วันที่ ๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๖ สิงหาคม ๒๔๘๓

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ฯ ทราบฝ่าพระบาท

เบ็ดเตล็ด

“โล้” สืบได้ว่าเป็นคำจีน หมายความว่าเครื่องพุ้ยน้ำ จะเป็นรูปอย่างไรขนาดอย่างไรอยู่ที่ไหนก็เรียกโล้ทั้งนั้น ผิดกันกับทางเราที่เปลี่ยนกิริยาทำไป ก็เปลี่ยนชื่อไปที่คำ “ล้” เข้าใจกันว่าเป็นโคลงเคลง เกล้ากระหม่อมอยากจะหาว่าเข้าใจผิดเพราะพูดผิด “จิงโจ้มาโล้สำเภา” ร้องเป็น “จิงโจ้มาโย้สำเภา” ก็มี คำโย้ เป็นพวกโยกโยน

ตามที่กราบทูลว่า เขาเขียนจิงโจ้ที่วัดพระเชตุพน เป็นรูปคนมีเท้า เป็นนกนั้น มาแปลได้แล้วจากได้พบกลอนเก่าว่า “กะลุมพูจับกะลำพ้อ จิงโจ้จับจิงจ้อแล้วส่งเสียง” ในคำนี้จิงโจ้หมายว่านก ช่างเขียนเวลาโน้นคงทราบว่าจิงโจ้เป็นนก แต่ในคำร้องที่เป็นเจ๊ก จึงได้ทำรูปคนครึ่งนกครึ่ง

นานมาแล้วได้กราบทูลถึงเรื่องราวเทียนซึ่งทำเป็นเรือ มีที่มณฑปพระพุทธบาทเป็นต้น เมื่อวันที่ ๑ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน) ท่านบอกว่าที่เมืองอุบลมีมาก ท่านคิดว่าจะมาแต่รางสรงน้ำพระ (ภิกษุ) ซึ่งเขาทำเป็นหัวนาคหางนาคติดไว้หัวรางท้ายราง ในรางนั้นเขาก็คิดเทียนจุดเหมือนกัน เกล้ากระหม่อมคิดว่าเขาตั้งใจจะให้น้ำนั้นเป็นน้ำมนต์เมื่อพระสงฆ์สวดมนต์

จะย้อนกราบทูลถึงเรื่องทำรูปพงศาวดาร ตามที่กราบทูลมานั้นตั้งรูปเก่าเกินไป ด้วยคิดจะหลีกหลบไม่ให้กระทบกระทั่งถึงใครทำอะไรไว้ที่ไหน เป็นเหตุให้ทรงพระวินิจฉัยไปแต่ในทางอย่างเก่า แต่แท้จริงเห็นจะต้องแบ่งเป็นสองภาค คือทำภาคที่รู้ไม่ได้อย่างหนึ่ง นั่นต้องทำไปโดยเดา อีกภาคหนึ่งทำภาคที่ควรจะรู้ได้ ถ้าผิดไปก็ถูกหัวเราะเยาะ เหมือนฝรั่งเขาก็หัวเราะกัน ช่างเขียนรูปพงศาวดารกินเลี้ยงกันด้วยซ่อมช้อน ผู้รู้เขาก็หัวเราะเยาะว่าเวลานั้นซ่อมช้อนยังไม่เกิด อย่างเดียวกับเราเขียนรูปม้าสีหมอกเป็นม้าออสเตรเลียโปนี มีผมยาวปรกคอและผูกเครื่องหนัง ฉันใดก็ฉันนั้น

ขุนแผน จับไม่ได้ว่าดีอย่างไรนอกจากทางเวทมนต์ดลคาถา คิดว่าคนรุ่นแต่งเรื่องตีอังวะจะเป็นผู้แต่งปรุงเรื่องนั้น

อ้ายลืมนั่นสำคัญ นึกได้ว่าจะเขียนอะไรถวาย แต่นึกได้เมื่อไม่ใช่เวลาเขียน ครั้นจะเขียนเข้าจริงลืมเอานึกไม่ได้ จำต้องร้างไปในข้อนั้น

ลายพระหัตถ์

เมื่อวันอาทิตย์ สิงหาคม วันที่ ๔ ได้รับลายพระหัตถ์เวรซึ่งลงวันที่ ๓๐ กรกฎาคม โดยไม่มีมลทิน จะกราบทูลสนองเป็นลางข้อต่อไปนี้

เรื่องยั่วยาน เมื่ออ่านพระดำริแล้ว เกิดความเห็นผุดขึ้นลางข้อ จะกราบทูลถวายต่อไปนี้

กล่าวถึงคำที่มีในกฎมนเทียรบาล

๑. ที่ว่า “ราชยานมีจำลอง” นั้น คำ “จำลอง” เคยเห็นมีในเครื่องช้างจะเป็นสัปคับหรือกูบอะไรไม่ทราบ ถ้าเป็นสัปคับ “ราชยานมีจำลอง” ก็คือมีที่นั่งอย่างสัปคับช้าง กูบนั้นเป็นภาษาเขมร จะว่ามีกูบก็เห็นจะได้

๒. “ทิพยานนาก” นากก็คือทองแดง ไม่ใช่ทองแดงปนทองอย่างทุกวันนี้ คำนี้ทราบได้จากที่กล่าวถึงพระชินราชหรือพระชินสิห์ที่วัดพระเชตุพน ว่าหล่อด้วยนาก และชื่อหอพระนากก็มาแต่พระพุทธรูปหล่อด้วยทองแดงเช่นกัน ถ้าหล่อด้วยทองแดงปนทองอย่างนากทุกวันนี้จะแพงเต็มที คำเด็กร้องเล่นก็มีปรากฏอยู่ว่า “ขอแหวนทองแดงผูกมือน้องข้า” เพลงทางนครศรีธรรมราชก็มี เขาร้องว่า “พี่จะให้แหวนฮั่ง” ฟังไม่เข้าใจจึงถามเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (พร้อม) ว่า “ฮั่ง” นั้นอะไร ท่านบอกว่างั่ง คือทองแดง ทำให้เข้าใจได้ยาวออกไปอีก ว่างั่งนั้นหมายเพียงทองแดงเท่านั้น ไม่ได้หมายถึงเทวรูป

๓. “ยานมาศกลีบบัว” ในกรุงรัตนโกสินทร์มีเรียกเฉียดไปเป็น “เสลี่ยงกลีบบัว” เคยเห็นเมื่อเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช (เวก บุณยรัตพันธ์) ทำการแรกนา เขาจัดเสลี่ยงกลีบบัวให้ขี่แทนเสลี่ยงแปลงเพื่อยกยศ ได้สังเกตเห็นเป็นอย่างนั่งห้อยเท้า ที่นั่งจำหลักเป็นกลีบบัวอย่างดอกบาน

ต่อไปนี้เป็นความเห็นนอกกฎมนเทียรบาล

๑. ตามพระดำริเห็น ที่ว่าคนหามยามเป็นแถวเดียวอย่างหนึ่ง สองแถวอย่างหนึ่งนั้น จับใจดีเต็มที เป็นหลักที่จะคิดอะไรได้ต่อไปอีก

๒. เครื่องขี่หาม ที่ใหญ่เห็นว่าจะมาก่อนเล็ก เพราะต้องการจะให้เอ้อเร้อเป็นการแห่ ส่วนเครื่องหามเล็กนั้นจะมาทีหลัง นอกจากขี้เกียจเดิน ถ้าถูกอย่างนั้น คานหามแบกบ่าเดินสองแถวก็มาก่อน แถวเดียวมาทีหลัง

๓. ที่เรียกว่า “เสลี่ยงหิ้ว” นั้น จะต้องเป็นหิ้วตามชื่อก่อน ส่วนสาแหรกสะพายนั้นเติมเข้าทีหลัง เพื่อช่วยคนหิ้วให้เบาแรง แล้วสาแหรกนั้นเองเอาลูกคลักสอดให้สี่คนหาม เพราะเห็นหามสองคนนั้นไกลเข้าก็ปั้วเปี้ย ที่หามสาแหรกแปดคนก็คิดยืดจากสี่คนนั้นเองไปอีกต่อหนึ่ง

๔. คำว่า “กง” หมายถึงของรูปกลม มีกงรถอยู่เป็นประธาน “เสลี่ยงกง” ก็เห็นจะหมายถึงพนักเป็นวงกลม แต่แท่นเหลี่ยมนั้นเอง “เสลี่ยงกง” อย่างทุกวันนี้กับ “ยานมาศ” ผิดกันอย่างไร คนสามัญเห็นจะรู้ได้ยาก เพราะผิดกันแต่กระบวนพื้นชั้นที่นั่งเป็นทางช่างเท่านั้น แท้จริงยานมาศแต่ก่อนพนักจะเป็นเหลี่ยมตามแท่นที่นัง เหมือนอย่างพระที่นั่งพุดตานก็ได้

๕. “แคร่กันยา” กลัวจะมาทีหลังแคร่เฉยๆ “แคร่” จะต้องมีมาก่อน “กันยา” ก็หมายความว่าหลังคา เป็นคำต่อ จะต้องมาทีหลัง จะเรียกว่าแคร่หลังคาก็ได้ เอาอย่างมาจากวอนั่นเอง จะกราบทูลคำที่ได้พบมาแปลก ทางเขมรเขาเรียกเตียงมณฑลว่า “แคร่พิธี” แสดงว่าคำ “แคร่” นั้นมีมานานแล้ว แคร่หามสมเป็นว่าเอาไม้ไผ่ผูกกับแคร่หามไป

๖. วอนั้นชอบกล วอพระที่นั่งรองซึ่งใช้หามไปในกระบวนเสด็จพระราชดำเนินนั้นมีระบาย ผิดกับวอดาดด้วยผ้าขี้ผึ้ง แม้รูปเขียนพลับพลาพระรามทำเป็นหลังคามีระบายไม่มีช่อฟ้าใบระกาก็มี สมจะเป็นอย่างมีระบายเก่ากว่าอย่างมีช่อฟ้าใบระกา วอช่อฟ้าน่าจะคิดปรุงขึ้นทีหลัง วอพระที่นั่งนั้นน่าสงสัยว่าถ้าฝนตกแล้วจะเปลี่ยนมาทรงวอ วอนั้นมาแต่สีวิกาแน่ เพราะทางบาลีมีกล่าวถึงชักม่านสีวิกา ถ้าไม่มีหลังคาค้ำก็ผูกม่านไม่ได้

๗. ชื่ออะไรต่างๆ นั้นมีหลายอย่าง นักปราชญ์ตั้งก็มี คนทั้งหลายในบ้านเมืองเรียกกันเอาตามชอบใจก็มี มาแต่อื่นก็มี เช่น “วอ” เป็นต้น นั่นก็ทราบได้จากฝ่าพระบาทตรัสบอกว่าเป็นคำมาแต่พม่า เห็นจะมาเมื่อเรานัวอยู่กับพม่า ทีหลังกฎมนเทียรบาล “เสลี่ยง” คำนี้ควรจะเป็นคำเก่ามาก แต่ก็ไม่ปรากฏในกฎมนเทียรบาล และเป็นภาษาไทยหรืออะไรก็ยังไม่ทราบ จะต้องสืบสวนต่อไป

เรื่องที่ตรัสถึงร่มแม่ทัพนั้นดีเต็มที ทำให้ได้สตินึกถึงตีเมืองทะวายที่มีความว่าสัปทนเต็มไปทั้งท้องทุ่ง ถ้าไม่เปลี่ยนสีร่มก็รู้ไม่ได้ว่าแม่ทัพใหญ่อยู่ที่ไหน มีคนเข้าใจกันมากว่าพม่ามีแต่ฉัตรชั้นเดียว แต่ความจริงซ้อนชั้นก็มี ฝ่าพระบาทได้เสด็จไปฉายรูปพระแท่นสิงหาสน์มาประทาน ซุ้มพระทวารที่เสด็จออกพระแท่นนั้นทำไว้เป็นรูปฉัตรซ้อนชั้น เกล้ากระหม่อมได้นับปรากฏว่าเป็น ๗ ชั้น มีลางคนคิดว่าฉัตรซ้อนชั้นจะมาซ้อนกันในเมืองเรานี่เอง ทำเอาเกล้ากระหม่อมต้องใจจ่อสังเกตของเก่าหลายถิ่น ก็เห็นปรากฏว่าฉัตรซ้อนชั้นมีมาแต่พม่า ชวา และอินเดียแล้วไม่ใช่มีแต่ไทย เป็นรูปฉลักหินฉลักไม้ ซึ่งรู้ว่าเป็นของเก่าเสียด้วย

โคลงคุณเสือขอบุตร มีความยินดีที่จะให้ชายงั่วไปคัดส่งมาถวาย

ตำหนักสมเด็จพระปรมานุชิต ห้องใหญ่พื้นเตี้ยนั้นเปนท้องพระโรงแน่ อาสน์สงฆ์จะทำมาแต่ก่อนหรือทำใหม่ไม่ทราบแน่ แต่มีตู้เจาะผนังอยู่เหนืออาสน์สงฆ์นั้นอยู่ เขาจะทำไว้เดิมสูงๆ ก็ได้ เกล้ากระหม่อมเคยซนไปเที่ยวดูทางด้านตะวันตกยกพื้นสูง ต้องขึ้นกี๋ มีห้องประทมยังมีพระแท่นที่บรรทมอยู่ในนั้น กับมีหอพระซึ่งเขาว่าทรงแต่งหนังสือในนั้น ทำให้ทราบได้ว่าห้องใหญ่พื้นเตี้ยนั้นเป็นท้องพระโรง

เจียดต่างๆ เห็นในคลังทองมีอยู่มาก แต่เจียดทองเจียดเงินมีอย่างละใบ เจียดถมนั้นมีมาก ทำเอาสงสัยว่าพานทองคือพานหมากนั้น จะเป็นของทีหลัง

ข่าว

มีเรื่องประหลาด เมื่อวันที่ ๔ เดือนนี้ พระยาราชโกษามาหาเอาใบดำมาให้ บอกว่าจะเผาเจ้าคุณปู่ เล่นเอางงไป ได้ชักใบดำออกดู มีชื่อพระยาอุทัยธรรม บอกจะเผาศพพระยาราชโกษา (จันทร์) ที่วัดจักรวรรดิ์ วันที่ ๑๐ เดือนนี้ พระยาราชโกษา (จันทร์) เป็นผู้ที่โกนผมเกล้ากระหม่อมเมื่อโกนจุก อะไรศพจะอยู่จนป่านนี้ ไล่เลียงได้ความว่าฝากศพไว้แก่เจ้าคุณเจ้าที่วัดนั้น เพิ่งจะมาเผาจนบัดนี้เห็นประหลาดเหลือเกิน นานเต็มทีแล้ว

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ