อมฉันเห็นว่าเป็นเพราะเจ้านายได้รับความอบรมมา ผิดกับผู้อื่นตั้งแต่ยังเยาว์จนเติบใหญ่ ไม่รู้จักกิริยาบ่าวหรือกิริยากุลบุตรที่ได้เลื่อนยศขึ้นเป็นขุนนาง ถึงจะบิดบังอย่างไรกิริยาเจ้าคงโผล่ออกมา ซ่อนอาการที่เขาเรียกว่าสง่าไม่ได้ เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาสต้นที่เมืองกำแพงเพชร วันหนึ่งทรงเรือเล็กไปจอดที่บ้านแห่งหนึ่งเพื่อจะทรงฉายรูป เจ้าของบ้านลงมาต้อนรับด้วยสำคัญว่าเป็นพวกข้าราชการที่ตามเสด็จ ดำรัสสั่งให้พระยาโบราณออกหน้าเป็น “เจ้าคุณโบราณ” สำหรับทักทายปราศรัยเจ้าของบ้าน พระองค์เองเสด็จตามหลังเป็นทนายไม่ช้าเท่าใดกลก็แตก เพราะท่าทางพระยาโบราณแกปวดตัวเดินเหลียวหลังคอยชำเลืองดูทนายอยู่เสมอ พวกทนายคนอื่นก็ไม่เดินเรียงรอคลอไหล่กับทนายคนสำคัญ ยังซ้ำทนายคนสำคัญเองบางทีก็เผลอเรียกเอากล้องชักรูปหรือสิ่งอื่นจากเพื่อนทนาย ลงปลายเจ้าของบ้านก็หันไปเคารพทนายคนสำคัญยิ่งกว่าเจ้าคุณโบราณ ครั้งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จไปเสวยที่บ้านราษฎรในคลองดำเนินสะดวกที่ถูกลูกเจ้าของบ้านจับได้นั้น ขากลับมากลางทางก็ตรัสแก่หม่อมฉันว่า “ฉันนี้เห็นจะหนียาก” หม่อมฉันกราบทูลว่า “ถ้าเสด็จออกนอกมณฑลกรุงเทพฯ ข้าพระพุทธเจ้าถวายเวลาให้หนี ๗ วันจะตามจับให้ได้” ที่ทูลนั้นโดยมีหลักฐาน จะทูลตัวอย่างที่หม่อมฉันยังจำได้เวลานี้ ๒ เรื่อง ครั้ง ๑ ลูกสาวผู้มีบรรดาศักดิ์สูงคนหนึ่งหนีตามผู้ชายไป ผู้ปกครองมาให้หม่อมฉันช่วยสืบเสาะหม่อมฉันยังไม่ทันมีคำสั่ง ก็ได้รับโทรเลขบอกมาจากเมืองอุตรดิตถ์ว่า มีชายหนุ่มพาหญิงสาวชาวกรุงเทพฯ ขึ้นไปที่เมืองอุตรดิตถ์ ผู้หญิงเอาแหวนเพชรออกขายเห็นแปลก สงสัยจะเป็นลูกผู้ดีหนีไป อีกเรื่องหนึ่งเจ้าชายทิสากร ในสมเด็จกรมพระยาเทววงศ์เที่ยวอาละวาดในกรุงเทพฯ พระบิดาเสด็จติดตามเองก็ไม่ได้ตัว มาตรัสบอกหม่อมฉันว่าเห็นจะหนีออกไปหัวเมือง ให้ช่วยสืบจับสักที ยังไม่ทันสั่งกรมขุนมรุพงศ์ฯ ก็จับส่งเข้ามาจากเมืองฉะเชิงเทรา หม่อมฉันเคยสังเกตเห็นว่า ถ้าคนหนีซ่อนตัวอยู่ในกรุงเทพฯ จับยากกว่าหนีออกไปหัวเมือง เพราะฉะนั้นจึงปรากฏว่าจับตัวผู้ร้ายหัวเมืองได้ในกรุงเทพฯ เนืองๆ

๔) “อวิชชา” กับ “โมหะ” เป็นกิเลส น่าจะมีได้แต่แก่ผู้ที่รู้ความ จะมีแก่ผู้ไม่รู้ความ เช่นทารกในผ้าอ้อมไม่ได้ อวิชชาเห็นจะหมายความไม่รู้ อย่างเช่นเห็นของกาไหล่สำคัญโดยเชื่อว่าเป็นทอง โมหะ นั้น หมายความว่ารู้แต่นิยมไปข้างผิด อย่างเช่นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ท่านทูลอธิบาย ว่าเหมือนคนรู้ว่าสุราเป็นของชั่วแต่ขืนเสพสุราฉะนั้น ความหลงจึงผิดกันเป็นอวิชชาอย่าง ๑ โมหะอย่าง ๑

ทูลสนองความในลายพระหัตถ์ฉบับลงวันที่ ๘ ตุลาคม

๕) ลักษณะรูปสัตว์หิมพานต์นั้น หม่อมฉันเห็นว่าอธิบายที่ประทานมาว่าเป็น ๔ จำพวกนี้ถูกต้อง คำที่เรียกว่าสัตว์หิมพานต์ก็หมายความเพียงว่าสัตว์เช่นนั้นไม่มีที่อื่น หรือถ้าว่าอีกอย่างหนึ่ง ช่างเขียนรูปสัตว์หิมพานต์มีแต่ความคิดกับฝีมือ ไม่มีความรู้ดูเหมือนจะเป็นเช่นนั้นเหมือนกันหมดทุกชาติ

๖) ที่ทรงปรารภถึงการประทับตรา กับลงชื่อด้วยลายมือเป็นสำคัญในจดหมายนั้น เป็นเรื่องที่หม่อมฉันได้เคยพิจารณาและเกี่ยวข้องในการเปลี่ยนแปลงมาบ้าง จะทูลเล่าถวายต่อไป ที่ใช้ดวงตราเป็นสำคัญของตัวบุคคล เป็นประเพณีของประเทศทางตะวันออก ตั้งแต่อินเดียไปจนถึงเมืองจีนและญี่ปุ่น ทุกวันนี้จีนและญี่ปุ่นก็ยังไม่เลิกใช้ตราเป็นสำคัญ วิธีลงชื่อด้วยลายมือดูเหมือนฝรั่ง จะนำออกมาเป็นเยี่ยงอย่าง จึงมักใช้แต่ในกิจการที่เกี่ยวข้องกับฝรั่ง

มีเรื่องตัวอย่างจะเล่าถวายเรื่อง ๑ ถึงที่พระเจ้ากรุงจีนองค์หลังใช้พระนามอย่างฝรั่ง Henry พระเจ้ากรุงจีนองค์นั้นเสวยราชย์แต่ยังทรงพระเยาว์ ผู้ปกครองจัดการ ให้ศึกษาทั้งภาษาจีนและภาษาอังกฤษ ได้มิสเตอร์ (ภายหลังเป็นเซอร์) เรเชนัลด์ จอนสัน เป็นพระอาจารย์สอนภาษาอังกฤษ ตัวเซอร์เรเชนัลด์ จอนสัน เล่าเองว่า เมื่อพระเจ้ากรุงจีนทรงพระเจริญเป็นหนุ่มขึ้นได้สมาคมคุ้นเคยกับฝรั่ง ครั้งหนึ่งทรงพระเมตตาจะประทานพระรูปฉายแก่ฝรั่งคนหนึ่ง เซอร์ จอนสัน ทูลว่าตามธรรมเนียมฝรั่งต้องเขียนพระนามด้วยลายพระหัตถ์ลงในพระรูปที่ประทานด้วย จึงเป็นของมีค่า พระเจ้ากรุงจีนตรัสแก่ เซอร์ จอนสันว่า การเขียนลงชื่อด้วยลายมือไม่มีในธรรมเนียมจีน ถ้าจะต้องเขียนพระนามก็จะใช้พระนามอย่างฝรั่ง ให้เซอร์ จอนสัน หาพระนามซึ่งสมควรจะใช้ถวาย เซอร์ จอนสัน จึงเอาบัญชีรายพระนามพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษถวายทอดพระเนตร พระเจ้ากรุงจีนทรงเลือกพระนามพระเจ้าเฮนรี่เขียนลงไปในพระรูปฉายเป็นครั้งแรก แต่นั้นก็ใช้ลงพระนามอย่างฝรั่งว่าเฮนรี่ ในลายพระราชหัตถ์และหนังสือภาษาฝรั่งต่อมา

ในเมืองไทยเราเดิมก็ใช้แต่ประทับตราอย่างเดียว การลงชื่อด้วยลายมือ ว่าตามเค้าเงื่อนที่ได้พบ ดูเหมือนทูลกระหม่อมเมื่อยังผนวชทรงใช้ก่อนคนอื่น ด้วยมีลายพระหัตถ์เป็นภาษาอังกฤษตอบฝรั่งเนืองๆ ลงพระนามว่า Fa Yai ครั้นเสวยราชย์เปลี่ยนเป็น S.P.P.M. Mongkut ลงพระนามเป็นอักษรไทยว่า สมเด็จพระปรเมนทรมหามกุฎ เห็นทรงลงพระนามไทยแต่ในใบพระราชทานพระนามพระเจ้าลูกยาเธอ กับในสัญญาบัตรเท่านั้น นอกจากนั้นทรงใช้แต่อักษรฝรั่ง จึงเรียกกันว่า “ลายเซ็น” เป็นประเพณีมาจนในรัชกาลที่ ๕ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็ทรงเซ็นว่า Chulalongkorn กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ ทรงเซ็นว่า K.P.R.W.B.S. Mongol กรมสมเด็จพระยาบำราบปรปักษ์ทรงเซ็นว่า Maha Mala แต่สังเกตว่าการลงพระนามด้วยลายพระหัตถ์ ชั้นแรกที่ใช้หนังสือราชการ มักใช้แต่ในสั่งฎีกาหรือเรื่องราว เมื่อการเขียนเป็นจดหมายไปมาถึงกันมีมากขึ้นจึงใช้ลงนามเป็นอักษรไทย

หนังสือราชการ เช่น ท้องตราสั่งราชการหัวเมืองใช้แต่ประทับตรามานาน ดูเหมือนสมเด็จกรมพระยาเทววงศ์ฯ เมื่อเป็นเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศจะริใช้ลงพระนามก่อน แต่ก็ลงพระนามเพียงในตราน้อย อันเป็นจดหมายส่วนตัวเสนาบดีถึงทูตที่ไปอยู่ต่างประเทศ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงดำรัสสั่งให้กระทรวงมหาดไทยกลาโหมทำอย่างเดียวกัน เจ้าพระยารัตนบดินทรฯ กระทรวงมหาดไทย ไม่สันทัดลงลายมือ หรือจะเป็นด้วยต้องมีท้องตรามากกว่ากระทรวงอื่น เอานากหล่อทำตราเป็นตัวอักษรลายมือของท่านสำหรับประทับแทนลงชื่อเอง (เข้าใจว่าพระองค์ท่านก็จะได้โดยเห็นลายตรานั้น) แต่จะเป็นเพราะเหตุใดไม่ทราบในสารตราใหญ่ ไม่ลงลายมือเสนาบดีมาจนหม่อมฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยจึงลงลายมือด้วย แต่นั้นก็ลงชื่อและประทับตราด้วยกันทั้ง ๒ อย่างสืบมา เคยเกิดลำบากแก่หม่อมฉันครั้ง ๑ เพราะกระทรวงมหาดไทยต้องสั่งประหารชีวิตคนในหัวเมือง ตราสั่งประหารชีวิตนั้นย่อมเขียนสั่งว่า “ให้ประหารชีวิตอ้าย” คนนั้นๆ ข้างใต้ที่ประทับตราพระราชสีห์ใหญ่ และประทับตราจักรลงบนคำสั่งกับชื่อคนที่ประหารชีวิต ครั้งหนึ่งหม่อมฉันลงชื่อในสารตราไปแล้วเสมียนตราเอามาคืน บอกว่าขอให้เขียนสารตราใหม่ เพราะหม่อมฉันลงชื่อลายตีนอุที่คำ “นุ” เข้าไปใกล้ชื่อนักโทษนัก ไม่มีที่พอจะประทับตราจักรลงไปได้ หม่อมฉันถามว่าขัดขวางอย่างใด จึงได้ทราบคติที่ถือกันมาแต่ก่อน ว่าถ้าเส้นตราจักรทับอะไรเป็นอัปมงคลแก่สิ่งนั้น

คิดดูประโยชน์ของการใช้ตรากับลงลายมือ มีคุณและโทษผิดกันชอบกล ตราดีกว่าลงลายมืออย่าง ๑ ที่ดวงตราเป็นสำคัญอยู่เสมอ ถึงเปลี่ยนตัวคนถือก็ไม่ทำให้เขาเข้าใจผิด แต่มีโทษบางอย่าง คือ ที่ต้องให้คนอื่นรักษาเหมือนดวงใจทศกัณฐ์ อาจจะถูกและเคยถูกลักประทับสั่งการเป็นทุจริต อีกอย่างหนึ่งสารตราย่อมใช้นามเสนาบดี เช่นว่า “เจ้าพระยาจักรี” เหมือนกันหมด ถ้ามีแต่ดวงตราพระราชสีห์ นานไปรู้ไม่ได้ว่าเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยคนไหนเป็นผู้สั่ง ส่วนลงลายมือนั้น มีคุณที่ตัวเสนาบดีผู้รับผิดชอบต้องรู้เห็นเอง แต่มีโทษที่ต้องเปลี่ยนตามตัวคนผู้อยู่ไกลสังเกตยากกว่าดวงตรา เพราะฉะนั้นมีด้วยกันทั้งตราและลายมือจึงเป็นดี ที่ทำตรายางเป็นลายมือสำหรับประทับหนังสือแทนลงชื่อนั้น เกิดแต่ผู้ที่ต้องมีจดหมายมากมักง่ายจึงทำเช่นนั้น เมื่อหม่อมฉันว่าการกระทรวงมหาดไทยมีราชการบางอย่างที่ต้องมีตราสั่งเมือง เรียกกันว่า “ตราหมู่” ต้องลงชื่อคราวละกว่า ๑๐๐ ฉบับ จนบางทีเผลอเขียนชื่อตัวเองผิดก็มี แต่หม่อมฉันไม่ได้ทำตรายางใช้แทน ด้วยเกรงจะเกิดโทษดังเช่นทรงปรารภ

๗) สกุลเดิมของพวก “ชาวนคร” นั้นเป็นอัศจรรย์ ในหนังสือพระราชพงศาวดารว่าเมื่อ พ.ศ. ๑๙๒๗ สมเด็จพระราเมศวรเสด็จยกกองทัพขึ้นไปตีประเทศลานนาข้างฝ่ายเหนือ กวาดต้อนผู้คนเป็นเชลยลงมามาก โปรดให้ส่งพวกชาวลานนาที่ได้มาครั้งกระนั้นไปอยู่เมืองพัทลุงเมืองสงขลาเมืองนครศรีธรรมราช และเมืองจันทบุรี แต่หม่อมฉันไม่มีหลักอะไรจะสอบสวนนอกจากสังเกตว่า สำเนียงและคำพูดของพวกชาวละครผิดกับชาวกรุงเทพฯ แต่ที่เมืองจันทบุรีนั้นไม่มีเค้าเงื่อนว่าคนพวกชาวนครอยู่ที่นั้นเลยทีเดียว เห็นหนังสือพงศาวดารจะว่าเลยไป เค้าเงื่อนต้นเดิมของพวกชาคนครเพิ่งปรากฏแก่หม่อมฉันเมื่อครั้งชำระพระยาดัษกรประลาส (อยู่) นายทัพหน้าของเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี เมื่อไปปราบพวกเงี้ยวขบถ ต้องหาว่าไปประหารชีวิตเงี้ยวในบังคับอังกฤษอันหาความผิดมิได้ กรมหลวงพิชิตปรีชากรเป็นผู้ชำระ วันหนึ่งท่านไปหาหม่อมฉันที่ศาลาลูกขุน ตรัสบอกหม่อมฉันว่าพวกลื้อชาวเมืองเชียงคำเมืองขึ้นเมืองน่าน ที่ส่งมาเป็นพยานพูดสุ้งเสียงใช้ถ้อยคำเหมือนชาวละครจริงๆ น่าพิศวง ให้หม่อมฉันไปเรียกมาฟังดูเถิด หม่อมฉันได้ฟังก็เห็นจริงดังนั้น ต้องรับว่าจริงดังกล่าวในเรื่องพงศาวดาร ว่าพวกชาวละครสืบสายลงมาจากพวกไทยลื้อ ที่ถิ่นฐานอยู่ตลอดขึ้นไปจนเมืองเชียงรุ้ง ย้ายถิ่นลงมากว่า ๕๐๐ ปีแล้วยังรักษาสำเนียงและถ้อยคำเดิมไว้ได้เป็นอัศจรรย์

๘) พระยาป๊อกเจี๊ยกนั้นชื่อดิศ เดิมเป็นที่หลวงกำจัดไพรินทร์ปลัดกรมกองแก้วจินดา ตามหม่อมฉันมาอยู่กระทรวงธรรมการเป็นที่หลวงธนผลพิทักษ์ แล้วตามหม่อมฉันมาอยู่กระทรวงมหาดไทย แรกเป็นที่พระอนุชิตพิทักษ์ ต่อมาได้เป็นที่พระยาพิชัยรณรงค์สงคราม ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี แกคุมเรือขึ้นไปรับหม่อมฉันที่เมืองเพชรบูรณ์ ทางลำน้ำสักตอนเหนือเปลี่ยวมากและสัตว์ร้ายชุม แกเล่าว่าเวลาจอดเรือนอนกลางคืนต้องกองไฟล้อมให้คนอยู่แต่ในวงกองไฟ ทุกคืนได้ยินเสียงสัตว์อะไรอย่างหนึ่งมันมักมาร้องเสียงดัง ป๊อกเจี๊ยกๆ อยู่ข้างนอกวงกองไฟ จึงเกิดคำเรียกแกว่า “พระยาป๊อกเจี๊ยก” ต่อมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตรได้หาเสาการเปรียญวัดราชาธิวาส ถวายสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงและจับพระเสวตรวชิรพาหะด้วยกันกับพระยาเพ็ชร์พิไสย (แม้น) เมื่อยังเป็นที่พระเฑียรฆราชแล้วเลื่อนเป็นมหาอำมาตย์ตรีว่าราชการเมืองอุตรดิตถ์ ออกรับเบี้ยบำนาญในรัชกาลที่ ๖ ได้เป็นพระยาวจีสัตยารักษ์มาจนถึงอนิจกรรม

๙) เมืองระนองนั้นตั้งอยู่ริมทะเลที่ปากน้ำ “ปากจั่น” ทางฟากตะวันออก ตรงข้ามกับแหลมวิกตอเรีย (Victoria Point) ของอังกฤษ ลำน้ำปากจั่นที่ปากน้ำกว้างขนาดสักเท่าเกาะปีนังฝั่งตำบลบัดเตอเวิท ที่ท่านเคยทอดพระเนตรเห็น ลำน้ำปากจั่นยืนขึ้นไปทางเหนือ มีเกาะอยู่ในลำน้ำหลายเกาะค่อยแคบเข้าไป เรืออุบลบุรทิศแล่นขึ้นไปได้สัก ๓ ชั่วโมง ต่อนั้นขึ้นไปลำน้ำแคบและตื้นยิ่งขึ้น เรือใบบรรทุกสินค้าขึ้นไปได้ถึงตำบลน้ำจืดที่พระยารัษฎาฯ ตั้งเมืองกระใหม่ ต่อขึ้นไปจากนั้นไปได้แต่เรือไฟเล็กจนถึงตำบลทัพหลี เหนือขึ้นไปเรือไฟเล็กไปได้แต่เวลาน้ำขึ้น เมืองกระเก่าอันเป็นที่เดินบกจากเมืองชุมพรไปลงเรือนั้น กว้างสักเท่าคลองถนนตรงที่หน้าตำหนักปลายเนิน เวลาน้ำงวดใช้เรือไม่ได้ แต่ศูนย์กลางลำน้ำปากจั่นเป็นเขตแดนไทยกับอังกฤษ แต่ปากน้ำขึ้นไปจดยอดลำน้ำปากจั่นสบสันเขาบรรทัด สันเขาบรรทัดเทือกนั้นเป็นแดนต่อไปข้างเหนือจนเมืองพม่า

เรื่องเบ็ดเตล็ด

๑๐) ที่เมืองปีนังเวลานี้มีหนังฉายมาเล่นเรื่องหนึ่ง เรียกว่า หมอไซคลอปต์ (Doctor Cyclopts) เป็นหนังสี แต่กระบวนกลวิเศษอย่างล้ำเลิศสมกับที่หนังสือพิมพ์ในยุโรปลือว่าไม่มีใครรู้ว่าทำอย่างไร ถ้าหนังเรื่องนี้เข้าไปเล่นถึงกรุงเทพฯ เมื่อใดขอให้เสด็จไปทอดพระเนตร

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ