วันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๒๐ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๘๓

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

ลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๑๓ สิงหาคม มาถึงหม่อมฉันแล้วโดยเรียบร้อย คราวนี้เขาส่งแต่วันศุกร์ที่ ๑๖ เวลาบ่าย

ทูลสนองความในลายพระหัตถ์

๑) อธิบายคำ” โล้” ที่ประทานเพิ่มเติมมาทำให้ออกขบขัน ด้วยแต่แรกเราจะค้นรวม “ธาตุ” ของคำโล้ มาได้ความกลับทำให้กระจายห่างออกไป เช่นอธิบายอย่าง ๑ หมายว่า “เครื่องทำให้แล่น” มาได้ความอีกอย่าง ๑ ว่าเป็นเครื่อง “บังตัว” ธาตุต่างกันทีเดียว น่าจะเกิดแต่เสียงผันวรรณยุกต์เป็นมูลดังทรงพระดำริ ลองคิดดูแม้ตามที่ใช้ในคำพูดภาษาไทย คำ “โล” นั้นต่างวรรณยุกต์ ความก็ต่างกันทั้ง ๕ เสียง

โล เป็นคำแผลงเจ้านายชอบตรัส หมายความว่าเห็นแก่โลกามิสหรือโลภเจตนา

โหล่ หมายความว่าอยู่สุดท้าย

โล่ หมายความว่าเครื่องบังตัว

โล้ หมายความว่าลากให้ไป

โหล หมายความว่า กลวง หรือชุดละ ๑๒

เพราะฉะนั้นการที่จะหากำหนดโดยธาตุเห็นจะยาก

๒) เมื่อก่อนหญิงจงจะมาเธอส่งรูปฉายของเธอ และบอกถึงหญิงพูนให้ช่วยแจ้งความแก่พนักงานตรวจคนทางนี้ว่าเธอเคยออกฝีดาษแล้ว ไปบอกเขาก็สำเร็จดังประสงค์ไม่ต้องตรวจตรา มาได้โดยสะดวก

๓) พระรูปสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่ฝรั่งเศสทำนั้น หม่อมฉันได้โดยเห็นหลายรูป เหลวทั้งนั้น มีค่อยยังชั่วรูปเดียวแต่ทำพระรูปเมื่อเสด็จสีหบัญชร (พระที่นั่งธัญญมหาปราสาท) รับราชทูตฝรั่งเศส ทรงพระชฎาและฉลองพระองค์ครุย แต่พระพักตร์ก็เป็นอย่างแขกดำ ไม่เป็นภาพที่จำนงจะทำให้เหมือนจริง ที่ฝรั่งชอบทำรูปสมเด็จพระนารายณ์นั้น คงเกิดแต่พระเจ้าหลุยที่ ๑๔ โปรดให้แต่งหนังสือเรื่องทูตไทยไปเฝ้าขึ้นเฉลิมพระเกียรติเรื่อง ๑ เป็นสมุด ๓ เล่ม หม่อมฉันได้มาไว้ในหอพระสมุดชุด ๑ พวกบาทหลวงขออนุญาตเอาไปแปลพิมพ์ไว้ในหนังสืออุโฆษสมัย ฝรั่งเศสตื่นหนังสือเรื่องนั้น พวกช่างจึงชอบคิดเดาเขียนรูปสมเด็จพระนารายณ์ไปต่าง ๆ

๔) ขอได้โปรดตรัสขอบใจชายงั่วแทนหม่อมฉันด้วย ที่เธออุตส่าห์ไปคัดโคลงเรื่องคุณเสือขอลูกที่วัดพระเชตุพนมาให้ อันตัวผู้แต่งโคลง ๒ บทนั้น หม่อมฉันยังเห็นว่ากรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ ทรงแต่ง แม้สำนวนโคลงไม่เยี่ยมถึงอย่างดีของท่าน ถ้อยคำและกระบวนความก็อยู่ในเค้าพระนิพนธ์ ของกรมสมเด็จปรมาฯ จะทูลต่อออกไปยิ่งกว่านั้นอีก หม่อมฉันเห็นว่าไม่มีใครอื่นนอกจากกรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ ที่จะสามารถแต่งโคลงนั้น จะเลยทูลเป็นเรื่องบรรเลงต่อไปในสัปดาห์นี้

เรื่องประวัติของคุณเสือนั้น ตัวชื่อแว่นเป็นชาวเวียงจันทน์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้มาเป็นบาทบริจา แต่เมื่อยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เสด็จเป็นจอมพลขึ้นไปตีเมืองเวียงจันทน์ เธอมีความภักดีในการปฏิบัติชอบพระราชอัธยาศัย จึงได้เป็นอุปฐากอยู่กับพระองค์มาแต่ก่อนเสวยราชย์ เมื่อเสวยราชย์ก็ได้เป็นพระสนมเอกอยู่กับพระองค์และอาจจะเพ็ดทูลได้ผิดกับพระสนมคนอื่นๆ เพราะเหตุที่เธออยู่ประจำพระองค์เสมอ เวลาพระเจ้าลูกเธอที่ยังทรงพระเยาว์ขึ้นเฝ้าจึงอยู่ในความดูแลของเธอ บางทีก็เห็นจะขู่ลู่ เจ้านายเด็กเหล่านั้นพากันกลัวเกรงจึงเรียกกันว่า “คุณเสือ” อย่างว่าเป็นชื่อเด็กตั้ง แต่คนอื่นเอามาเรียกบ้าง ครั้นสิ้นรัชกาลที่ ๑ คุณเสือก็สิ้นวาสนา ได้ยินว่าไปสมัครสมานอยู่กับเจ้าฟ้ากุณฑล เพราะเป็นเชื้อชาวเวียงจันทน์ด้วยกัน และช่วยเลี้ยงสมเด็จพระเจ้าลูกเธอที่เจ้าฟ้ากุณฑลเป็นพระมารดา มาจนถึงอสัญกรรมในรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และทูลกระหม่อมไม่ทรงเคยคุ้นกับคุณเสือทั้ง ๒ พระองค์ เพราะพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ก็ไม่เคยเสด็จอยู่ในพระราชวังจนได้เสวยราชย์ ทูลกระหม่อมก็เสด็จเข้าไปอยู่ในพระราชวังเมื่อชันษาได้ ๕ ขวบเมื่อคุณเสือสิ้นวาสนาแล้ว แต่กรมสมเด็จพระปรมานุชิตประสูติในพระราชวังและเสด็จอยู่ในวัง ได้เคยคุ้นและเกรงกลัวคุณเสือ มาจนทรงผนวชเป็นสามเณรเมื่อตอนปลายรัชกาลที่ ๑ ว่าโดยย่อในสามพระองค์นั้น กรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ ทรงรู้จักคุณเสือดีกว่าพระองค์อื่น

ส่วนรูปเด็กสองคนที่จำหลักด้วยศิลานั้น จะเป็นของคุณเสือสร้างถวายก็ตาม หรือกราบทูลขอให้สร้างก็ตาม พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า คงเป็นแต่มีรับสั่งให้เอาไปติดผนังเป็นเครื่องประดับไว้ในวิหารพระโลกนาถ คงจะไม่ดำรัสเล่าให้ใครฟังว่าเป็นรูปอธิษฐานของคุณเสือด้วยอยากมีลูก แม้แต่เพียงว่ารูปทั้ง ๒ นั้นสร้างเพื่อคุณเสือก็น่าจะไม่รู้กันแพร่หลาย คดีเรื่องคุณเสืออธิษฐานขอลูกเป็นแต่อย่างว่า “สอดรู้” กันที่ในวังแล้วเล่ากันต่อมา เมื่อตัวคุณเสือสิ้นวาสนาและถึงอสัญกรรมแล้ว ก็ไม่มีใครนำพาต่อรูปภาพเด็ก ๒ รูปนั้นก็ติดเป็นเครื่องประดับอยู่ตลอดรัชกาลที่ ๒ และรัชกาลที่ ๓ ถึงเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพน แม้ทรงทราบเรื่องเดิมของรูปทั้ง ๒ นั้น ก็คงไม่ทรงเห็นเป็นสลักสำคัญจึงไม่แตะต้อง เพราะฉะนั้นในหนังสือแต่งพรรณนาการปฏิสังขรณ์ แม้พรรณนาอย่างละเอียดจนถึงชื่อช่างเขียนก็ไม่มีกล่าวถึงรูปเด็ก ๒ คนในวิหารพระโลกนาถ

มูลเหตุที่จะมีโคลง ๒ บทนี้เกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๔ เป็นแน่ไม่มีที่สงสัย และเชื่อได้ว่าเกิดขึ้นเมื่อทูลกระหม่อมทรงขนานนามพระพระพุทธรูปสำคัญอันเป็นพระประธานในวิหารทิศ เรื่องนี้สอบได้ในศิลาจารึกเรื่องสร้างวัดพระเชตุพนเมื่อรัชกาลที่ ๑ มีนามเดิมเรียกพระพุทธรูปต่างๆ ตามวิหารทิศว่ากระไร และผิดกับนามที่จารึกติดไว้หน้าฐานพระอย่างไร นามคงอยู่ตามรัชกาลที่ ๑ แต่พระพุทธเทวปฏิมากร พระประธานในพระอุโบสถองค์ ๑ กับพระโลกนาถศาสดาจารย์ อันเป็นพระนามเดิมมาแต่กรุงศรีอยุธยา องค์ ๑ นอกนั้นเพิ่มเติมแก้ไขหมดดังจะอ้างแต่องค์ ๑ พอเป็นตัวอย่าง คือ พระประธานวิหารทิศตะวันออกห้องนอกตามจารึกในรัชกาลที่ ๑ ว่า “ถวายพระนามว่า พระเจ้าตรัสในควงไม้พระมหาโพธิ” ตามพระนามที่มีอยู่เดี๋ยวนี้ว่า “พระพุทธมารวิชัย อภัยปรปักษ อัครโพธิรมย์อภิสมพุทธบพิตร” ดังนี้ พระประธานในวิหารอื่นก็เป็นทำนองเดียวกัน สังเกตสร้อยพระนามที่ถวายใหม่ เป็นสำนวนกรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ ทั้งนั้น

ที่แต่งโคลงเรื่องคุณเสือขอลูกขึ้นในคราวนั้น คงเป็นเพราะทูลกระหม่อมเสด็จไปทอดพระเนตรเห็นรูปเด็ก ๒ คนนั้น ทรงปรารภถึงเรื่องเดิมเห็นไม่ควรจะให้สูญเสีย จึงทรงอาราธนากรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ ให้แต่งโคลง เพราะได้เคยคุ้นกับคุณเสือและทรงทราบเรื่องเดิมมาด้วยพระองค์เอง หม่อมฉันคาดว่าเรื่องคงจะเป็นมาดังนี้

๕) เรื่องยกศัพท์อวดตุ๊กแก หม่อมฉันเคยคิดว่ามูลจะมาแต่อะไรเห็นว่าจะมาแต่ประเพณีเทศนา แต่โบราณก่อนสมัยชอบเทศน์ปกิรณกกถาประเพณีเทศน์ชั้นเดิมมีพระธรรมกถึกองค์ ๑ ขึ้นนั่งธรรมาศน์ และมีพระอนุจร ๔ องค์ขึ้นนั่งบนสังเคตสำหรับสวดสาธยายพระบาลี เริ่มต้นพระธรรมกถึกให้ศีลบอกศักราช และกล่าวความเบิกหน้าธรรมาศน์แล้วพระอนุจร ๔ องค์ก็สวดพระบาลี เปรียบว่าเทศน์ธรรมจักกัปปวัตนสูตร ก็สวดตั้งต้นแต่ เอวมฺเม สุตํ ไปจน อโหสีติ คราวนี้ถึงวารพระธรรมกถึกเทศน์แปลบาลีพระสูตรที่พระอนุจรสวดนั้น ด้วยดูหนังสืออัตถ ยกศัพท์ในอัตถเพื่อบอกว่าเทศน์ตรงไปในพระบาลิดังตั้งต้นยกศัพท์ว่า เอวมฺเม สุตํ แล้วเทศน์แปลความในพระสูตรไปจนถึงเมื่อพระพุทธเจ้าจะเริ่มสอนพระปัญจวัคคี ก็ยกศัพท์ว่า เทฺวเม ภิกฺขเว อนฺตา หมายความว่าเทศน์มาถึงตรงนั้น ในพระบาลี ดูก็เป็นประเพณีที่ดี หรือจะว่าจำเป็นก็ได้ การเกลื่อนกลาดชั้นแรกเกิดแต่เทศน์ไม่มีพระสวด พระธรรมกถึกจะสวดพระบาลีตลอดทั้งสูตรและแปลความออกเทศน์ด้วยลำบากนัก จึงย่อพระบาลีลงเป็นนิกเขปบท ถึงกระนั้นเทศน์ตามพระบาลีไปถึงไหนยกศัพท์ขึ้นเป็นสำคัญก็ยังเป็นคุณทั้งแก่ผู้เทศน์และผู้ฟัง การเทศนาจึงมียกศัพท์พระบาลีเป็นประเพณีฟังกันจนเจนหู การยกศัพท์อย่างว่าอวดตุ๊กแก เกิดแต่เทศน์อย่างอื่นนอกจากแปลพระบาลี เช่นเทศน์มหาชาติและเทศน์เรื่องพงศาวดารเป็นต้น ท่านผู้เทศน์หรือแม้จนผู้ฟังมักเข้าใจว่าเทศน์จำต้องมียกพระบาลี มิฉะนั้นก็ไม่เป็นเทศน์ จึงต้องหาศัพท์มายกเป็นบาลี เช่นในเทศนาเรื่องพงศาวดารของกรมสมเด็จพระปรมาฯ มักใช้ศัพท์ สกฺกราเตเชน ยกเป็นบาลี และผู้อื่นก็ฉวยศัพท์อะไรต่ออะไรยกเป็นบาลี ทูลกระหม่อมจึงตรัสเรียกว่ายกศัพท์อวดตุ๊กแก หรือว่าตามภาษาที่เราชอบพูดก็ว่ายกศัพท์ไม่มีมูล

๖) ข้อปัญหาว่ายักษ์กับมนุษย์ผิดกันอย่างไรนั้น เข้าวินิจฉัยที่หม่อมฉันเคยคิด แต่ความเห็นของหม่อมฉันอยู่ข้างกว้างสักหน่อย เห็นว่ามีคติชาวอินเดียถือกันมาแต่ก่อนพุทธกาล ว่าสัตวชาติในโลกนี้ต่างกันเป็น ๓ อย่าง คือ มนุษย์อย่าง ๑ อมนุษย์อย่าง ๑ ติรัจฉานอย่าง ๑ หรือว่าอีกอย่าง ๑ เอาคำภาษาไทยเข้าช่วยให้เข้าใจง่ายขึ้น สัตวชาติมีคนอย่าง ๑ กับติรัจฉานอย่าง ๑

คนนั้นแบ่งเป็นมนุษย์พวก ๑ อมนุษย์พวก ๑ มนุษย์ตั้งบ้านเรือนอยู่กลางชมพูทวีป คือมัชฌิมประเทศ พวกอมนุษย์ตั้งบ้านเรือนอยู่นอกมัชฌิมประเทศทั้ง ๔ ทิศ อมนุษย์ที่อยู่ทางทิศตะวันออก มนุษย์ชาวมัชฌิมประเทศเรียกว่าคนธรรพ์ ที่อยู่ทางทิศใต้เรียกว่ากุมภัณฑ์ ที่อยู่ทางทิศตะวันตกเรียกว่านาค ที่อยู่ทางทิศเหนือเรียกว่ายักษ์ มนุษย์กับอมนุษย์เป็นคนด้วยกัน ถ้าเปรียบอย่างเห็นได้ง่ายๆ ต่างว่าไทยเป็นมนุษย์ ญวนเป็นคนธรรพ์ มลายูเป็นกุมภัณฑ์ ฮินดูเป็นนาค และจีนเป็นยักษ์ รูปร่างเป็นคนด้วยกัน แต่ขนาดและลักษณะต่างกัน พูดภาษาและถือขนบธรรมเนียมต่างกัน นิสัยใจคอก็ต่างกัน แต่อาจจะไปมาหากันและหัดพูดภาษาให้เข้าใจกัน แม้จนสามารถสมพงศ์กัน แต่คนพวกมนุษย์กับอมนุษย์จะอยู่ด้วยกันโดยปกติไม่ได้ เพราะนิสัยใจคอต่างกัน วินิจฉัยที่ว่ามานี้มีที่อ้าง

ในอาฏานาฏิยสูตรว่า อมนุษย์ทั้ง ๔ พวกได้เข้าไปเผ้าพระพุทธเจ้าถึงเขาคิชฌกูฏ ณ เมืองราชคฤหในมัชฌิมประเทศ และมีในเรื่องชาดกและนิทานเช่นในคัมภีร์ธรรมบทปรากฏว่า พวกอมนุษย์เข้าไปหากินในแดนมนุษย์ เช่นในเรื่องยักขินีจะกินเด็ก ไล่ไปจนถึงพุทธสำนักได้ฟังพระพุทธโอวาทจึงละพยศ เรื่องที่ปรากฏว่ามนุษย์ไปถึงเมืองอมนุษย์ก็มีดังปรากฏในเรื่องวิธูรชาดกเป็นต้น

ที่มนุษย์กับอมนุษย์อาจสมพงษ์กันนั้น ดังปรากฏในเรื่องชาดกภูริทัตเป็นต้น แต่พึงสังเกตไว้อย่างหนึ่ง ว่าไม่มีที่จะอยู่กันได้เป็นปกติเหมือนมนุษย์ต่อมนุษย์ คงเป็นเพราะนิสัยใจคอผิดกัน มีตัวอย่างข้อนี้เห็นชัดอยู่ในนิทานเรื่อง “ติสฺโสนาโค” ที่ว่านาคมานพแปลงตัวเข้าไปขอบรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุในสำนักพระดิศเถร พอพระสงฆ์รู้ว่าเป็นคนพวกอมนุษย์ แม้มีความศรัทธาก็ไม่ยอมให้บวชเพราะเห็นว่าจะอยู่ด้วยกันไม่ได้ ข้อที่ในอุปสมบทกรรมมีคำถามว่า “เป็นมนุษย์หรือ” ก็คือใคร่จะให้แน่ใจว่าจะอยู่ด้วยกันได้เป็นปกติหรือไม่ คำถามข้ออื่นก็เพื่อประโยชน์อันเดียวกัน ถ้าว่าเฉพาะอมนุษย์จำพวกที่เรียกว่ายักษ์ รูปร่างคงเติบใหญ่ใจคอก็เหี้ยมโหด ถึงสามารถจะกินเนื้อมนุษย์ได้เป็นต้น ในนิทานที่อ้างถึงจึงมักว่ายักษ์ร้ายกาจต่างๆ นามที่เรียกว่ายักษ์จึงใช้ตลอดไปถึงอมนุษย์ดุร้าย แม้อยู่ทางทิศอื่นไม่เฉพาะแต่ข้างฝ่ายเหนือมัชฌิมประเทศ เช่นพวกทศกัณฐ์อยู่เกาะลังกาก็เรียกว่ายักษ์ แขกชาวเกาะมักกะสันเคยอพยพเข้ามาอาศัยเมืองไทย มาเป็นขบถขึ้นเมื่อในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ฯ ก็เลยได้นามเรียกกันว่า “ยักษ์มักกะสัน” เพราะทารุณร้ายกาจในเวลาเมื่อเป็นขบถนั้น

๗) ข้อที่ในคัมภีร์พระวินัยว่า พระภิกษุฆ่ายักษ์เป็นอาบัติถุลลัจจัยนั้น หม่อมฉันคิดดูออกจะอ้นอั้นตันปัญญา ข้อพุทธบัญญัติที่ว่า ถ้าพระภิกษุฆ่ามนุษย์ต้องอาบัติปาราชิกนั้นเข้าใจได้ดี ถึงข้อที่ว่าฆ่าสัตว์เดรฉานต้องอาบัติปาจิตตีย์ก็พอเข้าใจได้ คือ ห้ามมิให้ฆ่ามนุษย์เป็นอันขาด ไม่เลือกว่ามีเหตุอย่างใด แม้โจรจะมาฆ่าถ้าพระภิกษุฆ่าโจรก่อนเพื่อป้องกันชีวิตตน ก็ไม่พ้นเป็นปาราชิก ส่วนสัตว์เดรฉานมีมากมายนัก และมีวิสัยเบียดเบียนมนุษย์ด้วยประการต่างๆ ชวนให้เกิดโทษะจะห้ามใจได้ยาก จึงผ่อนอาบัติให้เบาลง แต่ข้อที่ฆ่ายักษ์ คืออมนุษย์ อันพระภิกษุอาจจะหลบหนีได้เหมือนมนุษย์ และไม่ทำความรำคาญด้วยขบกัดไต่ตอมยั่วโทษะเหมือนเช่นสัตว์เดรฉาน การที่วางอัตราอาบัติเพียงถุลลัจจัย พิเคราะห์โดยนัยดูเหมือนหนึ่งว่า ถ้ายักษ์จะทำร้าย พระภิกษุชิงฆ่ายักษ์เสียก่อนต้องอาบัติเพียงถุลลัจจัย เปรียบว่าเมื่อนางยักขินีในเรื่องธรรมบทไล่จะกินเด็กเข้าถึงพระเชตวัน ถ้ามีพระภิกษุพุทธสาวกองค์ ๑ วิ่งออกไปฆ่านางยักขินีนั้น พระภิกษุนั้นจะต้องอาบัติถุลลัจจัยหรืออย่างไร อธิบายคำว่าฆ่าตามพระบาลีก็ตรงกับนิตินัย ต้องประกอบด้วยองค์ต่างๆ เจตนาจะฆ่า ได้ฆ่าและฝ่ายโน้นตายจึงเป็นฆ่า ถ้าไม่ครบองค์เหล่านี้ เปรียบว่าพระภิกษุต่อสู้มนุษย์เพื่อป้องกันตัวให้พ้นภัยและทำให้มนุษย์นั้นตาย ถ้ามิได้ตั้งใจจะฆ่าก็ไม่ต้องอาบัติถึงปาราชิก แต่ทำแก่ยักษ์นั้นถึงเจตนาจะฆ่า ได้ฆ่า และยักษ์ตาย ก็ไม่เป็นอาบัติปาราชิก พิเคราะห์ดูคดีมันไปตกอยู่ว่าต่อฆ่ามนุษย์อันอยู่ด้วยกันได้จึงเป็นอาบัติปาราชิก ถ้าฆ่าคนพวกอื่น อันนับว่าเป็นอมนุษย์ก็ไม่ถึงเป็นอาบัติปาราชิกดังนี้ จะเป็นพระพุทธบัญญัติ หรืออรรถกถาธิบาย หม่อมฉันออกจะลังเลไม่แน่ใจ

๘) เรื่องรูปปั้นบุคคลนั้นอธิบายจะต้องแบ่งรูปเป็น ๓ อย่าง คือรูปสมมติ เช่นทำแต่เป็นพระพุทธรูปหรือเทวรูป อุทิศเฉพาะต่อบุคคลอย่าง ๑ รูปต่างตัว คือทำเป็นรูปของบุคคลผู้นั้น รู้ได้แต่ด้วยเครื่องหมายเป็นสำคัญอย่าง ๑ รูปเหมือนตัว คือตั้งใจทำให้เหมือนตัวบุคคลอย่าง ๑ สังเกตรูปที่ได้เห็นมาดูเป็นดังกล่าวต่อไปนี้

แต่โบราณชอบทำแต่รูปสมมติเป็นพื้น เช่นพระรูปฉลองพระองค์พระเจ้าแผ่นดินขอมและพระเจ้าแผ่นดินไทย ก็ทำเป็นเทวรูปพระอิศวรบ้าง พระนารายณ์บ้าง ต่อมาเปลี่ยนไปทำเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่อง บุคคลพวกอื่นก็ชอบทำเป็นพระพุทธรูป เรียกกันว่า “พระเท่าตัว”

รูปอย่างต่างตัวนั้นมีน้อย แต่ก็มีมาแต่โบราณ มีรูปพราหมณ์พวกขอมทำด้วยศิลาไว้ที่ปราสาทเมืองพิมาย เดี๋ยวนี้อยู่ที่พิพิธภัณฑสถานในกรุงเทพฯ เป็นตัวอย่าง รูปจำพวกนี้ที่ทำในกรุงรัตนโกสินทร์มักทำแต่รูปพระพระมหาเถระและรูปสมภารเจ้าวัดของหลวงสร้างในรัชกาลที่ ๓ มีรูปสมเด็จพระสังฆราช (ศุข ไก่เถื่อน) กับรูปสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) เป็นรูปขนาดเล็ก อยู่ที่ในหอพระเจ้า และรูปสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) ขนาดเขื่องอยู่ที่วัดโมลีโลก อีกองค์ ๑ แห่งอื่นที่ได้เคยเห็นที่วัดรัชฎาธิฐาน กับวัดกลางเมืองสุมทรปราการ มีหอพระไว้รูปหล่ออย่างต่างตัวสมภารที่ล่วงไปแล้วทุกองค์ทั้ง ๒ วัด ที่วัดอื่นก็เห็นจะมีอีก

รูปอย่างเหมือนตัวนั้นมีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา มีรูปสมเด็จพระสังฆราช (แตงโม) ครั้งรัชกาลพระเจ้าเสือเป็นตัวอย่างอยู่ที่วัดใหญ่เมืองเพชรบุรี แต่ที่สร้างในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ดูเหมือนพระรูปสมเด็จพระสังฆราช (ศุข ญาณสังวร) ที่บรรจุอัฐิไว้ ณ วัดราชสิทธาราม จะเป็นองค์แรกที่ทำขึ้นเมื่อรัชกาลที่ ๒ เพราะลดพระปรางค์ตอบเข้าไปจะให้เหมือนพระองค์ พวกเจ้านายยังทรงพระเยาว์เห็นผิดกับพระพักตร์พระอื่นๆ จึงตรัสเรียกว่า “ท่านขรัวตอบ” ต่อมาถึงรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้จำลองแบบพระรูปองค์นั้นหล่อขึ้นอีกองค์ ๑ เดิมเอาไว้ในวัดพระแก้ว ถึงรัชกาลที่ ๔ ทูลกระหม่อมโปรดให้แห่ไปประดิษฐานไว้ ณ วัดมหาธาตุ ในรัชกาลที่ ๔ โปรดให้ทำรูปอย่างเหมือนตัวท้าวศรีสัจจา (เจ้าคุณประตูดิน) ไว้ที่ซุ้มใต้บันไดขึ้นพระที่นั่งบุษบกมาลาพระมหาปราสาทอีกรูป ๑ ตั้งแต่เดิมมาจนถึงชั้นนี้ บรรดารูปบุคคลที่สร้างกันมา จะเป็นอย่างรูปสมมติก็ดี รูปต่างตัวก็ดี รูปเหมือนตัวก็ดี ล้วนสร้างเมื่อตัวบุคคลถึงมรณภาพแล้วทั้งนั้น ไม่มีที่จะสร้างแต่เมื่อตัวบุคคลยังมีชีวิตอยู่ คงเป็นเพราะรังเกียจว่า การสร้างรูปอยู่ในวิชากฤตยาคมสำหรับทำร้ายตัวบุคคลที่ถูก “ปั้นรูป” นั้น

มาปรากฏการสร้างรูปบุคคล แต่เมื่อตัวยังอยู่เป็นครั้งแรก เมื่อทูลกระหม่อมดำรัสสั่งให้ทำพระบรมรูปของพระองค์เอง องค์แรกทำขนาดย่อมที่เมืองปารีส องค์หลังทำขนาดเท่าพระองค์ที่ในกรุงเทพฯ แต่ก็ถูกทัดทานมิให้เอาพระบรมรูปเข้าไฟหล่อหลอมด้วยเห็นเป็นอัปมงคล จึงเป็นแต่ปั้นด้วยปูนน้ำมันประสานสี รูปทำเหมือนตัวมาชอบกันแพร่หลายต่อเมื่อรัชกาลที่ ๕ ตั้งแต่หล่อพระบรมรูปสมเด็จพระอดีตมหาราชเจ้า ๔ พระองค์ และรูปสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ถึงกระนั้นก็ยังเป็นรูปผู้ถึงมรณภาพแล้ว เห็นจะมาสิ้นรังเกียจทำรูปบุคคลแต่ยังเป็น เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดให้สร้างพระบรมรูปของพระองค์ในเงินตราเป็นเยี่ยงอย่างสืบมา พิจารณาดูเห็นว่าจะเป็นมาเช่นนี้

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ