วันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๔๘๓

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

บังเกิดความรู้สึกขึ้น ว่าทำหนังสือเวรถวายก่อนได้รับลายพระหัตถ์นั้นสะดวกดี นึกอะไรได้ทั้งมีเวลาอยู่ก็เขียนไป ดีกว่าทำเมื่อได้รับลายพระหัตถ์แล้วเช่นนั้นติดจะตาเหลือกตาปลิ้น นึกอะไรไม่ใคร่ทัน จึงกราบทูลมาให้ทรงทราบไว้ว่าหนังสือซึ่งจะมีมาถวายต่อไป จะมีเรื่องบรรเลงมาก่อน แล้วจึงจะมีสนองความในลายพระหัตถ์ตอนหลัง

เบ็ดเตล็ด

ร้อนใจที่จะกราบทูลสารภาพ ว่าที่วิจารณ์คำ “ช้าเจ้าหงส์” มาถวายนั้นผิดไปเสียแล้ว แท้จริงรำลึกชาติขึ้นได้ว่า “ช้าเจ้าหงส์” มาคนละทาง ไม่ใช่ไกวเป็นหงส์ในพิธีชิงช้าของพราหมณ์ที่เทวสถาน นั่นเขาเรียกโดยทางราชการว่า “กล่อมหงส์” คำ ช้าเจ้าหงส์ นั้นเป็นชื่อเพลง คือเพลงซึ่งโต้กันอย่างเพลงปรบไก่ แต่ลูกคู่ร้องรับยืนคำอยู่ ว่า “ช้าเจ้าหงส์เอย ปีกอ่อนร่อนลง เข้าในดงลำใย” เมื่อยังร้องซ้ำยืนอยู่นานเบื่อหูเข้า เขาก็ร้องรับยักไปเป็นว่า “อินนะชิตฤทธิรงค์ เข้าในดงลำใย” หรือ “หนนะมานชาญณรงค์ เข้าในดงลำใย” เพลงนี้เขาเอามาเล่นบำเรอเมื่อไปเที่ยวเมืองนางรอง เรียกว่า “เพลงช้าเจ้าหงส์” เมื่อได้ฟังจึงรู้สึกใจขึ้นว่า คำ “อินนะชิตฤทธิรงค์ เข้าในดงกล้วย” นั้นมีมูล แต่เปลี่ยนชื่อต้นลำใยเสียเป็นต้นกล้วย เพื่อจะต่อคำซึ่งหยาบที่สุดตามภาษากักขละให้กินสัมผัสกันเท่านั้น เพราะเหตุเช่นกราบทูลมาแล้วนั้น จึงคิดว่าคำ “ช้า” จะเป็น “ชะ” หรือ “ฉา” เช่นเดียวกับลูกคู่เพลงปรบไก่ร้อง “ชะฉ่า” เมื่อต้นบทติดฉะนั้นไม่ใช่หมายความว่าชิงช้า อันทางวิจารณ์คำ “ช้า” นี้ ทำให้คิดคืบไปถึงคำ “โหม่งครุ่มชะแม่” ในกฎมนเทียรบาล ว่าแต่ก่อนโน้นเขาจะร้องกันว่า “ชะแม่ชะ” กระมัง อนี้เทียบกับที่ร้องว่า “ถัดทาถัด” ในภายหลังที่ร้อง “ถัดทาถัด” นั้นไม่ได้ความ กลัวจะร้องผิด อันคำซ้ำกันแต่ความต่างกันนั้น โบราณาจารย์ท่านก็รู้สึกเดือดร้อนมาแล้ว เห็นได้จากที่ท่านบัญญัติให้เขียนแก้ไว้ เช่น น่า หน้า ล่า หล้า เป็นต้น แก้กันใหม่เมื่อเร็วๆนี้เองก็มี เช่น เข้า ข้าว นายกุหลาบก็เคยคิดแก้ เจ้า จ้าว แต่ไม่สำเร็จ เพราะไม่มีใครตาม

ทำรูปพงศาวดารนั้นเห็นเป็นยากเต็มที มีแต่จะผิด ด้วยเราไม่รู้ว่าเวลานั้นเขาทำอะไรกันอย่างไร และแต่งตัวกันอย่างไร เอาตัวอย่างแต่เพียงที่ไม่สู้นานนัก เป็นต้นมีคำในหนังสือบาลีว่า “ผมประบ่าอ่าเอี่ยมไร” เท่านั้นก็เข้าใจยากเสียเต็มทีแล้ว ยิ่งสูงขึ้นไป เช่น ในกฎมนเทียรบาลกล่าวไว้ว่า “เกล้าหนูนยิกเกี้ยวแซม” จะทำรูปเป็นอย่างไรเล่า

พูดถึงพงศาวดารนึกขึ้นมาได้ ว่าเห็นหนังสือพิมพ์เขาลงว่า กรมศิลปากรประกาศ “รีเสิฟ” วัดหลายวัดในเมืองเลย มีวัดหนึ่งเรียกว่าวัดพระแก้ว ไม่เคยไปถึงเมืองเลย จะตรัสบอกได้หรือไม่ว่าวัดนั้นเป็นอย่างไร ชื่อวัดพระแก้วเพราะเหตุไร พระแก้วอะไร

เรื่องโบสถ์และสีมา คิดคาดว่าจะบัญญัติกันขึ้นทีหลัง ไม่ใช่พุทธกาลซึ่งพระเจ้าทรงบัญญัติ เรื่องที่ปรากฏในบาลีดูทำอะไรกันง่ายนัก ยังไม่ได้ไต่ถามพระเถรซึ่งท่านได้ดูหนังสือมามากๆ สีมาก็หมายความว่าเขต เขตก็ควรมีอะไรเป็นที่หมาย ถ้าไม่ได้สิ่งที่มีอยู่ประจำที่เป็นเครื่องหมายก็ต้องปักหลักหมาย หลักในเมืองเราก็ควรเป็นหลักไม้เพราะเป็นสิ่งที่หยิบได้ง่าย ที่เป็นหลักศิลานั้นทำขึ้นด้วยความยากเย็นเป็นพิเศษ ใบเสมาหินที่ปักเป็นเขตไว้รอบโบสถ์ก็มาแต่เสาระเนียดล้อมเขตเมืองซึ่งหยักปลายเป็นรูปโคนหมากรุกเพื่อให้งาม ครั้นก่อเป็นกำแพงอิฐ ที่หยักปลายเสาก็เปลี่ยนเป็นเหลี่ยม เรียกชื่อว่าใบเสมาที่เอามาล้อมโบสถ์คือปักหลักหมายเขตนั้นเอง หลักจะเป็นไม้หรือหินก็คงเป็นเสมาเครื่องหมายเขตได้เหมือนกัน

ลายพระหัตถ์

เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ได้รับลายพระหัตถ์เวรตามกำหนดอันควรได้รับ และบริสุทธิ์ดี ในนั้นมีสำเนาลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๑๘ มิถุนายน ซึ่งกราบทูลขอมา และได้กราบทูลตอบแล้วด้วย จึงจะกราบทูลสนองความในลายพระหัตถ์ ฉบับซึ่งได้รับมาใหม่ ลงวันที่ ๙ กรกฎาคม ลางข้อต่อไปนี้

พระดำรัสในเรื่องปราสาทพิมาย ตลอดถึงเมืองสุโขทัย ทำให้ได้สติคิดเห็นว่าเมืองซึ่งได้ชื่อว่า “สุโขทัย” นั้น เราจะรู้ไม่ได้เลยว่าตั้งอยู่ที่ไหนแน่ จะรู้ได้ก็แต่เพียงในจดหมายเหตุที่ใกล้ๆ ว่าพูดหมายถึงเมืองเมื่อตั้งอยู่ที่ไหนเท่านั้น วัดพระพายหลวงซึ่งทรงสันนิษฐานว่าเป็นเมืองเก่านั้น อาจเป็นเขาสร้างมาแต่เดิมเช่นนั้นก็ได้ หรือใครจะสร้างประจบประแจงเอาทีหลังก็ได้ นึกเทียบถึงสถานที่เคารพต่างๆ ในเมืองเขมร เช่น นครวัดเป็นต้น เขาก็ทำคูและกำแพงไว้ดุจเมือง จึ่งได้ชื่อว่านครวัด เมืองหรือค่ายก็เป็นที่ต่อสู้เขมรเรียกเหมือนกันว่า “บันทาย” สถานที่เคารพอันทำเป็นลักษณะที่ต่อสู้นั้นมีมากซ้ำเรียกชื่อว่า “บันทาย” เสียทีเดียวก็มี เช่น “บันทายกฎี” เป็นต้น โดยตัวอย่างอันนั้น วัดพระพายหลวงเขาอาจทำเป็นลักษณะเมืองมาแต่เดิมก็ได้ หรือจะสร้างประจบประแจงเข้าทีหลังก็ได้ เมืองพิมายก็เช่นเดียวกัน อาจทำมาแต่เดิมก็ได้ หรือจะสร้างประจบประแจงเข้าทีหลังก็ได้ ที่ตรัสเรียกว่า “ป้อม” นั้นก็ถูกแต่โดยปริยาย แท้จริง เมือง เวียง วัง ค่าย ป้อม กำแพง และอะไรอื่นอีก จะใหญ่หรือเล็กก็รวบลงเป็นว่าที่ต่อสู้เหมือนกันทั้งนั้น เขาจะทำสถานที่เคารพไว้เป็นที่อาศัยต่อสู้ด้วยก็ไม่มีขัดข้องเลย

ในข้อพระดำรัสถึงการทำเครื่องถม มีเรื่องเรือแตกปนอยู่ในนั้น เป็นเหตุให้รำลึกชาติขึ้นได้ ด้วยหญิงปลื้มจิตเคยสงสัย ว่าทำไมเรือเก่าๆ จึงกำมะลอนัก แตกบ่อยๆ เกล้ากระหม่อมก็ต้องอธิบายให้เข้าใจว่า การเดินเรือแต่ก่อนต้องเดินใกล้ฝั่ง เพื่ออาศัยดูฝั่งเป็นที่สังเกต ครั้นถูกพายุคลื่นใหญ่ก็ไม่ทำอย่างอื่นได้ นอกจากเสือกเข้าไปหาฝั่งจึงไปกระทบกระทั่งอะไรเข้า ทำให้เรือต้องแตกเสียไปบ่อยๆ

พระราชยานถมนั้น จำได้คลับคล้ายคลับคลาว่าดูเหมือนกระจังเป็นทอง ถ้าเป็นเช่นนั้นจะทำต่อเติมกันขึ้นในนี้ดอกกระมัง พูดถึงพระราชยานก็เกิดปัญหาขึ้นในใจต่อไปว่าอันคานหามต่างๆมีหลายอย่างนัก ในที่นี้จะกล่าวถึงแต่คานหามสำหรับคนขี่ เมื่อรวมลงก็มีเป็นสองอย่างเท่านั้น คือนั่งห้อยเท้าอย่างนั่งเก้าอี้ชนิดหนึ่ง กับนั่งขัดสมาธิอีกชนิดหนึ่ง อย่างไหนจะมีมาก่อนมาหลังแก่กันนั้น คิดไม่เห็นอย่างนั่งเก้าอี้ทีก็เป็นเอาคานผูกเก้าอี้ คาดหน้าว่าเป็นแบบมาทางจีน อย่างนั่งขัดสมาธิทีก็เป็นเอาคานผูกแคร่ เหมาะสำหรับกิริยาพวกเรา ที่เรียกว่าแคร่อยู่เต็มตัวก็มี อาจเป็นแบบมาทางอินเดียก็ได้ โดยที่ยังไม่ทราบนี้ จึงลองตั้งปัญหามาถวายเผื่อจะได้ทรงทราบอะไรมาอย่างไรบ้าง

เรื่องชื่อวัดปิ่นบังอรคาดผิดไปถนัดใจ ประวัติประกอบกับชื่อวัดฟังก็พิลึก อันชื่อวัดในบ้านเราก็เป็นชื่อตามตำบลเป็นพื้น เหมือนกับวัด “บาตูลันจัง” ซึ่งแปลว่าหินลอยฉะนั้น วัดหินลอยถ้าจะเทียบกับบ้านเราก็ได้แก่วัดพระจันทร์ลอย พระจันทร์นั้นก็เป็นหิน

เรื่องผลเงาะ “ปุละสัน” ก็คิดคาดผิดไปมากอีก นึกว่าเป็นของที่ปีนัง ก็กลายเปนของเกาะสุมาตราไป ชื่อซึ่งเข้าใจว่าคล้ายผลเงาะสามัญซึ่งเรียกว่า “รัมบุตัน” ก็ไม่คล้าย ต้องกันแต่พระรัษฎาเป็นผู้เอามาเหมือนกันเท่านั้น ทั้งหลายคนใดซึ่งตั้งใจส่งไปให้ อันควรที่จะบอกขอบใจก็ไม่ปรากฏ ในลายพระหัตถ์ปรากฏแต่หม่อมเจิมคนเดียว เพราะฉะนั้นจึงกราบทูลมาขอได้ทรงพระเมตตาโปรดบอกขอบใจ แก่ผู้ซึ่งตั้งใจจัดส่งไปให้จงทั่วกันด้วย ที่หม่อมเจิมอยู่คอยเวลาโรงเรียนเลิก เพื่อเอาหลานแมวกลับกรุงเทพฯ นั้นดีทีเดียว แล้วเรื่องพิธีตรุสซึ่งจะทรงฝากมาประทานนั้นก็ดีอย่างยิ่ง ตั้งใจคอยอยู่ ซ้ำได้พูดกับพระองค์ธานีให้รู้ด้วยว่าทรงแต่งอยู่ เธอก็ชอบใจเห็นว่ายังได้รับกับเธอว่าถ้าได้มาก็จะคัดมาให้ด้วย ที่รับดั่งนั้นก็ไม่ได้นึกว่าจะทรงแต่งยืดยาวเป็นหนังสือมากเลย เมื่อเป็นหนังสือมากก็จำต้องเปลี่ยนท่า เมื่ออ่านแล้วก็ส่งไปให้เธออ่าน แม้เธอชอบเธอต้องการจะมีฉบับไว้ก็ให้เธอคัดเอาเอง

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ